“Little Women” สี่สาวก้าวข้ามเส้นแบ่ง

“Little Women” สี่สาวก้าวข้ามเส้นแบ่ง

“Little Women” สี่สาวก้าวข้ามเส้นแบ่ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผมเคยดู “Little Women” เวอร์ชั่นปี 1994 ของผู้กำกับหญิง จิลเลียน อาร์มสตรอง นะครับ จำได้ว่าตอนนั้น วิโนนา ไรเดอร์ กำลังอยู่ในช่วงพีคที่สุดในอาชีพนักแสดง เธอน่ารักและมีเสน่ห์มากๆ นอกจาก วิโนนา แล้ว หนังเรื่องนี้ก็ยังรวมนักแสดงที่เป็นดาวรุ่งพุ่งแรง (ในตอนนั้น) มากมาย ไม่ว่าจะเป็น คริสเตียน เบลล์, แคลร์ เดนส์, คริสเตน ดันสต์ ซึ่งแต่ละคนก็กลายมาเป็นนักแสดงชั้นนำในเวลาต่อมาทั้งสิ้น ยังไม่รวมอีกสองนักแสดงรุ่นใหญ่อย่าง ซูซาน ซาแรนดอน กับ เกเบรียล เบิร์น ที่ร่วมแสดงด้วย ถ้าจะให้พูดรวมๆ ก็คือ “Little Women” ในเวอร์ชั่นดังกล่าวเป็นหนังที่ใช้พลังของ วิโนนา ไรเดอร์ ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเลยล่ะครับ ผมจำได้ลางๆ ว่าดูเหมือนจะเป็นหนังที่เล่าถึงประเด็นเกี่ยวกับเฟมินิสต์และการแสดงให้เห็นถึงบทบาทของผู้หญิงอะไรแบบนั้น

ปรากฏว่าผมเข้าใจผิดอย่างแรงเลยครับ เพราะเมื่อได้ดูใหม่อีกครั้งในเวอร์ชั่นปี 2020 (หรืออีก 26 ปีให้หลัง) ซึ่งคราวนี้เป็นผลงานการกำกับของ เกรต้า เกอร์วิก ผู้กำกับหญิงรุ่นใหม่ กลับกลายเป็นว่า “Little Women” นั้นพูดคนละเรื่องกับที่ผมจำได้ในตอนนั้นเลยครับ แต่เรื่องนั้นเอาไว้ก่อน ขอผมกล่าวถึง เกรต้า เกอร์วิก เสียหน่อยนึงก่อน คือ เกอร์วิก นี่ถือว่าเป็นผู้กำกับหญิงมาที่มาแรงมากในตอนนี้เลยนะครับ เธอสร้างชื่อเสียงจากหนังเรื่อง “Lady Bird” (2017) และก่อนหน้านั้นเธอก็มีบทบาทการแสดงที่น่าประทับใจมากๆ ในหนังของ ไมค์ มิลส์ เรื่อง “20th Century Women” (2016) เกอร์วิก ทำให้ผมนึกถึงผู้กำกับหญิงรุ่นใหม่ (เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว) ที่เก่งและมีความ “อินดี้” อีกคนอย่าง มิแรนด้า จูลาย เลยครับ น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่าในฐานะผู้กำกับ (และ/หรือ นักแสดง) เกอร์วิกจะโลดแล่นไปได้ไกลแค่ไหน

เกรต้า เกอร์วิกPhoto by Tim P. Whitby/Getty Images for Sony Pictures Releasing UKเกรต้า เกอร์วิก

เอาล่ะ ทีนี้กลับมาที่ “Little Women” ของเกอร์วิก ซึ่งในตอนที่เวอร์ชั่นของ จิลเลียน อาร์มสตรอง ออกฉายนั้นเธอเพิ่งมีอายุแค่ 11 ขวบเท่านั้นกันบ้าง อย่างที่บอกไปครับว่าผมเข้าใจผิดอย่างแรงที่ตอนนั้นดันไปคิดว่าหนังเรื่องนี้มันพูดถึงเรื่องบทบาทของผู้หญิง สิทธิสตรีเพียงอย่างเดียว (ครับ ผมโง่เอง ทั้งที่ตัวนิยายต้นฉบับของ ลุยซ่า เมย์ อัลคอทท์ เขาก็มีให้อ่านผมก็ดันไม่ได้อ่านเสียอีก) เพราะแท้ที่จริงแล้ว หลังจากที่ดูจบผมจึงเข้าใจว่า “Little Women” มันเป็นหนัง coming-of-age ต่างหากครับ แถมดีมากเสียด้วย

“Little Women” ที่เกอร์วิก ซึ่งพ่วงตำแหน่งเขียนบทภาพยนตร์ด้วยนั้นได้ฉายให้เห็นภาพการเปลี่ยนผ่านเติบโตจากเด็กสู่การเป็นผู้ใหญ่ของสาวน้อยสี่คนแห่งตระกูล มาร์ช ทั้ง เม็ก, โจ, เอมี และ เบ็ธ สี่พี่น้องที่แต่ละคนมีความใฝ่ฝันอันแสนสวยสดงดงามแตกต่างกันออกไป แต่ความใฝ่ฝันเหล่านั้นก็เหมือนน้ำค้างตอนเช้าๆ นั่นแหละครับ พอเจอความเป็นจริงและเงื่อนไขต่างๆ ของชีวิตที่เปรียบเสมือนแสงแดดในตอนสายรุกรานแผดเผา น้ำค้างในนามของความใฝ่ฝันมันก็เหือดแห้งไปในที่สุด... ชีวิตก็เป็นแบบนี้แหละครับ

4 พี่น้องตระกูล มาร์ช4 พี่น้องตระกูล มาร์ช

การยอมรับความจริง เผชิญหน้ากับความเจ็บปวด เสียสละสิ่งมีค่าของตัวเองเพื่อคนอื่น เหล่านี้เป็นสิ่งที่ชีวิตใจร้ายหยิบยื่นให้ แม้ไม่มีใครอยากพานพบแต่ก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ครับ ทั้งสี่พี่น้องเองก็หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน พวกเธอเผชิญหน้า จับมือก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ไปด้วยกัน ผ่านทั้งรักทั้งเกลียด ผิดหวัง พ่ายแพ้ แต่ทั้งหมดก็ยังเป็นพี่น้องที่เกื้อกูลกันไปทั้งชีวิต เป็นสายสัมพันธ์ที่ตัดไม่ตาย ขายไม่ขาด

นี่คือสิ่งที่ผมค้นพบเพิ่มเติมจากประเด็นเรื่องเฟมินิสต์เมื่อ 26 ปีก่อนนะครับ

แล้วก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกันที่จะต้องพูดถึง เซอร์ชา โรแนน ในบทบาทของ โจ มาร์ช ซึ่งเป็นตัวละครผู้เป็นหัวใจหลักของเรื่อง หาก วิโนนา ไรเดอร์ คือทุกอย่างของ “Little Women” เวอร์ชั่น อาร์มสตรอง ผมว่า การแสดงและเสน่ห์ของ เซอร์ชา โรแนน ในเวอร์ชั่นของ เกอร์วิก ก็ทำได้ไม่แพ้กัน โรแนน ส่องประกาย โอบอุ้มหนังทั้งเรื่องไว้ได้อย่างน่าทึ่ง เผลอๆ อาจจะดีกว่า เวอร์ชั่นของ วิโนนา ไรเดอร์ หากมองในแง่ของเคมีที่เธอมีกับนักแสดงรายรอบอย่าง เอ็มมา วัตสัน, ฟลอเรนซ์ พิวก์, ทิโมธี ชาลาเม่ต์, ลอร่า เดิร์น หรือแม้แต่ หลุยส์ การ์เรล ซึ่งมีบทน้อยมาก แต่เป็นพระเอกของเรื่องเลยทีเดียว จำได้ว่า พระเอกในปี 1994 คือ กาเบรียล เบิร์น แม้จะเป็นนักแสดงที่มีเสน่ห์มากแต่เมื่อมาประกบกับ วิโนนา ไรเดอร์ แล้วผมรู้สึกเหมือนคุณอาเคลมเด็กสาวอย่างไรพิกลน่ะครับ

เซอร์ชา โรแนน เป็น โจ มาร์ชเซอร์ชา โรแนน เป็น โจ มาร์ช

ทั้งหมดนี้ก็ต้องยกให้เป็นเครดิตของ เกรต้า เกอร์วิก ครับที่ผสมผสานเคมีของนักแสดงแต่ละคน ให้กลมกล่อม ดูแล้วน่าเชื่อ เชื่อว่าในความสัมพันธ์ของพี่น้อง มันไม่เคยมีสักครั้งที่ใครจะเป็นคนร้ายหรือเป็นคนดีไปเสียหมด เชื่อว่าในความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมันไม่มีเส้นแบ่งไหนที่ชัดเจนมากพอที่จะทำให้คนมีใจให้กันไม่คิดลองก้าวข้ามไป เชื่อว่าในบทบาททางสังคมมันไม่ควรมีใครมาสรุปได้ว่าคุณค่าของผู้หญิงคืออะไร และไม่ควรอย่างยิ่งที่คนที่จะกำหนดคุณค่านั้นเป็นผู้ชาย

“Little Women” เป็นหนังที่ดีกลมกล่อมมากเรื่องหนึ่งนะครับ แนะนำให้ไปดูกัน

 

ชมภาพยนตร์ตัวอย่าง Little Women ได้ ที่นี่

 

เกี่ยวกับผู้เขียน
จักรพันธุ์ ขวัญมงคล
นักเขียน นักแปล นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และบรรณาธิการอิสระ สนใจความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะและสังคม

อัลบั้มภาพ 20 ภาพ

อัลบั้มภาพ 20 ภาพ ของ “Little Women” สี่สาวก้าวข้ามเส้นแบ่ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook