ภาพยนตร์รางวัลออสการ์กับแฟชั่นยุค "วิคตอเรีย" แรงบันดาลใจของ "ดั่งดวงหฤทัย"
ดั่งดวงหฤทัย 2020 ออนแอร์มาถึง 9Ep เข้าไปแล้ว สิ่งที่เห็นเด่นชัดถนัดตาจนพาลคิดไปว่า นี่คืองานแฟชั่นวีคใช่ไหมเนี่ยก็คงไม่พ้นเรื่องคอสตูมของนักแสดง ที่เริดหรูอลังการดาวล้านดวงดั่งคำโฆษณาที่บอกไว้ว่า ละครเรื่องนี้ทุ่มทุนกับชุดนักแสดงไปกว่า 500 ชุด OMG! ชุดเยอะจริงด้วย เพราะสิ่งที่เห็นประจักษ์ต่อสายตาก็ชุดของ เจ้าฟ้าหญิงทรรศิกากัญญาวดี ที่เปลี่ยนฉลองพระองค์แล้วเปลี่ยนอีกชนิดที่เจ้าสาวในวันแต่งงานยังต้องอาย ฉากเดียว วันเดียวเปลี่ยนชุดเยอะจนนางพระกำนัลน่าจะมือเหี่ยวไปตาม ๆ กัน ทำให้คิดตามไปว่าชุดของนักแสดงที่เป็นแรงบันดาลใจของผู้จัดมาจากยุคไหนกันนะ เพราะถ้าเทียบกับเนื้อเรื่องตามบทประพันธ์แล้วละก็ บอกตามตรงว่ามันไปคนละทางเลยทีเดียว
แต่ก็เข้าใจได้ค่ะว่าจินตนาการใหม่กับบทใหม่ที่ใส่ลงไป ทำให้ความอังการออกมาประมาณนี้ จนมองหายุคไหนไม่เจอแล้วจริง ๆ ที่จะเป็นแรงบันดาลใจของคอสตูมในเรื่องไปได้นอกจาก ยุควิคตอเรีย ทำให้นึกถึงภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องที่เป็นเรื่องราวของยุคนั้น แต่ที่อลังการงานสร้างจนต้องตลึงในความงามที่ยิ่งกว่านางเอกภาพยนตร์ในเรื่องต่าง ๆ แล้ว ก็คือคอสตูมมลังเมลืองของเขานี่ละค่ะ แต่ละเรื่องก็มีคอสตูมที่เข้ากับเนื้อเรื่องจนแทบจะไม่มีที่ติกันเลยทีเดียว แต่ก่อนที่เราจะไปส่องว่าภาพยนตร์เรื่องไหนบ้างที่มีคอสตูมกระโปรงสุ่ม เรามาทำความรู้จักแฟชั่นในยุควิคตอเรียคร่าว ๆ กันก่อน
แฟชั่นของสาว ๆ ในยุควิคตอเรีย แฟชั่นกระโปรงสุ่ม
ยุควิตตอเรียเป็นแฟชั่นที่เกิดในช่วง ศตวรรษที่ 19 ช่วงของปี ค.ศ. 1840-1890 หลายคนสับสนระหว่างยุควิคตอเรีย กับ ยุคเรอเนซองส์ ก็จะบอกว่าแฟชั่นมันคนละยุคกันนะคะและเป็นยุคที่ห่างไกลกันมาก ๆ ยุคเรอเนซองส์เป็นยุคเฟื่องฟูที่อยู่ในช่วง ศตวรรษที่ 15-16 แฟชั่นของสาว ๆ ในยุคนั้นก็จะเป็นเสื้อคว้านโชว์อก ดันตูมเอวกิ่ว ใส่สุ่มพองออกข้าง ๆ เป็นวงรี จนมาถึงช่วงที่สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธทรงขึ้นครองราชแฟชั่นในยุคนี้ก็เริ่มมิดชิดมากขึ้น จนเรียกกันว่าเป็น ยุคเอลิซาเบธ คือปิดมาถึงคอแล้วแถมยังมีแผงคอเป็นระบายเข้ามาอีก มีข่าววงใน (อีกแล้ว) เม้ามอยกันว่า เพราะพระนางมีปัญหาด้านผิวพรรณ ก็เลยสร้างแฟชั่นผู้หญิงทาหน้าขาวด้วยลีด (เครื่องสำอางโบราณ มีส่วนประกอบคือตะกั่วขาวผสมกับขี้ผึ้ง ไขมันสัตว์ น้ำมันและไข่ขาว) แถมยังสวมเสื้อปิดคอ ถึงฉลองพระองค์ชุดไหนไม่ใช่เสื้อปิดคอ พระองค์ก็พอกพระฉวีส่วนอื่น ๆ ด้วยลีดอยู่ดี จนความนิยมแผ่มาถึงสตรีชั้นสูงในยุคนั้นให้แต่งตามพระองค์กันไปด้วย จะว่าไปแล้วก็เหมือนบ้านเรานั่นแหละค่ะ สาว ๆ ในวังแต่งอย่างไร สาว ๆ สูงศักดิ์นอกวังก็เห็นว่านำสมัย จึงมักจะแต่งตาม ๆ กันมาแบบนั้น เป็นเหมือนกันทุกประเทศ
ที่เข้าใจเอาเองว่าแรงบันดาลใจของคอสตูมในดั่งดวงหฤทัย น่าจะมาจากแฟชั่นยุควิคตอเรีย ก็เพราะกระโปรงสุ่มบาน ๆ และลวดลายตกแต่งที่วิจิตรตระการตา ของแต่ละนางในละครที่บรรดาเชื้อพระวงศ์ฝ่ายหญิงแต่งกายด้วยชุดในแบบวิคตอเรียตอนต้น มีเพียงเชื้อพระวงศ์ทางทานตะที่แต่งกายแตกต่างออกไป ณ จุดนี้ อิชั้นก็เข้าใจได้ กับแฟชั่นผสมผสานของชนชั้นสูงจากดินแดนที่ใช้เส้นทางเดินเชื่อมต่อกันแบบสามแคว้นนี้ เหมือนบ้านเราอีกอ่ะแหละที่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ มีชุดประจำถิ่นแตกต่างกัน ทีนี้เรามาดูกันดีกว่าว่ามีภาพยนตร์เรื่องไหนบ้าง ที่คอสตูมมลังเมลืองจนเป็นที่จดจำของใครหลายคน ซึ่งคัดมา 4 เรื่องที่ประทับใจจริง ๆ จากมากมายหลายเรื่องที่ทำเป็นภาพยนตร์ออกมาในยุคเดียวกัน
1.Anna Karenina
แฟชั่นในภาพยนตร์เรื่องนี้งดงามติดตาตรึงใจมาก จนนึกถึงเป็นเรื่องแรก ชุดของนางเอกบอกเลยว่าสวยงามทุกชุด หลายชุดดีไซน์ออกมาเรียบหรู บางชุดดีไซน์ออกมาเซ็กซี่เย้ายวน แต่ยังคงรสนิยมจนได้รับรางวัลออสการ์ สาขา Best Costume Design 2012 เป็นแฟชั่นในยุควิคตอเรียทั้งหมดเลย เริ่มมาตั้งแต่วิคตอเรียตอนต้น ที่ยังมีสุ่มบาน ๆ เสริมก้น จนสุ่มแฟบลงมาในวิคตอเรียตอนปลาย
Anna Karenin สร้างจากนวนิยายแนวโศกนาฏกรรมโรแมนติกของ ลีโอ ตอลสตอย (Leo Tolstoy) นักประพันธ์ชาวรัสเซีย ในชื่อเดียวกันและเป็นนวนิยายที่มีความหนาเกือบ 1,000 หน้าเลยทีเดียว เรื่องนี้เป็นชีวิตรักที่สังคมไม่ยอมรับของ Anna Karenin เพราะเรื่องที่เธอทำมันคือเรื่องผิดศีลธรรมจนทำให้ชีวิตพบกับความทุกข์สาหัส ถูกสังคมหยามเหยียด สุดท้ายเธอตัดสินใจฆ่าตัวตายอย่างน่าอนาถ ด้วยการให้รถไฟทับตาย
2.Gone with the wind
หรือในชื่อภาษาไทยว่า วิมานลอย ภาพยนตร์ที่คว้ารางวัลออสการ์ไปถึง 8 สาขา จาก 13 สาขาในปี 1940 สร้างจากนวนิยายในชื่อเดียวกันของ มาร์กาเร็ต มิทเชลล์ (MARGARET MITCHELL) ซึ่งตลอดชีวิตของเธอก็เขียนเรื่องนี้ไว้แค่เรื่องเดียวนั่นแหละ แฟชั่นสตรีในเรื่องนี้เป็นแฟชั่นของสตรีผู้มีอันจะกิน หรูหราฟู่ฟ่าตั้งแต่ตอนแรกแล้วก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไปตามฐานะและอายุของ สการ์เลตต์ โอฮารา ตัวเอกของเรื่องไปเรื่อย ๆ ก็สมศักดิ์ศรีสาวน้อยลูกเจ้าของไร่ฝ้ายขนาดใหญ่ในรัฐจอร์เจีย
Gone with the wind เป็นเรื่องราวของ สการ์เลตต์ โอฮารา ผู้มีชีวิตแสนสุขสบาย ชอบผู้ชายแต่เขาไม่รักเลยแต่งงานกับคนอื่นเพื่อประชด แต่สามีก็ไปรบและตายในเวลาต่อมา เธอเป็นหม้าย บ้านเมืองตกอยู่ในช่วงสงครามทำให้ชีวิตเธอพลิกผันแต่เธอก็สู้ชีวิตทุกรูปแบบและแต่งงานอีกครั้งแต่สามีคนที่สองก็ถูกยิงตาย เรียกว่าผ่านความผิดหวังสมหวังแบบสมบุกสมบันจนแต่งงานครั้งที่สาม แล้วก็แท้งลูก แล้วสามีก็ตายอีกแล้ว เรียกว่าเป็นชีวิตโศก ๆ สุดคลาสสิคของผู้หญิงสวย ๆ ที่ต้องเป็นม่ายผัวตายมันทุกรอบก็ว่าได้
3.the young victoria
เป็นภาพยนตร์ที่คว้ารางวัลออสการ์ ปี 2009 ในสาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม ก็ดูชุดของพระนางแต่ละชุดช่างสวยหวานจนแทบจะนึกไม่ถึงเลยว่าจะทรงเป็นราชินีที่ครองราชยาวนานที่สุดในประวัติศาสจร์และทรงมีสายพระโลหิตสืบทอดมาเป็นเชื้อพระวงศ์ทั่วยุโรป
The Young Victoria เป็นภาพยนต์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความรักของราชินีวิคตอเรีย กับ พระสวามี เจ้าชายอัลเบิร์ต ที่ทำออกมาได้ละเอียดอ่อน โรแมนติก สวยงามมาก ๆ เนื้อเรื่องก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติเจ้าหญิง การเมืองการปกครองและความรักของทั้งสองพระองค์ที่ต้องผ่านบทพิสูจน์มากมาย ทั้งสองพระองค์ครองคู่กันยาวนานถึง 20 ปี มีโอรสธิดา 9 พระองค์ เจ้าชายอัลเบิร์ตสิ้นพระชนม์เมื่ออายุ 42 ด้วยโรคไทฟอยด์ หลังจากเจ้าชายสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ราชินีวิคตอเรีย ทรงแต่งชุดดำไว้ทุกข์และไม่แต่งงานอีกเลยตลอดชีวิต จนถูกขนานนามว่า the widow of windsor
4.Marie Antoinette
เรื่องนี้ไม่ใช่แฟชันยุควิคตอเรียหรอกค่ะ แต่เป็นแฟชันที่อยู่ในช่วงศตวรรษที่ 18 ช่วง ปีค.ศ. 1714-1730 เรียกว่า ยุคจอร์เจียน (Georgian) ชื่นชอบคอสตูมของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นพิเศษจึงคัดมาอยู่ในหมวดคอสตูมพิเศษนี้ด้วยซะเลย ก็ดูเสื้อผ้าหน้าผมเขาซะก่อน ขนกันมาเต็มตั้งแต่หัวจรดเท้าทั้งแฟชันทรงผมของสตรีสูงศักดิ์ในสมัยนั้นที่เรียกว่า ฟองตางเก (The Fontange) เป็นการเกล้าผมสูงไว้กลางศีรษะ ประดับด้วยเครื่องประดับต่าง ๆ โบว์บ้างอะไรบ้างก็ว่ากันไป ก็เอาที่คิดว่าเริดที่สุดนั่นแหละ ซึ่งถ้าใครยิ่งทำผมสูงยิ่งแสดงถึงฐานะ เรียกว่าข่มกันที่หัวกบาลกันเลย และด้วยความอลังเบอร์นี้ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้รับรางวัลออสการ์ ในสาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม ปี 2006
Marie Antoinette ฉบับนี้ คือการตีความหมายใหม่ต่อราชินีแห่งฝรั่งเศส ผ่านมุมมองของ โซเฟีย คอปโปล่า ผู้กำกับและมือเขียนบทจากภาพยนตร์เรื่อง Lost in translation ซึ่งไม่ได้เดินเรื่องตามประวัติศาสตร์ นางตัดทอนแง่มุมการเมืองออกไปแต่เน้นไปที่ความรู้สึกของพระนางมารี อองตัวเน็ต ผ่านการตีความและพยายามเข้าใจสภาพจิตใจของพระองค์ แต่ยังเก็บประเด็นที่คนทั่วไปรับรู้ว่า มารี อองตัวเน็ต ใช้ชีวิตในแวร์ซายส์อย่างฟุ้งเฟ้อ จัดงานเลี้ยงบ่อย กินดื่มอย่างสำเริงสำราญ เหมือนกับจะบอกว่านี่ก็คือการกระทำของเด็กสาวที่ได้รับแรงกดดันจากคนรอบข้างนี่แหละ
เพราะนับตั้งแต่ก้าวเข้าเขตแดนฝรั่งเศส การปรับตัวจากการที่ถูกเข้มงวดขึ้นไม่อิสระบ้านตัวเอง พสกนิกรนอกวังเองที่ไม่ให้การยอมรับ รวมถึงชนชั้นสูงในราชสำนักต่างก็จับตามอง ลองใครมาเป็นพระองค์บ้างก็น่าจะเครียดและหาทางระบาย เรียกว่าเป็นการมองต่างมุมและตีความอย่างที่อยากจะเข้าพระทัยของพระนางผู้โดดเดี่ยวในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งเรื่องราวตามประวัติศาสตร์เราก็ทราบกันอยู่แล้วว่า สุดท้ายพระนางก็ถูกประหารด้วยกิโยตินระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส
เห็นคอสตูมของแต่ละเรื่องและความเลิศหรูอลังการที่คอสตูมแต่ละค่ายตั้งใจสร้างผลงานกันออกมา จนคว้ารางวัลใหญ่มาครองกันได้แล้ว แรงบันดาลใจของ “ดั่งดวงหฤทัย” ก็ไม่น่าจะหนีจากนี้ไปได้หรอกค่ะ