“The English Game” ชวนดูต้นกำเนิดของเกมฟุตบอล
ในช่วงเก็บเนื้อตัวเก็บตัวอยู่อย่างบ้านอย่างนี้ผมเชื่อว่าแฟนฟุตบอลคงรู้สึกเหงาๆ กันใช่ไหมครับ ไม่มีแมตช์ลงเตะให้ลุ้นกันเหมือนเคย วันนี้เลยเอาซีรีส์ใหม่เรื่อง “The English Game” ที่ออกอากาศทาง Netflix มาฝากครับ น่าจะพอทำให้คอบอลคลายคิดถึงเกมลูกหนังหรือแม้แต่คนที่ชอบดูซีรีส์หายเหงาได้
“The English Game” เป็นซีรีส์ที่เพิ่งปล่อยให้ชมออนไลน์เมื่อกลางเดือนมีนาที่ผ่านมามีความยาว 6 ตอนจบ (สำหรับซีซั่นแรก) ครับ สร้างสรรค์โดย จูเลียน เฟลโลวส์ คนที่ทำซีรีส์ “Downton Abbey” ในอดีตนั่นแหละครับ หากย้อนไปไกลหน่อยก็ต้องบอกว่า เฟลโลวส์ แกเป็นคนเขียนบทสายคอนเซอร์เวทีฟมือฉมังคนหนึ่งเหมือนกัน เคยคว้ารางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวทีอะคาเดมี อะวอร์ดส์ (ออสการ์นั่นแหละครับ) จากเรื่อง “Gosford Park” ของผู้กำกับ โรเบิร์ต อัลท์แมน ในปี 2002 มาแล้ว
“The English Game” เป็นซีรีส์แนวดรามาพีเรียดที่พูดถึงต้นกำเนิดของเกมฟุตบอลสมัยใหม่นั่นเองครับ เรื่องเริ่มเล่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1879 หรือ 141 ปีที่แล้วที่ยังไม่มีเกมฟุตบอลในรูปแบบที่เราคุ้นเคย ไม่มีทั้งระบบลีก ไม่มีทั้งการซื้อขายนักเตะ ฟุตบอลในตอนนั้นเป็นเพียงแค่เกมกีฬาของกลุ่มชายหนุ่มชนชั้นสูงในอังกฤษ เป็นพวกมีฐานะดี มีการศึกษา มีชาติตระกูล มารวมตัวกันร่างกติกาอย่างเป็นเรื่องเป็นราวให้กับการละเล่นที่เรียกว่า “ฟุตบอล” (ซึ่งเตะกันมาได้สักพักหนึ่ง) แล้วก็ตั้งเป็นสมาคมที่เรียกว่า “The Football Association” หรือ FA. พูดง่ายๆ ก็คือ รวมตัวกันเป็นสมาคม เขียนกติกากันเอง เล่นกันเอง คว้าแชมป์กันเอง อะไรทำนองนั้นแหละครับ
ทีนี้พอฟุตบอลรายการที่จัดกันเองอย่าง “FA. Cup” นั้นแพร่หลายออกไป คนส่วนใหญ่เริ่มให้ความสนใจมากขึ้น กีฬาฟุตบอลเริ่มไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในกลุ่มชนชั้นสูงหรือที่เรียกกันว่าเป็นกีฬาของ “สุภาพบุรุษ” อีกต่อไป คนรากหญ้า ชนชั้นแรงงานหรือ “Working Class” เริ่มรับกีฬานี้เข้ามาในชีวิตประจำวัน กีฬาฟุตบอลเริ่มขยายตัวออกไปทั้งทางมิติสังคม และมิติทางพื้นที่ที่เมืองทางเหนือของอังกฤษซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมไล่ไปถึงสกอตแลนด์ซึ่งอยู่ใต้อาณัติของอังกฤษเริ่มเตะฟุตบอลกันมากขึ้น
นั่นทำให้หลายทีมหลายชุมชนเริ่มลงทุนกับเกมฟุตบอลมากขึ้น ดาร์วิน เอฟซี ซึ่งเป็นทีมของเมืองอุตสาหกรรมทอผ้าทางเหนือจึงไปจัดการคว้าตัว เฟอร์กัส ซูเธอร์ (เควิน กัทธรี่) และ จิมมี่ เลิฟ (เจมส์ ฮาร์คเนสส์) มาจากสโมสร พาทริค ในสก็อตแลนด์อย่างลับๆ เพราะว่าตอนนั้น FA. ห้ามไม่ให้มีการซื้อขายนักเตะหรือมีนักเตะอาชีพมาเสริมทัพ นั่นเป็นการกระทำที่ “ท้าทาย” FA. จน FA. เองก็เริ่มกังวลว่าตนเองกำลังจะสูญเสีย “เกมอันสูงส่ง” อย่างฟุตบอลของพวกเขาไปให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ลูกนายธนาคารอย่าง อาร์เธอร์ คินเนด (เอ็ดเวิร์ด ฮอลครอฟต์) กัปตันทีม โอลด์ อิตาเนียนส์ (ซึ่งก็คือทีมของตัว FA. เองนั่นแหละ) กลับไม่คิดอย่างนั้น ความคิดของเขาค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กน้อย ผ่านเหตุการณ์สำคัญในชีวิตส่วนตัวและผ่านการได้ฟาดแข้งกับ เฟอร์กัส ซูเธอร์ สองครั้งสองครา ทั้งในเกมที่ โอลด์ อีตาเนียนส์ ปะทะกับ ดาร์วิน เอฟซี และ แบล็คเบิร์น โอลิมปิก (แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ในปัจจุบัน) ในนัดชิงเอฟเอคัพ ปี 1883 ซึ่ง แบล็คเบิร์น ชนะไป และสร้างปรากฏการณ์เป็นทีมจากชนชั้นแรงงานทีมแรกที่คว้าถ้วยที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอย่าง เอฟเอ คัพ
การต่อสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน และการยอมรับว่าเกมฟุตบอลได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว มันไม่ใช่ “เกมของพวกเรา” ของ คินเนด นับว่าเป็นก้าวสำคัญมากครับ เพราะมันจะเปลี่ยนรูปแบบเปลี่ยนโมเดลฟุตบอลไปตลอดกาล และว่ากันว่า เฟอร์กัส ซูเธอร์ นี่แหละคือนักเตะอาชีพคนแรกของโลก ที่มีส่วนสำคัญทำให้วงการฟุตบอลกระเพื่อมไหวไปทั่วโลก
“The English Game” จบซีซั่นแรกด้วยการแง้มให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอีกหลายอย่างที่น่าจะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต ซึ่งผมก็ยังไม่แน่ใจว่ามันจะมีซีซั่นสองหรือไม่ เพราะจะว่าไปมันก็จบเรื่องราวในตัวของมันเองอยู่
ตัวซีรีส์เองก็ไม่ได้หวือหวามากนักครับ ค่อนข้างเรียบๆ เรื่อยๆ มาเรียงๆ อยู่พอสมควร แต่ก็ค่อยปั้นๆ ค่อยบิลต์อารมณ์ผู้ชมให้พีคไปกับเกมเอฟเอคัพนัดชิง ซึ่งเป็นไฮไลต์ของซีรีส์ได้อย่างยอดเยี่ยม ดูแล้วก็เอาใจช่วย ซูเธอร์ เชียร์ แบล็คเบิร์นฯ ขึ้นมา ขณะเดียวกันก็ชื่นชมในความเป็นสุภาพบุรุษที่แท้จริงของ คินเนด ไปด้วย
แนะนำให้ดูกันนะครับ เพื่อทำความเข้าใจว่าโลกฟุตบอลมันจะพัฒนามาไม่ถึงจุดที่เป็นอย่างทุกวันนี้ หากวันนั้นคนอย่าง อาร์เธอร์ คินเนด และ เฟอร์กัส ซูเธอร์ ไม่ได้ต่อสู้ในสิ่งที่พวกเขาเชื่อมั่น นั่นคือเกมที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน ทุกชนชั้น
ชมภาพยนตร์ตัวอย่าง The English Game ได้ ที่นี่
เกี่ยวกับผู้เขียน
จักรพันธุ์ ขวัญมงคล
นักเขียน นักแปล นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และบรรณาธิการอิสระ สนใจความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะและสังคม
อัลบั้มภาพ 35 ภาพ