American Factory: สมรภูมิแห่งสองวัฒนธรรม โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

American Factory: สมรภูมิแห่งสองวัฒนธรรม โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

American Factory: สมรภูมิแห่งสองวัฒนธรรม โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมรางวัลออสการ์ปีนี้ American Factory เล่าเรื่องร่วมสมัยว่าด้วยประเด็นเศรษฐกิจโลก ควบคู่ไปกับประเด็นความแตกต่างทางความคิดและวัฒนธรรมของสองชาติมหาอำนาจ สหรัฐฯ และจีน รวมทั้งเป็นสารคดีที่พาเราไปตรวจสอบปัญหาโลกแตกของระบบทุนนิยมที่มีมาแต่ไหนแต่ไร ว่าด้วยการไม่ลงรอยกันระหว่างฝ่ายบริหารที่นั่งคิดเลขห้องแอร์ กับคนงานในโรงงานที่ต้องการปกป้องสิทธิของตนเอง

ไม่แปลกใจที่หนังได้รางวัลออสการ์ เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวคนอเมริกันมากๆ ในฐานะผู้ชมอันเป็นพลเมืองโลกอย่างเราๆ หนังแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของกลไกการค้า การบริหารจัดการ การไหลเวียนของเงินและบุคลากร ทับซ้อนไปกับการนำเข้าและส่งออกอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ ที่ยังไงๆ ก็ส่งผลต่อพวกเราในฐานะผู้บริโภคสินค้าของโลก โดย American Factory มีให้ชมทาง Netflix มาพักใหญ่แล้ว

สารคดีเรื่องนี้ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเดย์ทัน รัฐโอไฮโอ ของสหรัฐฯ เมืองที่ประชาชนพึ่งพาการจ้างงานจากโรงงานอุตสาหกรรมนี้ตกต่ำลงหลังจากบริษัท General Motors ปิดโรงงานไปตั้งแต่ปี 2008 มาถึงปี 2014 มหาเศรษฐีชาวจีน เปิดโรงงานผลิตกระจกรถยนตร์ขึ้นที่นี่ ชื่อว่า Fuyao Manufacturing จ้างคนอเมริกันจำนวนมากมาทำงาน และทำให้สภาพเศรษฐกิจในเมืองดีขึ้น เจ้าของโรงงานยังเอาคนจีนจากเมืองจีนมาร่วมทำให้ในฟลอร์ผลิต ทำให้เกิดบรรยากาศสองวัฒนธรรมในพื้นที่ อันเป็นสิ่งใหม่สำหรับทั้งคนงานอเมริกันและคนจีน

การ “ปะทะ” กันของสองวัฒนธรรมการทำงาน – จะเรียกว่าแบบอเมริกันกับจีน หรือตะวันตกกับตะวันออกก็ได้ – แรกๆ ก็ขบขัน ทั้งเรื่องภาษาและแนวคิดของคำว่า “งาน” แต่หนังทำให้เราเห็นว่า ความแตกต่างฝังรากลึกและก่อให้เกิดความวุ่นวายมากกว่านั้น เจ้าของโรงงานจีนมองว่า คนอเมริกันทำงานช้า ไม่ตั้งใจ และแสดงความประลาดใจอย่างมากว่าทำไมไม่ยอมทำงานวันหยุด! ส่วนฝั่งอเมริกันก็มองว่า ผู้บริหารจีนและคนงานจีน ไม่เคารพกฎหมายแรงงานสหรัฐเพียงพอ ไม่มีมาตรฐานความปลอดภัย และยังไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งสหภาพคนงานเพื่อเรียกร้องสิทธิ

จริงแล้วชื่อหนังตั้งมาเพื่อความย้อนแย้ง American Factory มัน “อเมริกัน” มากแค่ไหนหรือเปล่า เพราะเจ้าของเป็นคนจีน คนงานส่วนหนึ่งก็จีน และ “ปรัชญา” ในการบริหารก็เป็นแบบจีน ทั้งๆ ที่เป็นโรงงานในอเมริกา และอยู่ภายใต้กฎหมายอเมริกัน ในเมื่อนายทุนเจ้าของเงินเป็นคนจีน เป็นคนที่มีคุณูปการในการชุบชีวิตเมืองที่ซบเซาลงไปให้กลับมามีสภาพคล่อง พูดง่ายๆ คือถ้าไม่มีเงินจีนมาช่วยก็ไม่รู้เมืองนี้สภาพจะเป็นอย่างไรตอนนี้ ความลักลั่นและกระอักกระอ่วนนี้เป็นสถานการณ์ที่บริษัทหรือโรงงานจำนวนมากขึ้นเรื่อยจ้องเผชิญ ในยามที่เงินจีนสะพัดไปทั่วโลก (ไม่รู้ไวรัส Covid-19 จะมาหยุดยั้งปรากฎการณ์นี้ไปได้นานแค่ไหน)

American Factory เล่าเหตุการณ์อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ได้เป็นสารคดีแนว creative อะไรซับซ้อน แต่ใช้การสัมภาษณ์ และการเข้าถึงข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อดึงดูดคนดู หนังเปิดโอกาสในทุกฝ่าย ทุกคน ได้แสดงความเห็นของตนเอง ทั้งผู้บริหาร คนงานอเมริกัน คนงานจีน และยังมีช่วงหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายอเมริกันไปเยี่ยมชมโรงงานของบริษัทแม่ในฟูเจียนของจีน นำมาซึ่งฉากการซึมซับวัฒนธรรามการทำงานแบบจีน (เช่น มีเต้นรีวิวประกอบเพลงส่งเสริมความขยัน หรืออกกำลังกายก่อนทำงาน) แต่หากมีสิ่งที่ผู้เขียนอยากจะเห็นมากกว่านี้ในหนัง คือน้ำเสียงวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะวิพากษ์ความคิดสุดโต่งแบบจีนที่เน้นประโยชน์ส่วนรวมจนลืมความเป็นส่วนบุคคล หรือวิจารณ์ฝ่ายอเมริกันเองที่ไม่ปรับตัวให้เข้ากับกระแสความเปลี่ยนแปลง

หนังสารคดี “เป็นกลาง” ได้ แต่ไม่จำเป็นต้อง “เป็นกลาง” ก็ได้เช่นกัน เพราะหนังคือภาพสะท้อนความคิดเห็นของคนทำ จะมากจะน้อยก็ว่ากันไป American Factory เป็นหนังที่วาดภาพใหญ่ได้ดีมาก เก็บประเด็นครบ และใช้เวลาอย่างอดทนในการติดตามเรื่องทั้งหมด แต่ขาดความแหลมคมในบางช่วงบางประเด็น ไม่ต่อยหนักพอในช่วงที่เราคิดว่าควรจะต่อย ทั้งๆ ที่นี่คือประเด็นที่ต่อยได้แน่นอน มิเช่นนั้น หนังอาจจะทำให้เรายิ่งได้คิดและอยู่ในสมองของเราได้นานกว่านี้

 

ชมตัวอย่างภาพยนตร์ American Factory ได้ ที่นี่

 

เกี่ยวกับผู้เขียน
ก้อง ฤทธิ์ดี
อัจฉริยะนักวิจารณ์ภาพยนตร์ นักเขียน นักแปล เจ้าของสำนวนสละสลวย มือรางวัลระดับโลก 

อัลบั้มภาพ 38 ภาพ

อัลบั้มภาพ 38 ภาพ ของ American Factory: สมรภูมิแห่งสองวัฒนธรรม โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook