เจาะลึกเพลงฮิต เบิร์ดกะฮาร์ท คำต่อคำที่ไม่เปิดเผยที่ไหนมาก่อน | Sanook Music

เจาะลึกเพลงฮิต เบิร์ดกะฮาร์ท คำต่อคำที่ไม่เปิดเผยที่ไหนมาก่อน

เจาะลึกเพลงฮิต เบิร์ดกะฮาร์ท คำต่อคำที่ไม่เปิดเผยที่ไหนมาก่อน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทีมงาน Sanook! Music ได้มีโอกาสพิเศษนั่งคุยแบบ Exclusive กับพี่ "เบิร์ดกับพี่ฮาร์ท" ซึ่งเราเองก็มีคำถามบางคำถามอยากถามพี่ๆ อยู่แล้ว เราเตรียมคำถามไปเยอะมาก แต่พี่เบิร์ดและพี่ฮาร์ทช่วยพวกเราทุ่นแรงไปเยอะ คือถามทีเดียว ก็ตอบกินคำถามอื่นกันไปหมดเลย และตอบครอบคลุมทั้งหมดเลยด้วยอีกต่างหาก เยี่ยมจริงๆ ครับ

มาอ่านบทสัมภาษณ์ของพี่เบิร์ดกะฮาร์ทกันเลยครับ

S!: เพลงของพี่ เบิร์ดกับฮาร์ท แบ่งหน้าที่การทำงานกันอย่างไร ใครแต่งเพลง ใครทำดนตรีกันบ้างครับ

พี่ฮาร์ท : ขอเล่าเป็นเพลงๆ ไปละกันครับ คือก่อนจะมีเพลง “ลืม” จะมีเพลง “อาลัยเธอ” มาก่อน ซึ่งตอนแรก เบิร์ด จะเล่นให้ผมฟังเป็นคอร์ดง่ายๆ ผมฟังแล้วรู้สึกว่ามันเพราะ แต่ผมไม่ได้แสดงออกว่ามันเพราะ ผมแสดงออกแบบว่า “เพลงมันยังต้องมีอีก .. นิดนึง .. เดี๋ยวเราทำต่อเอง” คือผมจะเล่นบทบาทเป็นกูรู เป็นผู้รู้ จริงๆ แล้ว รู้พอๆ กันล่ะครับ 

ตอนนั้นเรายังเด็ก ผมก็พยายามแอ็คว่าผมเนี่ย เชี่ยวชาญทางด้านดนตรี แล้วผมก็แอบมาซุ่มทำ ซึ่งตอนที่แอบทำเพลง “อาลัยเธอ” ผมก็ทำเพลง “ลืม” ออกมาด้วย เสน่ห์ของเพลง ผมว่ามันเป็นการแต่งโดยธรรมชาติ ผมกับเบิร์ดเราไม่ใช่นักแต่งเพลงอาชีพ เรารู้สึกอย่างไร มันก็ออกมาอย่างนั้น

อย่างเพลง “อาลัยเธอ” นี่ก็มีทำนองไทยๆ นะ ไม่ได้ก๊อปใครด้วย เป็น Original เป็นดั้งเดิม แต่อิทธิพลเนี่ย ผมเชื่อว่าเบิร์ดได้มาจากเพลงไทย เช่นสุนทราภรณ์ แล้วก็ได้ "พี่ติ่ง" คนที่เขียนเพลงนี้ เขียนเนื้อลงไป

 

พี่เบิร์ด : คือในตอนนั้น ฮาร์ทเองมีวงอยู่แล้ว แล้วพอเราจะซ้อมด้วย ก็ให้ไปแกะเพลงกัน ผมก็แกะไม่เคยได้ เพราะจริงๆ แล้ว เล่นกีต้าร์ก็ไม่ได้เก่งเพียงพอจะแกะเพลง แล้วตอนนั้นก็นั่งเล่นที่บ้านอยู่กับพี่ติ่ง ซึ่งพี่ติ่งเป็นคนที่แต่งเพลงเร็ว และมีสิ่งที่เรียกว่าสัมผัสในเพลง คือ "กลอนแปด" ซึ่งตอนนั้นผมก็ไม่รู้ว่าคืออะไร

 

พี่ฮาร์ท : พี่ติ่งเป็นคนที่มีศิลปะ เจ้าบทเจ้ากลอน

พี่เบิร์ด: เพราะฉะนั้นเนี่ย ตอนแต่งเพลงจะบอกว่าผมแต่งเนื้อใช่ไหม ไม่ใช่ .. “ผมแต่งทำนอง” เช่น (ฮัมเมโลดี้เพลง อาลัยเธอ) พี่เค้าก็จะเขียนขึ้นมา “เปล่าเปลี่ยวดวงใจอาลัยเธอ” คือ พอผมบอกโน้ตปั๊บ เค้าก็ต่อเนื้อเลย แล้วเนื้อเพลงจะสัมผัสง่ายมาก

พี่ฮาร์ท: อย่างเพลง “ลืม” เนี่ย มันขึ้นต้นด้วยโน้ตอย่างนี้ (เล่นกีตาร์ทำนองเพลง ลืม) อย่างโน้ตตอนขึ้นเนี่ย ผมได้มาจากเพลงของ Barry Manilow

พี่เบิร์ด : อ๋อ เหรอ! ไม่เคยรู้มาก่อน!

พี่ฮาร์ท: เราจำชื่อเพลงไม่ได้แล้ว แต่มันมีเพลงนึงที่ขึ้นต้นแบบนี้ .. if you ติ๊ด ตี ติ๊ด ตี่ .. ผมชอบโน้ตตรงนี้ แล้วก็ลองนึกว่าใส่คำว่าอะไรดี ก็ลองเป็น “ลืมแล้วใยเจ้าเอย

พี่เบิร์ด: นายเคยบอกเราว่ามันเป็น Pentatonic มันคืออะไร?

พี่ฮาร์ท: อันนี้เรากำลังจะเข้าไปสู่โลกของดนตรีแล้วนะครับ Pentatonic .. Penta หรือ เบญจ เนี่ย มันเป็นคำโบราณ แปลว่า “ห้า” สมัยก่อนดนตรีโบราณจะมีอยู่ 5 โน้ต (โน้ตตามหลักสากลมี 7 โน้ต : ผู้เขียน) แล้วเราก็เจอแบบนี้ในเพลงไทย

พี่เบิร์ด: เพลงไทยๆ ส่วนมากมี 5 โน้ตที่วนไปวนมา

พี่ฮาร์ท: ส่วนคำว่า “ลืม” ใน “ลืมแล้วใยเจ้าเอย” เนี่ย สมัยผมเด็กๆ ราวๆ 4-5 ขวบมั้ง ผมเคยไปดูหนังไทยอยู่เรื่องหนึ่ง เรื่อง “กลัวเมีย” พระเอกคือ สมบัติ นางเอกคือ อรัญญา แล้วก็มีคุณ รุจ รณภพ เล่นด้วย ในหนังเรื่องนั้นเนี่ย สมบัติเค้าร้องเพลงท้ายเรื่องซึ่ง เพราะมาก เราไม่รู้ชื่อเพลงอะไรนะ แต่ร้องว่า “ลืม ลืมแล้วหรือเจ้าเอย ที่เราเคย..” ทั้งหมดทั้งปวงผมก็เลยเอามาแต่งเป็นเพลง “ลืม

พี่เบิร์ด : อยู่ด้วยกันมา 30 ปี ผมก็ไม่เคยรู้นะเนี่ย

พี่ฮาร์ท: มันจะมีคอร์ดที่เป็นทางผ่านเพราะๆ ผมว่าผมได้อิทธพลมาจากวง The Impossible ลองฟังเพลงจูบฟ้าลาดิน” เป็นเพลงที่ผมฟังตั้งแต่เด็ก เราว่ามันโดยจิตใต้สำนึกทำให้เราได้เพลงลืม มาจากเพลงจูบฟ้าลาดิน  (แล้วก็เล่นกีต้าร์สองเพลงเทียบเคียงกัน)

พี่เบิร์ด: นี่ก็เพิ่งได้ยินเป็นครั้งแรกเรื่องรายละเอียดของเนื้อ ทำนอง และ passing chord เนี่ย มีที่มาที่ไปยังไง สมัยก่อนไม่เคยเล่านี่เนอะ

พี่ฮาร์ท: อาจจะเพราะสมัยโน้นเรายังเด็กๆ เรามีอะไรเราก็เก็บไว้ เหมือนเราหวงของน่ะ ตอนนี้อายุมากแล้ว 50 แล้ว จะปิดบังทำไม ก็บอกไปเลย คือไม่ใช่อะไร ต่อไปอาจจะลืม ก็เลยบอกให้น้องบันทึกไว้ตอนนี้ดีกว่า (ฮา)

พี่เบิร์ด: ต้องถือว่าเพลง “ลืม” ใน 30 ปีของเบิร์ดกะฮาร์ทเนี่ย เป็นเพลงที่คลาสสิกที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะไปร้องที่ไหน ทุกคนจะรู้จักเพลงนี้ แล้วบอกว่าเพลงนี้ “เพราะ” แล้วเนื้อก็ง่ายๆ ตรงๆ แล้วเนื้อก็ Universal มาก คือไม่ว่าโดยเหตุผลอะไรที่สองคนต้องจากกันเนี่ย คำพูดเหล่านี้ “โดน” เสมอ .. “ลืมแล้วใย?” นี่ลืมแล้วเหรอ / “เขามีดีที่ไหน” นี่แบบ อื้อหือ คือแบบเค้าดีกว่าเราตรงไหนล่ะ? คือทุกคนที่อกหักแล้วมีบุคคลที่ 3 เข้ามาต้องมีประโยคนี้ในใจ “แล้วเค้ามีดีที่ไหนเหรอ(วะ)” ทำไมถึงต้องมาทิ้งชั้น

 

 

พี่ฮาร์ท: เบิร์ดเนี่ย เคยเอาเพลงที่เค้าเริ่มแต่งมาให้ฟัง ประมาณ 3 เพลง ผมฟังแล้วรู้สึกว่า เพลงนี้ เริ่มต้นดี แต่ไปไม่ถูก หาจุดหมายไม่เจอ แล้วผมก็ต้องมาแต่งท่อนหลัง เพื่อให้เพลงสมบูรณ์ ตัวอย่างเช่นเ เพลง “ฝน” เบิร์ดมาเล่นทำนองให้ผมฟัง มีแต่ทำนองนะ ไม่มีเนื้อ

คือทำนองมันจะไม่พีค ผมก็เลยมาทำเพิ่มตรงท่อนแยก ซึ่งเป็นทำนองที่สวยขึ้น แต่ก็ยังไม่มีเนื้อร้องอยู่ดี ก็นานเหมือนกันนะ จากนั้นเราก็เอาเพลงนี้ไปให้เพื่อนรุ่นพี่คนนึงฟัง พี่เค้าชื่อ "พี่แดง" ซึ่งปัจจุบันเป็นอธิบดีกรมอาเซียน อยู่กระทรวงการต่างประเทศ  ชื่อ จักรกฤษณ์ ศรีวลี

พี่เบิร์ด: เพลงไทยนะ ถ้าทำนองมาก่อน แล้วต้องแต่งเนื้อใส่ลงไป ภาษาไทยเค้าเรียกว่า “โคตรยาก 555” มันยากมาก

พี่ฮาร์ท: พี่แดงเล่าให้ฟังว่า เพลง”ฝน” เนี่ย พอเค้าเริ่มด้วยคำว่า “อยากจะลืม ใครซักคน” พี่แดงเค้าพูดเลยว่า “The rest is just take care itself” ก็แปลว่า “ที่เหลือเนี่ย มันมาเองเลย” เรื่องราวต่างๆ ที่คนฟังแล้วรู้สึกว่ามันช่างสละสลวย มันช่างลงตัว มันเกิดขึ้นแทบจะอัตโนมัติเลย

แล้วโดยเฉพาะท่อนแยกเนี่ย ตามทำนองที่เราแต่งเป๊ะเลย ไม่มีบิดอะไรเลย “เหลือแต่ความขื่นขมระทมเมื่อลมพายุหอบฝนมา” มันเป๊ะมากๆ เลย

พี่เบิร์ด: เรารู้สึกว่าบางคำมัน genius มากเลย “รู้เป็นเพียงอากาศ แต่ไม่อาจห้ามใจ” คือรู้นะ ก็ฝนตกเนี่ย มันก็เป็นเพียงอากาศนะ แต่เราน่ะ ไม่อาจจะห้ามใจ คือพี่แดงแต่งได้ลงตัวมาก แล้วลงตัวแบบทั่วๆ ไป คือทุกคนรู้ว่าหนาว แต่หนาวแล้วทำไมต้องคิดถึงเธอล่ะ คือทุกคนสามารถรู้สึกได้

พี่ฮาร์ท: เอาเพลงอื่นบ้าง เพลงนี้พวกเราไม่ได้แต่ง เราได้ยินเพลงนี้ครั้งแรกจากเทปคาสเซ็ทที่เพื่อนผมชื่อโจ๋เอามาให้ผมฟัง โจ๋บอกว่าเพลงนี้ญาติเค้าแต่ง ผมฟังในเทปนะ ประมาณนี้ ... (ร้องเพลงห่างไกล) ผมฟังครั้งแรกรู้สึกว่าเพลงนี้เพราะ ไม่มีชื่อเพลงนะ แต่มันชัดเจนนะว่าต้องเป็น “ห่างไกล

พี่เบิร์ด: ถ้าดูชื่อเพลงของพวกเรานะ จะเห็นว่าชื่อเพลงมันจะซ้ำๆ เพราะตอนที่เราเข้าห้องอัด ก็ไม่มีชื่อเพลงหรอก แล้วจะชื่อเพลงอะไร .. “ห่างไกลกายห่างไปใจถึงเธอ” ก็ชื่อเพลง “ห่างไกล” /  “ลืมแล้วใยเจ้าเอย” เพลงอะไร ก็เพลง “ลืม

พี่เบิร์ด: หลายเพลงของเบิร์ดกะฮาร์ทที่คนชื่นชอบกัน เราไม่ได้แต่งเอง แต่ต้องยอมรับว่าเพลงเหล่านั้นถูกฮาร์ท “มองเห็น” ว่าจะเป็นเพลงที่ดี เช่นเพลง “ห่างไกล” ส่วนเพลง “ไม่ลืม” เนี่ย เอ้อ แปลกมากเลย ค้นจดหมายเจอจดหมายที่น้องปูเขียนมา

พี่ฮาร์ท: “ไม่ลืม” มีที่มาอย่างนี้ครับ ตอนที่ผมกับเบิร์ดกลับมาเมืองไทยตอนปี 2528 ตอนนั้นยังไม่ออกเทปเลย ยังไม่มีใครรู้จักเรา ยังไม่มีใครรู้จักเบิร์ดกะฮาร์ท แม้กระทั่งผมสองคนเอง ฮาๆๆๆ

ตอนนั้นผมสองคนกลับมาเมืองไทย พร้อมด้วยเพลง 3 เพลง มี Susan Joan, อาลัยเธอ และเพลง ลืม ผมทำมาเป็นเดโมเตรียมที่จะเอามาเสนอกับบริษัทค่ายเทปในยุคนั้น

ในระหว่างนี้ผมก็ได้พบกับ “น้องปู” ก็คือคนแต่งเพลง “ไม่ลืม” คือคุณพ่อคุณแม่น้องปูกับคุณพ่อคุณแม่ผมรู้จักกัน นับถือกัน พอปูทราบว่า ผมกับเบิร์ดมีเพลง ปูก็บอกว่า “หนูก็แต่งเพลงนะ” แล้วเค้าก็เล่นให้ฟังแบบเสียงผู้หญิง เบาๆ  ผมฟังแล้วรู้สึกว่าเพลงนี้มันเศร้าๆ นะ มันเพราะ “น่าจะดัง

พี่เบิร์ด: นายรู้สึกเลยเหรอ?

พี่ฮาร์ท: ใช่ เรารู้สึกเลยว่ามันต้องดัง เพราะมันเศร้า คนไทยชอบฟังเพลงเศร้า มีท่วงทำนองที่น่าจะถูกใจคนไทย แต่ท่อนแยกผมรู้สึกว่า มันยังไม่ใช่ ผมก็เลยเอามาดัดนิดหน่อย แต่เสียดายยุคนั้นไม่ได้อัดไว้ว่าต้นฉบับเป็นยังไง แต่ผมจำได้ว่าผมเอามาบิดช่วงกลางๆ หน่อย

ซึ่งตอนหลังที่เพลง 3 เพลงได้รับความนิยม ผมได้ถูกเชิญไปออกรายการวิทยุ เป็นรายการสด ก็ไปนั่งสัมภาษณ์ คนฟังก็ได้ยินแต่เสียงแต่ไม่เห็นหน้าตา ก็คงจินตนาการไปว่าเด็กเมืองนอกสงสัยจะ สูง ขาว หล่อ จิบไวน์ เล่นสกี ขับพอร์ซ อะไรอย่างนี้ (ฮา)

วันนั้นเราก็เล่น 3 เพลง ลืม, อาลัยเธอ แล้วก็ Susan Joan ในแบบ Acoustic ให้แฟนๆ รายการได้ฟัง แล้วเราก็เล่นเพลง “ไม่ลืม” แถมไปด้วย คือนั้นเราเปิดตัวเพลง “ไม่ลืม” เป็นครั้งแรก แล้วเล่นครั้งนั้นครั้งเดียวเลย แล้วหลังจากนั้นซัก 2-3 สัปดาห์  ผมกับเบิร์ดก็ถูกเชิญไปขึ้นเวทีคอนเสิร์ตสดๆ แสดงต่อหน้า 3,000 คนเป็นครั้งแรกในชีวิตของเรา 2 คน

พี่เบิร์ด: คือที่คอนเสิร์ตของไนท์สปอต เค้าก็ต้องมีการเปลี่ยนวงอยู่แล้วล่ะ เราก็ไม่ได้เป็นไฮไลต์อะไร คือตอนเปลี่ยนวงระหว่างพี่เอก ธเนศ กับพี่ป้อม อัสนี ที่ต้องเปลี่ยนกันเนี่ย เค้าปิดม่าน แล้วให้ผมกับฮาร์ทไปยืนอยู่หน้าม่านแล้วก็ร้องเพลง ตอนที่ร้อง เราไม่มีเทปออก แล้วก่อนร้องก็ได้ยินเสียงตะโกนกัน “เบิร์ดกะฮาร์ท เบิร์ดกะฮาร์ท เบิร์ดกะฮาร์ท”  ผมจำได้ ฮาร์ทบอกว่า “จะเป็นลม!

พอออกไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราเล่นเพลง 4 เพลงซึ่งหนึ่งเพลงในนั้นคือ “ไม่ลืม” เคยเล่นออกอากาศครั้งเดียว คนในห้องนั้น 3,000 คน ร้องตามกันหมดเลย!

พี่ฮาร์ท: จังหวะของเบิร์ดกะฮาร์ทนี่ค่อนข้างแปลก คือตอนนั้นไนท์สปอตจะออกเทปให้เรา แต่ก็ไม่มีพี่เลี้ยงให้เรา งั้นนายเอาไปทำเองก็แล้วกัน เพราะตอนนั้นพวกผมไม่ได้อยู่เมืองไทย สมมุติว่าตอนนั้นพวกผมอยู่เมืองไทย คงถูกมอบหมายให้โปรดิวเซอร์มือฉมังมาดูแล แต่บังเอิญพวกผมเป็นโชคดีในโชคร้าย โชคร้ายก็คือผมกับเบิร์ดเข้าห้องอัดที่เมืองไทยไม่ได้ เพราะต้องกลับไปเรียน ทางไนท์สปอตก็เลยให้เงินมาหนึ่งก้อน ผมยังจำตัวเลขได้คือ 8,500 เหรียญ เป็นค่าเงินไทยในยุคนั้นก็ประมาณ แสนเจ็ด ซึ่งถือว่าไม่เยอะนะ

พี่เบิร์ด: ที่เมืองนอก ที่ถนนที่เราอยู่จะมี Studio อยู่ใกล้ๆ ซึ่งวันที่เราเข้าไป เจ้าของที่ชื่อไมเคิล ตัวใหญ่ๆ เครายาวๆ ซึ่งฮาร์ทก็บอกว่า เรามีเงิน 8,500 เหรียญ จะทำเพลง ซึ่งอารมณ์นั้นเราคิดว่าเรามีเงินเยอะมาก เรามั่นใจมากว่าเงินมันเยอะ

พี่ฮาร์ท: นี่แสดงให้เห็นถึงความละอ่อน ไร้เดียงสาของเบิร์ดกะฮาร์ท ถ้าเทียบสมัยนี้ก็คงประมาณว่า “ไมเคิล เรามีเงินห้าพันบาท ทำอะไรให้เราได้บ้าง"”ฮาๆๆๆๆ

พี่เบิร์ด: แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือในห้องอัดเสียงในตอนนั้น มีวงดนตรีที่เป็นเด็กปั้นของ Prince ชื่อ Vanity เป็นผู้หญิงที่สวยมาก มาใช้ห้องอัดเสียงอยู่ ไมเคิลก็บอกว่า เงินน้อยมาก แต่ถ้าจะอัดเสียงก็ต้องอัดตอนเที่ยงคืนถึง 8 โมงเช้า และให้เวลา 7 วัน ให้อัด Raw Track ให้เสร็จภายใน 4 วัน แล้วอีก 3 วันคือ Overdub ซึ่งเราก็เพิ่งรู้ขั้นตอนการทำงานอัดเสียงก็ตอนนั้นแหละ

พี่ฮาร์ท: คือไมเคิลบอกว่าห้องอัดโดนล๊อกไว้ 10 วัน ไม่มีใครมาแทรกได้ แต่พวกนักดนตรีเหล่านี้ทำงานเฉพาะกลางวัน กลางคืนก็ไปนอน เพราะฉะนั้น ช่วงกลางคืนก็เข้ามาอัดเสียงได้ เจ้าของสตูดิโอนี่หัวใสนะ (ฮาฮา)

ตอนแรกก็ลงเป็น Basic Track ก่อน เปียโน กีต้าร์ อันไหนผมเล่นได้ผมก็เล่น แล้วหลังจากนั้นเค้าก็อาศัยนักดนตรีของ Vanity ในช่วงที่พัก ก็สะกิดนักดนตรีบอกว่า ..

พี่เบิร์ด: นี่ๆๆ ไมเคิลบอกอย่างนี้ เราจำได้ ไมเคิลบอกนักดนตรีว่า ถ้ายูไม่เล่นให้พวกสองคนนี้ ยูต้องรื้อของออก แล้วตอนเช้ามาเซ็ตใหม่ 

พี่ฮาร์ท: โห อย่างนั้นเลยเหรอ เขี้ยวมากๆ

พี่เบิร์ด: คือถ้าต้องรื้อของเนี่ย นักดนตรียอมเล่นให้เราดีกว่า (การเซ็ตเครื่องดนตรีในห้องอัดเสียง เป็นงานยากมากๆ : ผู้เขียน)


พี่ฮาร์ท: คนที่มาเพิ่มสีสันด้านดนตรีให้เบิร์ดกะฮาร์ท ต้องยกความดีความชอบให้กับนักดนตรีเหล่านี้ โดยมิสเตอร์ ไมเคิล คลอสัน เป็นคนบันดาลให้มันเกิดขึ้น คนแรกที่ผมต้องเอ่ยชื่อคือ Tommy Faragher ซึ่งเป็นนักเรียบเรียงเพลง เป็นโปรดิวเซอร์ และเล่นคีย์บอร์ดได้เก่งมาก Tommy ได้ใส่สีสันของเสียง String ในเพลง “ไม่ลืม” ซึ่งถ้าไม่มีคุณ Tommy เพลงไม่ลืมคงเป็นแค่กีตาร์โปร่ง ไม่เพราะอย่างที่ได้ยินทุกวันนี้

พี่เบิร์ด: การที่มี Tommy อยู่ทำให้เพลงที่ไม่มีสีสันเป็นเพลงที่ดีขึ้นมาได้ เค้าใช้คีย์บอร์ด 7-8 ตัวสร้างเสียง 1 เสียงขึ้นมา ซึ่งถ้าสมัยนี้ก็กดแป๊บเดียวก็ได้แล้ว แต่สมัยนั้นทำยากมาก ถ้านักดนตรีได้อ่านอยู่นะครับ จะยกตัวอย่างว่า อย่าง “มิ้น” มือเบสวง ETC เจอผมทีไรก็จะถามว่า เพลง”ห่างไกล” ที่ตอนท้ายของเพลง มีการ "ตบเบส" ซึ่งตอนนั้นมือเบสทั่วประเทศไทยพยายามจะแกะกัน มันเล่นกันยังไง

พี่ฮาร์ท: คนเล่นเบสคนนี้ชื่อ ลูอิส ลูอิส ซึ่งไม่ได้โด่งดังอะไร แต่เล่นเก่ง เล่นดี และเราได้มือ Percussion ที่เล่นให้กับ Michael Jackson , Earth Wind and Fire ชื่อ Paulinho da Costa คนนี้ก็ถูกจ้างมาเล่นให้ Vanity แล้วมาเล่นให้เราด้วย ซึ่งเค้าไม่เคยฟังเพลงเรามาก่อน แต่เค้ามีเวลาน้อย เค้าก็ฟังแค่ไม่กี่ท่อน แล้วก็บอกว่า “อัดเลย” เทคเดียวผ่าน เจ๋งมาก

ทั้งหมดทั้งปวง ผมว่าทำให้ผลงานของเบิร์ดกะฮาร์ท “เบิร์ดกะฮาร์ท” ไม่เหมือนใครในตลาดยุคนั้น และทำให้เพราะมาจนถึงทุกวันนี้ครับ

ฟังคลิปสัมภาษณ์ เบิร์ด กะ ฮาร์ท 1/7

ฟังคลิปสัมภาษณ์ เบิร์ด กะ ฮาร์ท 2/7

ฟังคลิปสัมภาษณ์ เบิร์ด กะ ฮาร์ท 3/7

ฟังคลิปสัมภาษณ์ เบิร์ด กะ ฮาร์ท 4/7

ฟังคลิปสัมภาษณ์ เบิร์ด กะ ฮาร์ท 5/7

ฟังคลิปสัมภาษณ์ เบิร์ด กะ ฮาร์ท 6/7

ฟังคลิปสัมภาษณ์ เบิร์ด กะ ฮาร์ท 7/7

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook