The Platform จะชั้นล่างหรือชั้นบน เราก็คนเหมือนกัน

The Platform จะชั้นล่างหรือชั้นบน เราก็คนเหมือนกัน

The Platform จะชั้นล่างหรือชั้นบน เราก็คนเหมือนกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หนังสัญชาติสเปนที่มาแรงที่สุดบนสตรีมมิ่ง Netflix เวลานี้ กับเรื่อง The Platform หรือ El Hoyo (The Hole) ผลงานการกำกับของกัลเดอร์ กัซเตลู อูร์รูเดีย ซึ่งเป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก! โดยก่อนหน้านี้เขานั่งแท่นเป็นโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์เรื่อง The Glass Coffin (El ataúd de cristal) ในปี 2016 หนังทริลเลอร์สยองขวัญว่าด้วยหญิงสาวคนหนึ่งที่ตื่นขึ้นในรถลีมูซีนที่ปิดตาย เธอต้องพยายามนึกให้ออกว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองก่อนเวลาในการเอาตัวรอดจะหมดลง ซึ่งหนังไปคว้ารางวัลใหญ่ในเทศกาล FilmQuest ในปี 2017 ทั้งสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมและภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนั้นมาอีกด้วย

 

 

สำหรับ The Platform บอกเล่าเรื่องราวของสถานกักกันตัวเองในแนวดิ่ง หรือ มองอีกมุมว่ามันคือคุกในแนวดิ่งก็ได้เช่นกัน ซึ่งหนังไปโฟกัสที่ตัวละครอย่างโกเร็ง (อีวาน มาสซากูเอ้) ชายที่นำพาตัวเองเข้ามาในสถานที่แห่งนี้ด้วยจุดประสงค์บางประการ เขาพบว่าตัวเองตื่นขึ้นมาอยู่บนที่ชั้น 48 อยู่ร่วมกับชายวัยไม้ใกล้ฝั่งอย่างตรีมากาซี (โซเรี่ยน เอกูเลียร์) ซึ่งเขาเข้ามายังสถานที่แห่งนี้เพราะฆ่าคนโดยไม่เจตนาและอยู่มาหลายเดือนพอที่จะเข้าใจระบบการทำงานของสถานที่แห่งนี้

ด้วยความฉงนสงสัยในฐานะ “คนใหม่” เขาจึงเริ่มตั้งคำถามถึงสถานที่แห่งนี้ ด้วยรูปร่างลักษณะของพื้นที่แนวดิ่ง โดยในแต่ละชั้นจะมีนักโทษอยู่ 2 คน อยู่ตรงข้ามกันคนละด้าน โดยมีแค่เพียงเตียงนอน อ่างล้างหน้าและโถชำระเพื่อใช้ในการขับถ่าย สำหรับวิธีการให้อาหารจะแปลกกว่าคุกที่อื่น เนื่องจากในแต่ละชั้นจะมีช่องสี่เหลี่ยมตรงกลางระหว่างเพดานและพื้น เพื่อให้แท่นวางอาหารเคลื่อนผ่านในแต่ละชั้นลงไป

 

อาหารที่อยู่บนแท่นดังกล่าว อุดมไปด้วยของคาวหวานหลากหลายชนิด ผลไม้ เครื่องดื่ม ซึ่งทุกอย่างจะถูกกองรวมกัน แท่นวางอาหารจะหยุดค้างประมาณ 2-3 นาทีในแต่ละชั้น ก่อนที่มันจะเคลื่อนผ่านไปยังชั้นถัดไป แน่นอนว่าคนที่อาศัยอยู่ที่ชั้นบนจะได้ทานอาหารดี สะอาด สวยงาม ส่วนคนชั้นล่างๆก็จะได้ทานแค่เพียงเศษอาหารหรือไม่เหลืออะไรให้กิน และหากผู้ถูกคุมขังในแต่ละชั้นเก็บอาหารไว้กินต่อ เมื่อแท่นอาหารเคลื่อนผ่านชั้นของตัวเองไปแล้ว อุณหภูมิของห้องจะเพิ่มขึ้นจนทุกอย่างลุกไหม้ หรืออาจจะลดต่ำลงจนถึงจุดเยือกแข็งก็ได้ ในทุกครั้งที่แท่นอาหารจะเลื่อนลงมาที่ชั้นของใคร ไฟสีเขียวจะติดขึ้นที่ผนังก่อนเสมอ

 

Man of La Mancha วรรณกรรมที่ถูกกล่าวถึงในเรื่อง

 

ประการถัดมาผู้ถูกจองจำจะได้สามารถนำ “ของติดตัว” เข้ามาได้ 1 ชิ้น โกเร็งได้เลือกหนังสือวรรณกรรมอย่าง Man of La Mancha (ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน) ชิ้นงานอมตะของประเทศสเปนที่ประพันธ์ขึ้นโดยมิเกล เด เซร์บันเตส ซาอาเบดรา ซึ่งในประเทศไทยเคยได้รับการดัดแปลงเป็นละครเวทีชื่อ “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่”

Man of La Mancha นั้นว่าด้วยเรื่องราวของดอนกิโฆเต้ ชายชราช่างฝันที่จินตนาการว่าตัวเองเป็นอัศวินผู้กล้าที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกภายนอกได้ ท่ามกลางสายตาของผู้คนที่มองเขาไม่แตกต่างอะไรจากคนบ้าวิกลจริต โดยสาระสำคัญของวรรณกรรมเรื่องนี้คือการมองโลกด้วยแง่บวก และฝันถึงสิ่งที่เราต้องการให้โลกเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข (สังคมอุดมคติ) นั่นเอง

คนดูจะได้รับข้อมูลเพิ่มเติมว่าโกเร็งเลือกเข้ามาในสถานที่แห่งนี้เป็นเวลา 6 เดือน เพียงเพื่อต้องการจะแลกกับ “ใบรับรอง” (ซึ่งคนดูก็ไม่มีโอกาสรู้คำตอบว่าใบรับรองดังกล่าวคืออะไรก็ตาม แต่ก็พอเข้าใจได้เลยว่าสิ่งดังกล่าวต้องสำคัญมากแน่นอน เขาถึงเลือกพาตัวเองเข้ามาในสถานที่เช่นนี้)

 

 

กินของสกปรกดีกว่ายอมอดตาย

เวลาผันผ่านไปหลายวัน โกเร็งจะเริ่ม “หิว” และต้องกินอาหารเหลือที่อยู่บนแท่นเพื่อประทังชีวิต ทันทีที่เขาได้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมจากตรีมากาซี ว่าคนชั้นล่างๆอาจจะไม่เหลืออาหารกิน เพราะตรีมากาซีเคยไปอยู่ชั้นตัวเลขที่ชั้น 80 ส่งผลให้ตรีมากาซีไม่มีอะไรกินเกือบเดือน ด้วยความตกใจโกเร็งจึงอยากจะตะโกนบอกให้ชั้นที่อยู่เหนือตัวเองช่วยเผื่อแผ่อาหารให้คนชั้นล่างๆ แต่ตรีมากาซีก็ส่ายหน้าแล้วตั้งคำถามใส่หน้าโกเร็งว่า “นายเป็นคอมมิวนิสต์เหรอ”  โกเร็งจึงสวนกลับว่าเขาก็มีเหตุผลที่อยากจะเผื่อแผ่ให้ทุกคนมีอาหารกิน แต่ตรีมากาซี เลือกจะใช้วิธีการยืนฉี่รดลงไปที่แท่นอาหารซึ่งเลื่อนลงไปอยู่ที่ชั้น 49  พลางกล่าวว่า “พวกชั้นล่างก็คือชั้นล่างกว่า เดือนต่อไปเขาอาจจะอยู่เหนือเรา และทำแบบเดียวกับที่เรากำลังทำอยู่” เนื่องจากในทุกเดือน คนในแต่ละชั้นจะถูกสลับชั้น ถ้าดวงดีก็ได้ชั้นสูงๆ โชคร้ายหน่อยก็อยู่ลึกลงไป (และแน่นอน อาหารไปไม่ถึง) ยิ่งโกเร็งมีคำถามในหัวมากแค่ไหน เขาก็เริ่มสงสัยในคำอธิบายของตรีมากาซีมากขึ้นมากเท่านั้นว่าทำไมเขาถึงรอดชีวิตมาได้เกิน 6 เดือนในสภาพที่ไม่ซูบซีดหรือหิวโซ (เชิญหาคำตอบในหนังกันเอง)

 

 

กล่าวโดยรวบรัดก็คือ The Platform เป็นหนังประเภท High Concept (พล็อตแปลกใหม่น่าตื่นตะลึง) ที่หยิบเอาสถานการณ์ที่ตัวละครต้องเผชิญหน้า เอามาวิพากย์ระบบการเมืองการปกครอง วิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสภาวะคับขันที่ต้องเอาตัวรอด ปรัชญาและอุดมคติ ภาพความฝันและสังคมที่ผู้คนอยากจะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม ถูกสะท้อนผ่านเรื่องราวในเวลา 90 นาทีที่หนังเรื่องนี้ดำเนินไป โดยมีจุดพลิกผันและทำให้ผู้ชมต้องฉุกคิดอยู่ตลอดเวลาว่า ถ้าหากเราเป็นแบบตัวละครตัวใดตัวหนึ่งในเรื่องเราจะเลือกทำแบบตัวละครตัวไหน เพราะทุกคนต่างก็มีทางออกและข้อแม้ของชีวิตที่ไม่เหมือนกัน

 

 

ท้ายที่สุดแล้วความ “ถูกที่ถูกเวลา” ของ The Platform คือมันออกฉายในช่วงเวลาที่โลกของเรากำลังเผชิญกับวิกฤติไวรัสโควิด-19 กำลังระบาดอย่างหนัก เมื่อชนชั้นบนที่นอนเปิดแอร์นอนกักตัวอยู่บ้านใช้เงินในบัญชีที่งอกเงยมาจากค่าเช่าที่ (ยกตัวอย่าง) ชนชั้นกลางและชนชั้นล่างต่างกระเสือกกระสนเอาชีวิตรอดจากการเป็นลูกจ้าง รัฐบาล (หรือเราจะมองเป็นคนที่อยู่เหนือคุกแนวดิ่ง) ที่บริหารจัดการระบบทุกอย่าง (อย่างมีหรือไร้ ประสิทธิภาพ) สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้เรามองเห็นว่า ทุกอย่างในชีวิตเราถูกเชื่อมโยงกันภายใต้คำว่า “ระบบสังคม” (Social System) นั่นเอง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook