“กักตัว” อย่ากักหัวใจดีกว่า เมื่อละครบีบให้ฉันรักคนที่พรากอิสรภาพไป
ไม่รอดแล้วแม่ จากสถานการณ์โควิด-19 เค้าบอกให้เรากักตัว 14 วัน ประกาศใหม่ทีไร ก็บอกเราแบบนี้ เทยก็เลยว่า สงสัยเราต้องเริ่มนับใหม่กันทุกวันเป็นแน่แท้ ให้ตายเถอะ แล้วดิฉันจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไรได้ ไม่ต้องออกไปเห็นเดือนเห็นตะวันแล้วหรือไม่ แต่กระนั้น พอพูดถึงการกักตัวแล้วเนี่ย มันก็พาลทำให้เทยนึกถึงเรื่องนึงขึ้นมาได้ เลยอยากจะชวนตะมอยกันเรื่องความโรแมนติกในหน้าละครไทย ที่มันดันเกิดมาจาก “การกักขัง”
เอาซิ๊ เรามาพูดถึงเรื่องนี้กันเถิด
ในหน้าละครไทย เราอาจจะยังจำกันได้กับนิยายรักอมตะ “จำเลยรัก” ซึ่งเป็นบทประพันธ์ของ ชูวงศ์ ฉายะจินดา โดยเนื้อหา ก็ว่าเป็นเรื่องราวของความแค้นของ หฤษฎิ์ พี่ชายที่ต้องสูญเสียน้องชายของตนเอง และฮีก็เกิดความโกรธแค้นหญิงสาวนางที่เป็นต้นเหตุ ถึงกับจับตัวมาลงโทษเพื่อให้หายแค้น แต่บาปบุญ ฮีจับมาผิดคน หวยเลยไปตกกับ โศรยา ที่โดนฉุดกระชากลากถูไปขังไว้ที่เกาะที่ หฤษฎิ์ เป็นนายหัว ผู้ซึ่งดูแลธุรกิจที่เกาะนั้นอย่างเด็ดขาด แต่ชะตาฟ้าลิขิต ทั้งคู่ดันเกิดความรักกันท่ามกลางการกักขังหน่วงเหนี่ยว เมื่อฝ่าฟันความรู้สึกผิดชอบ จนตามล่าหาความจริงกันแล้ว ท้ายสุด ก็แต่งงานกัน และ หฤษฎิ์ ยอมรับทุกคำบัญชาของโศรยา นับจากนี้ตราบจนชั่วชีวิต
อู้ยยยยย ความรักเนาะ
แต่คุณคะ ความโรแมนติกนี้ มันเริ่มต้นที่การกักขังหน่วงเหนี่ยว ซึ่งแน่นอนว่าการลักพานั้น เป็นสิ่งผิดกฎหมายในทุกประเทศ แต่ทว่าความโรแมนติกจากการลักพานี้นั้น ดันถูกผลิตซ้ำในสื่ออย่างน่าตั้งคำถามอยู่มากเจ้าค่ะ
แต่ถ้าคุณกิตติคิดว่า สิ่งนี้จะเกิดขึ้นแต่ในไทย มันก็ไม่ใช่เช่นกันค่ะ เพราะในวรรณกรรมต่างประเทศ อาจหมายรวมถึงสื่ออื่นๆ ในต่างประเทศ ก็ปรากฎเรื่องราวการกักขังหน่วงเหนี่ยวจนเกิดไปเป็นความโรแมนติกในท้ายที่สุดเช่นกัน อย่างเช่นเรื่อง “Beauty and The Beast” หรือในชื่อไทยอย่าง โฉมงามกับเจ้าชายอสูร การ์ตูนดิสนีย์ขวัญใจเด็กๆ ที่ก็ปรากฎเรื่องราวที่ เบลล์ จำเป็นต้องสละตัวเอง โดนขังไว้ในปราสาทกับอสูรร้ายแทนพ่อของเธอ แต่ทว่าในท้ายที่สุด เธอก็ตกหลุมรักอสูรตัวนั้น ที่ซ่อนร่างเป็นเจ้าชายรูปงามเอาไว้นั่นแหละ
อู้ยยยยย ความรักอีกแล้วเนาะ
จริงๆ ปรากฎการณ์นี้ มีชื่อเรียกอย่างเป็นล่ำเป็นสันว่า “Stockholm Syndrome” ซึ่งเป็นชื่อเรียกของอาการที่เกิดขึ้นกับตัวประกันที่ถูกคนร้ายจับตัวไป แล้วในช่วงระยะเวลาผันผ่าน นางก็จะเกิดความรู้สึกผูกพันในช่วงเวลาที่ได้ใช้ชีวิตกับคนร้าย เกิดความเห็นอกเห็นใจ มองคนร้ายในแง่ดีขึ้น หรือบางครั้งเกิดเป็นความรักใคร่ เคยมีเคสที่แบบว่าตัวประกัน สามารถกลายเป็นพวกเดียวกับคนร้ายได้เลยด้วยก็มี
ชื่อของอาการนี้ ที่มาของนางก็ต้องตะมอยย้อนไปยังเมือง Stockholm ประเทศสวีเดน เมื่อปลายปี 70’s เกิดคดีปล้นธนาคาร ที่คนร้ายจับตัวประกันไปถึง 5 วันด้วยกัน แล้วบาปบุญค่ะเธอ เมื่อคนร้ายถูกจับ เหล่าตัวประกันกลับให้การเข้าข้างคนร้ายซะงั้นอ่ะแม่ แถมพ่วงโปรโมชั่น ตัวประกันคนหนึ่งได้ตกลงแต่งงาน ร่วมหอลงโลงกับคนร้ายในเวลาต่อมาอีกด้วย
เอ๊า เนี่ย ความรักอีกแล้ว
ซึ่งจริงๆ มันก็พอจะคิดถึงความเป็นไปได้อยู่เหมือนกันนะเออ เพราะคนร้ายในระบบสังคมเราๆ เนี่ย ก็ไม่ได้ผุดขึ้นมาจากนรก หรือเป็นผีห่าซาตานมาเกิดซะหน่อย เอาดีดีคนร้าย อาชญากร เค้าก็คน ที่มีมุมหนึ่ง มีความรู้สึกนั่นแหละ คือเราก็รัก โลภ โกรธ หลง เป็นเหมือนเราๆ เธอๆ ก็จะมีการกระทำที่เขากระทำผิดนั่นแหละ ที่จำเป็นต้องโดนวิพากษ์ไปตามระเบียบ นอกนั้น เราก็คงมีสิทธิจะตกหลุมรักคนเลวกันได้อยู่
แหม พวกเธอทำบ่อย ชั้นดูออก
แต่ค่ะ แต่... ตัดกลับมาที่คอนเทนต์แบบไทยไทย เรื่องราวอาการ Stockholm Syndrome ก็ดูเหมือนจะมีความเป็นไปได้มากขึ้น เมื่อวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย ก็ผูกเข้ากับแนวคิดที่ว่า ผู้ชาย จะมองผู้หญิงเป็นทรัพย์สิน หรือสิ่งที่ต้องแย่งชิงมาเพื่อประดับบารมีของตน
“ถ้าชอบ ก็ฉุดเลย” วลีเด็ดของตัวร้ายผู้ชายตั่งต่าง ซึ่งหลายๆ คนก็คงจะเคยได้ยิน
นอกจากนั้น ภาพกลับของอาการ Stockholm Syndrome ในหน้าสื่อไทยก็คือ เมื่อเราให้สิทธิของผู้ชายในการกระทำสิ่งนั้นแล้ว มันก็อาจจะนำไปสู่การกระทำที่ไม่ชอบธรรมอื่นๆ ได้อีกหลังจากที่ฉุดกระชากลากถูเธอมาแล้ว นั่นก็คือ “Rape Culture” หรือการขืนใจโดยพระเอกหน้าหล่อคมคาย ที่เพียงแค่เขาเป็นตัวเอง เขาก็จะกระทำสิ่งใดต่อนางเอกที่ฉุดมาอย่างไรก็ได้
ซึ่งนี่คืออาชญากรรม เป็นความผิดนะคะ หยุดเดี๋ยวนี้ หยุดทันที
หลังๆ มา แม้ จำเลยรัก จะยังไม่ปรากฎการรีเมกซ้ำ แต่ละครที่ตัวละครผู้ชาย มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ใช้ความแค้นของตัวเองในการกระทำชำเรา กักขังหน่วงเหนี่ยว จนเลยเถิดไปถึงขั้นคุกคามทางเพศด้วยความหล่อนี่ก็มีมากมายเหลือเกินค่ะ และความน่าสลดก็คือ ทำไมตอนจบ นางเอก ก็ต้องตกหลุมรัก หรือยอมให้กับการกระทำที่ผิดของเขาทุกทีไป
กดทับชะนีมากแม่
ความโดนเบ้ามากสื่อเหล่านี้อ่ะเนาะ บางทีเราก็กลายเป็นว่าต้องมานั่งเห็นใจคนที่ทำผิดกับเราซ้ำๆ ต้องมาเห็นใจกับน้ำตาจระเข้ ทั้งๆ ที่เธอเป็นคนผิดแท้ๆ แต่ถ้าฉันไม่ยอม ฉันก็ต้องกลายเป็นเล่นตัวเป็นอะไรไปอีก หรือกลายเป็นคนไม่รักดี ไม่รู้จักปล่อยวาง ไม่ให้อภัยคนอื่นเสียบ้าง
อุ้ย คุ้นจัง แหะแหะ
เหยี่ยวเทย ก็ขอเป็นกำลังใจให้การโดนกักตัวโดยสถานการณ์ของพวกพุชัยที่ทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิดครั้งนี้ ผ่านไปด้วยดีนะคะคุณกิตติขา
เหยี่ยวเทย รายงาน
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ