ละครจบ! แต่อารมณ์ไม่จบ สารพัดการ “ลงจบ” ในละคร โดย แอดมินเพจกะเทยนิวส์

แหมๆ เทยรู้เทยเห็นนะคะ สุดสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ซีรีส์วายที่ครองใจหลายๆ คนก็เพิ่งจบลงไป ทำเอากระแสในโซเชียลกลายเป็นวันละครแห่งชาติกันไปอีกหนึ่งเรื่อง และแน่นอนว่าเวลาที่ละครจบไปหนึ่งเรื่อง มันก็จะตราตรึงไปไม่รู้ลืม เป็นเหมือนจุดสำคัญที่จะเป็นเอกลักษณ์ของละครเรื่องนั้นให้คนจดจำไปนานแสนนานเลยทีเดียว
มาค่ะ เรามาว่ากันเรื่องความ “จบ” ของละครไทยกันเถอะ
แต่ไหนแต่ไร ศาสตร์ของหนัง ของละคร ของสื่อเนี่ยนะเธอ มันก็เป็นศาสตร์ที่เรียกกันว่า Story Telling หรือการเล่าเรื่อง ซึ่งมันก็พัฒนามาจากเรื่องปากเปล่าเมาท์กรุบนี่แหละเธอ ไอ้ความปากต่อปากเนี่ย มันก็จะแบบ จริงครึ่งไม่จริงครึ่ง ปะปนกันไป แต่งเตริมให้อรรถรสมันได้ มันแซ่บไปเบอร์ไหน ก็แล้วแต่จะปั้นแต่งกันมา
เรื่องเล่าที่พวกเธอคงจะคุ้นชินกันก่อนสมัยจะพัฒนามาเป็นละคร ก็คงเป็นนิทานปรัมปรา ที่เล่าให้เด็กๆ ฟัง ไล่มาตั้งแต่หนูน้อยหมวกแดง ซินเดอร์เรลล่า สโนว์ไวท์ หรือราพันเซล ที่ตอนนี้ก็เราคงรู้จักกันดีผ่านการเป็นการ์ตูนดิสนีย์ขวัญใจโลกไปนั่นแหละเธอ แต่พวกเธอคงจะรู้กันมาบ้างว่า นิทานปรัมปราเหล่านี้ มีเรื่องเล่าที่แต่งเสริมเติมแต่งมาจากต้นฉบับ แม้ว่าบางสำนักจะบอกว่านิทานหลายๆ เรื่อง มีเค้าโครงมาจากเรื่องจริงก็ตาม แต่ในนิทานต้นฉบับก็ไม่ได้สวยหรูอย่างที่ทางดีสนีย์นำเสนอให้เราดูไปซะทีเดียว
Cinderella เมื่อปี ค.ศ. 1950
“นิทานกริมม์” เป็นหนึ่งในนิทานต้นฉบับที่ว่ากันว่ามีเรื่องเล่าที่โหดร้าย ตอนจบที่ไม่ได้สวยใสอย่างที่เป็น เช่น สโนว์ไวท์ ก็ว่ากันว่าหลังจากได้กับเจ้าชายแล้ว เธอก็แก้เผ็ดแม่เลี้ยงด้วยการให้ใส่รองเท้าเหล็กร้อนจนตาย ซินเดอเรลล่าก็ให้เหล่านกของเธอจิกตาแม่เลี้ยงจนบอด หรือไม่แต่ ราพันเซล ที่ท้องก่อนแต่ง ลามไปยันเจ้าหญิงเงือกน้อยที่ไม่ได้สมหวังในรักกับเจ้าชาย และร่างกายก็แหลกสลายกลายเป็นฟองคลื่น
โอ้โหแม่ จะให้เล่าเรื่องแบบนี้ให้เด็กฟังหรือแม่ ก็กะไรอยู่
บทละครเวทีชื่อดังอย่าง Into The Woods ที่เป็นการเอานิทานปรัมปราหลายเรื่องมาร้อยเป็นเรื่องเดียวกัน ก็มีการใส่เนื้อร้องที่น่าสนใจว่า “ระวังสิ่งที่จะเล่าให้เด็กฟัง เพราะมันจะเป็นเหมือนคำสาปที่เขาจะได้ยิน” ด้วยประโยคเหล่านี้ จึงเป็นไปได้มากกว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่ หรือคนที่ได้ยินเรื่องเล่า ได้ยินนิทานจากปากต่อปาก ก็เริ่มจะระมัดระวังเรื่องเล่าที่จริงจนเกินไป แต่งเสริมเติมแต่งให้เหลือแค่อรรถรสและการลงจบที่รับได้มากขึ้น
Into the Woods
จนกลายเป็นวลีอมตะ “ครองรักกันชั่วกาลปาวสาน” หรือ “จุมพิตจากรักแท้”
แน่นอนแม่ รักแท้ก็เหมือนผี มีไม่กี่คนหรอกที่จะได้เห็น แต่ในเมื่อโลกแห่งความจริง มันซับซ้อน เราต้องเผชิญหน้ากับเรื่องราวที่ต่างจากละครไปมาก ละครล่ะ ต้องปรับแต่งการเล่าเรื่องอย่างไร ให้ทั้งจริงจนคนเข้าถึง แต่ก็ต้องไม่จริงจนเกินไปจนหดหู่ รวมถึงลงจบอย่างไรให้เป็นตำนานและจดจำ
การจบแบบ “Happy Ending”
การจบแบบนี้พบได้ทั่วไปตามสูตรสำเร็จทำนองแบบดิสนีย์ ละครไทยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ก็ลงจบแบบนี้ คู่หลักไม่มีใครตาย เราต่างเอาชนะอุปสรรคอันขวางกั้นเราสองไว้ได้จนถึงปลายทาง แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกตัวละครนะยะที่ไม่ตาย นางร้ายตัวร้ายล่ะก็ขิตหนึ่ง ประสาทแดก เป็นบ้าอะไรก็ว่าไป การลงจบแบบนี้ส่วนใหญ่ จะเป็นละครหรือการเล่าเส้นเรื่องที่แบ่งขั้วขาวดำเกือบจะชัดเจน มีอุปสรรคชัดเจน เราก็พอจะเดาตอนจบกันได้ แต่แหม อรรถรสระหว่างทางมันก็อร่อยอ่ะแม่ ทำไงได้
ตอนจบของ เมีย 2018
การจบเป็นเก็บไปคิด
การจบแบบนนี้พบได้บ่อยในละครและซีรีส์ต่างประเทศ ที่มักจะทิ้ง Hint ทิ้ง Easter Egg เอาไว้ เผื่อไว้ แหนะๆ อยากรู้ใช่ม๊า แบบว่าเผื่อได้โอกาสทำ SS ต่อไป ก็จะกวาดเอา Hint พวกนี้แหละมาต่อขยายเส้นเรื่องไปในรอบหน้า ของไทยก็มีนะคะ อย่างเช่น มงกุฎดอกส้ม-ดอกส้มสีทอง ที่เป็นภาคต่อกัน นี่ก็เป็นเส้นเรื่องประมาณนี้ แถมจบแบบไม่ได้ลง Happy Ending กันขนาดนั้นในทุกตัวละครด้วย และเทคนิคการจบแบบนี้ ซีรีส์สืบสวน รวมไปถึงซีรีส์แนวผีสาง ก็ใช้วิธีการลงจบแบบนี้เช่นกัน
ดอกส้มสีทอง
จบแบบโศกนาฏกรรม
การจบแบบนี้รุนแรง เรียกน้ำตา แต่ทว่าเป็นตำนานนักแล เริ่มต้นมาตั้งแต่วรรณกรรมของเชคสเปียร์อันโด่งดังอย่าง Romeo and Juliet ความรักอันขัดแย้งย้อนแย้งของสองตระกูลที่เกลียดกัน แต่ลูกหลานที่รักกัน ก็ไม่สามารถจะรักกันได้ พวกเธอคงจำตอนจบกันได้ ความยิงตัวตาย กินยาพิษตามกันไป รักกันในชีวิตนี้ไม่ได้ เราก็ขอตายไป แล้วรักกันในชีวิตหน้าแล้วกัน
Romeo + Juliet
แง….
แต่ว่าบาป การจบแบบโศกนาฎกรรมเนี่ย มันส่งผลต่อจิตใจของคนดูอย่างมหาศาล และมันบีบให้เกิดการเล่าเรื่องเวอร์ชั่นใหม่ ที่อุปสรรคเดิม แต่ตัวละครสามารถจบลงอย่างดีได้ในท้ายที่สุด ซึ่งนั่นก็จะตรงกับสิ่งที่เทยพูดถึงมาตั้งแต่ต้น เรื่องที่นิทานยุคหลังๆ ปรับตอนจบให้ลงสวยงามนั่นแหละเธอ
ซึ่งละครไทยที่เทยอยากจะยกตัวอย่างจากสิ่งนี้ ก็อย่างเช่น “รากนครา” ที่ทั้งต้นฉบับวรรณกรรมและฉบับละคร ก็มีตอนจบที่ขมขื่นตรงกันในทุกเวอร์ชั่นนั่นเองแหละ รวมไปถึงพล็อตประเภทกลับชาติมาเกิดใหม่ หลังจากชาติที่แล้วครองรักกันไม่ได้ในอดีต ชาตินี้ก็ขอมาแก้ไขให้ถูกต้องนี่ก็เพียบเลย มันตรงจริตคนไทยนักแล
รากนครา
อย่างไรก็ตาม ในโลกสมัยใหม่ เราต่างพยายามให้เนื้อหาการเล่าเรื่องกลับมาอยู่ในความสมจริงให้มากที่สุด เพราะเขาก็ว่ากันว่าการ Escape Reality หรือการหลบหนีความเป็นจริงในโลกไปจมกับความแฟนตาซีของละครนั้น มันอาจจะทำให้เราโดนสื่อที่เต็มไปด้วย Soft Power ครอบงำ และชักจูงให้เราคิดว่าเรื่องเล่าใดใดในหน้าจอละคร เป็นเรื่องจริง เนี่ย ไม่เห็นจะโหดร้ายเลย ทั้งๆ ที่จริงแล้ว ในโลกจริง มีอะไรที่ซับซ้อนมากกว่านั้น
เช่นที่เพิ่งจบไปอย่าง A World of Married Couple ที่โกยเรตติ้งอันดับหนึ่งในเกาหลีไปนี่ก็ถือว่าเป็นการตีแผ่ความจริงของชีวิตคู่รักเกาหลีหลังแต่งงานได้อย่างถึงเครื่อง ชนิดที่แบบโอ้โห ลากมาตบหน้าซ้ายขวา ดูเอาค่ะ ความพังพินาสของชีวิตแต่งงานคนเรา นี่ก็ต้องขอบคุณแล้วนะคะ ที่ตอนจบ นางไม่โหดร้ายจนเกินไป
A World of Married Couple
ศิลปะของการเล่าเรื่องแบบนี้นี่แหละค่ะ ที่ทำให้เราๆ เธอๆ สนุกสนานไปกับโลกแห่งงานสร้างสรรค์ งานละคร ทุกคนต้องเรียนรู้และดูเอาบันเทิงแทรกสาระไปพร้อมกันนะคะคุณ
เหยี่ยวเทย รายงาน
อัลบั้มภาพ 7 ภาพ