“One Take” ของ “โดนัท มนัสนันท์” การเรียนรู้จักรวาล BNK48 ที่เริ่มต้นจากศูนย์

“One Take” ของ “โดนัท มนัสนันท์” การเรียนรู้จักรวาล BNK48 ที่เริ่มต้นจากศูนย์

“One Take” ของ “โดนัท มนัสนันท์” การเรียนรู้จักรวาล BNK48 ที่เริ่มต้นจากศูนย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกคนคงไม่ปฏิเสธความสามารถทางการแสดงของ โดนัท-มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล ว่ามีมากมายเพียงใด แต่ในฐานะผู้กำกับ “หนังสารคดี” ก็ต้องยอมรับว่า ชื่อของเธอเริ่มเป็นที่น่าจับตาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการที่โดนัทกลายเป็นผู้กำกับสารคดีไทยออริจินัลของ Netflix เรื่องแรกอย่าง BNK48: One Take

แต่อันที่จริงก่อนหน้านี้สาวโดนัทเคยมีผลงานกำกับสารคดีมาแล้วกับ The Journey บันทึกทางไกล...ถึงพ่อ ซึ่งเล่าเรื่องของในหลวงรัชกาลที่ 9 เอาไว้ได้อย่างอบอุ่นและน่าสนใจ แม้ว่าการหาฟุตเทจจะเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง แต่ความหลงใหลในการทำสารคดีก็ทำให้ทุกอย่างเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์แบบ

ความท้าทายครั้งใหม่ของ โดนัท มนัสนันท์ เป็นสิ่งที่ Sanook TV/Movies สนใจ หนึ่งคือการที่ก่อนถ่ายทำเธอไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับวงไอดอลแห่งยุคอย่าง BNK48 สองคือมันง่ายมากต่อการถูกนำไปเปรียบเทียบกับสารคดี BNK48 เรื่องก่อน สามคือฟุตเทจก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นเดิมที่จะหามันมาได้ สี่คือการที่เธอแบกรับตำแหน่งผู้กำกับสารคดีไทยออริจินัลของ Netflix คนแรกอย่างที่เราเกริ่นเอาไว้ข้างต้น

ทว่าในวันที่เราได้พูดคุยกับ โดนัท แววตาอันมุ่งมั่น คำตอบอันฉะฉาน ทำให้เรารู้ในทันทีว่า โดนัท ภูมิใจกับสารคดี BNK48: One Take มากแค่ไหน ตื่นเต้นกับความท้าทายในชีวิตครั้งนี้มากเพียงใด นอกจากนั้น โดนัท ยังเผยความเห็นเกี่ยวกับอนาคตของนักทำหนังอิสระ และผู้กำกับหญิงในเมืองไทยอีกด้วย

 

อย่างที่หลายคนทราบว่า สารคดีของ BNK48 เคยมีฉายในโรงไปแล้วรอบหนึ่ง สำหรับ BNK48: One Take มีความแตกต่างจากที่คอสารคดี หรือที่แฟนคลับของวงเคยรับชมไปแล้วอย่างไร?

โดนัท มนัสนันท์: โดนัทว่ามันเป็นคนละมุมมอง อันนี้เป็นความรู้สึกของโดนัทเองนะคะ คือคุณเต๋อ (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) เขาเล่าถึง BNK48 ในฐานะคนที่ชื่นชอบ แฟนคลับ คนที่ให้กำลังใจ แต่โดนัทเล่าในฐานะคนที่ไม่รู้จัก และเป็นคนที่จะต้องทำให้คอนเทนต์นี้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง มันก็เลยเป็นโจทย์ที่ต่างกัน แล้วคุณเต๋อทำก่อน คุณเต๋อมีฟุตเทจหมดแล้ว เราก็เลยต้องย้อนกลับมาว่า งั้นเราต้องไปลึกกว่า ลึกกว่าในแง่ไหนบ้าง เราก็เลยไปญี่ปุ่น เพราะว่ารูปแบบของวงนี้มันเกิดที่อากิฮาบาระ ประเทศญี่ปุ่น ไปถามผู้บริหาร เขาก็พูดในมุมธุรกิจว่ามันประสบความสำเร็จไหม ซึ่งสำหรับโดนัทมันน่าสนใจมากๆ เพราะว่าพอคุยลึกลงไป สิ่งที่สำเร็จยิ่งกว่าน้องๆ มันคือรูปแบบของธุรกิจชนิดนี้ แต่เราก็ยังไม่ได้ฟุตเทจที่น่าสนใจพออีก

แล้วคุณมุ่งไปทางไหนต่อ?

โดนัทเลยสร้างเส้นเรื่องขึ้นมาใหม่อีกเส้นเลยค่ะ นั่นก็คือการเซตอัพให้น้องๆ BNK48 มาทำกิจกรรมด้วยกัน ซึ่งมันยากมากที่จะเอาเด็กผู้หญิง 51 คนที่มีแฟนคลับไม่เท่ากัน ได้รับโอกาสไม่เท่ากันมาอยู่รวมกัน แล้วทำอะไรด้วยกัน มันยากมากที่จะทำให้เขาเปิดใจกับเราในช่วงเวลาที่เรามีน้อยมาก จริงๆ One Take มันเล่าตรงไปตรงมาเลยค่ะ คือ BNK48 ทั้ง 2 รุ่นต้องมาแข่งกันเพื่อเป็นที่หนึ่ง อย่างในตัวอย่างมันก็จะมีประโยคที่ว่า ความฝันมันไม่ได้มีที่ยืนสำหรับทุกคน มันไม่มีที่พอสำหรับน้องๆ 51 คนนี้ สารคดีเรื่องนี้เราถ่ายกันประมาณ 6 เดือน เราต้องถ่ายนไทม์ไลน์จริงๆ ของน้องด้วย นั่นก็คือ General Election โดนัทก็เลยสร้าง Acting Class ขึ้นมาให้น้องๆ มาทำกิจกรรมด้วยกัน

โดนัท มนัสนันท์โดนัท มนัสนันท์

ในฐานะผู้กำกับ คุณได้เห็นอะไรจาก Acting Class นี้บ้าง?

ทำให้เราได้เห็นตัวตนของน้องๆ ที่เราไม่เคยได้เห็นในโซเชียลมีเดีย มันเวิร์กนะ มันทำให้เขาเปิดใจ ทั้งที่เขาไม่อยากเปิดใจกับเราหรอก (หัวเราะ) แต่บางทีน้องๆ ก็ถูกเอามาวางอยู่ในโมเมนต์ที่บอบบาง แล้วเหมือนเขากำลังอยากจะพูดความรู้สึกของเขาเหลือเกิน มันก็เลยเป็นที่มาของชื่อ One Take เพราะว่าคำถามทุกคำถาม ทุกคนมีสิทธิตอบ 1 เทค ไม่มีใครมีสิทธิ์ตอบเทคที่ 2 แล้วมันก็เชื่อมโยงกับการเป็นสารคดี มันไม่ได้มีอะไรที่ปรุงแต่งค่ะ คือมันอาจจะมีมุมที่โดนัทเลือกเล่าแหละ มันก็จำเป็นสำหรับการนำเสนอเรื่องราวๆ หนึ่งนะ และเราก็ต้องเว้นที่ว่างไว้ให้คนดูด้วย

ทำงานกับ BNK48 เป็นอย่างไรบ้าง?

ต้องบอกก่อนว่า ก่อนได้มากำกับเรื่องนี้ ความรู้ที่เรามีเกี่ยวกับ BNK48 คือศูนย์นะ แต่พอมาทำงานจริงๆ น้องๆ ก็เป็นเด็กผู้หญิง 51 คน ทั้งรุ่น 1 และรุ่น 2 เขาก็มีวันที่ไม่น่ารัก มีวันที่เขาเบื่อ ไม่มา คือไม่มาถ่ายหนังเลย เพราะเขาไม่รู้ว่าเราถ่ายหนังอยู่ เพราะตอนที่เราทำ เราก็พยายามทำอย่างไรก็ได้ให้เราได้สิ่งที่จริงที่สุด พอเขาเริ่มรู้แล้วว่า พวกพี่ๆ น่าจะต้องถ่ายเอาไปทำอะไรสักอย่าง เราก็ยังทำให้เขาลืมไปว่า นี่พี่ถ่ายหนังอยู่นะ โดนัทเลยกล้าพูดว่า โดนัทได้สิ่งที่จริงมากๆ จากน้องๆ มันมีความใหม่อยู่ โอเคมีคนบอกว่า เฮ้ยแต่มันไม่ได้เรียลไทม์ไม่ใช่หรือ คือสารคดีไม่ได้ต้องการความจริงแบบเดี๋ยวนั้น บางทีมันก็ต้องผ่านการย่อยก่อน โดนัทเชื่อว่าน้องๆ กลับมาดูเขาจะแบบ “ฉันเคยเป็นแบบนั้นด้วยเหรอ” (หัวเราะ)

BNK48: One TakeBNK48: One Take

สิ่งที่สัมผัสได้จากเทรลเลอร์ หรือใครที่ได้รับชม BNK48: One Take ก็คือเรื่องราวการแข่งขันของสมาชิก BNK48 คุณมองว่าสังคมที่มีการแข่งขันมีข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง?

จริงๆ มันมีอยู่ทุกที่นะคะ แต่พอดีว่าสิ่งนี้มันมาอยู่ในแบบธุรกิจบันเทิง คนก็เลยเข้ามาร่วมวงมีความสุข สนุก ลุ้น มีความเสียใจดราม่ากับมันด้วย โดนัทมองว่า เดี๋ยวพอมีคนชนะ เราก็จะกลับไปที่การแข่งขันอีกครั้งหนึ่ง คือมันตอบยากตรงที่เราอยู่ในธุรกิจบันเทิง สำหรับเราในฐานะที่เป็นคนที่ต้องลงแข่งมันไม่สนุกหรอก แต่ในแง่ของคนดู เขาอาจจะสนุก โดนัทว่าการแข่งขันมันไม่มีข้อเสียนะ มันก็ทำให้เราพัฒนาตัวเรามากขึ้น วันนี้อาจจะคิดไม่ได้ แต่พรุ่งนี้เราก็อาจจะคิดได้ก็ได้ ซึ่งใน One Take มันก็มีความเชื่อมโยงกับการแข่งขันของผู้ใหญ่เหมือนกัน

เปรียบเสมือนการจำลองโลกของเด็กผู้หญิงในช่วงวัยรุ่น?

ตอนโดนัทวัยรุ่น... โอ้โห ย้อนไปไกลเลย (หัวเราะ) ย้อนไปครึ่งชีวิตเลย คือตอนวัยรุ่นเราไม่ต้องทำอะไรหนักขนาดนี้เพื่อจะเป็นที่รักของคนน่ะค่ะ ระหว่างถ่ายมันทำให้โดนัทรู้สึกเลยว่า จริงๆ ตอนนี้โซเชียลมีเดียมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนเลยแหละ แล้วบางคนก็อาศัยอยู่กับมัน จนบางทีมันอาจจะเอาตัวตนของเราไป จนเราลืมไปแล้วว่าเราเป็นใคร ถามว่ามันจำลองเลยไหม... อาจจะจำลองในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้แล้วกัน มันไม่ได้จำลองทุกยุคสมัยมาไว้ มันโหดนะที่เราต้องทำให้ทุกคนในโซเชียลมีเดียรักเรา แต่พอเราถ่ายไปเรื่อยๆ เราก็เจอนะว่า น้องๆ เขาก็คิดว่า มันก็สนุกดีนะคะพี่ เราก็เลยเปลี่ยนมุมมอง เหมือนเราได้เข้าใจวัฒนธรรมของเด็กยุคนี้ว่า เขาคิดอย่างไร เขามองโลกอย่างไร

 

สมมติว่าวันหนึ่งคุณกลายเป็นเมมเบอร์วง BNK48 คิดว่าตัวเองจะรับมือกับความกดดันในแบบที่คุณเห็นจากน้องๆ ทั้ง 51 คนได้ไหวไหม?

คิดว่าไม่ไหว คิดว่าไม่น่าทำได้ แต่... คือเราเกิดก่อนน้องๆ ตั้ง 17 ปี (หัวเราะ) เราก็เลยคิดว่า ถ้าเป็นเราในวันนั้นเราคงทำไม่ได้ แต่ในอีกแง่เราก็ต้องยอมรับนะว่า เพื่อความฝันน่ะ มนุษย์ทำกันได้ทุกอย่างจริงๆ ในทุกๆ แบบเลยนะคะ เพราะอย่างแฟนคลับเองเขาก็มีความฝันของเขาว่า เขาอยากจะเห็นคนที่เขารักขึ้นไปอยู่อันดับ 1 สูงที่สุดอะไรแบบนั้น นั่นคือสิ่งที่เขาทุ่มเท หรือแม้แต่ตัวน้องๆ BNK48 เองที่เขารู้สึกว่า เขาต้องทำให้ได้ แล้วเขาพยายาม ซึ่งมันดีนะ มันเลยเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเราชอบดูเรื่องของคน เพราะมันจะให้แรงบันดาลใจเรา

คุณคือผู้กำกับสารคดีไทยออริจินัลเรื่องแรกของ Netflix คุณมองถึงความหลากหลายในอนาคตไว้อย่างไรบ้าง?

คือสารคดีสำหรับเรา เรารู้สึกว่ามันสนุก แล้วเดี๋ยวนี้มันดูง่ายมากๆ มีความหลากหลาย แล้วมันน้ำเน่ายิ่งกว่าเรื่องแต่งอีกนะบางที โดนัทว่ามันน่าจะเกิดอะไรใหม่ๆ ขึ้น Feature Film ทุกวันนี้ถ้าสังเกตดีๆ ผู้กำกับก็จะผสมฟุตเทจจริงลงไป เพราะว่ามันจริงไง แล้วพอมันมีโอกาสที่เราจะได้ทำหนังไปบนแพลตฟอร์มที่มันเป็นอินเตอร์เนชันแนล โดนัทว่ามันยิ่งเป็นโอกาสที่ดี จริงๆ One Take ด้วยตัวคอนเทนต์น่ะมันเล็กมากนะคะ แต่ Netflix เขาก็กล้าหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาทำ แล้วก็ให้เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกของประเทศไทย คือ Netflix เขาเปิดมากๆ เลยสำหรับเนื้อเรื่องอะไรก็แล้วแต่ถ้าเกิดว่ามันสามารถเล่าเรื่องหรือสื่อสารได้ ก็คิดว่าในอนาคตเขาน่าจะทำอะไรอีกเยอะเหมือนกัน อย่างโดนัทเป็นนักทำหนังอิสระ มันโคตรยากในประเทศนี้ที่เราจะทำอะไรแบบนี้ได้ แต่ Netflix เป็นแพลตฟอร์มใหม่ให้เรามีโอกาสได้ทำ แล้วมันค่อนข้างเปิดกว้าง ก็ดีใจค่ะ พูดแบบน้องๆ BNK48 แล้วกันว่า ความฝันมันไม่ได้เป็นแค่ความฝันแล้ว

 

ความโคตรยากสำหรับนักทำหนังอิสระในบ้านเรา มันจะแปรเปลี่ยนไปเป็นความยากที่น้อยลงไหมในมุมมองของคุณ?

จริงๆ 6-7 ปีที่โดนัทต่อสู้มามันดีขึ้นนะคะ เริ่มจากทำโดยมีเงินเล็กๆ แล้วก็เริ่มดิ้นรนไปแบบไม่มีสตูดิโอ ไม่มีดิสทริบิวเตอร์เลย ทำกันเอง หาเงินกันเอง มันก็ทำได้ จนมาตอนนี้ โอเคสำหรับ One Take ทาง BNK48 ก็เป็นสตูดิโอที่ให้ทุนโดนัทมาทำ แต่เราก็มีแพลตฟอร์มที่รองรับ โดนัทว่ามันดีขึ้นมากๆ แล้วยิ่งเรารู้ว่า Netflix เขาซัพพอร์ตมากๆ ในการทำงานกับ Local Filmmaker หรือผู้กำกับในพื้นที่ ในประเทศ เรามองว่ามันง่ายขึ้นนะ ท้ายที่สุดเราก็ไม่อยากให้คนไทยทิ้งการทำหนังไทย หรือสารคดีไทย โดนัทว่ามันเป็นการบันทึกช่วงเวลา บันทึกประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้นเอาไว้ ก็หวังว่าหลังจากทุกอย่างมันคลี่คลายในช่วงการระบาดของโควิด-19 นี้ เราก็จะมีโปรเจกต์ใหม่ๆ เกิดขึ้น อาจจะได้เห็นนักทำหนังที่เก่งๆ ในบ้านเรามีโอกาสได้ทำอะไรมากขึ้น

แล้วในเชิงของการเป็น “ผู้หญิงทำหนัง” ล่ะ?

ถามว่ามันยากไหม สำหรับโดนัทถ้าพูดถึงว่าการที่เราโตมาในประเทศไทย ก็ไม่ยากนะคะ โดนัทไม่รู้สึกว่าผู้หญิงในประเทศไทยไม่มีสิทธิ์มีเสียง แต่สิ่งที่โดนัทรู้สึกอาจจะเป็นเรื่องว่า โดนัทโตมาจากการทำทีวีก่อน ทำสิ่งที่มันแมสที่สุด ทีนี้พอเราเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นนักแสดง ต่อให้เราเรียนมา มันมีสิ่งที่เราต้องพิสูจน์เยอะกว่าปกติ มันอาจจะไปเชื่อมโยงกับ BNK48 ได้ในบางแง่มุมว่า เราต้องพยายามมากขนาดไหนเหรอ แต่วันนี้โดนัทสามารถพูดได้ว่า ความพยายามของโดนัทมันทำงานแล้วนะ คือการเป็นผู้หญิงทำหนังมันไม่ยากเท่ากับการที่เราต้องถูกชาลเลนจ์ว่าเราเป็นนักแสดงมาก่อนแล้วทำหนังได้จริงหรือเปล่า

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ “One Take” ของ “โดนัท มนัสนันท์” การเรียนรู้จักรวาล BNK48 ที่เริ่มต้นจากศูนย์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook