ฟินก็พอได้ แต่ซีรีส์วาย ก็อาจกลายเป็นปัญหากับ LGBT เสียเอง

ฟินก็พอได้ แต่ซีรีส์วาย ก็อาจกลายเป็นปัญหากับ LGBT เสียเอง

ฟินก็พอได้ แต่ซีรีส์วาย ก็อาจกลายเป็นปัญหากับ LGBT เสียเอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สวัสดีค่ะคุณกิตติคะ ด้วยความที่เทยเองก็วนเวียนอยู่กับกรุ๊ปของแฟนคลับซีรีส์วาย ตามสื่อโซเชียลตั่งต่าง ซึ่งก็ต้องยอมรับเลยนะคะว่าในช่วงที่ผ่านมานั้น กระแสซีรีส์วายในช่องทางสื่อบ้านเรานั้นก็มีเกลื่อนกลาดมากมายยังกะไข่ปูนา มีเน็ตอันลิมิเตทก็นั่งย้อนดูกันไม่หมดไม่ครบทุกเรื่องเลยค่ะแม่ แต่สิ่งที่เทยได้พบเจออยู่ประปราย ก็คือกระแสดราม่าคู่จิ้น ที่เดี๋ยวพอนักแสดงมีแฟนหญิง หรือพอใครทำตัวผิดแปลกไปจากมาตรฐานแฟนคลับวาย ก็กลายเป็นประเด็นกันระอุ

ซึ่งพอเทยมานั่งๆ ตกตะกอนคิดดูแล้ว วัฒนธรรมวายและซีรีส์วายบ้านเรา มันก็มีประเด็นที่ยืนอยู่กับอะไรแปลกๆ อยู่เหมือนกันนะเออ เพราะงั้นเรามาตะมอยหอยกาบเรื่องนี้กันดีกว่าค่ะ

วัฒนธรรมวาย หรือ Yaoi ซึ่งแต่เดิมเป็นวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ที่มักจะเป็นวงการนิยาย และ/หรือ การ์ตูนมังงะรวมไปถึงอนิเมะ แนวที่ตัวละครเป็นชาย+ชาย เป็นตัวหลัก ในสื่อของญี่ปุ่นที่ “บนดิน” นั้น อุดมไปด้วยโลกของชาย-หญิง สื่อแบบวายนี้ ก็จะเป็นที่นิยมในหมู่คนที่ต้องการรสชาติที่สื่อหลักให้ไม่ได้ เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากโขอยู่มาตั้งแต่ปลายๆ ยุค 80 โน่นค่ะ

iStock

หลักๆ ของวัฒนธรรมวาย ก็ไม่มีอะไรไปมากกว่าการให้ตัวละครที่มีลักษณะเป็นผู้ชาย ได้มีซีนหวานๆ แสดงความรักต่อกันอย่างอ่อนโยน บอกรักกัน กอดกัน จูบกัน จนอาจจะไปถึงขั้นอู้วอ้า 18+ กันเลยก็ได้ เอาเลยค่ะเต็มที่ ของให้มีตัวเอกเป็นชาย+ชาย เท่านั้นเป็นพอ ซึ่งสายวายทั้งหลาย ก็มักจะเป็นใครก็ได้ที่ชื่นชอบ ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นผู้หญิงและเก้งกวางในสาย LGBT นี่แหละค่ะ ส่วน หญิงหญิง ก็จะมีแยกออกไปเป็น Yuri ซึ่งก็จะเป็นอีกสายนึงแตกแขนงออกไป

ตะนี้พอ “รักแห่งสยาม” เปิดพื้นที่เก้งมัธยมไทยในหน้าสื่อของบ้านเรา ตบเท้าตามด้วย Love Sick และ ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น ที่มีตัวละครหลักเป็นชาย-ชาย ที่จูบกันออกจอแบบไม่แคร์เวิลด์ ตะนี้ความวายและคู่จิ้นชายชายก็ดาหน้าอยู่ในหน้าสื่อไทยแบบไม่ยั้งมือเลย ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา มีซีรีส์ที่มีกลิ่นวายชัดเจนปรากฏไปแล้วไม่ต่ำกว่า 20 เรื่อง มีคู่จิ้นที่ได้รับความนิยมมากมาย หลายเรื่องมีเรตติ้งถล่มทลาย ชนะคู่จิ้นนักแสดงชายหญิงไปได้เลยก็มี

รักแห่งสยามรักแห่งสยาม

ตะนี้พอมันมีมากเข้า ไอ้เรื่องคุณภาพของตัวบท และวัตถุดิบที่นำมาใช้ จะให้ขึ้นหิ้งทุกเรื่องไปมันก็คงเป็นไปไม่ได้ ไม่ได้ต่างอะไรกับละครทั่วไปเรื่องอื่นๆ ดังนั้นซีรีส์วาย เลยใช้วิธีขุดเอานิยายออนไลน์ตามเว็บทั้งหลาย ซึ่งเป็นแหล่งรวมนิยายวายที่ได้รับความนิยมมาผลิตเป็นละคร ซึ่งหลายๆ เรื่องก็เริ่มแฟนตาซีหลุดโลกไปไกลมากเหมือนกัน 

และไอ้ความแฟนตาซีหลุดโลกที่ว่า มันก็ดั๊นนนน สร้างความขมวดคิ้วในอะไรหลายๆ อย่าง ท่ามกลางความฟินจิกหมอนของสาววายที่ถวายตัวและหัวใจเป็นแฟนคลับคู่จิ้นจากซีรีส์ทั้งหลาย แต่ในทางกลับกัน เก้งกวาง เกย์ในโลก LGBT กลับเริ่มขมวดคิ้ว พางง ไปไม่เป็นกับตรรกะและบริบทในโครงเรื่องของซีรีส์วายอยู่เหมือนกันนะเธอ 

เทยก็พอจะสรุปมาได้เป็นข้อๆ ดังนี้ว่ามันมีอะไรบ้าง ที่แบบ เดี๋ยวก่อนลูก คุยกันหน่อยซิ

Love SickLove Sick

จูบ ไม่ได้เปลี่ยนชายแท้เป็นเกย์ได้

ชายแท้ จูบกับผู้ชายนั้นเป็นไปได้ เอาสนุก เอาฮา เมาอะไรก็ว่าไป แต่จะถึงขั้นให้เกิดโรแมนติก หัวใจเต้นรัวในจูบเดียวนั้นมันไม่ใช่ค่ะ ไม่มีทาง และซีรีส์หลายเรื่องก็นำเสนอภาพจำนี้ ซึ่งสิ่งนี้มันทำให้อะไรๆ ผิดฝาผิดตัวไปมากโข ซึ่งนั่นยังไม่รวมว่า การเที่ยวไปคว้าตัวชายแท้มาจูบนี่มันก็หมิ่นเหม่เรื่องประเด็น Sexual Harrasment อยู่มากเหมือนกันนะคะ ไม่ควรเจ้าค่ะ

กูเป็นผู้ชาย แต่กูยอมมึงแค่คนเดียว

ประโยคที่สะท้อนความรักอันล้นพ้น มาเหนือซึ่งเพศสภาพใดใดของตัวละครนั้นไซร้ ในโลกของ LGBT นั้นห่างไกล และไม่ใกล้กับประโยคนี้เลยค่ะ มิหนำซ้ำในโลกของ Gender Fluid ที่ลื่นไหลไปไกลแล้ว การพูดไดอาล็อกนี้ออกมา มันก็คือการติดค้างอยู่ในภาพจำที่ว่า ความเป็นผู้ชายนั้นคือเพศอันแข็งแกร่ง ไม่มีมุมอ่อนหวาน การบอกว่า “กูรักมึง” ทั้งๆ ที่ตัวเองอยู่บนเพศสภาพที่เป็นชายแกร่งนั้น จึงเป็นอะไรที่ฟินจิกหมอนเอามากซะเหลือเกิน

ดราม่ามีปม อารมณ์เกินหญิง

ตัวละครฝ่ายเคะ หรือ ฝ่ายรับ นั้นก็น่าสนใจ หลายเรื่องมีการวางบทบาทชัดเจนให้ฝ่ายนี้อยู่ในห้วงอารมณ์ของความเป็นผู้หญิงในร่างชาย เสียมากกว่าการเป็นตัวละครนั้นจริงๆ ในขณะที่ฝ่ายเมะ หรือฝ่ายรุกนั้น ดันมีความแข็งแกร่งสมชาย เหมือนผู้ชายปกติทั่วไปได้อยู่ ซึ่งมันเหมือนการออกแบบตัวะครของนักเขียนวายที่มักเป็นผู้หญิงนั้น จะพยายามยัดเยียดให้ตัวละครที่จะถูกรักโดยชายแกร่งคนนั้น เป็นอะไรที่ล้นเกินความจริง ดราม่าเกินจริง มีจริต ตรรกะและแนวคิด ที่จะชายก็ไม่ใช่ หญิงก็ไม่เชิง แถมเก้งก็ไม่ทำ ก็เป็นอะไรที่ประหลาดมากเอาการอยู่

TharnType the SeriesTharnType the Series

Rape Culture

เป็นสิ่งที่อันตราย และไม่ใช่แค่เฉพาะในหมวดซีรีส์วาย แต่ในคอนเทนต์ของฝั่งชายหญิง ก็ยังมีให้เห็นอยู่ กับเอะอะจับปล้ำ ไม่ได้ดั่งใจจับกด จับถอดเสื้อ ลวนลาม มีฉากเซ็กซ์กันอย่างถึงพริกถึงขิง แต่ไม่ได้ตั้งอยู่บนความยินยอม หรือบริบทที่มาที่ไปของเรื่อง ซึ่งหลายเรื่องต่อยอดมาจาก Sexual Harrasment แต่เดิมที่ตัวเคะฉวยโอกาสตัวเมะอย่างทันด่วนอยู่หลายครั้งทีเดียว และก็มักจะลามไปที่การข่มขืนและตกหลุมรัก ซึ่งกรณีนี้ สื่อไทย ไม่ควรจะนำเสนอภาพนี้แล้ว ไม่ว่าจะเพศไหนก็ตาม

ออกสาวแต่หน้าไม่พิมพ์นิยม ก็จงกลายเป็นตัวตลก

แม้ว่าซีรีส์วาย จะนำเสนอมุมของโลก LGBT ให้คนเสพย์เป็นเงาลาง แต่สิ่งที่น่าตังคำถามก็คือ เหล่าตุ๊ดออกสาว หรือเกย์ที่มีจริตออกสาว กลับกลายเป็นถูกปัดให้เป็นตัวตลกรายล้อมตัวละครเอกเสียอย่างนั้น กลับกัน ตัวเคะ ที่แม้จะออกสาว มีจริตเกินหญิงจนน่าหมั่นไส้แค่ไหน ก็กลับฉายแสงโดดเด่น ให้ผู้ชายรุมล้อมได้เรื่อยๆ ซึ่งยิ่งตอกย้ำไปอีกว่า ในมุมมองของสาววาย ก็ไม่ได้ยอมรับเพศสภาพที่หลากหลายได้ขนาดนั้น

นักแสดงวายชายชาย ตกหลุมเป็นคู่จิ้น

ดราม่าหนึ่งที่นักแสดงหลักหลายคู่ต้องเจอ ก็คือเมื่อโดนจับคู่กับใครไปแล้ว ก็ต้องมีการออกอีเวนต์ เอาใจบรรดาแม่ยก สาววายกันอยู่ร่ำไป ออกงานด้วยกัน รับงานด้วยกัน มีโมเมนต์ชงกัน ไลฟ์ IG เมนต์โต้ตอบกันไปกันมา สร้างกระแสชวนจิ้นให้เสมอเส้นชนิดที่ว่า ถ้าอีกนิดหล่อนจูงมือไปขึ้นเตียงกันแล้วมีคลิปหลุด ฉันก็จะไม่แปลกใจแล้วแม่ แต่ปัญหาก็คือหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีแฟนชะนีขึ้นแล้วล่ะก็ ยอดเรตติ้งก็ตกระนาว ซึ่งนี่ก็เป็นอะไรที่ขัดกับการยอมรับความหลากหลายทางเพศมากๆ นักแสดงวายกับบทบาทที่แท้จริงของตัวเขามันคนละเรื่องกัน ยิ่งเป็นหลักฐานว่าสายวานส่วนใหญ่ ชอบวายเพราะความแฟนตาซีที่หลุดไปจากโลกจริง

พื้นที่ของซีรีส์ ไม่ใช่ของ LGBT อย่างแท้จริง

ทีมงาน นักแสดง รวมถึงผู้จัดซีรีส์วายหลายราย ยังคงเป็นคู่รักต่างเพศ ซึ่งก็นั่นทำให้มุมมองของชาย-ชายที่แท้จริง ไม่ได้ถูกนำเสนอในซีรีส์วาย หากแต่จำกัดอยู่แต่เฉพาะกับบรรดาสาววายสายจิกหมอนทั้งหลายเท่านั้น ซึ่งถามว่าเป็นไปได้ไหมที่คนรักต่างเพศจะทำคอนเทนต์เพศเดียวกัน คือเป็นไปได้ หากทำการบ้าน ศึกษาอย่างดีพอ แต่ทว่าในปัจจุบัน ก็ปรากฎมุมมองที่เข้าถึง LGBT ได้น้อยลงทุกที

แน่นอนว่าซีรีส์วายนั้น ไม่ใช่ว่าจะเป็นอุปสรรคกีดกันมุมมองของ LGBT ไปเสียทั้งหมด ในด้านของข้อดี ก็ต้องนับว่าซีรีส์วายในปัจจุบัน ได้เปิดคอนเทนต์ที่มีคู่หลักเป็นชาย-ชาย ให้เห้นอยู่บ้าง ซึ่งนั่นก็นับเป็นอะไรที่ดี หากจะทำให้คนรับสื่อได้เห็นว่าเอ้อ ในสังคมนี้ก็ยังมีคู่รักต่างเพศอยู่เหมือนกันแม่ ดูบ้างไรบ้าง รวมถึงประเด็นที่ซีรีส์วายแทบทุกเรื่องจะพาตัวละครไปเจอเหมือนๆ กัน ก็คืออุปสรรคเรื่องการกีดกันจากทางบ้าน พ่อหรือแม่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับ ที่ลูกชายจะรักเพศเดียวกัน ซึ่งก็ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริงในสังคมเกย์เช่นกัน

แต่คำถามที่เทยคิดว่าน่าสนใจก็คือ หากคู่หลักชาย-ชาย ไม่ใช่นักศึกษา ไม่ใช่เด็กมัธยมในเครื่องแบบ กลุ่มคนชนชั้นกลางไปบน เนื้อหาโรงเรียนชายล้วน วิศวะ หรืออะไรที่วนเวียนอยู่กับภาพจำของ “ความเป็นชาย” เนี่ย เนื้อหาแบบวายชายชาย จะยังได้รับความนิยมอยู่ไหม

ซึ่งในปีที่ผ่านมา ก็ปรากฎเรื่องวายแบบไทบ้าน ซึ่งเทยคิดว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจ อย่างเรื่อง ข่อยฮักเจ้า...เรารักกัน หรือ TGIF THE SERIES THANK GOD IT'S FRIDAY ซึ่งเป็นการขยับเส้นเรื่องไปยังภาคอีสาน และหน้าตาของนักแสดง ก็ไม่ได้อยู่ในพิมพ์นิยมที่เคยเห็นกันมาก่อน บริบทความรักของตัวละคร ก็เป็นอะไรที่อิงท้องถิ่น และเข้าใกล้ความจริงมากขึ้น ซึ่งก็ต้องถือเป็นข้อดี 

ข่อยฮักเจ้า...เรารักกันข่อยฮักเจ้า...เรารักกัน

จะมีก็เพียงแค่ซีรีส์เรื่อง Gay OK Bangkok ที่เติบโตในตลาดออนไลน์มาก่อนที่จะได้ขึ้นช่อง Voice TV และปล่อยออนไลน์ทาง Line TV ที่นำเสนอมุมมองที่แท้จริง สมจริงในโลกของเกย์กรุงเทพจริงๆ โลกที่เกย์ กะเทย ชะนี ชายแท้ อยู่ร่วมกันในความวายป่วง เซ็กซ์ แสงสี HIV และการใช้ชีวิตในหน้าที่การงาน ซึ่งเป็นประเด็นที่ซีรีส์วายในปัจจุบันยังไม่มีเรื่องไหนเดินทางไปถึง หรืออาจจจะแวะไปดูเรื่อง รุ้งสีเทา ที่ออกอากาศทางช่อง PPTV ที่เป็นส่วนผสมอันกลมกล่อมของวายอันหอมหวาน กับโลกแห่งความจริงที่เกย์เชียงใหม่ต้องเผชิญ แม้ตอนจบจะขมไปบ้าง แต่ก็เป็นความจริงที่รับได้ 

แต่ในส่วนของ หญิง-หญิง นั้นคงอีกไกล เพราะแม้ว่าทาง Club Friday จะมีการนำเสนอตัวละครหญิง-หญิงในสื่อแล้ว แต่ตัวละครก็ยังวนเวียนอยู่กับความโศกเศร้า ชิงรักหักสวาท อาฆาตแค้น จะหาวายหญิงที่อ่อนหวาน ละมุนน้ำตาลซักเรื่องก็ยากเย็นเสียเหลือเกินแม่จ๋า

กลายเป็นว่าอาจจะพูดได้ว่าซีรีส์วายชายชายที่เห็นๆ กันอยู่ตอนนี้ ก็เป็นภาพฝัน ภาพหวานที่กลุ่มคนที่เข้าถึงส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง แม้ว่าจะช่วยให้พวกนางเปิดหูเปิดตา ว้าว ชายชายรักกันมันฟินมากแม่ แต่ก็ต้องยอมรับเลยว่าแฟนตาซีที่พวกนางหมายใจให้เก้ง เกย์ กะเทยเป็นนั้น มันยังตกอยู่ใต้กรอบการบูชา “ความเป็นชายอันล้นพ้น” โรงเรียนชายล้วน วิศวะ เกียร์ อะไรพวกนี้ คือหยุดก่อนค่ะชะนี มันไม่ใช่!!!

My Engineer เมีย's วิศวะMy Engineer เมีย's วิศวะ

นี่ยังไม่รวมบรรดานิยายวายประเภท Mpreg ที่ย่อมมากจาก Male-Pragnent หรือผู้ชายท้องได้ คือแบบ หยุด หยุดเดี๋ยวนี้ หยุดทันที!!!!!!!

ก็นี่แหละน้า ความอีหลั่กอีเหลื่อของ LGBT ในไทย มันก็สะท้อนออกมาในรูปแบบซีรีส์วายในแง่หนึ่งอ่ะโนะ ก็ยอมรับแล้ว แต่ได้แค่นี้

แต่ความเศร้านึงนะคะชะนี ต่อให้มีซีรีส์วายมาอีกร้อยเรื่อง ถ้าสุดท้ายผู้ชายสองคนรักกันแต่แต่งงานกันไม่ได้ก็คือจบ คู่จิ้นของเธอจะฟินให้เธอได้แค่ไหน ตราบใดที่พวกเขายังกลายเป็นประชากรชั้นสองของสังคม โดยเกิดจากพวกเธอที่ไม่ได้ยอมรับพวกเขาอย่างแท้จริงอ่ะค่ะ

ฝากวั้ยหั้ยคีสสสส

 

เหยี่ยวเทย รายงาน

อัลบั้มภาพ 25 ภาพ

อัลบั้มภาพ 25 ภาพ ของ ฟินก็พอได้ แต่ซีรีส์วาย ก็อาจกลายเป็นปัญหากับ LGBT เสียเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook