10 เหตุผลที่ทำให้ John Wick เป็นหนังบู๊ยอดเยี่ยมแห่งทศวรรษ 2010s
นักแสดงที่เคยโด่งดังในยุค 90s อย่าง Keanu Reeves มีหนังดัง ๆ ในยุคนั้นหลายเรื่องอย่าง Speed (1994) และ The Matrix ไตรภาค (1999-2003) เขาได้ฟื้นคืนชีพกลับมาเป็นนักแสดงแถวหน้าอีกครั้งกับแฟรนไชส์ John Wick (2014-2019) ในทศวรรษนี้ เอกลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใครของหนังไตรภาคที่กำลังจะมีภาคที่ 4 ฉายชนกันกับภาค 4 ของหนัง Keanu อีกเรื่องอย่าง The Matrix 4 ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2021 (หรือจนกว่าจะมีค่ายหนึ่งค่ายใดยอมเปลี่ยนวัน) อยู่ที่คิวบู๊และความดิบเถื่อน สาแก่ใจคอหนังบู๊แอ็กชัน แต่นอกจากคิวบู๊แล้ว เรื่องราวของ “นักฆ่าผู้รักหมา” คนนี้ ก็ยังมีดีและมีอีกหลายเหตุผล ซึ่งทำให้หนังฮิตและประสบความสำเร็จ วันนี้ What The Fact ได้รวบรวมเหตุผลเหล่านั้น มาเล่าให้ฟัง
เหตุผลที่ 1 ป๋า Reeves แสดงคิวบู๊เกือบทั้งหมดด้วยตัวเอง
หากเทียบสัดส่วนของคิวบู๊ในภาคแรก Reeves แสดงเองไปถึง 90% ของทั้งเรื่อง (ที่เหลือเป็นสัดส่วนของสตั๊นท์แมน) แต่ในภาค 2 ยิ่งเหลือเชื่อขึ้นไปอีก เพราะป๋าแสดงไปถึง 95% กลายเป็นงานง่ายของทีมตัดต่อที่จะไม่ต้องเลือกช็อตเปลี่ยนมุมกล้องเพื่อหลบการเห็นหน้าสตั๊นแมนท์ ยิ่งกับในหนังแฟรนไชส์นี้ที่เป็นการต่อสู้ระยะประชิด ทีมตัดต่อคงจะทำงานยาก ถ้าต้องถ่ายสตั๊นท์แมนที่ไม่ใช่ Reeves ในระยะใกล้ คงต้องยกความดีให้กับผู้กำกับ Chad Stahelski ที่กำกับมาทั้ง 3 ภาค (กำกับร่วมในภาคแรก) ผู้เป็นสตั๊นท์แมนประจำตัว Reeves ในหนังไตรภาค The Matrix มาก่อน ทำให้รู้งานเป็นอย่างดี
เหตุผลที่ 2 Reeves เลือกใช้ชื่อหนังว่า John Wick อย่างตรงตัว เพื่อให้คนดูเข้าถึงง่าย
ในบทฉบับร่างแรก ๆ ที่เขียนโดย Derek Kolstad ผู้เขียนบทหลักของเรื่องนี้นั้น เคยใช้ชื่อหนังว่า Scorn (แปลว่า ดูถูก ในทีนี้) ซึ่งจะบอกเล่าถึงชายแก่วัยต้น ๆ 60 ซึ่งจะบ่งบอกถึงสถานะของตัวละคร John Wick ที่ถูกดูถูกจากสมาชิกคนอื่นในสมาคมนักฆ่า แต่สุดท้ายทีมสร้างหนังก็ตัดสินใจเบนเข็มของการตั้งชื่อหนังมาโฟกัสที่นักแสดง ผู้จะมาบอกเล่าเรื่องราวสุดสะเทือนใจอันเป็นเหตุให้เขาต้องออกมาบู๊ มากกว่าการเลือกนักแสดงจากรูปร่างและความแก่ นั่นเป็นตอนที่ Reeves เข้ามารับเล่น และเป็นไอเดียของเขาที่ขอเปลี่ยนชื่อของหนังจาก Scorn เป็นชื่อตัวละครในเรื่องเป็นตรงไปตรงมา เพื่อแสดงความดิบและจริงใจ Kolstad บอกว่า ชื่อ จอห์น และ เฮเลน วิค นั้นเป็นชื่อตาและยายของเขาเอง
เหตุผลที่ 3 เลือกใช้ “หลังคา” เดียวกันกับ Spider-Man ภาคต้นกำเนิด
อาจจะฟังดูเป็นเรื่องของการถือโชคลางไปสักหน่อย แต่ในภาค 2 นั้น ฉากที่จอห์นกำลังคุยกับ “วินสตัน” บนหลังคา นั่นเป็นเป็นหลังคาเดียวกันกับที่ใช้ถ่ายทำ Spider-Man (2002) ภาคแรกซึ่งเป็นภาคที่คะแนนวิจารณ์อยู่ในอันดับต้น ๆ ของแฟรนไชส์ ในฉากที่สไปเดอร์แมนช่วยเหลือแมรี่ เจน ได้สำเร็จจากกรีน ก๊อปลิน (แสดงโดยนักแสดงมากความสามารถ Willem Dafoe ซึ่งเป็นหนึ่งในนักแสดงของ John Wick ภาค 1 ด้วย) สถานที่ที่ถ่ายทำคือ หลังคาของสถาบันศิลปะเมืองนิวยอร์ก (Metropolitan Museum of Art) …จะสื่อว่า หนังที่มาถ่ายที่นี่ ดังมันทุกเรื่องนั่นแหละ
เหตุผลที่ 4 Halle Berry ฝึกหนัก กับการแสดงร่วมกับสุนัขนักสู้ด้วยตัวเอง
Halle Berry นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์เป็นแฟนตัวยงของหนัง John Wick อยู่แล้วก่อนตกลงรับเล่นภาค 3 Parabellum เธอจึงไม่ลังเลที่จะตกปากรับคำเพื่อนนักแสดงอย่าง Reeves ที่จะต้องออกกำลังกายและฝึกคิวบู๊อย่างหนักเพื่อรับบทนำหญิงของเรื่อง ซึ่งระดับเธอย่อมปรากฎตัวแบบไม่ธรรมดา เพราะใช้น้องหมาเป็นเพื่อนร่วมต่อสู้ด้วย Berry ฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อควบคุมน้องหมาระหว่างแสดงด้วยตัวเองโดยไม่ต้องใช้ครูฝึกระหว่างการถ่ายทำ ซึ่งทำให้ทีมงานโดยเฉพาะทีมกล้องถ่ายทำได้อย่างสะดวกขึ้นเยอะ
เหตุผลที่ 5 ไข้ขึ้นถึง 40 องศาเซลเซียส แต่ป๋ายังถ่ายทำต่อ
ตามคำสัมภาษณ์ของผู้กำกับในสารคดีเบื้องหลังการถ่ายทำ John Wick ภาคแรก ในฉากคิวบู๊แบบลองเทคในไนท์คลับนั้น อย่างที่เห็น ๆ ว่า Reeves ถ่ายอย่าไม่เหน็ดเหนื่อย ความจริงแล้วในวันนั้น เขามีไข้สูงถึง 40 องศาเซลเซียสที่ควรไปนอนโรงพยาบาลมากกว่ามาถ่ายทำ แต่ด้วยสปิริตของนักแสดง Reeves ก็ได้ถ่ายทำฉากการต่อสู้ที่ยาวนั้นจนเสร็จสมบูรณ์ ด้วยการเรียนรู้และจดจำคิวกับสตั๊นแมนท์และทีมคิวบู๊ทุกคนได้แบบครบเป๊ะ 100% (ต้องปรบมือดัง ๆ ให้ป๋าแกจริง ๆ)
เหตุผลที่ 6 การต่อสู้ในฉากห้องกระจก…แรงบันดาลใจจากหนังของ Bruce Lee
ในทีแรกที่ผู้กำกับได้ไฟเขียวให้ทำภาคสองต่อนั้น เขานึกถึงฉากการต่อสู้ของตัวละครลี (นำแสดงโดย Bruce Lee) และมิสเตอร์ฮานที่เกิดขึ้นในห้องกระจก ในภาพยนตร์ Enter to the Dragon (1973) ไอ้หนุ่มซินตุ๊ง มังกรประจัญบาน ซึ่งเป็นหนังเรื่องสุดท้ายในชีวิตของเขา (เสียชีวิตในปีนั้นก่อนหนังออกฉาย) และดังที่สุดของเขาด้วย ซึ่งถึงแม้ว่าในภาคสองจะไม่ได้เหมือนกับฉากบู๊ของบรู๊ซลีในเรื่องนั้นแบบเป๊ะ ๆ แต่หนังก็เต็มไปด้วยสไตล์ที่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องนั้น (ออกจะเหมือนไปทางหนัง James Bond ตอน The Man with The Golden Gun (1974) ที่มาถ่ายที่ประเทศไทยด้วยมากกว่า)
เหตุผลที่ 7 การให้บทบาทสำคัญกับนักแสดง LGBT เพื่อความเหมาะสมกับบท
ในภาค 3 บท “ผู้ตัดสิน (Adjudicator)” ผู้ถูกส่งมาสะสางและชำระบัญชีของจอห์นจาก The Continental บทนี้นั้น จะเป็นต้องบุคลิกเป็นผู้ชายอ้วนและไม่มีคิ้วซึ่งแสดงเอกลักษณ์ของความแมน ๆ สมชายออกมา แต่ Reeves และผู้กำกับก็ได้พบนักแสดงที่จะมาเป็นอีกหนึ่งเพชรเม็ดงามของหนังเรื่องนี้อย่าง Kate Dillon นักแสดงที่มีเพศแบบไม่ระบุชี้ชัด (non-binary) ที่โด่งดังจากบทบาทในรายการทีวีชื่อดังในสหรัฐฯ อย่าง ฺBillion และซีรีส์ Orange is the New Black ซึ่งกับการยอมเขียนบทใหม่นี้เพื่อเธอนับเป็นการตัดสินใจถูก เพราะเธอได้มาสร้างความแปลกใหม่ และทำให้ตัวละครตัวนี้ดูโหดและคาดเดาไม่ได้มากขึ้น ในส่วนของ Kate Dillon นั้น เธอตอบตกลงเล่นหนัง John Wick 3 ทันทีที่ถูกทาบทามไป แม้ว่าเธอจะยังไม่รู้ว่าจะได้เล่นเป็นบทอะไรเลยก็ตาม
เหตุผลที่ 8 การระดมสมองของทีมคิดพล็อตเรื่องภาค 2
กว่าจะได้มาซึ่งพล็อตและบทของภาค 2 ที่สาแก่ใจแฟน ๆ หนังด้วยสเกลหนังที่ใหญ่ขึ้น โหดขึ้น แต่ก็ยังคงความหนักแน่น จริงจัง ให้คนดูเครียดตามได้ขนาดนี้นั้น แนวคิดของเรื่องก็ได้ผ่านการถกเถียงอย่างหนักของทีมเขียนบทและผู้กำกับที่มี Screen Junkies, Chad Stahelski และ David Leitch ที่จะสานต่อเรื่องราวของจอห์นไปต่าง ๆ นานา ก่อนจะลงเอยที่เวอร์ชันอย่างที่เห็นนั้น จอห์นเคยเกือบจะต้องไปช่วยลูกสาวจากตัวร้าย (ไม่แน่ชัดว่าตัวละครลูกสาวมาจากไหน หรือเป็นลูกสาวของเฮเลน วิค ภรรยาของจอห์นหรือไม่?) ซึ่งก็ดีไปอีกแบบที่หนังไม่ได้ลงเอยด้วยพล็อตแบบนั้นที่หนังจะกลายเป็น Taken ของลุง Liam Neeson ไป
เหตุผลที่ 9 ความกล้าในการตัดฉากที่ดี แต่ไม่จำเป็นทิ้งไปในภาค 1
เดิมทีนั้น หนังภาค 1 จะมีความยาวถึง 140 นาที (เกิน 2 ชั่วโมงที่ถือว่าเป็นหนังที่ยาวเกินปกติ) ก่อนที่เวอร์ชันสุดท้ายที่ฉายทั่วไป จะเหลือความยาวแค่ 101 นาที ผู้กำกับทั้ง 2 คนของภาคแรกให้สัมภาษณ์ไว้ในสารคดีเบื้องหลังของหนังว่า มีฉากป๋า Reeves ที่เดินเท่ ๆ จนแฟน ๆ ต้องกรี๊ดในบรรยากาศต่าง ๆ และการต่อสู้ระหว่างจอห์น วิคและตัวละครวิกโก ซึ่งเป็นฉากที่ดี แต่พวกเขาคิดว่ามันยาวเกินไป และวิกโกก็ไม่ใช่คู่ต่อสู้ที่มีราคาจนจอห์น วิคต้องให้ความสำคัญ นอกจากนี้ Basil Iwanyk ผู้อำนวยการสร้างยังบอกอีกว่า ซีนเปิดนั้นเดิมจะยาวกว่านี้ 3 เท่าเลยทีเดียว ต้องยอมรับในความกล้าตัดต่อให้หนังกระชับ ไม่เยิ่นเย้อของผู้กำกับ แม้จะมีช็อตดี ๆ อีกมากมาย
เหตุผลที่ 10 จำนวนเหยื่อที่ถูกจอห์นฆ่า แม้จะเยอะ…แต่ดูไม่เวอร์
อย่างที่แฟนหนังหลายคนมานั่งนับว่า “จอห์น แรมโบ” (คนโหด ๆ นี่เขาชอบชื่อจอห์นกันใช่มั้ย?) จากแฟรนไชส์ Rambo the First Blood ฆ่าคนไปในแต่ละภาคจำนวนมากเท่าไร จอห์น วิคก็ต้องตกในข่ายที่จะถูกนับจำนวนหัวในปริมาณคนที่ตายเพราะถูกเขาสังหารด้วยเหมือนกัน ภาค 1 มีผู้ตายไป 77 ศพ ภาค 3 94 ศพ และมากที่สุดที่ภาค 2 ถึง 124 ศพ แต่ขณะที่ดู คนดูก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นการสังหารคนอย่างสะเปะสะปะและดาษดื่น เพราะการฆ่านั้น เป็นไปตามเนื้อเรื่องพาไปอย่างมีเหตุผล และเป็นไปด้วยคิวบู๊ที่เป็นศิลปะมากไปกว่าการเชือดสังหารโหด ซึ่งในทีนี้ ก็ขอส่งป๋าจอห์น วิค ท้าชิงกับจอห์น แรมโบ เตกีลา หยวน (จากหนัง Hard Boiled (1992) ทะลักจุดแตก) หรือเดอะ ไบรด์ จากหนัง Kill Bill (2003-2004) ได้อย่างสมศักดิ์ศรี