ไวรัสโคโรน่าส่งผลอย่างไรบ้างกับโรงภาพยนตร์ไทยตอนนี้
จากการระบาดของไวรัสโคโรน่าในประเทศจีนเมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศ และยังส่งผลต่อหนังฮอลลีวูดที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ การระบาดของเชื้อดังกล่าวทำให้ภาพยนตร์หลายเรื่องจากต่างประเทศ ถูกเลื่อนกำหนดวันเข้าฉาย หรือกระทั่งยกเลิกไปเลยก็มี ไม่เพียงแต่โรงภาพยนตร์เท่านั้น แต่ดูเหมือนว่า อุตสาหกรรมบันเทิงทุกประเภทได้รับผลกระทบอย่างมาก ไม่วาจะเป็นคอนเสิร์ตต่างๆที่ทั้งเลื่อนวันแสดง หรือไม่ก็ยกเลิก กองถ่ายภาพยนตร์ต่างๆต้องพักกองถ่ายชั่วคราว และดูเหมือนว่าสถานการณ์เหล่านี้คงจะเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องไปอีกหลายเดือนหรือกระทั่งเป็นปี ถ้าหากไวรัสโคโรน่า ยังไม่มีท่าทีว่าจะสงบหรือหยุดระบาดในวงกว้าง
ความหวาดหวั่นของผู้ชมภาพยนตร์ชาวไทย
ต่อให้เราเป็นคนรักหนังแค่ไหนก็ตาม เชื่อว่ามีแฟนหนังจำนวนไม่น้อยที่รู้สึก “แอบหวั่น” กับการเข้าโรงภาพยนตร์ในช่วงเวลาที่ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019) เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพื่อประโยชน์ในการเผ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย
อันที่จริงแล้วจำนวนผู้เข้าชมโรงภาพยนตร์ในประเทศไทยถือได้ว่ามีจำนวนลดลงตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์วันที่ 13-16 กุมภาพันธ์ 2563 หนังที่กะเกณฑ์กันว่าน่าจะโดนใจวัยรุ่นอย่าง “สุขสันต์วันโสด Low Season ทำรายได้ไปแบบพอหอมปากหอมคอที่ 14.7 ล้านบาท ส่วนสัปดาห์ต่อมาช่วงวันที่ 20-23 กุมภาพันธ์ 2563 หนังตลกสยองขวัญภาคต่ออย่าง “พี่นาค 2” ทำเงินไปแค่เพียง 16 ล้านบาท ซึ่งภาคแรกทำเงินทะลุร้อยล้านอย่างรวดเร็ว เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่าสาเหตุที่หนังไม่ทำเงินมากเท่าไหร่ เป็นเพราะคุณภาพของหนังหรือเป็นเพราะผู้ชมไม่กล้าเข้าโรงภาพยนตร์กันแน่
สถานการณ์ทุกอย่างเริ่มชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อข่าวคุณลุงผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ดอนเมืองเมื่อช่วงสัปดาห์ก่อน สร้างความตื่นตระหนกให้กับคนไทย (โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล) ว่าเชื้อดังกล่าวอาจจะระบาดไปในวงกว้าง สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ชมเข้าโรงหนังน้อยกว่าปกติ ทั้งที่มีหนังฟอร์มยักษ์อย่าง Sonic the hedgehog และ The Call of the wild เข้าฉาย แต่หนังทำเงินเปิดตัววันแรก ที่ 1.65 ล้านบาทและ 750,000 บาทเท่านั้นเอง ยังไม่รวมหนังฟอร์มเล็กเรื่องอื่นๆที่เข้าฉายในสัปดาห์เดียวกันที่รายได้ ชนิดที่ค่ายหนังเห็นแล้วก็คงน้ำตาตกไปตามๆกัน
หนังใหญ่กระทบ หนังไทยผวา
บรรดาหนังฟอร์มใหญ่ที่จ่อคิวเข้าฉายหลายเรื่อง ส่ออาการเป็นกังวล เมื่อสถานการณ์ไวรัสดูจะลุกลามบานปลาย ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ Mulan ไลฟ์แอ็คชั่นของดิสนีย์ที่กะเกณฑ์ว่าจะเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในประเทศจีน ก็จำเป็นต้องเลื่อนการฉายในแดนมังกรไปอย่างไม่มีกำหนด (ส่วนประเทศไทยและอเมริกา ณ เวลานี้ยังวันฉายเดิมอยู่ที่ 26 มีนาคม)
ไม่ใช่แค่หนังต่างประเทศฟอร์มใหญ่ แต่หนังไทยอย่าง Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่ของค่ายสหมงคลฟิล์มที่เดิมมีกำหนดเข้าฉายวันที่ 5 มีนาคม ก็ถูกเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด เช่นเดียวกับ My Rhythm ซึ่งนำแสดงโดยหนุ่มคริส พีรวัส ก็ถูกเลื่อนอย่างไม่มีกำหนดเช่นเดียวกัน สาเหตุของการเลื่อนฉายนั้น คงไม่มีอะไรมากไปกว่า ฉายทีหลังดีกว่าฉายไปแล้วไม่มีคนดู สุดท้ายก็เจ๊งและผู้สร้างก็เข้าเนื้อตัวเอง!
เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์กับโปรโมชั่นลดราคาตั๋วหนัง
เมื่อคนไม่เข้าโรงหนัง โรงหนังก็ต้องพยายามหาทางรอดด้วยการผุดโปรโมชั่น “วันพิเศษ 4 ปีมีครั้งเดียว ดูหนัง 29 บาท” ออกมา ซึ่งดูเป็นโปรโมชั่นประเภท “ปุบปับ” มาแบบไม่ทันตั้งตัว เพราะมีการประกาศออกมาทางเว็บไซต์ของเมเจอร์ฯ เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ประกอบกับวันที่ 29 ก.พ. นั้นเป็นวันเสาร์ ซึ่งในสภาวะปกติ วันเสาร์และวันอาทิตย์เป็นวันที่คนทั่วไปออกมาดูภาพยนตร์ที่โรงหนังกันเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องลดราคาให้ถูกเกินค่าแรงงานขั้นต่ำต่อ 1 ชั่วโมงการทำงาน
แม้จะไม่ได้จัดโปรโมชั่นดังกล่าวกับทุกสาขาในเครือเมเจอร์ แต่เมื่อวันที่ 29 ก.พ. ที่ผ่านมา ผู้เขียนก็มีโอกาสไปที่โรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ สาขารัชโยธินและพบว่าหน้าโรงนั้นมี “วัยรุ่น” ที่ให้ความสนใจโปรโมชั่นอย่างคึกคักมากกว่าปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับหลายวันหรือหลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้
คนเยอะจริง แล้วเรื่องความสะอาดและสุขอนามัยล่ะ
อย่างไรก็ตาม การที่โรงภาพยนตร์จะมีคนหรือไม่มีนั้น ปัจจัยแรกอาจจะมาจากสภาพสถานการณ์ไวรัส ที่นับวันยิ่งฟังก็ยิ่งเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนล้วนแต่ห่วงเรื่องสุขภาพอนามัยของตัวเอง การเข้าไปนั่งรวมอยู่กับคนหมู่มากในห้องขนาดมหึมาและอากาศที่หมุนเวียนภายใน อาจจะไม่ใช่พื้นที่ที่น่าไว้วางใจนัก ประกอบกับเราไม่มีทางรู้ได้เลย ว่าคนที่อยู่ในโรงภาพยนตร์เดียวกับเรานั้น มีประวัติการเดินทางไปไหนมา ไปใกล้ชิดกับคนที่เป็นพาหะนำโรคมาเมื่อไม่กี่วันก่อนหรือเปล่า
ซ้ำร้าย “เบาะที่นั่ง” ของโรงภาพยนตร์ที่มีการเปลี่ยนหมุนเวียนคนนั่งตลอดวัน เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าระหว่างรอบฉาย พนักงานจะเข้ามาทำความสะอาดเบาะด้วยการเช็ดน้ำยาฆ่าเชื้อหรือแอลกอฮอล์ทุกที่นั่ง เราไม่มีทางรู้ได้อย่างแน่ชัด ดังนั้นเพื่อความมั่นใจและสบายใจของตัวเอง บางครั้งการพกน้ำยาฆ่าเชื้อและกระดาษทิชชู่เปียกอาจจะเป็นเรื่องจำเป็น ณ เวลานี้ในการเข้าโรงภาพยนตร์ หรืออาจจะหาผ้า ไม่ก็พลาสติกมารองนั่ง (เมื่อเช็ดเสร็จ อย่าลืมทิ้งขยะและเรียบร้อย รวมถึงล้างมือให้สะอาดด้วยเช่นกัน)
ไม่ว่าสถานการณ์ไวรัสโคโรน่าจะหนักหนาแค่ไหน เราเชื่อว่าคอหนังแต่ละคน คงมีวิธีการเสพย์ภาพยนตร์ในวิธีของตัวเอง แล้วคุณล่ะครับ ตอนนี้เข้าโรงหนังกันบ่อยแค่ไหน มาแชร์ให้เราฟังกันบ้างนะครับ