เบิ่งตาชม “Eyes Wide Shut” อีกครั้ง โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
ว่ากันว่า หนังหรือหนังสือที่คุณดูหรืออ่านตอนวัยรุ่น หรือตอนอายุ 20 กว่าๆ จะให้ความรู้สึกเหมือนเป็นหนังหรือหนังสืออีกเรื่องไปเลยเมื่อคุณมาดูหรืออ่านมันอีกครั้งตอนอายุ 40 กว่าหรือ 50 ครั้งเมื่อโตขึ้น แก่ขึ้น รู้อะไรมากขึ้น (หรือน้อยลง?) ว่าง่าย ๆ คือหนังไม่เคยเปลี่ยน ยังเป็นเรื่องเดิมเสมอ แต่ตัวเราเปลี่ยนทุกวัน ทุกปี ดังนั้นการรับรู้และประสบการณ์ที่มากขึ้นของเราอาจจะทำให้หนังเรื่องเดิม (หรือเพลงๆ เดิมหรือหนังสือเล่มเดิม) กลายเป็นหนังอีกเรื่องไปเลยก็เป็นได้
ในช่วงเวลาแห่งการไม่มีหนังใหม่ดูนี้ ผู้เขียนเกิดนิมิตให้กลับไปดูหนังดังจากปี 1999 เรื่อง Eyes Wide Shut (จะว่าไปก็ไม่ใช่นิมิตพิสดารอะไรหรอก เผอิญหนังอยู่ใน Netflix) หนังดังและ “อื้อฉาว” เรื่องนี้ เป็นหนังเรื่องสุดท้ายในชีวิตของปรมาจารย์ผู้กำกับชาวอังกฤษ สแตนลี่ย์ คูบริก เป็นงานกำกับดาราอเมริกันที่กำลังดังสุดๆ ตอนนั้น คือ ทอม ครูซ และ นิโคล คิดแมน ซึ่งตอนนั้นเป็นสามี-ภรรยากันนอกจอด้วย คูบริกเสียชีวิตก่อนหนังออกฉายเพียงสี่เดือน และหกวันหลังจากฉายหนังให้ดารานำทั้งสองดู การตายของผู้กำกับคนดังยิ่งทำให้ Eyes Wide Shut แผ่รัศมีแห่งความลึกลับมากขึ้นไปอีก
ความอื้อฉาวของหนังมาจากการที่ Eyes Wide Shut เป็นหนังฮอลลีวูด มีดาราเกรดเอนำแสดง แต่มีฉากโป๊และฉากเซ็กส์หมู่ โดยเฉพาะนี่เป็นหนังที่ นิโคล คิดแมน ยอมโชว์เนื้อหนังมังสาของเธอมากกว่าหนังเรื่องไหนๆ ในชีวิตการแสดง ครั้งแรกที่หนังออกฉาย หนังได้เรท NC-17 ในอเมริกา แต่วอร์เนอร์ดันไปตัดฉากเซ็กส์หมู่สวมหน้ากากอันลือลั่นเพื่อให้ได้เรท R และเพื่อหนังจะได้เข้าโรงได้โดยไม่มีปัญหา ส่วนฉบับที่ฉายใน Netflix เป็นฉบับไม่เซ็นเซอร์ เบิกลูกตาชมกันได้เต็มๆ ไปเลย
ย้อนไปเมื่อกว่า 20 ปีก่อนที่ผู้เขียนดู Eyes Wide Shut จิตใจเราไปวุ่นอยู่กับฉากโป๊เปลือย ไม่ใช่เพราะความหื่นกระหายใดๆ แต่เพราะมันเป็นสิ่งเดียวที่เราได้รับรู้ข่าวเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ และเป็นเรื่องน่าแปลกและตื่นเต้น ที่จะมีหนังใหญ่ระดับนี้ที่กล้าโฆษณาว่าจุดเด่นคือฉากโป๊ของดาราดังอย่าง นิโคล คิดแมน ไม่ต้องนับว่า ความซับซ้อนทางจิตวิทยาของหนัง อันว่าด้วยคู่สามี-ภรรยา ที่ถูกทดสอบค่านิยมผัวเดียวเมียเดียวและกามปรารถนากับคนอื่นที่ไม่ใช่คู่ชีวิต เป็นสิ่งที่ตอนนั้นเราเข้าได้เพียงผิวเผินเท่านั้น
ทอม ครูซ แสดงเป็น บิล ฮาร์ฟอร์ด หมอหนุ่มรูปหล่อที่ใช้ชีวิตในสังคมชั้นสูงของนิวยอร์ค นิโคล คิดแมน แสดงเป็น อลิซ ภรรยาสาวของเขา คืนหนึ่ง อลิซในชุดนอนบางหวิว สารภาพกับบิลว่าเธอเคยฝันอยากมีเพศสัมพันธ์แบบร้อนฉ่ากับนายทหารเรือที่เธอเจอโดยบังเอิญเมื่อปีก่อน คำสารภาพนี้ส่งให้บิลเกิดอาการ “หลุด” และเสียเซลฟ์อย่างแรง คืนนั้นเขาออกท่องไปในยามราตรีของนิวยอร์คและเผชิญกับสถานการณ์และตัวละครแปลกประหลาดมากมายที่ล้วนแต่ทดสอบอารมณ์ทางเพศของเขา เรื่อยไปถึงฉากงาน “นัดยิ้มหมู่” ในปราสาทนอกเมือง ที่เต็มไปด้วยสาวเปลือยสวมหน้ากากและชายในชุดเสื้อคลุมดำ
Eyes Wide Shut มักถูกนิยามว่าเป็น erotic thriller ซึ่งก็มีส่วนจริง เพราะหนังอบอวลไปด้วยบรรยากาศของความลึกลับ ฆาตกรรมที่มองไม่เห็น ตัวละครที่ล่อลวงพระเอกไปมา การสะกดรอยตามโดยชายลึกลับ และความลับที่ซุกซ่อนในห้องหับใหญ่โตของบรรดาเศรษฐีนิวยอร์ค แต่เมื่อมาชมหนังอย่างตั้งใจอีกครั้ง ผู้เขียนรู้สึกว่า Eyes Wide Shut เป็นหนังที่ต้องการพูดถึงภาวะความเป็นชาย (ของตัวหมอฮาร์ฟอร์ด) และเป็นการถกเถียงถึงคำถามสำคัญที่ว่า การแต่งงานมีคู่ชีวิตเป็นคำตอบสุดท้ายในการบริหารจัดการอารมณ์ทางเพศของคนเราหรือเปล่า อีกทั้งหนังยังเชิญชวนให้เราพิจารณาว่า หมอฮาร์ฟอร์ด ที่จิตใจหมกมุ่นกับเรื่องเพศและมีผู้หญิงสวยๆ มาอ่อยไม่ซ้ำหน้า แท้จริงแล้วเป็นเพียงผู้ชายใจเสาะ มือถือสากปากถือศีล ที่ไม่กล้าเผชิญหน้ากับสภาวะกดดันทางอารมณ์และไม่ยอมรับแรงผลักดันภายในทั้งของตัวเองและของภรรยา
ดูครั้งนี้ Eyes Wide Shut สนุกกว่า ท้าทายกว่า และตลกร้ายกว่าที่เคยจำได้ ส่วนฉากโป๊เปลือยและฉากเซ็กส์ของหนัง เป็นเพียงเครื่องมือที่คูบริกใช้ล่อลวงเราไปสู่การตรวจสอบสภาพจิตใจของฮาร์ฟอร์ด และจะว่าไป ฉากเซ็กส์ที่เมื่อตอนปี 1999 ดูจะแจ้งถึงขนาดสตูดิโอต้องไปตัดออก มาดูตอนนี้ไม่ได้โป๊อะไรเท่าไหร่เลย คือถึงจะเห็นหมดหัวจรดเท้า แต่ก็ไม่ได้มากเกินไปเมื่อเทียบกับหนังปัจจุบันหลายๆ เรื่อง พูดอีกอย่างคือ 20 ปีผ่านไป อะไรที่เคยคิดว่าต้องห้ามกลับกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว
Eyes Wide Shut สร้างจากนิยายปี 1926 โดยนักเขียนชาวออสเตรียน อาเธอร์ ชนิทสเลอร์ เมื่อปรับมาเป็นหนังที่เกิดเหตุในนิวยอร์ค เรายังคงสัมผัสได้ถึงความเป็น “ยุโรป” ของเรื่องเล่านี้ ทั้งประเด็นความเปราะบางของสถาบันการแต่งงาน ประเด็นความตึงเครียดทางเพศระหว่างผัวเมีย ทั้งบรรยากาศที่ปกคลุมด้วยเมฆหมอกแห่งแรงปราถนาทางเพศ รวมทั้งฉากการเดินท่องราตรีของหมอฮาร์ฟอร์ด เหล่านี้ล้วนชวนให้นึกถึงหนังยุโรปช่วงหลังสงครามโลก ทั้งหนังอิตาเลียนของอันโตนิโอนี หรือหนังฝรั่งเศสอย่าง Last Year at Marienbad
แต่ในมือของคูบริก หนังมีความเยือกเย็นและดุกว่าในหลายมิติ ในขณะที่การเอาทอม ครูซ มาแสดงนำ ในช่วงแรกๆ ดูแปร่งประหลาด แต่สุดท้ายนี่กลายเป็นหมากสำคัญ เพราะหนุ่มหน้ามนฟันขาวอย่างครูซ ทำให้ตัวละครบิล ฮาร์ฟอร์ด กลายเป็นทั้งตัวตลก เป็นคนหน้าซื่อที่ถูกปั่นหัว และเป็นผู้ชายที่หล่อที่สุดแต่กลับน่าสมเพชที่สุดในทั้งมหานครแห่งนี้
เกี่ยวกับผู้เขียน
ก้อง ฤทธิ์ดี
นักเขียน/นักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมากว่า 25 ปี
อัลบั้มภาพ 37 ภาพ