New Normal คือการระวังตัว แต่ไม่ใช่กลัวโรงหนัง โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
วันนี้ (1 มิ.ย. 63) เป็นวันแรกที่โรงภาพยนตร์ในไทยจะกลับมาเปิดหลังจากต้องจอดับไปกว่าสองเดือนอันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ส่วนโรงหนังในประเทศอื่นๆ ก็มีทั้งที่ทยอยเปิดไปแล้ว และกำลังจะเปิดตามมา ย้ำอีกครั้งว่า โรงภาพยนตร์ทั้งโลกไม่เคยเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ทำให้ต้องพักจอนานขนาดนี้ เพราะแม้แต่ในช่วงเวลาหนักหนาอย่างสงครามหรือการก่อการร้าย ก็ยังมีโรงหนังเปิดทำการอยู่ในหลายประเทศ หลายพื้นที่ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดสองเดือนที่ผ่านมาจะถูกบันทึกไว้ตลอดไปในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์
มาตอนนี้คำที่ทุกคนพร่ำพูดกันคือ New Normal การปฏิบัติตัวใหม่ในยามที่โรงหนังกลับมาเปิดอีกครั้ง มีตั้งแต่การเว้นที่นั่ง การที่โรงจำกัดคนดูในแต่ละรอบให้น้อยลง การห้ามกินน้ำและขนมระหว่างดูหนัง และการทำความสะอาดโรงหลังฉายทุกรอบ นี่ไม่ใช่แค่เป็นกฎเกณฑ์ทางสังคมใหม่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่โรงหนังทั้งโลกก็จำต้องสร้างมาตรฐานใหม่ในบริยทนี้ คำถามสำคัญในหมู่ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ และในหมู่คนดูหนัง คือคนจะกลับไปดูหนังในโรงหรือไม่ ถ้ากลับ จะเป็นจำนวนมากเท่าเดิมหรือเปล่า และจะใช้เวลานานแค่ไหนกว่าคนจะกลับมามั่นใจในกิจกรรมที่แต่ก่อนแสนจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาอย่างการพูดกับเพื่อนหรือแฟนว่า “ไปดูหนังกันวันนี้”
SF Cinema
ผู้รู้ทั้งหลาย (รู้จริงบ้างไม่จริงบ้างก็ว่ากันไป) ต่างคร่ำเคร่งคาดเดาคำตอบของคำถามเหล่านี้ ส่วนคำตอบใดจะถูกหรือผิด เราล้วนแต่ต้องใจเย็น จิกหมอน กัดนิ้ว และรอเวลาในการพิสูจน์ ส่วนตัวในฐานะคนรุ่นกลางเก่า-กลางใหม่ ที่เติบโตมากับโรงภาพยนตร์และเชื่อมั่นในพลังของภาพเคลื่อนไหวบนจอขนาดใหญ่ในโรงที่สะกดคนดูด้วยความมืด ผู้เขียนเชื่อว่าโรงหนังจะกลับมาได้ภายในไม่กี่เดือนหลังจากนี้ โดยเฉพาะเมื่อหนังใหญ่ระดับ tentpole ของอเมริกาเข้าฉาย
ฮอลลีวูดวาง Tenet ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน ไว้ให้เป็นหนังใหญ่ที่จะเรียกศรัทธาคนดูกลับให้มาโรงหนังอีกครั้งในหนึ่งถึงสองเดือนข้างหน้านี้ และใครๆ ก็รู้ว่าคนทำหนังอย่างโนแลน ไม่มีวันจะปล่อยหนังของตัวลงจอเล็กไปเฉยๆ แน่นอนว่าหนังที่เล็กกว่านั้น หรือไม่มีกระแสเท่านั้น อาจจะลำบากสักหน่อย แต่อย่างน้อยถ้ามีหนังเปรี้ยงๆ ที่ทำให้คนดูเลิกกลัวโรงหนังมากระตุ้น นั่นจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สร้างอานิสงส์ให้หนังอื่นๆ ในทางตรงข้าม หนังอาร์ทหลายๆ เรื่องที่ถูกสร้างสรรค์ด้วยมุ่งหวังจะฉายบนจอใหญ่ ผู้สร้างก็บอกแล้วว่ายังไงก็จะรอเข้าโรง หรือรอเปิดตัวในเทศกาลหนังใหญ่ๆ หรือถ้าจะรอไปปีหน้าเลยก็จะรอ โดยจะไม่ตัดช่องน้อยไปฉายสตรีมมิ่งง่ายๆ ให้หมดราคาและให้เสียสุนทรียศาสตร์
ผู้กำกับหนังไทยคนดัง อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล บอกเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เขาคิดสร้างหนังเพื่อฉายในโรง และหากไปฉายทางโทรทัศน์ เขารู้สึกเหมือนมันกลายเป็นหนังอีกเรื่องที่ไม่ใช่ของเขา แน่นอนว่าผู้กำกับหลายคนอาจไม่เชื่อเช่นนั้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความศักดิ์สิทธิ์ของจอหนัง ยังคงเรืองรองอยู่ในหลายมิติของโลกภาพยนตร์
ส่วนคำทำนายสุดโต่งที่ว่าโรงภาพยนตร์จะเจ๊งหมด เพราะพฤติกรรมคนดูที่เคยชินกับการดูหนังในจอทีวีที่บ้านจนลืมโรงหนังไปเลย ไม่ต่างอะไรกับหมอดูที่ต้องการเรียกร้องความสนใจโดยทำนายว่าคนโน้นคนนี้จะตายเพราะเคราะห์กรรมซ้ำซัด เช่นเดียวกับผู้ที่เคยทำนายว่าหนังโรงจะตายไม่ได้ผุดได้เกิดเพราะโทรทัศน์ เคเบิลทีวี หรือดีวีดี
Photo by Sean Gallup/Getty Images
คำทำนายที่น่าจะฟังขึ้นกว่า คือการที่ธุรกิจภาพยนตร์ต้องปรับสมดุลใหม่ โรงหนังจะยังคงอยู่ และจะยังสำคัญมากในฐานะสถานที่ของการส่งต่อวัฒนธรรมร่วมสมัย แต่หนังสตรีมมิ่งที่ได้แรงส่งล้นหลามจากช่วงกักตัวอยู่บ้าน จะกลายมาเป็นปัจจัยใหม่ในระบบนิเวศนี้ การอยู่ร่วมกันระหว่างภาพยนตร์สองรูปแบบ จะถูกปรับเปลี่ยนให้ชัดเจนขึ้น เช่น ช่องว่างก่อนที่หนังโรงใหญ่จะลงจอเล็ก จากที่แต่ก่อนเป็นเวลาหลายเดือนหรือเป็นปี อาจจะหดสั้นลง การขยายธุรกิจโรงหนัง สร้างจอเพิ่ม หรือสร้างโรงขนาดใหญ่ อาจจะชะลอตัว ส่วนคนทำหนังเชิงพาณิชย์ทั่วไป ก็อาจจะสร้างความหลากหลายให้ตัวเองโดยทำได้ทั้งหนังโรงใหญ่และหนังจอเล็ก
ในเมืองไทย ช่วงที่โรงหนังเพิ่งเปิดนี้เป็นช่วงของการนำหนังเรื่องเก่าๆ ในแคตาลอกมาฉาย เพื่อรอเวลาที่โรงหนังในอเมริกาจะกลับมาเปิดและมีหนังใหม่เข้า ส่วนหนังไทยใหม่เรื่องแรกที่จะประเดิมการกลับมาของโรง คือ หอแต๋วแตก พจมาน สว่างคาตา ของผู้กำกับ พชร์ อานนท์ ผู้เขียนมองว่านี่เป็นหนังที่สมศักดิ์ศรีมาก (ถึงแม้ส่วนตัวจะไม่ได้ชอบหนังแบบคุณพชร์ทุกเรื่อง) เพราะเป็นหนังแบบที่ถูกจริตผู้ชมชาวไทย และมีศักยภาพเพียงพอที่จะเรียกคนกลับเข้าสู่โรง ใครจะว่าคุณพชร์ว่าทำหนังตีหัวเข้าบ้านอย่างไรก็ตาม แต่ความกล้าในการเอาหนังเข้าโรงในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนนี้ ถือว่าเป็นสปิริตที่น่าส่งเสริม เป็นการช่วยฟื้นชีวิตและสร้างบรรยากาศให้โรงหนัง และทำให้คนพร้อมเข้าใจว่า
ในยุคแห่ง New Normal คนดูสมควรระวังตัว แต่ไม่ควรกลัว อีกทั้งทำให้เราเห็นว่า ความกล้าหาญที่ง่ายที่สุดในยามนี้ คือกล้าหัวเราะออกมาดังๆ ในยามที่ใครๆ ต่างบอกให้เราก้มหน้าและหวาดกลัว