5 หนังที่ว่าด้วยโรงหนัง ในยามที่โรงหนังปิดชั่วคราว โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

5 หนังที่ว่าด้วยโรงหนัง ในยามที่โรงหนังปิดชั่วคราว โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

5 หนังที่ว่าด้วยโรงหนัง ในยามที่โรงหนังปิดชั่วคราว โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในที่สุดรัฐบาลก็มีมติให้โรงภาพยนตร์ในกรุงเทพและปริมณฑลปิดทำการชั่วคราว อย่างน้อยถึงวันที่ 31 มีนาคมนี้ ตามมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ Covid-19 ไทยเป็นประเทศล่าสุดที่ตัดสินใจสั่งปิดโรงภาพยนตร์และสถานบริการอื่นๆ ที่มีการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก ก่อนหน้านี้จีนเป็นที่แรกที่ปิดโรงหนัง ตามมาด้วยศูนย์กลางการแพร่ระบาดในยุโรปอย่างอิตาลี สเปน แม้แต่ฝรั่งเศส ประเทศที่ผู้คนยึดเหนี่ยวหนังเป็นสรณะ ยังต้องประกาศปิดโรงทั่วประเทศชั่วคราวเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ เพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซีย ก็ปิดโรงหนังไปแล้วอย่างน้อยถึงสิ้นเดือนเช่นเดียวกัน

จะห่าลงหรือไวรัสระบาด โรงหนังก็ยังเป็นสถานที่แห่งมนต์มายา ถึงจะต้องดับแสงปิดจอลงชั่วคราว ถึงคนจะย้ายไปดูหนังสตรีมมิ่งกันมากขึ้น แต่เสน่ห์ของโรงภาพยนตร์เป็นเสน่ห์อบอวลของแสงและเงาแห่งกาลเวลาที่ไม่มีวันเสื่อมคลาย วันนี้ผู้เขียนจึงขอเชิญย้อนไปดูหนัง 5 เรื่อง ที่มีท้องเรื่องเกี่ยวพันกับโรงหนัง เป็นหนังที่ลุ่มหลงกับภาพยนตร์และโรงภาพยนตร์ ถือว่าเป็นการหล่อเลี้ยงแฟนหนังไว้ในช่วงเวลาที่ต้องม่านจอจะต้องปิดลงชั่วคราว

 

Cinema Paradiso

ไม่มีเรื่องนี้คงโดนโห่ หนังซึ้งจากอิตาลีในปี 1988 โดยผู้กำกับ กุยเซปเป้ ทอร์นาโตเร่ เป็นหนังเกี่ยวกับโรงหนังที่น่าจะโด่งดังและมีผู้ชื่นชอบมากที่สุด เรื่องราวเกิดขึ้นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ว่าด้วยมิตรภาพของเด็กชายวัยชื่อซัลวาโตเร กับคนฉายหนังชื่อ อัลเฟรโด ในโรงภาพยนตร์ชื่อ Cinema Paradiso ในเมืองชนบทของซิซิลี

ภาพจำของหนัง คือภาพ อัลเฟรโด ในห้องฉายหนัง (projection booth) โดยมีเด็กชายซัลวาโตเร กำลังถือและส่องแผ่นฟิล์ม นี่เป็นฉากที่บันทึกเวทมนตร์ของการฉายหนังและความอิ่มเอิบของผู้ฉายอย่างตรงไปตรงมาที่สุด ต่อมา ซัลวาโตเร กลายเป็นคนฉายหนังแทน อัลเฟรโด และเติบโตขึ้นเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ผู้มีชื่อเสียงในกรุงโรม เมื่อเขาเดินทางกลับมายังเมืองบ้านเกิดเพื่อร่วมงานศพของอัลเฟรโด ซัลวาโตเรค้นพบว่าโรง Cinema Paradiso กำลังจะถูกทุบเพื่อสร้างอาคารจอดรถ ความสะเทือนใจจากการสูญเสียโรงหนังแห่งสวงสววรค์นี้เป็นสิ่งที่ผู้ชมจำได้ไม่มีวันลืม

Inglourious Basterds

หนังตลกร้ายและล้อเลียนประวัติศาสตร์จากปี 2009 โดยผู้กำกับ เควนติน ตารันติโน่ อาจจะไม่ใช่หนังที่ว่าด้วยโรงหนังตรงๆ แต่หนังใช้โรงหนังเป็นฉากของเหตุการณ์สำคัญ และเป็นฉากหลังแห่งการจินตนาการประวัติศาสตร์โลกใหม่ผ่านประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ กล่าวคือ Inglourious Basterds สร้างเหตุการณ์ให้ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และนายทหารใหญ่ของนาซีจำนวนมาก เข้าร่วมงานปฐมทัศน์ของหนังโฆษณาชวนเชื่อ

แต่ขณะที่หนังกำลังฉายนั่นเอง ทหารอเมริกัน (อันนำโดย แบรด พิทท์) ร่วมมือกับเจ้าของโรงและคนฉายหนัง ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านนาซีเช่นกัน จัดการล็อกประตูโรง จุดไฟเผา (โดยใช้ฟิล์มไนเตรทอันไวไฟ) และสังหารหมู่ฮิตเลอร์และพรรคพวกอย่างสะใจในขณะที่จอหนังกำลังไฟลุกท่วม นี่หนังคือหนังแก้แค้นที่สนุกมากเรื่องหนึ่ง และเป็นหนังแก้แค้นที่ใช้หนังเป็นเครื่องมือในการแก้แค้นด้วย   

Goodbye, Dragon Inn

มาดูฝั่งเอเชียบ้าง หนังไต้หวันเรื่อง Goodbye, Dragon Inn เป็นงานจากปี 2003 ของผู้กำกับ ไฉ้มิ่งเหลียง ด้วยสไตล์เนิบช้า จับจ้อง ครุ่นคิด หนังทั้งเรื่องมีบทพูดไม่ถึงสิบประโยค และส่วนใหญ่เป็นเฟรมนิ่งๆ ที่ชวนให้เราพิจารณารายละเอียดของผู้คนและสิ่งต่างๆ บนจอ

หนังของไฉ้แทบทุกเรื่อง เป็นการเพ่งกสิณเพื่อสกัดเอาความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาและแปลกแยกของผู้คนในเมืองออกมา ในเรื่องนี้เขาใช้โรงหนังเก่าชื่อ Dragon Inn อันเป็นโรงที่ตั้งชื่อตามหนังกังฟูคลาสสิกของคิงฮู และเป็นโรงหนังที่กำลังจะถูกทุบ เป็นฉากหลังของการเพ่งพิจารณาอารมณ์เศร้าสร้อย (และแอบขำขื่น) ของตัวละครที่ถูกหลอกหลอนด้วยอดีตและด้วยมายาของโรงภาพยนตร์

The Purple Rose of Cairo

หนังตลกโรแมนติกจากปี 1985 ของ วู้ดดี อัลเลน ดารานำคือ มีอา ฟาโรว์ (อดีตภรรยาของวู้ดดี้ ก่อนที่ทั้งสองจะกลายเป็นศัตรูคู่แค้นจากเหตุการณ์หย่าร้างและข้อกล่าวหาว่าวู้ดดี้ทำอนาจารลูกสาวของฟาโรว์) เหตุการณ์ในหนังเกิดขึ้นในปี 1935 ฟาโรว์ แสดงเป็น เซซิเลีย หญิงสาวที่กำลังประสบมรสุมชีวิตแต่งงาน และชอบเข้าไปดูหนังในโรงเพื่อให้ลืมความทุกข์ หนังที่ เซซิเลีย ชื่นชอบมากคือเรื่อง The Purple Rose of Cairo อันว่าด้วยการผจญภัยของคู่สามีภรรยาและนักขุดค้นรูปหล่อในอียิปต์

หลังจากเซซิเลียตีตั๋วไปดูหนังเรื่องนี้รอบแล้วรอบเล่า ตัวละครนักขุดค้นในหนังหันมาหาเธอ และก้าวเท้าออกจากจอภาพยนตร์มาสู่โลกความจริงเพื่อสารภาพว่าเขาหลงรักเธอ หลังจากเห็นเธอมาดูหนังหลายรอบมาก ทั้งคู่ออกเที่ยวด้วยกัน และเซซิเลียยังก้าวข้ามจอเข้าไปอยู่ในหนังของเขาด้วย การข้ามภพไปมาระหว่างจอหนังเป็นการเฉลิมฉลองมายาของภาพยนตร์ ในขณะที่โรงหนังเปรียบเสมือนประตูแห่งภพที่ทำให้ความจริงและความฝันพร่าเลือน

นิรันดร์ราตรี (Phantom of Illumination)

หนังไทยที่ว่าด้วยเรื่องโรงหนังก็มี หนังสารคดีกึ่งทดลองจากปี พ.ศ. 2560 เรื่องนี้สร้างโดย วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย เป็นการบันทึกเรื่องราวชีวิตของคนฉายหนังประจำโรงธนบุรีราม่า หนึ่งในโรงหนังแบบ stand alone โรงท้ายๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ในกรุงเทพในช่วงเวลานั้น และกำลังจะถูกทุบทำลาย นี่คือสารคดีที่ว่าด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่าน เมื่อการฉายหนังด้วยฟิล์มตกยุคและกลายเป็นการฉายหนังด้วยฮาร์ดดิสก์ และเมื่อโรงหนังสแตนด์อะโลนในยุคเก่าถูกทุบทิ้ง ตามการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของเมืองโดยแรงกดดันของนายทุน

 

เกี่ยวกับผู้เขียน
ก้อง ฤทธิ์ดี
อัจฉริยะนักวิจารณ์ภาพยนตร์ นักเขียน นักแปล เจ้าของสำนวนสละสลวย มือรางวัลระดับโลก 

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ 5 หนังที่ว่าด้วยโรงหนัง ในยามที่โรงหนังปิดชั่วคราว โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook