Music Day 2016 วันของคนรักเสียงเพลง โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

Music Day 2016 วันของคนรักเสียงเพลง โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

Music Day 2016 วันของคนรักเสียงเพลง โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คนฟังเพลงและสนใจวงการดนตรีต่างประเทศน่าจะเคยผ่านตาวัน Music Day ที่เป็นเทศกาลเกี่ยวกับการแสดงดนตรีที่เปิดให้ชมฟรี ซึ่งจัดปีละครั้งในวันที่ 21 มิ.ย. ของทุกปี อันเป็นช่วงหน้าร้อนของประเทศแถบตะวันตก

ปีนี้เป็นปีที่ 34 นับแต่มี Music Day ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อปี1982 ที่ประเทศฝรั่งเศส นับแต่นั้นก็จัดขึ้นทุกปีจนเป็นประเพณีไปแล้ว กระทั่งปี2013 เปลี่ยนเจ้าภาพมาเป็นประเทศอังกฤษ

Music Day เป็นเทศกาลดนตรีสาธารณะที่ไม่เก็บค่าชม จัดขึ้นทั่วโลกราว 120 ประเทศกว่า 700 เมืองทั่วโลก นอกเหนือไปจากประเทศฝรั่งเศสผู้ริเริ่ม ในเฟซบุ๊ก National Music Day มีรายละเอียดและไทม์ไลน์ ตลอดจนไลน์อัปในวันที่ 21 มิ.ย.ให้ดูค่อนข้างละเอียด นอกจากนี้ที่ เว็บไซต์ musicday.org.uk ยังมีแบบฟอร์มให้กรอกเพื่อแสดงความจำนงเข้าร่วมจัดงาน หรือเป็นวงดนตรีที่แสดงความประสงค์จะเข้าร่วมงานอีกด้วย ซึ่งเท่าที่ผ่านมา ดูเหมือนจะไม่มีเมืองหรือประเทศใดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เคยจัดงานทำนองนี้เลย ส่วนในยุโรปและอเมริกามีกันทุกปีอย่างแพร่หลาย

ความแตกต่างระหว่างการแสดงดนตรีใน Music Day กับการแสดงในเทศกาลดนตรีอย่างเป็นทางการต่างๆมีหลายข้อ อย่างแรกเลย Music Day ไม่มีค่าใช้จ่าย วงที่มาเล่น มาด้วยความสมัครใจ เล่นโดยไม่คิดค่าแรง แต่ถ้ามีสปอนเซอร์ช่วยก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง นอกจากนี้วงเกือบทั้งหมดเป็นวงกึ่งอาชีพ ไม่มีต้นสังกัด บริหารจัดการการเงินและธุรการต่างๆกันเอง ซึ่งต้องใช้ความรับผิดชอบสูง นักดนตรีจึงต้องทำหน้าที่หลายอย่างนอกไปจากเล่นดนตรีด้วย

 

Berlin Celebrates 'Fete de la Musique'

 

ในบ้านเรามีงานที่ลักษณะใกล้เคียงกันก็มีอย่างงาน FAT แต่นั่นก็ไม่ใช่งานฟรีแบบ Music Day แต่ผลงานของงาน FAT ก็คือ มีศิลปินหลายรูปแบบ ตั้งแต่สมัครเล่น อินดีฯ กึ่งอาชีพ ไปจนถึงอาชีพระดับบิกเนมให้ผู้ชมได้เลือกกันอย่างจุใจ ส่วน Music Day เน้นรูปแบบสตรีตแบนด์ ไม่มีวงดัง ไม่มีวงอาชีพที่มีสังกัดแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ เป็นงานที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับคนรักดนตรี คนที่ชอบฟังเพลงในรูปแบบไลฟ์

ข้อเสียหรือข้อด้อยของงานแบบ Music Day ก็มี เนื่องจากเป็นงานดูฟรี จึงไม่มีบูธขายของที่เกี่ยวกับดนตรีเลย ส่วนนักดนตรีก็ไม่ได้มีสังกัด การนำผลงานของตนเองมาวางขายเพื่อโปรโมตเป็นอันเลิกคิดไป ทำให้งานที่เป็นธุรกิจมากกว่าได้เปรียบตรงที่มีดนตรีให้ฟังสดๆ ถ้าชอบก็สามารถหาซื้อซีดีผลงานของศิลปินรายนั้นได้ทันที เป็นผลดีทั้งทางตรงและทางอ้อมกับเจ้าของงาน ต้นสังกัด และคนซื้อครับ

บอกตรงๆว่าอยากให้บ้านเรามีงานแบบ Music Day บ้าง จะเอาฤกษ์วันที่ 21 มิ.ย.อย่างต่างประเทศได้ยิ่งดี เพราะจะได้ทราบกันโดยปริยายว่าวันนี้มีดนตรีให้ดูฟรีๆ มีผลต่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและวงการดนตรีบ้านเราด้วย วงดนตรีไร้สังกัด แต่มีฝีมือจะได้มีเวทีแสดงความสามารถกัน และแน่นอนว่าแมวมองจากค่ายเพลงก็ต้องมาเดินช็อปปิง หาวงที่มีแววเข้าสังกัดด้วย ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน เริ่มต้นจาก 0 แล้วค่อยๆขยับขยายไป

มันอาจจะเป็นเพียงภาพวาดในความฝันที่ยังไม่ทราบว่าจะเป็นจริงได้เมื่อไหร่ แต่เชื่อลึกๆว่าถ้าหลายองค์กรหรือหน่วยงานที่มีกำลังมากพอโดดเข้ามาริเริ่ม ทุกอย่างจะก้าวไปอย่างราบรื่น เพราะไม่ใช่การทำเพื่อหวังผลกำไร เป็นงานที่ทำด้วยใจรักและศรัทธา

 

Berlin Celebrates 'Fete de la Musique'

 

อันที่จริงเห็นค่ายเพลงเล็กๆแต่ใจใหญ่ในบ้านเราที่มีศักยภาพพอที่จะจัดอีเวนต์แบบนี้ได้ไม่ยากครับ ค่าย Classy Records กับ Summer Disc Music Label ที่มีผลงานศิลปินไทยออกสู่ตลาดมาแล้วในระดับหนึ่ง อย่างที่บอกว่าเป็นค่ายเพลงเล็ก แต่งานไม่เล็ก เพราะพวกเขาก้าวมาจากการเป็นคนในวงการ เป็นนักดนตรี เป็นคนแต่งเพลง ไม่ใช่อาเสี่ยที่ไหนที่เงินเหลือใช้ แล้วอยากเจียดเงินสักก้อนมาทำค่ายเพลงสนองความอยากตัวเอง แม้สองค่ายนี้จะแตกต่างกันชัดเจนในแง่ของงานที่ผลิตออกจำหน่าย แต่มีส่วนที่ตรงกันชัดเจนอยู่อย่าง นั่นก็คือ เป็นคนรักดนตรี ทำเพื่อคนรักดนตรี ไม่ได้มุ่งหวังผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ สถานภาพของทั้งสองค่ายจึงอยู่ในแบบพอเลี้ยงตัวได้ ผมรู้อุปนิสัยใจคอของเจ้าของค่ายทั้งสองดีว่า “เป็นนักเลง” พอสมควร นักเลงในแง่ของคนทำดนตรีครับ ใครที่ทำเพลงแบบเอามัน สนองตัณหาตัวเอง ไม่ต้องติดต่อไป แต่ถ้ามีฝีมือ ทำงานเป็น เขารู้ เขาจะติดต่อมาเอง พวกเขาหยิบยื่นโอกาสให้กับคนที่มีความสามารถ ขยัน รับผิดชอบ และทำงานเป็นมืออาชีพครับ

Classy Records มีลักษณะการทำงานคล้ายสังกัด Rhino ของฝั่งอเมริกา เน้นออกงานของศิลปินที่เคยโด่งดังในอดีตและยังมีเขี้ยวเล็บและกลุ่มแฟนเหนียวแน่นอยู่ งานยังออกไปทางกลุ่มผู้ฟังผู้ใหญ่หน่อย หรือคนวัยทำงานที่มีรสนิยมฟังเพลงไทยทั่วๆไป ส่วนศิลปินหน้าใหม่ก็ปั้นด้วยความมั่นใจ เพราะเจ้าของเป็นคนดนตรีนั่นเอง

Summer Disc Music Label หลักการทำงานคล้ายสังกัดอินดีฯ อังกฤษ ที่เจ้าของเหมาทำเองหมดทุกอย่าง จะด้วยทุนต่ำ หรือไว้ใจใครไม่ได้ก็ไม่ทราบ แต่มันตอบโจทย์ได้ดีมาก เหตุผลง่ายๆ เจ้าของค่ายเป็นนักดนตรี เขาย่อมมองนักดนตรีด้วยกันออกว่าใครมีแวว ใครใช้ได้

สองค่ายนี้ผมมองว่าเป็นค่ายใหม่ไฟแรงที่มีอนาคต เพราะพวกเขาคลุกคลีกับวงการเพลงไทยและสากลมานานจนอยู่ในสายเลือด มีประสบการณ์กับการผลิตงานแบบตลาดเป็นหลัก เน้นยอดขายของค่ายใหญ่ๆ แต่งานไม่มีคุณภาพ ดังนั้น ถ้าจะมีใครที่สามารถตำหนิ หรือด่าวงการเพลงไทยยุคนี้ได้แบบตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม ก็มีเพียงสองคนนี้แหละครับ เพราะเขาจะไม่ทำในสิ่งที่เขาด่าอย่างเด็ดขาด หวังว่าคนฟังเพลงบ้านเราจะมองเห็นศักยภาพของสองค่ายนี้และอุดหนุนผลงานของพวกเขากัน เป็นค่ายเพลงที่ไม่ทราบว่าในรอบ 20-30 ปีข้างหน้าจะมีเกิดขึ้นให้เห็นอีกหรือเปล่า

คุยเรื่อง Music Day ไหงมาลงค่ายเพลงได้ก็ไม่รู้ หลายคนคงทราบแล้วว่าเจ้าของค่ายทั้งคู่เป็นใคร ส่วนใครยังไม่ทราบ แวะเข้าไปเยี่ยมเพจของทั้งสองค่ายดูครับ มีอะไรดีๆให้ค้นหามากมายเลย

 

 

ภาพประกอบจาก Gettyimages

____________________________

สั้นๆเกี่ยวกับผู้เขียน



นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี2545-2548

ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Record Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook