หนึ่งทศวรรษ ลุงบุญมีระลึกชาติ โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
มันเริ่มจากการเป็นข่าวลือ แต่ลงเอยด้วยการเป็นประวัติศาสตร์
วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 หรือ 10 ปีที่แล้วพอดิบพอดี เป็นวันสุดท้ายของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ งานหนังสำคัญอันดับหนึ่งของโลก ตามกำหนดการเดิม ผู้เขียนจะออกจากเมืองคานส์วันนั้นโดยไม่รอฟังการประกาศผล จะด้วยการวางแผนที่ไม่คิดรอบคอบ หรือด้วยการคิดล่วงหน้าไปเองว่าหนังไทยที่เข้าประกวดรางวัลปาล์มทองเรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ ไม่น่าจะได้รางวัลใดๆ
แต่เดชะบุญที่ผู้เขียนไหวตัวทันในเช้าวันนั้น จัดการเปลี่ยนแผน หาที่พักเพิ่มอีกคืนโดยจะไปอาศัยอยู่กับเพื่อน และเลื่อนตั๋วการเดินทาง ทั้งนี้ก็เพราะหลังจากดูทิศทางลม ประกอบกับฟอร์มของหนังประกวดที่ได้ดูมาทั้งหมด และจาก “ข่าวลือ” ต่างๆ ที่มักสะพัดในเมืองคานส์ บอกต่อกันปากต่อปากจากต้นตอที่ใดก็ไม่ทราบ และเชื่อได้แค่ไหนก็ไม่มีใครสน แต่สรุปได้ว่า ลุงบุญมีระลึกชาติ น่าจะได้รางวัลอะไรสักอย่างในงานประกาศผลที่จะมีขึ้นตอนประมาณหนึ่งทุ่มคืนนั้น
“รางวัลอะไรสักอย่าง” ที่ว่า ไม่มีใครคาดคิดแม้แต่ในความฝันอันป่าเถื่อนที่สุด ว่าหนังไทยสไตล์ประหลาดว่าด้วยลุงบุญมี คนอีสานที่กำลังจะตายด้วยโรคร้าย มีผีเมีย ผีลูกมาเยี่ยมถึงบ้าน โยงใยไปถึงประวัติศาสตร์ของภาคอีสานในยุคสงครามเย็น จะอาจหาญถึงขั้นได้รางวัลใหญ่ที่สุดของคานส์ และหนึ่งในรางวัลภาพยนตร์ที่มีเกียรติที่สุดของโลก
ในงานประกาศรางวัลคืนนั้น หนังตัวเก็งต่างๆ เช่น Poetry หนังเกาหลีของผู้กำกับ ลีชางดอง (ต่อมาทำ Burning) หรือ Of God and Men หนังฝรั่งเศสของผู้กำกับ ซาเวียร์ โบวัวร์ และ A Screaming Man ของจากประเทศชาด ของ มาหหมัด ซาเลห์ ฮารูณ พากันได้รางวัลรองๆ เรียงหน้ากันไป นั่นหมายความว่า ลุงบุญมีระลึกซาติ มีสิทธิ์ได้รางวัลปาล์มทอง (เพราะรางวัลที่คานส์จะไม่ให้ซ้ำเรื่องเดียวกันหลายรางวัล) แต่ถึงตอนนั้น ผู้เขียนซึ่งนั่งอยู่ในห้องสื่อมวลชน ข้างๆ โรงหนังใหญ่ที่เป็นสถานที่ประกาศรางวัล ก็ยังไม่กล้าคิดว่าหนังไทยจะเป็นม้ามืดขโมยซีนจากได้ขนาดนั้น
แต่สุดท้ายสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น ลุงบุญมีระลึกชาติ ได้รับการประกาศเป็นผู้ชนะรางวัลปาล์มทองคำ ผู้กำกับ อภิชาติพงศ์ ขึ้นไปรับรางวัลจากประธานกรรมการตัดสินในปีนั้น คือ ทิม เบอร์ตัน ผู้เขียนที่อยู่ในห้องสื่อ ลุกขึ้นตะโกนด้วยความดีใจ เพื่อนนักข่าวชาติอื่นๆ ต่างเขามาแสดงความดีใจด้วย เพราะทุกคนรู้ว่า ถึงแม้นี่จะเป็นชัยชนะของภาพยนตร์เฉพาะเรื่องและของผู้สร้าง แต่การได้ปาล์มทองหมายเป็นราศีและเกียรติยศของภาพยนตร์ของชาตินั้นๆ เปรียบเทียบคล้ายๆ กับเวลานักกีฬาได้เหรียญทองโอลิมปิกและคนทั้งชาติดีใจไปด้วย อะไรทำนองนั้น
Photo by Sean Gallup/Getty Images
จากข่าวลือ กลายเป็นประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแผนและอยู่ต่อที่เมืองคานส์ของผู้เขียน เป็นการตัดสินใจที่ถูกที่สุดในชีวิตครั้งหนึ่ง ในช่วงเวลานั้นสื่อโซเชียลยังไม่แพร่หลายนักในไทย แต่ถึงกระนั้นข่าวก็สะพัดไปอย่างรวดเร็วทางเฟซบุค วันรุ่งขึ้นผู้เขียนได้รับโทรศัพท์ทางไกลหลายสาย รวมทั้งเมสเสจ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ตอบ! (เพราะตอนนั้นยังไม่มี Line ส่งข้อความต่างประเทศทีหนึ่งเสียเงินเยอะ) ทั้งนี้เพราะตอนนั้นเหลือคนไทยอยู่ที่เมืองคานส์ไม่กี่คนเท่านั้น สองวันถัดมา คือวันที่ 25 พฤษภาคม (สมัยนั้นสื่อหลักยังเป็นหนังสือพิมพ์ และเมื่อการประกาศรางวัลทีขึ้นตอนค่ำที่ฝรั่งเศส เท่ากับเลยเวลาเส้นตายส่งโรงพิมพ์ของฉบับวันที่ 24 ไปแล้ว) หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับลงข่าวหน้าหนึ่งเป็นภาพการรับรางวัลของอภิชาติพงศ์
แต่ด้วยความที่ผู้กำกับและหนังของเขา ไม่ได้เป็นบุคคลที่สื่อหลักทั่วไปรู้จักหรือคุ้นเคย จึงเกิดความ “เหวอ” ประหลาดๆ เช่น ไปใส่ชื่อหนังว่า ลุงบุญมีระลึกชาติได้ (ซึ่งผิด) และไปอธิบายว่านี่เป็นหนังไสยศาสตร์ประเภทลึกลับกลับชาติมาเกิด อีกทั้งยังเกิดความงุนงงว่าปาล์มทองคืออะไร และสำคัญอย่างไร
ต่อมาในเดือนกรกฎาคม หนังได้เข้าฉายแบบจำกัดโรงในกรุงเทพและขอนแก่น ทำเงินไปได้ประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยสำหรับหนังที่ไม่อยู่ในกระแสตลาด และเข้าเพียงไม่กี่โรง แต่ผู้เขียนเชื่อว่าคุณูปการของหนังคือการที่มันช่วยสร้างความตื่นตัวให้คนดูที่ปกติอาจจะไม่แคร์ หรืออาจจะเยาะเย้ย “หนังอาร์ท” ให้เกิดความกระหายใครรู้ว่ามันอะไรยังไงถึงได้เป็นข่าวดังทั่วโลกแบบนี้ อีกทั้งหนังยังทำให้คนดูรุ่นใหม่ๆ ได้สร้างประสบการณ์การดูหนังในรสชาติที่แตกต่าง เปิดโลกทัศน์และขยายขอบเขตการรับรู้ศิลปะภาพยนตร์ให้กว้างขวางออกไป และที่สำคัญคือการสร้างความเชื่อและศรัทธาในศิลปะภาพยนตร์ต่อคนทำหนังและคนรักหนังทั่วไป
ถึงแม้ว่า หนึ่งทศวรรษผ่านไปหนังไทยจะยังตามหนังเกาหลีอยู่หลายช่วงตัว (ทั้งๆ ที่หนังเกาหลี เพิ่งได้ปาล์มทองจาก Parasite เมื่อปีที่แล้ว หลังหนังไทยถึง 9 ปี) และถีงแม้ความสำเร็จของลุงบุญมี จะไม่ใช่สิ่งที่เราต้องยึดเหนี่ยวไว้เพื่อไถ่ถอนความโหดร้ายต่างๆ ของเมืองไทยและโลกมนุษย์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของภาพยนตร์ไทยเกิดขึ้นที่เมืองคานส์เมื่อหนึ่งทศวรรษที่แล้วพอดิบพอดี
เกี่ยวกับผู้เขียน
ก้อง ฤทธิ์ดี
นักเขียน/นักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมากว่า 25 ปี
อัลบั้มภาพ 25 ภาพ