รีวิว Underwater ความคิดที่ไม่มีเสียง

รีวิว Underwater ความคิดที่ไม่มีเสียง

รีวิว Underwater ความคิดที่ไม่มีเสียง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

 

แม้หน้าหนังของ Underwater อาจจะดูเป็นหนังสัตว์ประหลาดที่ไม่มีอะไรแปลกใหม่เลยก็ตาม พล็อตเรื่องที่ว่าด้วยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานอยู่ใต้ทะเลลึกต้องพบกับเหตุการณ์สถานีวิจัยของพวกเขากำลังถูกทำลาย จึงต้องหาทางเอาตัวรอด แต่เหมือนหนีเสือปะจระเข้ เมื่อทั้งหมดพบว่ามีบางสิ่งใต้ทะเลที่กำลังรอเขมือบพวกเขาอยู่

 

ผลงานการกำกับของวิลเลียม ยูแบงค์ ที่เคยกำกับหนังใหญ่เรื่อง The Signal ในปี 2014 การกลับมาครั้งนี้ หากเราลองสังเกตตัวละครเอกในเรื่องอย่างนอร่าห์ (คริสเทน สจวร์ต) นักวิศวกรระบบที่กำลังตกอยู่ในห้วงอาการที่เริ่มสับสน เมื่อตัวละครนี้ได้รำพึงรำพันกับตัวเองว่าการที่เธอทำงานอยู่ใต้ทะเลลึกเป็นเวลานานจนไม่มีโอกาสเห็นเดือนเห็นตะวัน ทำให้ชีวิตและสุขภาพจิตของเธอเริ่มแปรปรวนในฉากเปิดเรื่อง

 

 

ไม่นานนักหนังก็ทำให้คนดูรับทราบว่าสถานีขุดเจาะใต้ทะเลแห่งนี้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง แรงบีบอัดจากใต้ทะเลลึกอาจจะทำให้สถานีพังพินาศในเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมง นอร่าห์หนีเอาชีวิตรอดมาได้อย่างหวุดหวิดและได้พบกับผู้รอดชีวิตคนอื่นๆ หนทางรอดทางเดียวเวลานี้คือพวกเขาต้องเดินทางจากออกจากสถานีขุดเจาะไปยังอีกสถานีหนึ่ง ด้วยการเดินตามพื้นทะเลไปด้วยระยะทางหลายร้อยเมตร โดยไม่รู้เลยว่าในความมืดมิดมีสิ่งมีชีวิตลึกลับได้ตื่นขึ้นมาและจ้องเอาชีวิตพวกเขาอยู่

 

ตลอดเวลาเราจะได้เห็นความวิตกกังวลของนอร่าห์ คนดูพอจะได้ทราบว่าเธอเป็นคนที่ชอบย้ำคิดย้ำทำ และมักจะกล่าวโทษตัวเองยามเกิดความผิดพลาดร้ายแรงกับคนอื่น เธอมักจะมองว่าสิ่งเหล่านั้นเกิดจากความละเลยของเธอ แต่เปล่าเลยอุบัติเหตุเหล่านั้นเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ต่างหาก เมื่อเราวิเคราะห์ไปเรื่อยๆแล้ว เราก็แทบจะพบว่านอร่าห์อาจจะมีอาการของผู้ป่วยซึมเศร้า อันมีสาเหตุมาจากการถูกตัดขาดจากโลกภายนอกนานจนเกินไป รวมไปถึงสภาวะแวดล้อมในการทำงานที่ชวนหดหู่

 

 

ตลอดทางของหนัง แม้คนดูจะแทบไม่มีโอกาสได้เห็น “สัตว์ประหลาด” แบบตัวเป็นๆคาตา จนกระทั่งหนังผ่านไปร่วม 1 ชั่วโมง “ความไม่รู้” จึงเป็นอีกหนึ่งตัวกระตุ้นความหวาดกลัวและความวิตกกังวลให้กับตัวละครในเรื่องได้เป็นอย่างดี ว่าพวกเขาไม่มีโอกาสได้รู้เลยว่ากำลังจะต้องเผชิญหน้ากับอะไร สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาเรียนรู้สัจธรรมชีวิตที่ว่า ต่อให้ระบบวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์กว้างไกลล้ำยุคแค่ไหน มนุษย์ก็ยังคง “ตัวเล็ก” เสมอในธรรมชาติและโลกใบนี้

 

ท้ายที่สุดแล้วการตัดสินใจของนอร่าห์ก่อนเหตุการณ์ทุกอย่างจะจบลง ยิ่งช่วยสะท้อนสภาวะความซึมเศร้าของตัวละครนี้อย่างชัดเจน เมื่อเธอเลือกที่จะ “จุดไฟให้ใต้ท้องทะเลสว่าง” ซึ่งอาจจะเป็นช่วงเวลาอันแสนสั้น แต่เธอมองว่าการกระทำของเธอนั้นคือการช่วยเหลืออีกหลายชีวิตอยู่ โดยเธออาจจะลืมนึกไปว่า แสงสว่างที่เธอทำนั้นเป็นแค่แสงวูบวาบ ไม่นานนักหลังจากนั้นทุกอย่างก็กลับมามืดมิดและดำเนินไปตามเดิมอยู่ดี แต่เมื่อมันคือการตัดสินใจ “ครั้งสุดท้าย” ที่คุ้มค่า เธอจึงไม่ลังเลที่จะทำมัน

 

ความคิดที่ไม่มีเสียงของนอร่าห์และอาการซึมเศร้าของเธอ จึงไม่แตกต่างอะไรจากแสงสว่างที่มาจากการระเบิดครั้งใหญ่ที่วาบขึ้นแค่ไม่นานแล้วก็ดับลงหายไป ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นนั่นเอง

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook