ละครพร้อม เพลงก็ต้องมา กับท่วงทำนองประกอบละครทั้งหลาย โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์
ในความบันเทิงของหน้าสื่อนี่นะคะคุณกิตติขา นอกจากเนื้อหาของละครที่จะทำให้เราเพลิดเพลินออกอรรถรส บวกกับความสวยหล่อของนักแสดงให้เราได้สนุกสนานไปแล้ว เพลงประกอบละครนี่ก็สำคัญนะเออ เป็นตัวช่วยปรุงรสให้ละครได้ดีทีเดียวเชียว และว่าบาป หลายๆ ครั้ง เพลงประกอบละครนี่ก็กลายเป็นสิ่งอมตะ ที่เหนือกาลเวลามากกว่าละครเองอีกเสียด้วย
มาค่ะ คราวนี้ เทยขอชวนเมาท์เรื่องเพลงประกอบละครกันเสียหน่อย
แต่เดิมละครหรือหนังนะคะ เป็นสิ่งที่เขาเรียกกันว่าสื่อผสม ก็คือมีทั้งภาพและเสียงเอามาผสมกันให้เกิดเป็นเรื่องราว ในโลกของภาพเคลื่อนไหวและการเล่าเรื่องเนี่ย เพลงประกอบเป็นส่วนสำคัญที่มาตั้งแต่เริ่มแล้วเจ้าค่ะ แต่เพลงประกอบเนี่ย ลำพังในตอนแรก มันถูกใช้เพื่อเล่าเรื่องควบคู่ไปกับหนังหรือละครเลยนะเออ แบบว่าต้องมี เป็นงานบังคับ ไม่มีไม่ได้ ซึ่งหนังสมัยก่อนที่มีลักษณะเป็นหนังเก่า ขาวดำก็ว่า ก็จะเป็นในลักษณะแบบหนังกึ่งละครเพลง มีเพลงประกอบในเรื่อง เพื่อเล่าเรื่องไปด้วย มีซีนร้องเพลงประกอบหนังไปด้วยเลย
ถ้าในโลกภาพยนตร์ เราก็คงคุ้นชินกับเพลงอมตะอย่าง “Somewhere Over the Rainbow” ที่ประกอบเรื่อง Wizard Of Oz ที่กลายเป็นหนึ่งในเพลงประกอบขึ้นหิ้งไปแล้วนั่นแหละแม่
ตัดภาพกลับมาที่โลกโทรทัศน์ แน่นอนว่าแต่ก่อน ก็หยิบยืมการเล่าเรื่องแบบกึ่งละครเวที หรือ Musical มาใช้ในละครเช่นกัน แต่หากเป็นซีรีส์ที่ไม่ใช่แนวละครเพลง การจะมีเพลงประกอบที่ร้องด้วยนั้น มันก็จะแปลกประหลาด ก็เลยมีการใช้วิธีแต่งเพลง Theme ขึ้นมาใช้สำหรับ Opening หรือ Title ของเรื่องค่ะ แน่นอนว่ามีทำนองเพลงของซีรีส์ที่เป็นตำนาน ติดหูอยู่หลายเรื่องทีเดียว เช่น Charlie’s Angels Theme ที่ฟังดนตรีกันแล้วก็อ๋อ สามสาวออกปฏิบัติภารกิจกันมาเลย หรือแม้แต่ The X-Files Theme ที่กลายเป็นทำนองของเรื่องราวลึกลับ สยองขวัญ มนุษย์ต่างดาวกันไป กลายเป็นเพลงประกอบ Meme ในอินเทอร์เน็ตกันอย่างแพร่หลายมากๆ ในปัจจุบัน
แต่ความน่าแปลกก็คือ ซีรีส์ต่างประเทศ ไม่มีเพลงประกอบซีรีส์ที่เป็นซิงเกิล เป็นเพลงที่มีคนร้องน่ะเธอ แต่ทว่าซีรีส์ หรือละครบ้านเรามี เอ๊า มันมาได้อย่างไร สงสัยใช่ม๊า
จริงๆ จุดเริ่มต้นของเพลงประกอบละครไทย มันก็พูดยาก ว่ามาได้อย่างไร แต่ภาพยนตร์ที่น่าสนใจ และคิดว่าน่าจะเป็นตัวจุดประกายได้ดี ก็คือ “มนต์รักลูกทุ่ง” ที่เป็นภาพยนตร์เมื่อปี 2513 ล่ะเธอ และว่าบาป ภาพยนตร์เรื่องนี้เรื่องเดียว ความยาวเกือบสองชั่วโมง แต่ทว่ามีเพลงในเรื่องถึง 14 เพลงแหนะแม่ แบบโอ้โห ไม่ต้องมีบทพูดกันแล้วแม่ ร้องอย่างเดียว
และแน่นอนว่าเราๆ เธอๆ เกิดไม่ทันถูกไหมคะ แต่เราต้องทันสิคะ กับเวอร์ชั่นละคร “มนต์รักลูกทุ่ง” ถูกนำมาผลิตเป็นละครครั้งแรกเมื่อปี 2538 และรีเมกมาอีก 4 รอบด้วยกัน ซึ่งด้วยความที่เป็นเพลงจากภาพยนตร์มาก่อน เมื่อมาอยู่ในละคร ก็ยิ่งทำให้ติดหูมากขึ้นไปอีก
เมื่อหยิบยืมวิถีของภาพยนตร์มาใช้ ละครก็ใช้ตามกันเรื่อยมา การจะผลิตละครจากนวนิยาย หรือบทประพันธ์อมตะ ก็จะต้องมีการประพันธ์เพลงสำหรับการใช้เพื่อเปิดไตเติ้ลของละครเรื่องนั้นๆ มีการใส่ชื่อของละครลงไปในเนื้อเพลงให้คนดูจำง่าย ร้องกันได้ทั่วบ้านทั่วเมือง เพลงที่กลายเป็นทำนองหรือเนื้อร้องที่ติดหู ก็อย่างเช่น
คืนนี้เป็นคืนเดือนแรม… จากดาวพระศุกร์
นี่คือสถาน… จากบ้านทรายทอง
หรือแม้แต่
เสมือนท้องฟ้าวิปริตแปรปรวนทันใด… พูดพร้อมกันนะคะ อังกอร์
และเพลงเหล่านี้ ก็จะถูกผูกติดกับละครไปไม่ว่าจะรีเมกไปอีกกี่ครั้งก็ตาม
นอกจากเพลงที่ทำเพื่อให้ติดหู จำชื่อละครง่ายแล้ว เมื่อวงการโทรทัศน์ผูกกับวงการเพลงมากขึ้น การเล่าเรื่องโดยเพลงที่เกี่ยวกับละคร ก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเพลงที่เป็นชื่อละคร หรือเน้นย้ำละครเพียงอย่างเดียว ก็เริ่มมีการแต่งเพลงอื่นๆ และใช้นักร้องที่มีชื่อเสียง นักร้องอาชีพ มาร้องเพลงประกอบละครเรื่องนั้นๆ และเพลงเหล่านั้นก็จะสามารถไปโด่งดังด้วยตัวเองในภายหลัง โดยมีละครเป็นตัวช่วยให้คนได้ฟังเพลงมากขึ้น ซึ่งก็จะแบ่งออกเป็นสองอย่าง ก็คือเพลงที่แต่งเพื่อประกอบละครเรื่องนั้นๆ แต่แรก หรือเพลงที่หยิบยืมมาเปิดในละคร แล้วดังเฉยเลย
เพลงที่แต่งให้ละคร ดังเพราะละคร แต่อาจจะไม่ได้มีชื่อละคร หรือเน้นย้ำให้จำละครขนาดนั้น ก็อย่างเช่น เพลงยุคก่อนอย่าง “ดนตรีในหัวใจ” ที่เคยประกอบเรื่อง เบญจา คีตา ความรัก หรือเพลงช้าๆ ของละครเอ็กแซกท์เมื่อก่อน ที่ได้นักร้องอย่าง “ศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์” ที่ได้ฉายาเจ้าพ่อเพลงละคร อย่างเพลง “รักเธอนิรันดร์” ที่ประกอบละครเรื่อง รอยรักรอยอดีต นี่ก็กลายเป็นเพลงอมตะของละครไทยไปเสียแล้ว หรือแม้แต่ “ใจเอย” ของ มาช่า วัฒนพานิช ที่ประกอบละคร “สะใภ้จ้าว” ก็ยังคงโด่งดังมาจนถึงปัจจุบัน และมีการรีเมกไปหลายต่อหลายเวอร์ชั่น
หรือถ้ามารุ่นใหม่ๆ หน่อย ก็ “รักติดไซเรน” ที่โด่งดังได้เอง ซึ่งถึงแม้ว่าจงใจแต่งขึ้นมาเพื่อโปรโมทละคร แต่เพลงก็สามารถยืนหนึ่งได้เอง จนเต้นตามกันทั้งประเทศนั่นแหละเธอขา เก๋ป่ะล่ะ
ส่วนหมวดที่สอง เพลงที่ไม่ได้แต่งให้ละครโดยตรงแต่หยิบยืมมาเป็นเพลงปิด เพลงจบ เพลงประกอบเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็เพราะ และคนก็จำได้ว่ามาจากละคร ก็อย่างเช่น “ใจคอ” ของ พลพล ที่เคยเป็นเพลง End Credit ของ จิตสังหาร เพลง “พรหมลิขิต” ของ Big Ass ที่เคยเป็นเพลง End Credit ของ คมคน ซึ่งทั้งสองเพลงก็โด่งดังได้เองในภายหลังเสียด้วย ซึ่งวิธีแบบนี้ ทางค่ายเพลงนางก็ชอบนักล่ะ เพราะแหม มันเป็นวิธีที่จะทำให้เพลงของศิลปินนั้นๆ ได้เข้าถึงคนฟังเป็นหมู่มาก แถมเปิดวนซ้ำๆ ทุกครั้งที่ละครออนแอร์ตอนปิดเสียด้วย ยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะได้ขายผลงานเพลงตามไปอีก
ซึ่งหลังๆ มา ก็จะมี “ไม่บอกเธอ” ของวง Bedroom Audio ที่ประกอบซีรีส์ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ที่เปิดในซีรีส์แค่ไม่กี่ตอน แต่ก็ทำให้วงโด่งดัง และรีบรวบเอาเพลงเป็นหนึ่งในเพลงประกอบของเรื่องไปในภายหลัง
ในปัจจุบัน ซีรีส์เริ่มมีหลายช่อง หลายเรื่อง ทั้งออนแอร์ทีวีและออนไลน์ บวกกับค่ายเพลงที่ก็มีเยอะตามมาเช่นกัน เพลงกับซีรีส์จึงเหมือนเป็นของคู่กันไปเสียแล้ว ซีรีส์หนึ่งเรื่อง ต้องมีเพลงประกอบอย่างน้อย 2 เพลง ซึ่งก็คือเพลงเปิดกับเพลงปิด เพลงเร็วหนึ่งเพลง เพลงช้าหนึ่งเพลงเป็นพื้นฐาน จะแป้กจะปัง ก็ขึ้นอยู่กับการช่วยเหลือกันทั้งสองฝ่าย ทั้งละครที่เนื้อหาก็ต้องชวนติดตาม กับเพลงที่ก็ต้องติดหูตามไปนั่นเอง
แต่ก็ว่าไม่ได้นะคะ ตอนแรกเทยก็คิดว่าละครไทยนี่ก็เน้นขายแต่เพลงประกอบซีรีส์ ไม่มีดนตรีละครอันน่าจดจำเหมือนซีรีส์ต่างประเทศเอาเสียเลย แต่ก็ต้องถอนคำพูด เมื่อเร็วๆ นี้ “เลือดข้นคนจาง” ก็เป็นซีรีส์ไทยที่ใช้เพลงประกอบซีรีส์เป็น Music Theme เหมือนกับซีรีส์ต่างประเทศ ซึ่งดนตรีของ เลือดข้นคนจาง ก็มีเอกลักษณ์ และติดหูคนดูละครได้เหมือนกัน แม้จะเป็นเพลงที่ไม่มีเนื้อร้องเลย
นี่แหละค่ะเธอ ความมหัศจรรย์ของงานสื่อ เมื่อภาพและเสียงทำงานร่วมกัน เราก็จะได้เสพย์งานเพลงควบคู่ไปกับอรรถรสของละครด้วยล่ะ แล้วเธอล่ะคะ มีเพลงประกอบละครเพลงโปรดของเธอไหมคะ
เหยี่ยวเทย รายงาน
อัลบั้มภาพ 9 ภาพ