รีวิว Classic Again เวทมนตร์ที่หายไป
บรรดาหนังจากค่าย CJ Major ที่เอาบทภาพยนตร์ต้นฉบับจากประเทศเกาหลีมาสร้างใหม่ มีการปรับเปลี่ยนบทให้กลายเป็นตัวละครไทย และมีบริบทฉากหลังเป็นประเทศไทย ดูเหมือนว่าตั้งแต่ที่มีการสร้างกันมาตั้งแต่ 20 ใหม่ ยูเทิร์นวัย หัวใจรีเทิร์น (รีเมคจาก Miss Granny) จนถึง Classic Again (รีเมคจาก The Classic) ดูเหมือนว่าจะมีก็เพียงแค่ “ดิว ไปด้วยกันนะ” (รีเมคจาก Bungee Jumping of Their Own) ที่ดูมีความทะเยอทะยานในการปรับเปลี่ยนบริบท และนำเสนอแง่มุมภายใต้วิสัยทัศน์ของตัวผู้กำกับที่น่าสนใจ ในขณะที่เรื่องอื่นๆค่อนข้างมีลักษณะของ “การผลิตซ้ำ” เสียมากกว่า
ด้วยความที่ The Classic ถือเป็นหนังรักโรแมนติกเกาหลีชนิด “น้ำเน่า” ขึ้นหิ้งที่ติดค้างอยู่ในหัวใจของผู้ชมในยุค 2000 ชนิดยากที่จะลบภาพจำเก่าๆออกไปจากหัว ดังนั้นความยากที่สุดคือการดัดแปลงหนังให้ออกมาในเวอร์ชั่นไทย ที่ต้องน่าสนใจไม่แพ้กัน สำหรับ Classic Again เลือกจะเล่าทุกอย่างในหนังตามแบบต้นฉบับหนังเกาหลีแบบครบทุกฉากสำคัญ ไม่ว่าจะบ้านผีสิงกับเดทครั้งแรก ร่มวิเศษและฉากวิ่งตากฝนอันแสนลือลั่น และอีกหลากหลายฉากประกอบกับบทเพลงที่คงไว้ซึ่งดนตรีแบบเดิม เพิ่มเติมคือคำร้องภาษาไทย
เมื่อหนังเลือกที่จะนำเสนอการสร้างใหม่แบบแทบจะเล่าเทียบฉากต่อฉาก คนดูอย่างเราก็อดไม่ได้ที่จะนำมันไปเทียบกับงานต้นฉบับ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากงานสร้างแล้ว “ความร่วมสมัย” ทั้งสถาปัตยกรรมอันเป็นฉากหลังของเรื่อง การแสดงของนักแสดง รวมไปถึงบทสนทนาของตัวละคร ที่ดูยังไงแล้วเราก็พบว่า เมื่อหนังเลือกจะให้เหตุการณ์ช่วงปัจจุบันของโบต้า (มิ้นท์ - รัญชน์รวี เอื้อกูลวราวัตร) เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2546 แต่เรากลับไม่รู้สึกด้วยซ้ำว่าเหตุการณ์ในหนังเกิดขึ้นในยุคสมัยดังกล่าวโดยเฉพาะฉากร้านกาแฟที่ตัวร้านดูหลุดจากยุคสมัยนั้นอย่างชัดเจน ซึ่งอันที่จริงแล้วหนังสามารถใส่พวกบรรดาข่าวเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลานั้นเข้ามาอาทิ การดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลานั้น หรือกระทั่งการใส่เพลงดังในปีดังกล่าว (แต่หนังเลือกที่จะใส่เพลงแบบหนังต้นฉบับทำให้บรรยากาศของหนังโดยรวมมีความลอยตัวข้ามยุคสมัย)
ความล่องลอยแบบจับต้องไม่ได้นี่เองที่ทำให้หนังเวอร์ชั่นรีเมคนี้ กลายเป็นหนัง Copy Paste งานต้นฉบับที่ดูไม่น่าจดจำสักเท่าไหร่ กระทั่งการเลือกเหตุการณ์ “14 ตุลา” เข้ามาเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของตัวละคร (ต้นฉบับคือตัวละครถูกเกณฑ์ไปรบที่สงครามเวียดนาม) หนังก็เลือกที่จะใส่ฉากเหล่านี้เข้ามาแบบ ไม่ได้มีความสลักสำคัญแต่อย่างใด เหมือนแค่เป็นสถานการณ์ที่โยนเข้ามา เพื่อนำไปสู่เหตุการณ์ในฉากต่อไปเสียมากกว่า
จริงอยู่เมื่อเราย้อนกลับไปมอง The Classic ด้วยสายตาของผู้ใหญ่ที่เติบโตขึ้นเราจะพบว่ามันช่างเป็นหนังน้ำเน่าแบบสุดลิ่มทิ่มประตู แต่ด้วยความสุดทางของหนังประกอบกับความใหม่ในช่วงเวลานั้น มันจริงเป็นชิ้นงานที่น่าจดจำ ซึ่งจะดีกว่าไหมถ้าหากเวอร์ชั่นรีเมคจะมีการตีความ หรือ “ใส่ตัวตน” ของผู้กำกับกระทั่งนำเสนออะไรใหม่ๆให้กับผู้ชม ในเค้าโครงเรื่องเดิม แต่เพิ่มเติมในรายละเอียด ที่อยากให้คนดูชาวไทยจดจำว่ามีหนังเรื่อง Classic Again อยู่บนโลกใบนี้เมื่อเวลาผ่านพ้นไปสัก 5 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้า