“Portrait of a Lady on Fire” มองให้เห็นข้างใน แล้วบันทึกไว้ในภาพวาด

“Portrait of a Lady on Fire” มองให้เห็นข้างใน แล้วบันทึกไว้ในภาพวาด

“Portrait of a Lady on Fire” มองให้เห็นข้างใน แล้วบันทึกไว้ในภาพวาด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Portrait of a Lady on Fire เป็นหนังที่คว้ารางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีคานส์ปีที่แล้วนะครับ ตัวหนังได้เข้าชิงปาล์มทองคำด้วย (แต่แพ้ให้กับ Parasite ของบองจุนโฮ) แถมยังคว้ารางวัลพิเศษอย่าง Queer Palm ที่มอบให้กับหนังที่พูดถึงประเด็น LGBT นอกจากนี้-นับถึงวันที่ผมเขียนบทความชิ้นนี้- หนังของผู้กำกับหญิง ซีลิน เซียมมา เรื่องนี้ก็สามารถคว้ารางวัลอื่นๆ อีกมากมาย

ที่เด่นๆ หน่อยก็อาทิ บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก European Film Awards สองรางวัลจาก Lumières Award (นำหญิงยอดเยี่ยม-นาโอมี แมร์ล็อง และกำกับภาพยอดเยี่ยม- แคลร์ มาธ็อง) นอกจากนี้ยังมีรางวัลอื่นๆ จากอีกหลายๆ เวที นี่ยังไม่นับที่เข้าชิงรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ซึ่งยังไม่ได้ประกาศผลอีกต่างหากนะครับ ก็ลุ้นกันว่าสุดท้ายแล้ว Portrait of a Lady on Fire จะคว้ารางวัลได้ทั้งหมดกี่รางวัลจากกี่เวที แต่ลำพังทั้งหมดที่กล่าวมานั้นก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีครับว่า Portrait of a Lady on Fire เป็นหนังที่ยอดเยี่ยมแค่ไหน

Portrait of a Lady on Fire เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 18 เมื่อจิตรกรสาว มารีแอนน์ (นาโอมี แมร์ล็อง) ที่ถูกว่าจ้างจากเศรษฐีนีคนหนึ่งให้เดินทางไปที่คฤหาสน์โดดเดี่ยวแห่งหนึ่งบนเกาะบริตาญ งานของเธอคือการวาดภาพเหมือนของลูกสาวนามว่า เอลูอิส (อาเดล เอเนล) เพื่อส่งไปให้มหาเศรษฐีที่มิลานแทนการดูตัวก่อนแต่งงาน เป็นธรรมเนียมปฏิบัติในยุคสมัยที่เรายังไม่มีการถ่ายภาพกันเช่นทุกวันนี้

แต่งานนี้มีรายละเอียดยุ่งยากนิดหน่อยตรงที่ เอลูอิส เพิ่งบอบช้ำจากโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับพี่สาวของตนซึ่งเจอเหตุการณ์แบบเดียวกัน ทำให้พี่สาวของเธอตัดสินใจจัดการปัญหาในแบบของตัวเอง และทำให้ เอลูอิส ผู้เป็นน้องสาวต้องเป็นฝ่ายที่ถูกคลุมถุงชนจับแต่งงานโดยไม่เต็มใจแทน เอลูอิส จึงปฏิเสธให้ความร่วมมือกับจิตรกรทั้งหลายที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาวาดภาพของเธอ แม่ของ เอลูอิส จึงจำเป็นต้องใช้อุบายเข้าช่วย โดยบอกว่า มารีแอนน์ จะมาอยู่เป็นเพื่อนของเธอระหว่างที่ตนเดินทางไปทำธุระหลายวัน และ มารีแอนน์ นั้นต้องวาดภาพจากการสังเกตสังกา เอลูอิส แทน อาศัยความจำนำมาแอบวาดนั่นแหละครับ

เรื่องมันน่าสนใจตรงที่การ “สังเกตสังกา” นั้น นัยยะทางพฤติกรรมของมันคือการ “จ้องมอง” นั่นเองครับ เมื่อ มารีแอนน์ พยายามจ้องมองสบตากับ เอลูอิส ซึ่งโดยปริยาย-เอลูอิส ก็ “จ้องมอง” มารีแอนน์ กลับเช่นกัน เมื่อมองกันไปมองกันมา ดวงตาที่ว่ากันว่าเป็นหน้าต่างของหัวใจ สามารถบอกความนัยต่างๆ ได้มากกว่าคำพูดเสียอีกก็บอกสิ่งที่อยู่ในใจของทั้ง มารีแอนน์ และ เอลูอิส ให้อีกคนได้รับทราบ และสิ่งนั้นก็คือความปรารถนาและรักต้องห้าม

Portrait of a Lady on Fire จึงเป็นหนังที่ต้อง “ดู” เป็นหลักครับ หมายความว่าเรา, หรือผู้ชมต้องดู “นัยของการจ้องมอง” ของสองตัวละครอย่าง มารีแอนน์ และ เอลูอิส ซึ่งมีบทบาทอย่างมากกับหนัง บทสนทนาหรือไดอะล็อกต่างๆ นั้นมีความสำคัญก็จริง แต่ส่วนที่ทำให้เนื้อเรื่องดำเนินไปอย่างอึดอัดแต่ชัดเจนมาก ก็คือสายตาที่หญิงสองคนนี้มีให้กัน ซึ่งในแง่นี้สองนักแสดงอย่าง นาโอมี แมร์ล็อง และ อาเดล เอเนล ทำได้อย่างยอดเยี่ยม ในทุกฉากที่ทั้งคู่จ้องมองกันเงียบๆ แทบจะไม่เอื้อนเอ่ยถ้อยคำใดออกมานั้น ผู้ชมสามารถรับรู้ความรู้สึก ความปรารถนาส่วนลึก ความโหยหา และความสุขชั่วยามบนความร้าวรานใจได้เป็นอย่างดี ทั้งหมดนี้แทบไม่ได้พูดกันเลยนะครับ

มีอีกสอง-สามประเด็น นอกเหนือจากการที่มันเป็นหนังที่ต้องดูเป็นหลักซึ่งทำให้ Portrait of a Lady on Fire เป็นหนังที่ยอดเยี่ยมมากในความคิดของผม หนึ่งคือการกำกับภาพที่มีความตั้งใจให้แต่ละฉาก แต่ละเฟรม ดูสวยงามราวกับภาพวาดของจิตรกร ซึ่งมันก็สวยจริงๆ ยิ่งพอทิ้งภาพไว้นิ่งๆ นานๆ ยิ่งดูเหมือนภาพวาดเข้าไปใหญ่ ถือเป็นประสบการณ์ทางการชมภาพยนตร์ที่สมบูรณ์ในตัวมันเองแบบหนึ่งเหมือนกัน

สองคือก่อนหน้านี้ที่ผมบอกว่า มันเป็นหนังที่ขับเคลื่อนด้วยไดอะล็อกน้อยกว่าการแสดงและการไม่แสดง (นอกจากการมองและสัมผัส) และที่น้อยกว่าไดอะล็อกก็คือ การใช้เพลงประกอบ ตลอดทั้งเรื่อง Portrait of a Lady on Fire ใช้เพลงประกอบแค่สองเพลง หนึ่งในนั้นคือ “Concerto No. 2 for violin in G minor, Op. 8, RV 315, L'Estate” ของ แอนโตนิโอ วิวัลดี ที่มีบทบาทมากๆ ในการบรรยายความรู้สึกของตัวละครที่ถั่งโถม โจมตีทั้งตัวละครและผู้ฟังอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนจบของเรื่อง ซึ่งการมีเพลงประกอบน้อยมากแต่ก่อให้เกิดอิมแพ็กมากขนาดนี้ต้องชมการจัดวางของ ซีลีน เซียมมา ผู้กำกับจริงๆ ครับ

และสามอันเป็นประเด็นสุดท้ายที่ผมคิดว่าน่าสนใจก็คือ ตลอดทั้งเรื่องเราเห็นผู้ชายแค่สองคนเท่านั้น และเป็นสองคนที่-โดยเนื้อเรื่องแล้วแทบไม่มีบทบาทอะไรกับเรื่องเลย-แต่ปรากฏว่าใน Portrait of a Lady on Fire นั้นมีเงาของความเป็นชายทาบทับปกคลุมกำหนดบทบาทตัวละครหญิงตลอดทั้งเรื่องเลยครับ แม้จะไม่โผล่มาให้เห็นแต่เราได้เห็นระบบ “ชายเป็นใหญ่” ที่ขับเคลื่อนสังคมในยุคนั้น และกำหนดให้ผู้หญิงต้องใช้ชีวิตไปตามครรลองที่ชายเป็นผู้กำหนด ซึ่งในพาร์ตนี้ผมชอบมากทีเดียว

ว่ากันอย่างสรุปรวบรัด ผมคิดว่า Portrait of a Lady on Fire เป็นหนังที่สวยงาม และโศกเศร้าผสมกันอยู่ แต่มันก็เติมเต็มภาพของความรักที่ไม่อาจถูกเติมเต็มได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นหนังที่สมควรอย่างยิ่งที่จะไปดูครับ

 

ชมภาพยนตร์ตัวอย่าง Portrait of a Lady on Fire ได้ ที่นี่

 

เกี่ยวกับผู้เขียน
จักรพันธุ์ ขวัญมงคล
นักเขียน นักแปล นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และบรรณาธิการอิสระ สนใจความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะและสังคม

อัลบั้มภาพ 24 ภาพ

อัลบั้มภาพ 24 ภาพ ของ “Portrait of a Lady on Fire” มองให้เห็นข้างใน แล้วบันทึกไว้ในภาพวาด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook