หลากเหตุผลที่ Artemis Fowl โดนจับไปโยนลงสตรีมมิ่ง Disney+
การระบาดของโรคโควิด19 ทำให้ตารางการเข้าฉายภาพยนตร์ในช่วงซัมเมอร์ของฮอลลีวูดต้องปรับเปลี่ยนตารางการเข้าฉายทั้งหมด สืบเนื่องมาจากบรรดามาตรการปิดโรงภาพยนตร์ในทุกพื้นที่ทั่วอเมริกา (และตอนนี้อาจจะหมายถึงทั่วโลกเลยด้วยซ้ำไป) จากประเด็นดังกล่าว สร้างผลกระทบตรงๆกับสตูดิโอยักษ์ใหญ่อย่างดิสนีย์ที่ต้องปรับแผนการตลาด รวมถึงตารางการเข้าฉายภาพยนตร์ทั้งหมดใหม่
ก่อนหน้านี้ Mulan จากเดิมที่มีกำหนดเข้าฉายในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถูกย้ายวันเข้าฉายไปเป็นวันที่ 24 กรกฎาคม ซึ่งตรงกับกำหนดฉายเดิมของ Jungle Cruise แต่สุดท้ายดิสนีย์ได้ตัดสินใจ ย้ายวันฉายแบบยาวๆสำหรับ Jungle Cruise ไปเป็น 30 กรกฎาคม 2021
ส่วน Artemis Fowl จากเดิมที่มีกำหนดการเข้าฉายวันที่ 29 พฤษภาคม ดิสนีย์ได้ตัดสินใจยกเลิกการฉายหนังเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์และส่งตรงไปทางสตรีมมิ่ง Disney+ แทน ซึ่งถึงตอนนี้ยังไม่มีกำหนดวันอย่างชัดเจนว่า หนังจะเริ่มสตรีมมิ่งเมื่อไหร่ แต่อย่างไรก็ตามเราลองมาดูกันว่า มีเหตุผลอะไรบ้างที่ดิสนีย์เลือกจะตัดสินใจเช่นนี้
1.โอกาสแป้กมากกว่าปัง
ตลอกแทบทุกปีดิสนีย์พยายามจะดัดแปลงวรรณกรรมเยาวชนมากมายหลายต่อหลายเรื่องหรือการสร้างหนังแฟนตาซีฟอร์มยักษ์ ตั้งแต่ปี 2015 กับ Tomorrowland หรือภาคต่อ Alice Through the Looking Glass ในปี 2016 ที่ล้มเหลวด้านรายได้อย่างหนักในอเมริกา ส่วน A Wrinkle in Time และ The Nutcracker and the Four Realms ในปี 2018 ก็เรียกได้ว่าขาดทุนยับ แต่ประเด็นเหล่านี้ก็ไม่เคยทำให้ดิสนีย์หยุดเสี่ยงที่จะสร้างหนังสไตล์นี้ออกมาสักครั้ง
เมื่อประเมินหนังทำเงินของดิสนีย์ เราจะพบว่ากว่า 80-90% นั้นล้วนแล้วแต่เป็นหนังแฟรนชายส์จาก MCU หรือไม่ก็เป็นหนังไลฟ์แอ็คชั่นที่หยิบเอาแอนิเมชั่นเรื่องดังในอดีตมาสร้างใหม่ โอกาสที่ออริจินอลคอนเทนท์หรือหนังที่เขียนบทขึ้นมาใหม่มีจำนวนน้อยเรื่องที่ประสบความสำเร็จในระดับปรากฏการณ์ เมื่อลองไล่เรียงแล้วก็จะพบกว่าที่ฮิตติดลมบทก็คงมีแค่เพียง Frozen ภาคแรกในปี 2013 เท่านั้น ส่วนแอนิเมชั่นอย่าง Wreck-It Ralph ฮิตในระดับปานกลาง ส่วนภาค 2 อย่าง Ralph Breaks the Internet: Wreck-It Ralph 2 ยังต้องนำตัวละครจากแกงค์เจ้าหญิงดิสนีย์มาเป็นตัวเรียกแขกให้อีกต่างหาก
ย้อนกลับมาที่ Artemis Fowl ซึ่งเป็นวรรณกรรมเยาวชนผลงานเขียนของ โอเว่น โคลเฟอร์ (ในบ้านเราวางจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ สถาพรบุ๊คส์ มีทั้งสิ้น 8 เล่มจบ) โดยเวอร์ชั่นภาพยนตร์จะดัดแปลงจากหนังสือเล่มแรก ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของ อาร์ทิมิส ฟาวล์ หรือ อาร์ตี้ เด็กหนุ่มอัจฉริยะวัย 12 ปีที่ฉลาดปราดเปรื่อง แต่เนื่องจากเขาเติบโตขึ้นในครอบครัวอาชญากร ทำให้เขาอุตริคิดแผนการลักพาตัวภูติแฟรี่มาเรียกค่าไถ่เป็นทองคำ แต่อาร์ตี้ค้นพบว่าภารกิจครั้งนี้ไม่ง่ายเลย เมื่อโลกใต้ดินของอาณาจักรแฟรี่นั้นเต็มไปด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย เวทมนตร์ สิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์เกินจินตนาการที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน อาร์ตี้ตัดสินใจลักพาตัวผู้กองฮอลลี่ ชอร์ต เอลฟ์สาวผู้เก่งกาจและกล้าหาญ ระหว่างภารกิจอาร์ตี้ยังต้องเผชิญหน้ากับโทรลล์จอมโหด ไขปริศนาที่ซุกซ่อนมาเป็นเวลานับพันปี ฯลฯ แล้วอาชญากรตัวน้อยจะเรียกค่าไถ่ครั้งนี้สำเร็จหรือไม่
แม้พล็อตเรื่องอาจจะดูตื่นเต้นตามประสาวรรณกรรมเยาวชน แต่เมื่อเทียบเคียงภาพลักษณ์ที่ออกมาจากตัวอย่างนั้น ดูเหมือนว่าดิสนีย์จะประเมินแล้วว่าชะตากรรมของหนังเรื่อง Artemis Fowl อาจจะไม่ต่างอะไรจาก A Wrinkle in Time แต่เมื่อพิจารณาจากต้นทุนในการสร้าง 125 ล้านเหรียญฯ ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงเอาการ แต่เมื่อประเมินสถานการณ์หลังเหตุการณ์ไวรัสสงบลง ก็น่าจะเป็นเรื่องยากที่หนัง “ครอบครัว” ซึ่งตั้งใจจะเจาะตลาดเด็กๆและพ่อแม่ผู้ปกครอง จะทำเงินเพราะรายได้ต่อครัวเรือนต้องลดลงอย่างมาก แถมการไปชมภาพยนตร์เป็นครอบครัวก็เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเอาเรื่องเช่นกัน
2.มีแฟนหนังสือ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำกำไร
แฟนหนังสือที่เฝ้ารอ Artemis Fowl ขึ้นมาโลดแล่นบนจอภาพยนตร์คงมีจำนวนไม่น้อย แต่ใช่ว่าคนที่ไม่ได้อ่านวรรณกรรมเรื่องนี้จะสนอกสนใจในระดับเดียวกับ Harry Potter ความยากประการถัดมาคือ ดิสนีย์จะต้องทุ่มงบประชาสัมพันธ์เพื่อดึงกลุ่มคนดูทั่วไปให้มาชมหนังเรื่องนี้ในช่วงเวลาอันสั้น เมื่อประเมินแล้วก็น่าจะใช้เงินไม่น้อย ดังนั้นการตัดสินใจตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ส่ง Artemis Fowl ไปลง Disney+ น่าจะเป็นความเสี่ยงที่ต่ำที่สุด
3.Disney+ กับออริจินัลคอนเทนท์สเกลใหญ่
แน่นอนว่าเมื่อ Artemis Fowl มาฉายทาง Disney+ ทำให้มันกลายเป็นหนังทุนสร้างสูงที่ออกฉายทางสตรีมมิ่ง แม้ก่อนหน้านี้ออริจินัลคอนเทนท์ที่ประเดิมฉายไปแล้วอย่างซีรีส์ The Mandalorian ซึ่งเป็นตัวละครแยกจากจักรวาล Star Wars ก็ตามแต่ดูเหมือนว่า Artemis Fowl อาจจะต่างตรงที่มันอาจจะไม่ได้สร้างความอยากสมัครสตรีมมิ่ง Disney+ มากเท่ากับซีรีส์จากมาร์เวล แต่ถึงอย่างนั้นบรรดาเด็กๆและคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นสมาชิกของสตรีมมิ่งเจ้านี้ก็คงจะยิ้มออกไปตามๆกัน เพราะนั่นหมายความว่าพวกเขาจะสามารถประหยัดค่าบัตรชมภาพยนตร์ได้อีกหลายดอลลาร์
ในข่าวดีก็มีข่าวร้ายสำหรับผู้ชมชาวไทย เพราะ Disney+ ยังไม่เปิดให้บริการในประเทศไทย นั่นหมายความว่าเราก็จะยังไม่ได้ชม Artemis Fowl ไปอีกนาน อย่างไรก็ตามนอกจากดิสนีย์แล้วสตรีมมิ่งเจ้าอื่นๆก็กำลังจะเปิดตัวในอเมริกาไม่ว่าจะเป็น Quibi ที่กำลังจะให้บริการในอีกไม่กี่วันข้างหน้า หรือทางฝั่ง HBO Max ก็พร้อมให้บริการช่วงเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้
ดูเหมือนว่าในช่วงเวลาแบบนี้ตลาดสตรีมมิ่งกำลังเฟื่องฟูไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ “กำลังซื้อ” ของผู้คนทั้งโลกจะมีพอสำหรับทุกเจ้าไหม อันนี้ก็ต้องรอดูกันต่อไป