เมื่อจอหนังดับ และเทศกาลเมืองคานส์สะดุดไวรัส โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

เมื่อจอหนังดับ และเทศกาลเมืองคานส์สะดุดไวรัส โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

เมื่อจอหนังดับ และเทศกาลเมืองคานส์สะดุดไวรัส โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากผัดผ่อนไม่ตัดสินใจมานานหลายสัปดาห์ เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (Festival de Cannes) งานภาพยนตร์ที่ใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ก็ประกาศเลื่อนการจัดงาน จากเดิมจะเริ่มต้นในวันที่ 12 พฤษภาคม ไปเป็นช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม โดยเป็นเพียงการแจ้งคร่าวๆ ยังไม่ได้กำหนดวันชัดเจน

การตัดสินใจครั้งนี้ของผู้จัดเทศกาลเมืองคานส์ ไม่เกินความคาดหมายนัก เพราะสถานการณ์โรค Covid-19 ในยุโรป เริ่มย่ำแย่มาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ทั้งในอิตาลี สเปน เยอรมัน และฝรั่งเศส (แคว้นลอมบาร์ดีของอิตาลี ที่การระบาดหนักหน่วงก่อนใครเพื่อน อยู่ติดกับเขต Cote d’Azur ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองคานส์) ในตอนแรก เทศกาลยังยืนยันว่าจะทำตัวตามปกติ จะยังคัดเลือกหนังและเตรียมงานไปก่อน โดยจะตัดสินใจอีกทีตอนกลางเดือนเมษายน แต่อย่างที่ทราบ เมื่อสถานการณ์วิกฤตลงเรื่อยๆ ทำให้ผู้จัดออกประกาศในวันที่ 19 มีนาคมว่าต้องเลื่อนงานออกไป

Photo by Gareth Cattermole/Getty Images

ที่ต้องลุ้นกันต่อคือ ที่บอกจะจัดในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม จะเป็นไปได้จริงหรือไม่ เพราะแม้แต่โอลิมปิกยังไม่รอดเลย และเลื่อนไปปีหน้าแล้ว

การที่คานส์ต้องเลื่อน ส่งผลกระทบมากมายต่อวงการภาพยนตร์โลก เราต้องอย่าไปคิดแค่ว่า เทศกาลคานส์เป็นเพียงงานหรูหรา มีดาราเดินพรมแดงเว่อร์วัง เป็นงานไฮโซสำหรับคนชั้นสูงหรือชั้นเซเล็บ หรือเป็นงานหนังอาร์ทปีนบันได ภาคนั้นของงานเป็นความจริงและเป็นส่วนที่ออกข่าวให้คนดูไปทั่วโลก แต่นอกจากนั้น คานส์ยังมีภาคที่คนทั่วไปไม่ได้เห็น นั่นคือภาคธุรกิจในฐานะการเป็น “ตลาดหนัง” การซื้อขายหนัง หาทุน หาช่องทางจัดจำหน่าย การเปิดตัวหนังเล็กๆ หนังอินดี้ หนังโลกจากประเทศต่างๆ การหาคู่ค้าของบริษัทหนังเล็กใหญ่จากทุกแห่งหน เหล่านี้เป็นองคาพยพของเทศกาลเมืองคานส์เช่นกัน และเมื่อคานส์ต้องเลื่อน ทำให้ธุรกิจภาพยนตร์ทั่วโลกต้องชะงักไปด้วย

Photo by MJ Kim/Getty Images

โปรเจกต์หนังที่กำลังสร้างและอยากจะไปร่วมงานเพื่อหานายทุน บริษัทหนังที่จะเอาหนังไปขาย หนังใหม่ที่ต้องการไปเปิดตัว (เปิดในตลาดหนังก็ได้ ไม่ต้องในโรงพรมแดงเสมอไป) ทั้งหมดนี้ต้องพับเพียบและรอว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปทางไหนและเมื่อไหร่ ผลกระทบที่ว่านี่ส่งผลมาถึงเมืองไทยด้วย เพราะบริษัทหนังไทยก็อาศัยเมืองคานส์ในการทำธุรกิจ และหากธุรกิจชะงัก คนทำงาน พนักงาน ก็ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย 

การที่คานส์สะดุดไวรัส ซ้ำเติมวงการหนัง เพราะตอนนี้ฮอลลีวูด (และสหรัฐอเมริกาโดยรวม) ก็โดนไวรัสโคโรนาเล่นจนงอมไปแล้ว การถ่ายหนังทุกอย่างต้องหยุด หนังใหญ่ที่จะว่าจะออกฉายเดือนเมษายน-พฤษภาคม ต่างเลื่อนฉายไปเป็นแถวอย่างที่เราทราบกัน ทั้ง James Bond, Black Widow, Fast and Furious, Mulan และอื่นๆ เท่ากับว่า ทั้งฝั่งอเมริกาและยุโรป ทั้งฝั่งหนัง blockbuster และหนังอาร์ท ต่างไม่รอดพ้นพิษไวรัสในคราวนี้ และอย่าลืมว่าตอนนี้โรงหนังในโลกแทบจะปิดลงหมดแล้ว ยกเว้นเพียงบางประเทศ (และในจีน ซึ่งมีข่าวว่าดรงหนังเริ่มกลับมาเปิดบ้าง รอดูกันต่อไป)

Photo by Christopher Furlong/Getty Images

นี่จะเป็นปีแรกในรอบหลายๆ ปี ที่เราจะไม่ได้เห็นข่าวพรมแดงเมืองคานส์ในเดือนพฤษภาคม โซเชียลมีเดียคงไม่มีดราม่าจากคานส์ให้เราติดตามและเสียเวลากัน ในทางหนึ่งก็โล่งใจเพราะบางทีข่าวแบบนี้มันไม่มีสาระอะไรนอกจากการแฝงโฆษณา แต่ในอีกทาง การที่คานส์ต้องเลื่อน (หรืองด?) มีนัยยะสำคัญมากกว่าเพียงการหายไปของแฟชั่นพรมแดง แต่แสดงถึงการเชื่อมต่อกันอย่างแนบแน่นของธุรกิจภาพยนตร์โลก ธุรกิจที่เกี่ยวพันกับวัฒนธรรมร่วมสมัยที่มีอิทธิพลต่อคนดู และเป็นธุรกิจที่จ้างคนทำงานเป็นจำนวนมากในหลายประเทศ และมักเป็นคนที่ต้องรองรับผลทางเศรษฐกิจเมื่อเกิดเหตุการณ์นอกเหนือการควบคุมเช่นนี้

ตอนนี้ได้แต่หวังกันว่า ไวรัสร้ายจะพัดผ่าน เทศกาลคานส์จะรวมรวมกำลังกลับมาได้ ฮอลลีวูดจะฟื้นคืนชีพในเร็ววัน และโรงหนังจะกลับมาฉายแสงลงบนจอให้ผู้ชมได้ในไม่ช้า

 

เกี่ยวกับผู้เขียน
ก้อง ฤทธิ์ดี
อัจฉริยะนักวิจารณ์ภาพยนตร์ นักเขียน นักแปล เจ้าของสำนวนสละสลวย มือรางวัลระดับโลก 

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ เมื่อจอหนังดับ และเทศกาลเมืองคานส์สะดุดไวรัส โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook