Invisible Man: มนุษย์ล่องหนและนักคุกคามแห่งยุค #Metoo โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

Invisible Man: มนุษย์ล่องหนและนักคุกคามแห่งยุค #Metoo โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

Invisible Man: มนุษย์ล่องหนและนักคุกคามแห่งยุค #Metoo โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถือได้ว่า Invisible Man ฉบับผู้กำกับ ลีห์ วานเนล เป็นการฟื้นคืนชีพปีศาจคลาสสิคในบริบทร่วมสมัยได้อย่างชาญฉลาด เป็นหนังสยองขวัญที่ระอุไปด้วยประเด็นที่สมัยใหม่มากๆ อย่างการคุกคามทางเพศ ความรุนแรงต่อผู้หญิง และแรงกดดันทางอารมณ์ที่สตรีเพศต้องแบกรับในสังคม ที่สำคัญคือ หนังมันสนุก เคลื่อนเรื่องเร็ว และมีจุดหักเหให้คนดูฮือฮาและเซอร์ไพรส์แทบจะตลอดทาง

Invisible Man ฉบับนี้ ใช้เพียงแค่ชื่อและคอนเซปท์ของนิยายไซไฟ-สยองขวัญเรื่อง มนุษย์ล่องหน จากปี 1897 ของ เอช.จี.เวลส์ แต่ไม่ได้เป็นหนังโบราณ และไม่ได้มีเนื้อเรื่องหรือสถานการณ์ใกล้เคียงกับหนังฉบับแรกจากปี 1933 หรืออีกหลายๆ เวอร์ชั่นที่เพียนสร้างกันมาตลอดทุกยุค ตรงกันข้าม หนังตีความเนื้อเรื่องใหม่หมดและพลิกมุมมองของตัวละครแบบกลับหลังหัน กล่าวคือ Invisible Man ในภาคนี้ไม่ได้เล่าเรื่องจากมุมของมนุษย์ล่องหน (หรือต้องแปลตรงๆ ว่า ผู้ชายล่องหน) แต่เล่าเรื่องจากมุมของผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของมนุษย์ล่องหน (ในเวอร์ชั่นอื่นๆ ตัวมนุษย์ล่องหนเป็นตัวละครที่ทั้งน่ากลัวและน่าสงสาร และไม่มีการพูดถึงตัวละครหญิงอื่นๆ สักเท่าไหร่) กลายเป็นหนังที่วิพากษ์วิจารณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงในยุค #Metoo ได้อย่างน่าสนใจ

คนที่แบกหนังทั้งเรื่องคือ เอลิซาเบธ มอสส์ ดาราออสเตรเลียที่กำลังมาแรงจากเหนังเล็กๆ ที่เน้นคุณภาพ ฉากเปิดเรื่องที่ทำได้นิ่งและลุ้นมาก เป็นฉากที่ตัวละครของเธอชื่อ เซซิเลีย ลอบหนีในเวลากลางดึกออกจากบ้านหรูริมมหาสมุทรที่เธออาศัยอยู่กับสามีชื่อ เอเดรียน นักธุรกิจและนักประดิษฐ์เทคโนโลยีด้านภาพและการมองเห็น เธอซมซาน หอบหิ้วข้าวของ และระเห็ดไปอยู่กับเพื่อนโดยเปิดเผยว่า เอเดรียนเป็นสามีที่บงการชีวิตเธอทุกอย่าง เป็นเผด็จการที่ตบตีและบังคับให้เธอใช้ชิวิตอย่างที่เขากำหนด จนเซซิเลียทนไม่ได้ต้องวางแผนหนีออกมา

กาลกับตาลปัตรเมื่อมีข่าวออกมาว่า เอเดรียนฆ่าตัวตายและทิ้งสมบัตรมหาศาลไว้ให้เซซิเลีย เมื่อเซซิเลียไปแสดงตัวเพื่อรับสิทธิ์ เธอกลับรู้สึกว่ามีเหตุการณ์แปลกๆ เหมือนมีคนเฝ้าติดตามเธอ เอาของเธอไปซ่อน หรือเหมือนมีคนมายืนมองตอนเธอนอนหลับ เพื่อนที่เธอมาขออาศัยอยู่ด้วย เริ่มมองว่าเธอ “หลุด” สติสตังไม่อยู่กับตัว และยังทนทุกข์กับบาดแผลทางอารมณ์ที่เกิดจากความรุนแรงในครอบครัว จนทำให้เธอเข้าใกล้คำว่า “ผู้หญิงบ้า” ไปทุกขณะ

สำหรับคนดู เราค่อนข้างแน่ใจว่าเซซิเลียไม่ได้บ้า แต่โดนเล่นงานโดยสามีของเธอที่กลายเป็นมนุษย์ล่องหนตามที่ชื่อเรื่องประกาศไว้ แต่ความกำกวมในพฤติกรรม การที่ไม่มีใครเชื่อเซซิเลียเมื่อเธอพยายามอธิบายว่านี่เป็นแผนการของมนุษย์ล่องหน และการที่ผู้หญิงคนหนึ่งถูกโยนข้อหาว่าเป็นบ้า เหล่านี้เป็นการเสียดสีและตีแสกหน้าปัญหาการคุกคามทางเพศ (ที่ตำรวจมักไม่เชื่อเหยื่อ) และเปิดเผยอคติของสังคมที่ว่าผู้หญิงมีแนวโน้มจะตีโพยตีพายไร้เหตุผล และมีสภาวะจิตใจที่ง่อนแง่นราวกับคนเสียสติเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์คับขัน

การเลือก เอลิซาเบธ มอสส์ มารับบทนำ น่าสนใจตรงที่ว่า เธอเป็นดารานำในหนังซีรี่ส์เรื่องดัง The Handmaid’s Tale หนังดิสโทเปียที่ว่าด้วยเรื่องการกดขี่ผู้หญิงในโลกอนาคต อันทำให้เธอกลายเป็นไอคอนของผู้หญิงธรรมดาๆ ที่โดนกระทำโดยระบบและต้องลุกขึ้นสู้เพื่อรักษาชีวิตของตนเอง

เหตุการณ์ที่เหลือใน Invisible Man จะเป็นอย่างไร แนะนำให้ไปดูเองจะดีกว่า เพราะเราจะดูหนังเรื่องนี้เป็นหนังเขย่าขวัญง่ายๆ ตรงๆ เลยก็ได้ เพราะทำมาได้สนุก ลุ้น มีฉากเหวอๆ ให้สะใจ นี่เป็นหนังที่สมชื่อสตูดิโอ Blumhouse ที่กลายมาเป็นสตูดิโอหนังสยองขวัญที่ยกระดับหนังที่เรียกกันว่า เกรด B ขึ้นมาเป็นหนังทำเงินโดยสร้างแง่มุมที่ไม่ซ้ำซากให้กับเนื้อเรื่องที่ดูเผินๆ เหมือนจะเดิมๆ  มนุษย์ล่องหนที่จริงๆ แล้วมีอายุกว่า 120 ปี (นับจากนิยายของเวลส์) กลับมาดูร่วมสมัยและเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างแนบเนียน

ในช่วงที่โรงหนังอาจจะดูร้างๆ ไปบ้าง นี่เป็นหนังที่สมควรฝ่าความกังวลต่างๆ ไปชมเป็นอย่างยิ่ง

 

ชมตัวอย่างภาพยนตร์ Invisible Man ได้ ที่นี่

 

เกี่ยวกับผู้เขียน
ก้อง ฤทธิ์ดี
อัจฉริยะนักวิจารณ์ภาพยนตร์ นักเขียน นักแปล เจ้าของสำนวนสละสลวย มือรางวัลระดับโลก 

อัลบั้มภาพ 18 ภาพ

อัลบั้มภาพ 18 ภาพ ของ Invisible Man: มนุษย์ล่องหนและนักคุกคามแห่งยุค #Metoo โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook