[รีวิว] Dark Waters หนังขึ้นโรงขึ้นศาลที่จับประเด็นใกล้ตัวเกินคาด
จะว่าไปพลอตของ Dark Waters ที่ว่าด้วยทนายรับหน้าที่ตัวแทนชาวบ้าน ฟ้องร้ององค์กรใหญ่เรื่องการปล่อยสารปนเปื้อนลงน้ำนั้น ก็สร้างกันมาแล้วหลายเรื่อง เท่าที่จำได้นี่ก็เรื่องที่ 3 ล่ะ ต่อจาก Civil Action หนังจอห์น ทราโวลต้า ปี 1999 และเรื่องดังสุดในแนวนี้ก็คือ Erin Brockovich หนังปี 2000 ที่ส่งให้ จูเลีย โรเบิร์ต คว้าออสการ์นำหญิงมาได้ รอบนี้ใน Dark Waters ก็ยังคงว่าด้วยเรื่องสารพิษปะปนในแหล่งน้ำของหมู่บ้าน ที่สะสมมาเป็นระยะเวลากว่า 40 ปี จนสัตว์ พืช และคนต่างล้มตาย เด็กที่เกิดมาใหม่พิกลพิการ หนังเล่าเรื่องตั้งแต่ปี 1999 ร็อบบี้ลงไปสำรวจพื้นที่ด้วยตัวเองแล้วตกลงรับว่าความให้กับเอิร์ลชาวไร่ที่ประสบปัญหามาเป็นเวลายาวนาน จนถึงขั้นตอนที่ฟ้องร้องชนะดูปองท์ก็กินระยะเวลายาวนานถึง 13 ปี จนกลายมาเป็นบทความ “The Lawyer Who Became DuPont’s Worst Nightmare” ตีพิมพ์ในนิตยสารนิวยอร์ก ไทม์ เมื่อปี 2016
หนังตกอยู่ในความรับผิดชอบของ ท็อดด์ เฮย์น ผู้กำกับมากฝีมือที่ถนัดมากกับหนังในแนวขับเน้นอารมณ์ บรรดานักแสดงของเขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์มาแล้วหลายคน แต่รอบนี้ท็อดด์ มาจับหนังขึ้นโรงขึ้นศาลก็ดูจะผิดแนวถนัดไปเสียหน่อย แต่ด้วยบทที่เดินหน้าได้อย่างเร็ว ก็นับว่าจับความสนใจคนดูได้อยู่หมัดเหมือนกัน ครึ่งแรกของหนังเข้มข้นมาก เมื่อคนดูตกอยู่ในสถานะเดียวกับ ร็อบบี้ บิลอตต์ ทนายที่ถนัดแต่อยู่ทางฝ่ายจำเลย ต้องมาพบกับความจริงที่ชวนอึ้ง แล้วรู้สึกเห็นอกเห็นใจกับชาวบ้านที่เผชิญภัยเงียบนี้มาอย่างยาวนาน ทำให้ร็อบบี้ยอมเบนเข็มมาเป็นทนายโจทก์ ยอมชนกับหัวหน้าแล้วตั้งฟ้องดูปองท์ที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของบริษัท
หนังยังจับหัวใจของหนังแนวนี้ไว้ได้อยู่หมัด เมื่อเราได้เห็นการเปรียบมวยระหว่างทนายตัวเล็ก ๆ ที่ทำงานคนเดียว แล้วอีกฝ่ายคือบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ที่ทำรายได้ต่อปีระดับพันล้าน มีอิทธิพลครอบคลุมหมดทั้งนอกและในหน่วยงานราชการ มองยังไงก็ไม่เห็นลู่ทางที่จะชนะ ทำให้หนังเดินหน้าไปอย่างน่าติดตามว่าร็อบบี้จะดับเครื่องชนกับดูปองท์ได้อย่างไร แต่พอเข้าครึ่งหลัง เมื่อหนังพาเราเข้าสู่ขั้นตอนฟ้องร้องแล้ว เกียร์เดินหน้าก็ถูกผ่อนลงอย่างรู้สึกได้ชัด ตัวละครถูกเพิ่มมาเพียบ แล้วการเข้ามาแต่ละคนก็ไม่มีการแนะนำว่าใครเป็นใคร เป็นหนังที่ต้องใช้สมาธิในการรับชมอย่างมากในการ จำชื่อคน จำตำแหน่ง จำชื่อสารพิษ และตัวเลขยิบย่อยที่เป็นสัดส่วนของสารที่เป็นอันตราย แม้ว่าจะเป็นหนังขึ้นโรงขึ้นศาล แต่มีฉากในห้องว่าความน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวในการรวบรวมพยานและข้อมูล และนั่งโต๊ะเจรจาต่อรอง หรือเรียกร้องเงินชดเชย นอกเหนือจากคดีใหญ่นี้ ก็ยังมีเรื่องราวครอบครัวของร็อบสอดแทรกเข้ามาประปราย เพียงแค่ให้เห็นว่าร็อบทุ่มเทจริงจังกับคดีนี้ แล้วโยนภาระให้เมียดูแลลูกทั้งสามเพียงลำพัง
มาร์ก รัฟฟาโล เปลี่ยนลุคจาก บรูซ แบนเนอร์ ที่คนดูเริ่มติดภาพ มาเป็นทนายร่างท้วมได้อย่างน่าเชื่อถือ ตอนท้ายมีภาพ ร็อบบี้ บิลอตต์ ตัวจริงให้ดู ก็ถือว่ามีความละม้ายพอควร แล้วก็ช่างเป็นเรื่องบังเอิญที่ปี 2014 มาร์ก รัฟฟาโล ก็แสดงนำใน Foxcatcher หนังจากเรื่องจริงที่เล่าคดีอื้อฉาวของ จอห์น ดูปองท์ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทดูปองท์มาแล้วรอบหนึ่ง รอบนี้ก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับดูปองท์อีกเช่นกัน แอนน์ แฮทธาเวย์ มาในภาพลักษณ์ที่เราไม่คุ้นเคยเลย ด้วยการรับบทซาราห์ภรรยาที่ทำหน้าที่แม่บ้าน แวบแรกก็ยังนึกในใจว่าบทน้อยขนาดนี้ ไม่ต้องใช้แอน มาเล่นก็ได้นะ แต่พอเข้าครึ่งหลัง เธอก็ได้เวลาบนจอมากขึ้น มีฉากระเบิดอารมณ์ให้เห็นเป็นระยะ ก็ถึงได้อ๋อว่าผู้กำกับได้ใช้ศักยภาพนักแสดงของเธอแล้วล่ะนะ
ทิม ร็อบบินส์ มาในบท “ทอม” หัวหน้าของร็อบบี้ ด้วยผมที่ขาวโพลนจนผิดหูผิดตา บทของทิมสำคัญรองจากร็อบเลยก็ว่าได้ ทอมเป็นรายที่มีบทบาทสำคัญกับคดีนี้ตั้งแต่คราแรกที่ไม่เห็นด้วย แต่ก็ยินยอม จนเมื่อร็อบขุดลึกจนเจอปัญหาที่ใหญ่โต ทอมจึงหันมาสนับสนุนร็อบเต็มตัวแล้วรับหน้าชนกับทุกคนที่ขัดขวางกับคดีนี้ บิล พูลแมน มาในบท แฮรี่ ดีตซ์เลอร์ ทนายตัวแทนชุมชน โผล่มาไม่มากแต่ก็เป็นสีสันของหนังได้ดี ในภาพลักษณ์ของทนายเลือดร้อน อารมณ์ขึ้นง่ายจนศาลต้องเบรกอยู่บ่อยครั้ง เนื้อหาของหนักค่อนข้างหนัก อัดแน่นด้วยประโยคสนทนา อารมณ์ฉุนเฉียวและน้ำตา แทบไม่มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้เห็นเลยตลอด 2 ชั่วโมง 6 นาที แต่ส่วนที่ทำให้รู้สึกหนักอึ้งที่สุดของหนังก็คือ 3 นาทีปิดท้ายนี่ล่ะ ที่หนังเผยบรรดาบุคคลจริงที่มา Cameo ตรงนั้นตรงนี้ในหนัง และมีอยู่รายที่ทำให้รู้สึกสลดได้อย่างแรง ไปดูเองล่ะกันนะ
แม้หนังจะไม่อยู่ในระดับเอาใจตลาดได้เท่า Erin Brockovich แต่ Dark Waters ก็เป็นหนังที่คนชอบหนังคอร์ตรูมดราม่าไม่ควรพลาด โดยเฉพาะเรื่องราวของ Teflon ที่เป็นเรื่องคุ้นเคยใกล้ตัวจนน่าตระหนก ดูจบยังต้องไปค้นรายละเอียดมาอ่าน ก็พอได้ความว่าคนในบ้านเราตื่นตัวกับภัยของ Teflon กันพอควร แล้วก็พอวางใจได้ ที่ PFOA สารตั้งต้นที่เป็นตัวอันตรายนี้ได้ถูกระงับใช้ไปแล้ว ไม่มีปะปนในกระทะ Teflon ที่ใช้กันในปัจจุบันนี้แล้ว