ยุค 90 ดีจริงหรือ ถึงมีแต่คนอยากกลับไปสัมผัสยุคนั้นอีก
ช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมาเจอบ่อยมากครับ ทั้งบนเฟซบุ๊ก บนเว็บดังต่างๆ หรือแม้แต่สเตตัสของบางคนที่ร่ำร้อง เรียกหาอยากกลับไปสู่ยุค90 พร้อมกับพรรณนาว่ายุคนั้นดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ ซึ่งผมก็เห็นด้วยว่ายุค90 มีสิ่งดีๆที่น่าจดจำและเป็นประวัติศาสตร์มากมาย นับเฉพาะเรื่องดนตรีก็มีอุบัติการณ์ของดนตรีอัลเทอร์เนทีฟและกรันจ์ร็อคที่เขย่าวงการเพลงโลกจนสะเทือนมาแล้ว ดีวีดีเริ่มเป็นที่แพร่หลาย และหากรวมทั้งเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นในบ้านเรา โดยเฉพาะคอนเสิร์ต แทบจะเรียกได้ว่ามีคอนเสิร์ตจากต่างประเทศมาให้ดูกันมากมายเป็นประวัติการณ์ ไม่ว่าจะเป็น Bon Jovi, Skid Row, Def Leppard, Phil Collins, Radiohead, Manic Street Preachers, America, Santana, John Denver และอีกมากมายจนจำไม่ไหว
แต่ถ้ามองอย่างเป็นธรรม ไม่ยึดติดกับความชอบส่วนตัวหรือปรากฏการณ์ใดๆ จะเห็นว่าแต่ละทศวรรษตั้งแต่ยุค 60 เรื่อยมาจนถึง 90 ต่างก็มีเรื่องราวและปรากฏการณ์ที่น่าจดจำ ประทับใจ และฝังใจอยู่เสมอ ในวงการดนตรีก็พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จากยุคที่ฟังแต่แผ่นเสียงกับเทปคาสเสตต์ผิดกฎหมาย (เทปผี) ก้าวมาสู่ยุคเทปลิขสิทธิ์ วิดีโอเทป เลเซอร์ ดิสก์ แล้วยังมีซีดีเป็นตัวเลือกเพิ่ม ก้าวมาถึงไฟล์เพลง MP3 วีซีดี ดีวีดี เอสเอซีดี อีกหลายต่อหลายอย่าง เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคชนิดที่ไม่ต้องบ่นว่าหาฟังเพลงยากอีกต่อไป แต่ผลของความหลายหลากนี่เอง กลับปลูกฝังนิสัยขี้เกียจและขี้เหนียวให้กับคนฟังเพลงส่วนหนึ่ง กลุ่มที่บอกว่ารักเสียงเพลง ชอบดนตรี แต่ไม่ซื้อซีดีฟัง ไม่ดูคอนเสิร์ต ไม่ติดตามแวดวงดนตรี แต่ดาวน์โหลดเพลงฟัง นี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แวดวงเพลงสากลบ้านเราไม่เติบโตอย่างที่ควรจะเป็น อีกทั้งภูมิความรู้ของคนฟังเพลงก็ค่อยๆน้อยลง ล้าหลังขึ้น
ขณะที่ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง ผู้บริโภค หรือคนฟังเพลงส่วนหนึ่ง ตลอดจนคนในวงการเพลงกลับไม่ค่อยพัฒนา ซ้ำร้ายบางคนถึงกับหยุดอยู่กับที่ไปเลย ยกตัวอย่าง ดีเจที่เปิดเพลงตามสถานีวิทยุครับ ยุค 70 ถึงต้นยุค 80 ดีเจบ้านเราเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อคนฟังเพลงมากที่สุด คนฟังเพลงจะได้ฟังเพลงใหม่ เพลงฮิต เพลงที่มีแววดัง หรือเพลงดังอมตะล้วนมาจากดีเจทั้งสิ้น นอกจากนี้ พวกเขายังเป็นเจ้าของรายการเอง วิ่งหาซื้อเวลาตามสถานีวิทยุ วิ่งหาสปอนเซอร์ ทำเพลงจิงเกิลให้สปอนเซอร์ สั่งซื้อแผ่นจากต่างประเทศมาเปิด ให้ความรู้เกี่ยวเพลงที่เปิด ฯลฯ ซึ่งถ้าเทียบกับดีเจส่วนหนึ่งในยุค90 จนถึงปัจจุบัน ช่างแตกต่างกันมากเหลือเกิน ดีเจยุค 90 เหนือกว่าอย่างเดียวคือ ภาษาอังกฤษดีกว่า แต่เซนส์ในเรื่องเพลง ความรู้รอบตัวมีน้อยมาก จะเห็นว่ารายการเพลงยุค 90 เป็นต้นมา ค่ายเพลงจะทำแผ่นแจกแล้วกำหนดเพลย์ลิสต์ให้ แล้วดีเจไปเปิด พูดเกี่ยวกับเพลงที่เปิดน้อยมาก ยิ่งถ้าค่ายเพลงไม่แนบประวัติศิลปินมาให้ พวกเขาก็แทบจะไม่ขวยขวายทำการบ้านกันเลย จุดนี้ยังผลให้คนฟังเพลงในยุค 90 ส่วนหนึ่งต้องหาเพลงฟังเอง ค้นหาข้อมูลกันเอง จนบางคนฟังเพลงและรอบรู้กว่าดีเจด้วยซ้ำไป และยากที่สุดก็คือ ดีเจแบบยุค 70 คงหาไม่ได้อีกแล้วในยุคนี้
กลับมาที่กรณียุคนั้นยุคนี้ ยุคไหนดีกว่ากัน หรือยุคนี้ดีที่สุดใช่ไหม
คำตอบที่ชัดเจนคงไม่มีหรอกครับ มันอยู่ที่ว่าใครเกิดยุคไหน แล้วซึมซับสิ่งสำคัญหรือมีค่าในยุคของตนเองได้ขนาดไหน ยุค 90 ที่เป็นประเด็นก็ไม่ได้หมายความว่าคนเกิดในทศวรรษที่ 90 เป็นคนยุค 90 นะครับ การที่เราจะบอกว่าเราเป็นคนยุคไหนได้ หมายถึงเราต้องรับรู้และจดจำสิ่งต่างๆหรือปรากฏการณ์ในยุคที่เราเติบโตมากับมันได้อย่างละเอียดแม่นยำ ยกตัวอย่าง คนที่รู้จัก Nirvana ได้ดีและเข้าถึงได้มากที่สุดก็คือคนที่โตมาจากยุค 80 ฟังเพลงร็อคสากล อายุระหว่าง 10-20 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่สมองยังจำจดสิ่งดีๆได้อีกมากมาย ซึมซับได้เร็ว และยังไม่มีข้อมูลให้เปรียบเทียบมากนัก ซึ่งต่างจากคนที่เกิดทีหลัง แล้วย้อนกลับไปฟัง Nirvana เขาอาจจะเข้าถึงดนตรี เข้าใจความคิดของวง แต่สิ่งที่ขาดไปก็คือ อารมณ์ร่วมแห่งยุคสมัย ส่วนคนที่เติบโตมากับ Nirvana เมื่อฟังเพลงของวงนี้ เพลงของ Pearl Jam, Alice in Chains, Soundgarden หรือ Mudhoney จะหลั่งไหลมาเองจากความทรงจำโดยอัตโนมัติ ผมเชื่อว่านักดนตรีในปัจจุบันส่วนหนึ่งตัดสินใจเล่นดนตรีเพราะฟังเพลงของ Nirvana เป็นครั้งแรกในชีวิต แล้วไฟก็ปะทุทันที
ไม่จำเป็นต้องถกเถียงหรือเกทับกันหรอกครับ เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นคนในยุคใด คุณก็มีเหตุการณ์ที่น่าภูมิใจและจดจำในยุคของคุณอยู่แล้ว และคุณเท่านั้นที่สามารถอธิบายสิ่งเหล่านั้นให้คนยุคก่อนหน้าหรือหลังจากยุคของคุณให้เข้าใจถึงเสน่ห์และความยิ่งใหญ่ของมันได้ ความสุขที่แท้จริงก็คือ การได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละคน แต่ละยุค แนะนำสิ่งที่ดีให้กันและกัน คิดถึงยุคที่ตัวเองโตมา ก็รู้สึกน้อยใจนิดๆ เพราะยุคนั้นมีแต่แผ่นเสียงกับเทปผีให้ฟัง มีเทป 8 แทร็กที่ฟังกับรถยนต์ แต่มันไม่แพร่หลายนัก ความรู้เกี่ยวกับเพลงก็ต้องหาอ่านจากนิตยสารดนตรีที่มีอยู่น้อยนิดคือ I.S. Song Hit กับ Starpic โชคดีอย่างเดียวคือ มีรายการเพลงสากลทางวิทยุให้ฟังมากมาย ดีเจแต่ละคนล้วนมีประสบการณ์และมีความรู้เรื่องเพลงสากลอย่างมาก 3 คนที่จดจำชื่อได้แม่นยำก็คือ คุณวิฑูรย์ วทัญญู คุณวิโรจน์ ควันธรรม และ คุณประเสริฐ พงษ์ธนานิกร ที่ช่วยเพิ่มพูนความรู้และแนะนำให้รู้จักกับเพลงอีกหลายหลากสไตล์ในสมัยนั้น
ขอให้สนุกกับเพลงครับ อย่ายึดติดกับยุคสมัย แต่ควรภูมิใจกับยุคที่เราเติบโตมากับมันนะครับ
____________________________
สั้นๆเกี่ยวกับผู้เขียน
นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี2545-2548
ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Record Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน