หนังแห่งทศวรรษ (จัดได้จริงๆ หรือ?)
พิธีกรรมประจำปีคือการจัดอันดับหนังเยี่ยม แต่ด้วยเพราะในช่วงนี้เป็นสิ้นปี 2019 หรือคิดแบบฝรั่งคือสิ้นสุดทศวรรษที่ 2010 (คือ 2010-2019 รวม 10 ปี) ดังนั้นลิสต์พิเศษที่เป็นที่นิยมคือลิสต์ Films of the Decade หนังแห่งทศวรรษ อันเป็นวิบากกรรมของผู้ที่ต้องจัดทำลิสต์นี้ เพราะหนังไม่ใช่คณิตศาสตร์ที่จะมาจัดลำดับ แรงกิ้ง ให้คะแนน เรียงลำดับมากน้อยได้หมดจด โดยเฉพาะถ้าต้องเลือกแค่ 10 เรื่อง จากหนังนับร้อยๆ ที่พวกเราได้ดูกันไปในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย หรือถ้าทำได้ ก็ต้องยอมสละหนังมากมายให้ตกจากลิสต์เพียงเพราะมันได้แค่ 10 เรื่อง (ล่าสุดถึงกับมีคนเขียนบทความเรื่อง anti-list คือแสดงจุดยืนว่าการทำลิสต์เป็นการบั่นทอนคุณค่าและให้ความสำคัญกับลำดับอย่างไร้สาระ)
แต่ก็นั่นแหละครับ คนชอบลิสต์ และลิสต์ก็เป็นการทบทวนความรู้สึกเราได้ประมาณหนึ่ง เร็วๆ นี้ผู้เขียนได้รับคำชวนจากนิตยสาร Film Comment ของสหรัฐอเมริกา ให้ทำลิสต์หนังแห่งทศวรรษ 2010-2019 โดยนักวิจารณ์และนักเขียนเรื่องภาพยนตร์จำนวนมากได้รับคำเชิญเดียวกัน จะมีการนับคะแนนประกาศหนังแห่งทศวรรษในต้นเดือนหน้า ตอนนี้ขอแชร์ลิสต์ที่ส่งให้นิตยสารไว้ตรงนี้ โดยอยากจะขอให้ลองเปิดใจรับหนังที่อาจจะไม่คุ้น หรือไม่ได้ฉายในระบบปกติในไทย หรือไม่ได้อยู่ใน Netflix เพราะโลกของภาพยนตร์นั้นกว้างใหญ่ไพศาลมากกว่าฮอลลีวูด และการแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ ความรู้สึกใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ทำให้ศิลปะภาพยนตร์มีค่ากับมนุษยชาติมาตราบจนทุกวันนี้
Goodbye to Language (2014)
ภาพยนตร์ของฌอง-ลุค โกดาร์ ขรัวเฒ่าแห่งเฟรนช์นิวเวฟ ผู้ที่ยังคงท้าทายคนดูแม้วัยจะแตะ 90 และยังคงทำหนังที่คาดเดาไม่ได้ แหกกฎเกณฑ์ ทดลองภาษาภาพยนตร์ และเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ (เช่นเรื่องนี้เป็น 3D) หนังเรื่องนี้เคยมาฉายเทศกาลหนังในกรุงเทพฯ และมีคนดูแน่นเต็มโรง
Zama (2017)
หนังอาร์เจนตินาของผู้กำกับ ลูเครเชีย มาร์เทล ว่าด้วยข้าราชการในสมัยอาณานิคมสเปนในเมืองหลังเขาไกลโพ้น ผู้เขียนยอมรับว่านี่เป็นรสนิยมส่วนตัวมากๆ เพราะหนังสร้างจากหนังสือชื่อเดียวกันที่แปลกประหลาด ลึกลับ และเก็บบรรยากาศอเมริกาใต้ในยุคอาณานิคมได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives (2010)
จะว่าชาตินิยมคงไม่ได้ เพราะนี่เป็นหนังที่ดังทั่วโลก หนังไทยรางวัลที่สร้างประวัติศาสตร์หลังชนะรางวัลปาล์มทองที่เทศกาลเมืองคานส์ และทำให้ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล กลายเป็นศิลปินระดับโลก หนังว่าด้วยความตาย การกลับชาติและความมหัศจรรย์ของชีวิต ผ่านตัวละคร ลุงบุญมี ชายสูงวัยที่กำลังป่วยหนักเข้าใกล้วาระสุดท้าย
Poetry (2010)
หนังเกาหลีที่คนดูในปีนี้ตื่นเต้นคือ Parasite แต่ผู้เขียนขอเลือกหนังจากปี 2010 เรื่องนี้โดยผู้กำกับ ลีชางดอง หนังว่าด้วยคุณป้าที่กำลังเป็นอัลไซเมอร์ และคดีฆาตกรรมในหมู่บ้านของเธอ อันนำมาซึ่งเรื่องราวอันกัดกร่อนหัวใจและโศกนาฏกรรมองครอบครัว น่าจะหามาดูกันได้ไม่ยาก และเราจะเห็นว่า วงการหนังเกาหลีแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
Cameraperson (2016)
ช่างภาพสารคดี คริสติน จอห์นสัน ใช้ฟุตเตจภาพมากมายที่เธอถ่ายตลอดช่วงชีวิตการทำงาน ร้อยเรียงเป็นบันทึกส่วนตัวที่แสดงให้เห็นถึงพลานุภาพของกล้องถ่ายหนังและภาพเคลื่อนไหว เรียบง่ายแต่สั่นสะเทือนอย่างที่สุด
Toni Erdmann (2016)
หนังตลก-ดราม่าจากผู้กำกับเยอรมัน มาเรน อาเด เป็นหนังครอบครัวที่ทั้งทำให้หัวเราะน้ำตาไหลและเศร้าซึ้งบอกไม่ถูก ว่าด้วยเรื่องของพ่อจอมป่วน ชอบเล่นมุกเรียกร้องความสนใจ กับลูกสาวที่เย็นชา บ้างาน และหลงลืมความบางเบาของชีวิต หนังดังจากเทศกาลเมืองคานส์และเคยมาฉายในไทยหลายครั้งตามโอกาสพิเศษต่างๆ
Right Now Wrong Then (2015)
หนังเกาหลีอีกเรื่องในลิสต์นี้เป็นของผู้กำกับ ฮอง ซางซู ผู้ที่ทำหนังเยอะมากๆ ในรอบสิบปีหลัง และล้วนแต่เป็นหนังที่ว่าด้วยความสัมพันธ์อันลักลั่นของชายหญิง หนังของเขาเป็นหนังเกาหลีที่มีความแปร่งพร่าเหมือนหนังฝรั่งเศส เรื่องนี้ก็เช่นกัน สิ่งที่ชอบเป็นพิเศษตรงคือโครงสร้างของหนังแบ่งเป็นสองส่วน เล่าเรื่องเดียวกัน และเกือบจะเหมือนกันแต่จริงๆ แล้วไม่เหมือน (และไม่ใช่ง่ายๆ แบบ Sliding Door ประเภทอะไรจะเกิดขึ้นถ้า...) หนังทำให้เห็นว่าแค่เปลี่ยนมุมมองนิดเดียว ปรับองศานิดเดียว ชีวิตและความสัมพันธ์อาจเปลี่ยนไปได้ลิบลับ
The Assassin (2015)
หนังกำลังภายในแบบโคตรอาร์ตโดยผู้กำกับไต้หวัน โหวเชี่ยวเฉียน นำแสดงโดย ซูฉี จริงๆ ลังเลระหว่างเรื่องนี้กับ The Grandmaster (2014) หนังกำลังภายในโคตรอาร์ตเหมือนกันโดยผู้กำกับ หว่องกาไหว่ ทั้งสองเรื่องแสดงให้เห็นว่า ตระกูลหนังที่เชยและซ้ำซากอย่างหนังกังฟู สามารถกลายเป็นงานศิลปะภาพยนตร์ที่ลึกซึ้งและสวยงามได้ ถ้ายังไม่เคยดูก็ลองหามาดูทั้งสองเรื่องเลยละกัน
Tabu (2012)
หนังโปรตุเกสโดย มิเกล โกเมซ เรื่องราวโรแมนติกในฉากหลังอันเป็นดินแดนป่าดงของอาณานิคมในแอฟริกา เล่าด้วยภาพขาวดำและเสียงบรรยายเหมือนนิทานผจญภัย เป็นบทเพลงอ้อยอิ่ง แปลกหู เศร้าสร้อย ที่โยงใยไปถึงความล่มสลายของอาณานิคมที่เคยเรืองรอง
Post Tenebras Lux (2012)
หนังเม็กซิโกโดยคาร์ลอส เรกาดาส ผู้กำกับที่สำคัญมากอีกคนในทศวรรษนี้ หนังเล่าเรื่องครอบครัวเจ้าของไร่ในชนบทกับกลุ่มคนงานที่ทำงานในพื้นที่นั้น แต่สิ่งพิเศษคือการที่เรกาดาสมองว่าภาพยนตร์เป็นสื่อที่สร้างอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่อง และภาษาภาพเป็นกวีมากกว่าเป็นร้อยแก้ว อีกทั้งภาพยนตร์สามารถลอยอยู่เหนือมิติแห่งความจริงสามัญที่เราคุ้นเคย
จริงๆ แล้วยังมีหนังอื่นๆ อีกมากที่อยากจะรวมเข้าในลิสต์ แต่ในเมื่อเลข 10 เป็นเลขสวย ก็ต้องยอมเฉือนเนื้อเสียสละบ้าง สุดท้ายนี้ขอให้พึงใจว่า ลิสต์ของใครก็ลิสต์ของคนนั้น อย่าให้ลิสต์ใดๆ มาสร้างอิทธิพลต่อความรู้สึกของเราเกินควร แต่ใช้ลิสต์ให้เป็นเพียงเครื่องนำทาง เพื่อออกท่องไปในดินแดนไพศาลของภาพยนตร์ร่วมสมัย ขอให้ภาพยนตร์ยังให้เกิดปัญญาต่อทุกท่านในปีใหม่นี้ครับ