The Last Dance: ปกรณัมไมเคิล จอร์แดน โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
“The Last Dance” เป็นสารคดีชุด 10 ตอนใน Netflix (สองตอนสุดท้ายจะออกอากาศวันที่ 18 พฤษภาคมนี้) โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ ไมเคิล จอร์แดน ตำนานนักบาสเกตบอลในทศวรรษ 1990 และว่ากันว่าเป็นนักบาสเกตบอลที่เก่งที่สุดในโลกตลอดกาล แต่จริงๆ แล้ว สารคดีใช้ตัวจอร์แดนเพื่อขยายเรื่องไปเล่าถึงการผงาดขึ้นเป็นจ้าวสนามของทีม Chicago Bulls ในทศวรรษที่ 90 อีกทั้งพาดาราบาสเกตบอลคนสำคัญในยุคนั้นเรียงหน้ามาขึ้นจอเล่าความหลัง ทั้งผู้เล่นของทีมบุลส์อย่าง สก๊อตตี พิพเพน, ฮอเรส แกรนท์, เดนนิส รอดแมน, โค้ชฟิล แจ๊คสัน และจากทีมอื่นๆ ที่เป็นคู่ปรับของจอร์แดนและทีมชิคาโก บุลส์ ในช่วงเวลานั้น
สารคดีเรื่องนี้เข้าทางมากๆ สำหรับผู้ที่เติบโตเป็นวัยรุ่นในช่วงยุค 90 เพราะนั่นเป็นช่วงเวลาที่คนไทยเริ่มมีเคเบิลทีวีทำการถ่ายทอดสดการแข่งขัน NBA มีข่าวสารวงการกีฬาบาสเกตบอลมากมาย ที่สำคัญคือเป็นช่วงที่กีฬาบาสเกตบอล ขยายปริมณฑลแห่งอิทธิพลไปเป็นมากกว่ากีฬา แต่เป็นวัฒนธรรมป๊อปอเมริกันที่ดึงดูดคนทั้งโลก มีดาราให้ติดตาม มีสินค้าให้ซื้อมาใช้เพื่อแสดงความทันสมัย ทั้งหมดนี้ไม่ว่าผู้ชมจะเล่นบาสเป็นหรือไม่ก็ตาม และทูตคนสำคัญของ NBA และกีฬาบาสเกตบอลที่ทำให้ปรากฎการณ์นี้ระเบิดเถิดเทิงไปทั่วโลก คือ ไมเคิล จอร์แดน ผู้เล่นตำแหน่งการ์ดเบอร์ 23 กับลีลาการเล่นที่แข็งแกร่ง สง่างาม ว่ากันว่าจอร์แดน “ลอย” ได้ และที่ภาพจอร์แดนเหินฝ่าแนวรับเพื่อยัดลูกบาสลงห่วง กลายเป็นภาพจำแห่งตำนานยุค 90 ของเด็กวัยรุ่นแทบทั้งโลก
โครงสร้างการเล่าเรื่องใน The Last Dance ออกแบบมาอย่างสละสลวย แบบที่นักทำสารคดีต้องศึกษาเป็นตัวอย่าง โดยหนังเล่าย้อนเวลาและสถานการณ์กลับไปกลับมาระหว่างหลายช่วงชีวิตของจอร์แดนและทีมบุลส์ โดยที่ทุกเหตุการณ์จะโยงกลับไปเส้นเรื่องหลักของการแข่งขันในฤดูกาล 1997-1998 ที่บุลส์กำลังลุ้นจะเป็นแชมป์ NBA สามครั้งติดกันเป็นรอบที่สอง หลังจากทำได้มาแล้วระหว่างปี 90-91, 91-92 และ 92-93 การเล่าเรื่องย้อนไปมาเช่นนี้ ค่อยๆ ประกอบสร้างภาพใหญ่ของตัวจอร์แดนและทีมขึ้นมาทีละเล็กละน้อย สร้างประเด็นให้ลุ้นตลอด และสามารถเก็บรายละเอียดได้แทบจะครบทุกอย่าง ผ่านการสัมภาษณ์และที่สำคัญคือผ่านฟุตเตจหาดูยากเต็มไปหมด (นี่คือสิ่งดีของสารคดีฝรั่ง เพราะสามารถหาวัตถุดิบภาพได้มากมายย้อนกลับไปหลายสิบปี และเป็นภาพทั้งในและนอกสนาม แบบที่สารคดีไทยไม่มีทางทำได้)
โค้ชฟิล แจ๊คสันและผู้เล่นบุลส์ ตั้งชื่อฤดูกาล 97-98 ว่า The Last Dance เป็นนัยหมายถึงการเต้นรำครั้งสุดท้ายของผู้เล่นที่ฝ่าฟันกันมาหลายปี และยังเป็นฤดูกาลที่เต็มไปด้วยข่าวอื้อฉาว ทั้งความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารทีม และการที่ทีมอันมีผู้เล่นเริ่มโรยราตามวัย ต้องได้รับการยกเครื่องขนานใหญ่สำหรับอนาคต
ภาพของจอร์แดนที่หนังแสดงให้เห็น คือนักกีฬาที่ถูกขับดันด้วยสัญชาตญาณของการเอาชนะ ความต้องการเป็นที่หนึ่งเสมอ และพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้เพื่อนร่วมทีม (ซึ่งมีพรสวรรค์น้อยกว่า) พัฒนาฝีมือและร่วมทะเยอทะยานไปกับเขา สิ่งที่หนังแสดงให้เห็นคือ ความมุ่งมั่นนี้ทำให้จอร์แดนกลายเป็นเผด็จการในสนามที่เพื่อนๆ ถึงขั้นกลัว เพราะหากเล่นไม่ได้ถึงมาตรฐานที่จอร์แดนวางไว้ มีสิทธิ์ถูกด่า ถากถาง และเคยถึงขั้นถูกชก หนังใช้บทสัมภาษณ์ของจอร์แดนในตอนนี้ (อายุ 57 แล้ว) เพื่อสร้างบริบทให้การกระทำต่างๆ ในอดีตของเขา สลับกับบทสัมภาษณ์ของเพื่อน ศัตรู คู่ปรับ และนักข่าวกีฬาที่คุ้นเคยกับจอร์แดนตลอดช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองของเขา
ตรงนี้ผู้ชมต้องพิจารณาให้ดี แน่นอนว่า The Last Dance เป็นสารคดีเกี่ยวกับวงการบาสเกตบอล และถึงแม้มันจะพยายามยกประเด็นด้านลบของจอร์แดนขึ้นมาเพื่อสร้างดรามา แต่สุดท้ายแล้วหนังเรื่องนี้เป็นเครื่องมือเพื่อตอกย้ำตำนานปกรณัมความยิ่งใหญ่เหนือมนุษย์ของ ไมเคิล จอร์แดน การที่เขาได้รับสิทธิ์ขาดในการตัดสินใจว่าอะไรจะอยู่ในหนังหรือไม่อยู่ เท่ากับว่าหนังยอมเล่าเรื่องตามความทรงจำและทัศนคติของจอร์แดนเป็นหลัก และไม่ว่าหนังจะพยายาม “ขุดคุ้ย” มิติอื่นๆ ของตัวเขาและวงการบาสเกตบอลมากเท่าใด The Last Dance กลับยิ่งยกย่องจอร์แดนให้เด่นชัดขึ้น และแก้ต่างให้จุดด่างพร้อยในชีวิตของเขา และสุดท้ายถึงกับทำให้รองเท้า Air Jordan ของไนกี้ กลับมาขายดีได้อีกระลอก
ในประวัติศาสตร์ ไม่มีใครทำให้กีฬาบาสเกตบอล “ขายได้” เท่าจอร์แดน – ทั้งขายสัญญาณถ่ายทอด ขายสินค้า ขายภาพลักษณ์ ขายความตื่นเต้นแบบ American game – เมื่อตำนานของเขาถูกเล่าอีกครั้งใน The Last Dance จอร์แดนพิสูจน์ว่าเขายังมีพลังเหลือในการทำให้บาสเกตบอลขายได้ต่อไป
เกี่ยวกับผู้เขียน
ก้อง ฤทธิ์ดี
นักเขียน/นักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมากว่า 25 ปี
อัลบั้มภาพ 27 ภาพ