Extraction: ยิงกันสนั่นดักการ์ (หรือราชบุรีกันแน่) โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
ด้วยเหตุที่ไม่มีหนังใหม่เข้าโรงมาเป็นเดือน หนังจอเล็กของ Netflix เรื่อง Extraction จึงกลายเป็นหนังฟอร์มใหญ่ไปโดยปริยาย หลักๆ เพราะเป็นหนังบู๊ทุนสร้างสูง และเพราะมี คริส เฮมสเวิร์ธ ผู้มีอดีตชาติเป็นขุนค้อน ธอร์ มารับบทนำ สื่อทั้งไทยและเทศจึงประโคมโปรโมท Extraction กันอย่างต่อเนื่องมาเป็นสัปดาห์ ราวกับทุกคนกระหายหนังใหม่ที่มีฟอร์มพอเชียร์ได้แบบนี้ หลังจากสถานการณ์ไวรัสทำให้วงการหนังเงียบมานาน
อีกเหตุผลหนึ่งที่ Extraction (ชื่อตั้งต้นเดิมคือ Dhaka) เป็นที่สนใจในหมู่ผู้ชมไทยก็เพราะหนังถ่ายทำในไทยอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ ทั้งๆ ที่เนื้อเรื่องไม่มีอะไรเกี่ยวกับประเทศไทยเลย
ว่ากันถึงหนังก่อน Extraction เป็นหนังบู๊ที่ขายฉากบู๊ ไล่ยิงเอาล่อเอาเถิดกันเป็นหลัก บทไม่ได้ลึกซึ้งคมคายใดๆ เหตุผลก็ทื่อๆ ตัวละครก็แกนๆ ชวนให้นึกถึงหนังบู๊อื่นๆ ที่เคยเห็นกันมา ประเภทพระเอกเป็นอดีตทหารเก่าผู้มีบาดแผลแห่งความสูญเสีย กลายเป็นคนเก็บตัวกินเหล้า และมารับงานเสี่ยงตายเพราะชีวิตไม่มีอะไรจะเสียแล้ว แต่สุดท้ายระหว่างทางกลับได้รับโอกาสไถ่ถอนตัวเองจากภารกิจนี้
สรุปง่ายๆ ก็คือ ดูได้ไม่เสียเวลาในช่วงที่โรงหนังยังปิด กินขนมไปดูไป คุยเมาท์กับเพื่อนไป แต่อย่าไปคาดหวังอะไรมากกว่านั้น และเหมาะสมแล้วที่จะเป็นหนังจอเล็ก เพราะหากเป็นหนังโรงใหญ่ เสียงวิจารณ์ส่วนใหญ่ทั้งจากในและนอกประเทศ อาจจะไม่เมตตาเท่านี้
เฮมสเวิร์ธ แสดงเป็น ไทเลอร์ ทหารรับจ้างที่รับงานไปชิงตัวลูกชายของเจ้าพ่อยาเสพติดรายใหญ่ของอินเดีย ที่ถูกลักพาตัวไปโดยแก๊งคู่อริ อันเป็นเจ้าพ่อยาเสพติดรายใหญ่ของบังคลาเทศ และพาตัวเด็กชายไปซ่อนไว้ที่กรุงดักการ์ ว่าง่ายๆ คือแก๊งอินเดีย ซัดกับแก๊งบังคลาเทศ โดยเรียกฝรั่งไปเป็นตัวชนให้ (หรือจะมองว่าเป็น “ผู้มาโปรด”?) นอกจากเฮมสเวิร์ธแล้ว ดาราที่พอมีชื่อระดับอินเตอร์อีกคนคือ โกลชิฟเท ฟาราฮานี ดาราอิหร่าน/ฝรั่งเศส ที่แสดงมาทั้งหนังอิหร่าน หนังฝรั่งเศส และหลังๆ เป็นหนังอเมริกัน ทั้งหนังใหญ่และหนังอินดี้ ในเรื่องนี้รับบทเป็นนายหญิงในตลาดทหารรับจ้างและเป็นหัวหน้าภารกิจของไทเลอร์
หากลองไปดูคอมเมนท์ในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับ Extraction จะเห็นว่าคนบังคลาเทศไม่เอ็นจอยหนังเรื่องนี้เท่าไหร่ (โดยที่อาจจะยังไม่ได้ดูด้วยซ้ำ) เพราะหนังสร้างบทบาทบังคลาเทศให้เป็นดินแดนมิคสัญญี มีแต่สงครามระหว่างแก๊งอันธพาล เต็มไปด้วยเด็กข้างถนนที่กลายมาเป็นโจรถือปืน พร้อมจะใช้ความรุนแรง เจ้าพ่อยาเสพติดที่จับตัวลูกชายคู่อริมา ก็มีอำนาจล้นเหลือ สั่งปิดเมืองได้เลย แถมยังมีนายตำรวจใหญ่เป็นลิ่วล้อคอยทำตามคำสั่งทุกอย่าง เอาเป็นว่า ถ้าเปลี่ยนบทจากบังคลาเทศเป็นประเทศไทย หนังเรื่องนี้ก็คงมาถ่ายเมืองไทยไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หนังจึงเลือกถ่ายฉากที่เป็นกรุงดักการ์ของบังคลาเทศในไทยแทน (อีกเมืองหนึ่งที่เป็นโลเคชั่นคือมุมไบ แต่ไม่เยอะเท่าไทย)
ผู้กำกับของ Extraction คือ แซม ฮาร์เกรฟ เคยเป็นหัวหน้าทีมสตันท์มาก่อน ทำงานมากับพี่น้องรุสโซ ผู้กำกับในภาคสุดท้ายของหนังฟอร์มยักษ์ Avengers จึงได้แรงส่งให้มากำกับหนังเรื่องแรก โดยบทมาจากนิยายภาพที่เขียนโดยโจ รุสโซ และมีพี่น้องรุสโซก็มานั่งเป็นโปรดิวเซอร์ให้ด้วย สิ่งที่ชัดเจนคือฮาร์เกรฟ ไม่ได้เป็นผู้กำกับที่สนใจเรื่องตัวละคร อารมณ์ หรือความสมจริงอะไร แต่เป็นสายบู๊แบบแมนๆ ที่เน้นการออกแบบฉากต่อสู้ ฉากที่ทำออกมาได้ดีที่สุดของ Extraction ทุกคนคงเห็นตรงกันว่าคือฉากไล่ล่ายาว 12 นาที ที่กล้องเลื้อยเข้าออกใน-นอกรถขณะลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอย จนตามพระเอกขึ้นไปบนตึก ไล่ยิงและต่อสู้กันไปอีกหลายชั้น จนกระโดดข้ามตึกและกระโดดลงมาที่ถนนอีกครั้ง ทั้งหมดทำให้ดูเหมือนว่ากล้องตามติดตัวละครต่อเนื่องแบบไม่ตัดเลย (ด้วยเทคนิคคล้าย ๆ หนังสงครามโลก 1917) นอกจากฉากนั้นแล้ว จะว่าไปหนังก็ทำได้ตามมาตรฐาน แต่ไม่ได้หวือหวาอะไรเป็นพิเศษ
กลายเป็นว่าสิ่งที่ทำให้คนดูชาวไทยตื่นเต้นได้ คือการสร้างกรุงเทพ นครปฐม และราชบุรี ให้กลายเป็นกรุงดักการ์ โลเคชั่นที่ใช้มีตั้งแต่เวิ้งนาครเกษม เขางู จนถึงสะพานข้ามแม่น้ำในราชบุรี ที่เป็นฉากยิงกันวินาศสันตะโรตอนท้าย ที่เก่งมากของฝั่งไทยคือฝ่ายศิลป์ และการหาตัวประกอบที่หน้าตาเหมือนคนเบงกาลีมาได้เป็นร้อยๆ คนในฉากใหญ่ทุกฉาก แบบจับไม่ได้เลยว่านี่ไม่ใช่เมืองแขกจริงๆ
Extraction ฉายใน Netflix ตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา
เกี่ยวกับผู้เขียน
ก้อง ฤทธิ์ดี
นักเขียน/นักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมากว่า 25 ปี
อัลบั้มภาพ 9 ภาพ