“Star Wars: The Rise of Skywalker” การเอาชนะชายแก่ที่ยึดติดในอำนาจไม่เคยง่าย
ผมอ่านข่าวที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ได้กล่าวบนเวที Singapore Expo เมื่อเร็วๆ นี้ รวมๆ โอบามา พูดถึงความเท่าเทียมทางเพศ พูดถึงปัญหาที่เกิดจากการที่ผู้นำทั่วโลกมักเกิดจากคนแก่ แถมยังเป็น “ชายแก่ที่ยึดติดในอำนาจ” เสียด้วย
ก็ให้บังเอิญนะครับว่า “The Rise of Skywalker” หนัง Star Wars ภาคล่าสุดเข้าฉายพอดี
ถามว่ามันเกี่ยวอะไรกัน
คืออย่างนี้ครับ ผมคิดว่าหนังแฟรนไชส์มหากาพย์อย่าง Star Wars ไม่ว่าจะแบ่งเป็นไตรภาคดั้งเดิม (4-5-6) ไตรภาคปฐมบท Prequel Trilogy (1-2-3) หรือแม้แต่ไตรภาคล่าสุด (7-8 และ 9 ที่เรากำลังดูกันอยู่นี่) นอกจากจะนำเสนอประเด็นเรื่องการตามหาตัวตน-ค้นหาตัวเอง ของตัวละครในแต่ละไตรภาค ไม่ว่าจะเป็น อนาคิน สกายวอล์คเกอร์ (ดาร์ธ เวเดอร์) ใน 1-2-3, ลุค สกายวอล์คเกอร์ ใน 4-5-6 และของ เรย์ ในไตรภาคล่าสุดแล้ว อีกเส้นเรื่องหนึ่งที่สนุกไม่แพ้กัน (เผลอๆ สนุกกว่าในบางช่วงตอน) ก็คือการต่อสู้กันของสองระบบการปกครอง ระหว่างอำนาจนิยมหรือเผด็จการกับเสรีนิยมในนามของประชาธิปไตยนั่นเอง
สิ่งที่กลุ่มต่อต้าน กลุ่มกบฏ หรือกลุ่มที่จะเรียกขานตัวเองว่าอะไรก็ตาม-แต่เอาเป็นว่าเป็นกลุ่มของเจ้าหญิงเลอาก็แล้วกัน-ต่อสู้อยู่ก็คือการเอาชนะสิ่งที่ “ชายแก่ที่ยึดติดในอำนาจ” อย่าง พัลพาทีน หรือ ดาร์ธ ซิเดียส ได้สร้างเอาไว้ ทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใหญ่โต ทั้งเรื่องเล่าที่สร้างความหวาดกลัวให้ทุกคนในกาแล็กซี่ แล้วกดพวกเขาไว้ด้วยเรื่องเล่าและยุทโธปกรณ์เหล่านั้น แต่ด้วยความหวัง การต่อสู้อย่างทุ่มสุดตัวสุดใจ และด้วยความรัก ความสามัคคีของคนตัวเล็กๆ คนสามัญธรรมดาทั่วกาแล็กซี่ แล้วก็... เอ่อ... บวกปาฏิหาริย์พิสดารของคณะสงฆ์ปกครองพิเศษในนามกลุ่มเจได อีกนิดหน่อย... ทั้งหมดรวมๆ กันก็สามารถเอาชนะระบอบที่ชายแก่บ้าอำนาจได้สร้างไว้ได้
ผมคิดว่า นี่คือสิ่งที่ จอร์จ ลูคัส พยายามนำเสนอไว้ตั้งแต่เกือบสี่ทศวรรษที่แล้ว คู่ไปกับประเด็นการค้นหาตัวเองอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว
ก็น่าเสียดายครับที่ผมรู้สึกว่า The Rise of Skywalker ของ เจเจ แอบรัมส์ ที่เคยกำกับแฟรนไชส์ Star Wars มาแล้วกับ The Force Awakens กลับพูดเรื่องการต่อสู้กันระหว่างระบอบนี้น้อยไปหน่อย เมื่อเทียบกับที่ลูคัสทำไว้ใน Episode 5 หรือ 6 ที่พูดเรื่องนี้ชัดเจน เป็นเนื้อเป็นหนังและตื่นเต้นเร้าใจกว่า นี่ไม่นับเวอร์ชัน spin off อย่าง Rogue One: A Star Wars Story ของ แกเร็ธ เอ็ดวาร์ด ที่นำเสนอเรื่องการต่อสู้ของคนเล็กๆ การอุทิศตนให้กับอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างเป็นเรื่องเป็นราวด้วยนะครับ
ในความคิดของผม ผมคิดว่า แอบรัมส์ ทำ The Rise of Skywalker (หรือแม้แต่ The Force Awakens) ในฐานะแฟนบอยที่รัก Star Wars และพยายามเอาใจแฟนๆ ด้วยกันด้วยการใส่สิ่งที่แฟนๆ อยากเห็น อาทิ การดวลดาบไลต์เซเบอร์ การนำตัวละครเก่าๆ ที่อยู่ในความทรงจำกลับมาปรากฏตัวใหม่ การสร้างตัวละครใหม่ที่น่าจะอยากให้เป็นไอคอนประจำไตรภาคนี้ การใส่บทพูดต่างๆ ในบริบทใหม่เพื่อให้แฟนๆ ได้เชื่อมโยงได้ เป็นต้น
ไม่ใช่ไม่ดีนะครับ แต่พอไปเน้นแบบนั้น แก่นของเรื่องเล่าจริงๆ ที่ลูคัสได้สร้างเอาไว้มันเลยไม่ค่อยได้ออกมาให้สัมผัสได้เท่าไหร่
ตรงกันข้าม ใน The Last Jedi เอพิโสดที่แล้ว ของ ไรอัน จอห์นสัน ที่หลายคนไม่ค่อยชอบสักเท่าไหร่นั้น ผมกลับมองว่ามีความพยายามที่จะตีความความสามารถของเจได ที่ลูคัสทิ้งเอาไว้หลายประเด็นให้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น แม้จะเป๋ๆ ปัดๆ แปลกๆ ไปบ้าง แต่ผมมองว่านั่นเป็นความพยายามที่น่าชื่นชมนะครับ
ไม่ใช่ว่า แอบรัมส์ ไม่ลองตีความตามร่องรอยของลูคัสนะครับ เพราะเอาเข้าจริงๆ เมื่อดูการหาจุดจบให้ชายแก่บ้าอำนาจ การหาทางออกในประเด็นการค้นหาตัวเอง รู้จักตัวตนที่แท้จริงของทั้ง เรย์ และ ไคโล เรน ใน The Rise of Skywalker แล้ว ผมก็คิดว่า แอบรัมส์ ตีความเนื้อเรื่องได้อย่างน่าสนใจ เพียงแต่ว่ามันรวบรัดเหลือเกินครับ เหมือนรีบทำรีบยัดให้เรื่องมันจบอย่างไรพิกล
เพราะหากพิจารณาแรงจูงใจต่างๆ ของตัวละครวายร้าย พัลพาทีน ผมคิดว่ามันไม่ควรลงเอยได้อย่างลงตัวเหมือนจับยัดขนาดนี้ บทจะง่ายมันก็แสนง่ายอะไรแบบนั้นน่ะครับ
ในความเป็นจริงการเอาชนะ “ชายแก่บ้าอำนาจ” มันไม่ง่ายขนาดนั้นนะครับ และถ้าใครได้ดูครบทุกภาครวมทั้งภาคแยกภาคย่อยจะรู้ว่า ในสงคราม Star Wars กบฏกลุ่มผู้ต่อต้านระบอบเผด็จการก็ไม่เคยเอาชนะจักรวรรดิพัลพาทีนได้ง่ายๆ เลยสักภาค
หรือไม่เคยชนะได้จริงๆ เลยเสียทีต่างหาก
ชมภาพยนตร์ตัวอย่าง Star Wars: The Rise of Skywalkerได้ ที่นี่
เกี่ยวกับผู้เขียน
จักรพันธุ์ ขวัญมงคล
นักเขียน นักแปล นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และบรรณาธิการอิสระ สนใจความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะและสังคม
อัลบั้มภาพ 27 ภาพ