James Baldwin กับบันทึกวิบากกรรมของคนผิวสี โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

James Baldwin กับบันทึกวิบากกรรมของคนผิวสี โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

James Baldwin กับบันทึกวิบากกรรมของคนผิวสี โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“พวกที่ทุบกระจกขโมยทีวีในร้าน ไม่ได้อยากได้ทีวีหรอก พวกเขาทำแบบนั้นเพราะพวกเขาต้องการให้คุณฟังเสียงของพวกเขา เพราะคุณไม่เคยสนใจฟังมันเลย” – เจมส์ บัลด์วิน

ในบรรดานักเขียนและปัญญาชนผิวสีของอเมริกา เจมส์ บัลด์วิน เป็นชื่อที่โดดเด่นมาตลอดศตวรษที่ 20 บัลด์วินเขียนบทความ ละคร นิยาย เป็นกวี และเป็นนักเรียกร้องที่ต่อสู้กับอคติและความอยุติธรรมที่คนผิวดำในสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญหน้ามาตลอดประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคค้าทาสจนมาถึงปี 2020 ดังนั้นในช่วงเวลาที่การประท้วงครั้งใหม่เกิดปะทุขึ้นทั่วประเทศอเมริกาและหลายเมืองทั่วโลก เข้มข้นด้วยอุณหภูมิของอารมณ์ที่พลุ่งพล่าน เพื่อเรียกร้องให้มีการจัดการกับโครงสร้างความรุนแรงและการกดขี่ อันสืบเนื่องจากการเสียชีวิตของชายผิวดำชื่อ จอร์จ ฟลอยด์ ที่ถูกตำรวจผิวขาวใช้เข่ากดคอจนหายใจไม่ออก ในช่วงเวลานี้ชื่อของ บัลด์วิน กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง

ผู้เขียนมีความชื่นชอบงานของ เจมส์ บัลด์วิน (มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 1924 ถึง 1987) ถึงแม้จะไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด แต่เท่าที่ได้เห็นได้อ่าน บัลด์วินเป็นนักเขียนที่มีความกระจ่างแจ้งในความคิดและจุดยืน มีความกล้าหาญที่จะพูดสิ่งที่อาจดูอื้อฉาวหรือเป็นที่ถกเถียง (เช่น คำพูดที่ยกมาข้างบน) และมีส่วนผสมที่จำเป็น ทั้งวาทศิลป์ ความลุ่มลึก บุคลิกอันองอาจ อีกทั้งยังมีความโกรธเกรี้ยวที่แฝงอยู่ในน้ำเสียงและท่าที ไม่ใช่เป็นปัญญาชนในสูทที่เซื่องๆ แต่เด็ดขาด เฉียบคม และพร้อมจะพรั่งพรูประวัติศาสตร์ความโหดร้ายที่คนผิวดำต้องเผชิญมาตลอด อย่าลืมว่า คนผิวสีถ้าแสดงออกว่าโกรธเกินไปก็จะถูกเหมารวมทันทีว่าเป็นพวกป่าเถื่อน แต่หากไม่โกรธเลยและเพียงแค่พูดจาโต้วาทีไปงั้นๆ ก็จะไม่สามารถผลักดันความรู้สึกและแรงกดดันที่มีออกมาได้อย่างมีความหมาย บัลด์วินผสมผสานคุณลักษณะเหล่านั้นได้เหมาะเจาะ อีกทั้งการที่เขามีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาแห่งการต่อสู้เรียกร้องสิทธิพลเมืองอเมริกัน (หรือ Civil Rights Movement) ในช่วงกลางศตวรรษที่แล้ว สิ่งที่เขาพูดและเขียน ต้องเข้มแข็งมากจึงจะฝ่าด่านอคติที่ฝังรากลึก อีกทั้งยังทำให้เขามีความเสี่ยงในการเป็นเป้าถูกทำร้ายอยู่เสมอ

เจมส์ บัลด์วินPhoto by Townsend/Getty Imagesเจมส์ บัลด์วิน

เล่ามาเสียยาว สิ่งที่อยากแนะนำให้หามาอ่านคือหนังสือรวบรวมบทความของบัลด์วิน ชื่อ Notes of a Native Son หรือถ้าชอบนิยาย ควรอ่าน If Beale Street Could Talk นิยายรักที่แฝงด้วยเรื่องราวการต่อสู้กับความอยุติธรรมและความโหดร้ายของตำรวจ – ซึ่งไม่ต่างอะไรจากสถานการณ์ในตอนนี้ – หรือถ้าไม่ชอบอ่าน If Beale Street Could Talk ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อสองปีที่แล้ว โดยผู้กำกับ แบรี่ เจนกินส์ (จากหนังรางวัลออสการ์ Moonlight) เรื่องราวว่าด้วยคู่รักผิวสีที่ฝ่ายชายถูกใส่ความโดยตำรวจเหยียดผิวและถูกจับในข้อหาข่มขืน ฝ่ายหญิงและครอบครัวของเธอ ทำทุกอย่างเพื่อหาหลักฐานมาแย้งว่าทั้งหมดเป็นการใส่ความ รวมทั้งไปขอให้ผู้หญิงคนที่ถูกข่มขืนมาเป็นพยานให้ หนังเรื่องนี้อ่อนโยนและปวดร้าว ไม่ต่างอะไรกับนิยายต้นฉบับ ที่ตั้งต้นเป็นเรื่องความรักก่อนที่จะกลายเป็นงานกึ่งโศกนาฏกรรมเมื่อความโหดร้ายที่แฝงอยู่ในสังคม จะพรากสองคนรักจากกัน ปีนั้นลุ้นกันว่าหนังจะไปได้ไกลแค่ไหนในออสการ์ แต่สุดท้ายได้รางวัลดาราประกอบหญิงมาเพียงรางวัลเดียว (ส่วนตัวผู้เขียนเชียร์ให้ได้เยอะกว่านั้น)

ภาพยนตร์อีกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ เจมส์ บัลด์วิน คือ I Am Not Your Negro ภาพยนตร์สารคดีโดยผู้กับ ราอูล เป๊ค ที่ได้รางวัลออสการ์สาขา Best Documentary ในปี 2017 หนังอ้างอิงจากงานเขียนของบัลด์วิน เป็นงานกึ่งชีวประวัติของเขา ผสมไปกับการเล่าประวัติศาสตร์การเหยียดผิวในสหรัฐอเมริกา อีกทั้งพูดถึงนักต่อสู้คนสำคัญในยุค Civil Rights Movement ได้แก่ มาติน ลูเธอร์ คิง, มัลคอล์ม เอ็กซ์ และ เมดการ์ เอเวอร์ ซึ่งทั้งหมดเป็นเพื่อนเคียงบ่าเคียงไหลกับบัลด์วิน

แน่นอนว่าในช่วงเวลานี้ ภาพยนตร์และวรรณกรรมเกี่ยวกับคนผิวสีมากมายกำลังได้รับการพูดถึงในฐานะสื่อที่จะช่วยสร้างความเข้าใจและให้บริบทกับเหตุการณ์ประท้วงที่ยังมีกระแสต่อเนื่อง ทั้งนิยายของ โทนี่ มอริสัน, โคลสัน ไวท์เฮด หรือหนังของ สไปค์ ลี และ เอวา ดูวาร์นี แต่ทั้งหลายทั้งปวงแล้ว เจมส์ บัลด์วิน เป็นบิดาแห่งผู้บันทึกวิบากกรรมคนผิวสี ในยามแห่งความสับสนนี้ งานของเขาจะช่วยฉายแสงความกระจ่างทางความคิดให้ผู้อ่านและผู้ชม ถึงแม้เราจะไม่ได้ไปร่วมประท้วงกับคนอเมริกันในชั่วโมงนี้ก็ตาม

 

เกี่ยวกับผู้เขียน
ก้อง ฤทธิ์ดี
นักเขียน/นักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมากว่า 25 ปี

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ James Baldwin กับบันทึกวิบากกรรมของคนผิวสี โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook