[Exclusive] 25 Hours กับเบื้องหลังเพลง “ไม่เคย” ที่ไม่มีใครรู้ | Sanook Music

[Exclusive] 25 Hours กับเบื้องหลังเพลง “ไม่เคย” ที่ไม่มีใครรู้

[Exclusive] 25 Hours กับเบื้องหลังเพลง “ไม่เคย” ที่ไม่มีใครรู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บ่ายโมงตรง เรามีนัดกับวงดนตรีเจ้าของเพลงฮิตประจำปี 2015 อย่าง ไม่เคย หรือเพลงที่ใครๆ ก็ร้องตามได้อย่าง “ยินดีที่ไม่รู้จัก” จากที่เรากำลังสงสัยว่าหนุ่มๆ ทานอาหารกลางวันกันหรือยัง เพราะวันนี้ทุกคนคงมีนัดสัมภาษณ์กับสื่อมากมาย แต่พอเปิดประตูเข้าไปแล้วพบภาพของกินเต็มโต๊ะ เราก็ต้องโล่งใจ ที่วันนี้บรรยากาศในการสัมภาษณ์คงเป็นกันเองกว่าที่คิด

แน่นอนว่าเราเปิดโอกาสให้สมาชิกในวงทานไปคุยไปได้ตามใจชอบ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่การสัมภาษณ์ในครั้งนี้คุยนานคุยเพลินจนเลยกำหนดเวลาเดิมไปมาก แต่หนุ่มๆ ก็ยังตอบคำถามของเราไปเรื่อยๆ โดยไม่มีท่าทีเบื่อหน่าย รวมไปถึงทีมงานคนอื่นๆ ที่ปล่อยให้เรายิงคำถามสารพัดโดยไม่ขัดจังหวะสักคำ แม้บางคำถามจะสุ่มเสี่ยงไปบ้างก็ตาม

 

25 Hours กับ 7 ปี 3 อัลบั้ม

แหลม : ก็เฉลี่ยอัลบั้มละ 2 ปีครึ่ง ก็ไม่ถี่มาก แต่ก็ไม่ได้ใช้เวลามากเกินไปเหมือนกันนะครับ เพราะออกอัลบั้มครั้งหนึ่ง ก็ทัวร์คอนเสิร์ตรอบหนึ่ง ระหว่างปล่อยอัลบั้มเต็มก็มีซิงเกิลพิเศษบ้าง ด้วยความที่เป็นอัลบั้มเต็ม เลยใช้เวลาคิด ตกผลึก เพื่อให้ออกมาเป็นเพลงเต็ม 1 อัลบั้ม เพราะในแต่ละอัลบั้มก็จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เราต้องก้าวไปข้างหน้า อัลบั้มหนึ่งก็บอกถึงยุคสมัยหนึ่งของวงเราว่า ช่วงนั้นเรากำลังคิดอะไรกันอยู่ เกิดอะไรขึ้นในชีวิตบ้าง มุมมองของพวกเราต่อตัวเอง หรือต่อโลกเป็นยังไง


ที่แต่ละอัลบั้มอาจจะใช้เวลานานหน่อย เพราะทุกเพลงที่เราแต่ง เป็นเพลงที่เราอยากนำเสนอทั้งหมด เราเลยใช้เวลาต่ออัลบั้มนานพอสมควร อัลบั้มหนึ่งอาจจะปล่อย 5-6 ซิงเกิล คงไม่ใช่แค่ได้เพลงโปรโมตแค่เพลงสองเพลง แล้วปิด จบอัลบั้มไป เรามี่ความรู้สึกว่าทุกเพลงในอัลบั้มมีความหมาย แต่ว่าระหว่างทางเราก็มีเพลงพิเศษ ทั้งเพลงที่ทำกับสินค้าตัวหนึ่ง หรือเพลงประกอบภาพยนตร์ต่างๆ อยู่เรื่อยๆ เป็นรอยต่อระหว่างอัลบั้มที่ทำให้พวกเราเองรู้สึกไม่เบื่อกับการที่ต้องอยู่โปรโมทอัลบั้มใดอัลบั้มหนึ่งไปนานๆ

 

แต่ยังไงก็ไม่คิดตัดใจจากการออก “อัลบั้ม” เต็ม

แหลม : เราเกิดมาในยุคที่ยังจับซีดีเป็นแผ่นๆ ฟังเพลงจากแผ่นซีดีอยู่ เรารักเพลงทั้งหน้า A หน้า B เพลงที่ปล่อยเป็นซิงเกิลไว้โปรโมท รวมถึงเพลงที่ไม่ได้ตัดเป็นซิงเกิล หาฟังในวิทยุไม่ได้ รวมไปถึงชอบอาร์ตเวิร์คบนซีดี ได้อ่านที่ศิลปินเขียนขอบคุณถึงใครบ้าง “ผู้หญิงคนนี้ที่เขาเขียนถึง เป็นแฟนเขาหรือเปล่า” (หัวเราะ) หรือแม้กระทั่งดูกระบวนการผลิต ว่าเพลงนี้อัดที่ไหน เนื้อเพลงเป็นยังไง คือยังชอบอ่านอยู่ ดังนั้นเราเลยยังให้ความสำคัญกับอัลบั้ม รู้สึกว่ามันมีคุณค่า บ่งบอกถึงยุคสมัย และการเติบโตของวงได้ แต่ศิลปินคนไหนที่เขาชอบออกเป็นซิงเกิล อาจจะออกถี่จนไม่เห็นรอยต่อระหว่างซิงเกิล กับอัลบั้มเต็ม ก็แล้วแต่ สไตล์ใครสไตล์มัน ไม่มีผิดถูกอะไรครับ

 

“ทัวร์คอนเสิร์ต” รายได้หลัก ที่มาแทนที่ “ยอดขายเพลง”

แหลม : เมื่อก่อนศิลปินอาจจะได้รายได้ส่วนใหญ่จากยอดขายซีดี รายได้จากทัวร์อาจจะไม่เยอะ แต่ในยุคนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว การทัวร์คอนเสิร์ตเป็นรายได้แทบจะทั้งหมดของศิลปิน รวมถึงทีมงานด้วย ดังนั้นมันจะมี “ฤดูเก็บเกี่ยว” เราก็ทัวร์คอนเสิร์ตเพื่อสร้างรายได้กันไป จากนั้นก็จะหยุดพัก เพื่อทำอัลบั้มใหม่กันต่อ

 

 

 

ความแตกต่างจากอัลบั้ม “25 Hours” จนถึง “Mom & Pop Shop

โฟร์ : ยาวนะ (ยิ้ม) แต่ละอัลบั้มที่พวกเรา มันขึ้นอยู่กับความสนใจของพวกเรา ณ ขณะนั้นด้วย อย่างชุดแรกจะค่อนข้าง “เพียว” นิดหนึ่ง เริ่มจากการหาว่าเราชอบอะไร พวกผมชอบดนตรีที่มัน “วินเทจ” ยุค 70s’ เราก็จะหยิบเอาแต่ละส่วนของแต่ละคนมาประกอบกัน อย่างผมก็จะเล่นกีต้าร์โปร่งได้ดี คนอื่นก็ใส่เสียงดนตรีของตัวเองลงมา เพราะฉะนั้นอัลบั้มแรกจะมีความวินเทจค่อนข้างสูง

อัลบั้ม 2 เราก็จะเริ่มสนุกขึ้น มีไอเดียในการทำเพลงใหม่ๆ เข้ามาผสมผสานมากขึ้น สมาชิกในวงก็จะเริ่มทำเพลงพร้อมกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นอัลบั้ม 2 ก็จะมีสีสันมากขึ้น จนกลายเป็นชื่ออัลบั้มว่า “Color In White”

อัลบั้ม 3 เราเริ่ม “นิ่ง” ลง อาจจะด้วยอายุ หรือการเติบโตของวงด้วย เนื้อหาในเพลงเราก็จะพูดถึงเรื่องที่โตขึ้น...มั้ย? (หันไปถามแหลม)

แหลม : มันเป็นเรื่องคู่ขนานกันน่ะครับ คือในเรื่องของดนตรี ในอัลบั้มแรกมันคือวินเทจ เป็นรากเหง้าของ 25 Hours บวกโฟล์คร็อคเล็กน้อย ใช้อารมณ์ในการสื่อสารเป็นส่วนใหญ่ เนื้อหาของเพลงมันก็สอดคล้องเหมือนกัน ว่ากันด้วยเรื่องวัยรุ่น อกหัก ชีวิตเละเทะ ต้องต่อสู้ ทั้งเรื่องความรัก และการต่อสู้เพื่อความฝัน อย่างเพลง ทำได้เพียง หรือ “ถามจันทร์” ที่ปู๋เขียน เพลงจะหม่นๆ และแฟนตาซี มีความล่องลอยเพ้อฝัน เหมือนชีวิตวัยรุ่นที่มองอะไรก็ยิ่งใหญ่ สวยงาม มองผู้หญิงเป็นเจ้าหญิง อกหักทีก็เหมือนโดนมีดกรีดหัวใจ

พอโตขึ้นหน่อยเป็นอัลบั้มที่ 2 ดนตรีก็จะหลากหลายมากขึ้น เหมือนคนที่กะเทาะตัวเองออกมาจากโลกที่ตัวเองเคยอยู่ มีสังคม มีเพื่อน ชีวิตเปลี่ยน เริ่มทัวร์คอนเสิร์ต ได้แชร์ดนตรีที่แต่ละคนฟังกันมากขึ้น ก็เลยจะมีความหวือหวาในการทำดนตรีมากขึ้น เนื้อเพลงก็จะไม่ได้พูดถึงแต่ตัวเองมากนัก มองโลกกว้างกว่าเดิม แต่ยังวนเวียนในเรื่องความรักอยู่

อัลบั้ม 3 ที่โฟร์บอกว่า “นิ่ง” ขึ้น เพราะเราทัวร์คอนเสิร์ตมากขึ้น ชื่อเสียงเงินทองก็ถาโถมเข้ามามากขึ้น ชีวิตก็จะเริ่มมีสองด้าน ด้านหนึ่งเหมือนสว่าง แต่ก็มีอีกด้านที่มืดขึ้นด้วย เพราะชีวิตก็เริ่มแต่เรื่องที่ดี และร้าย เราเลยเกิดคำถามกับตัวเองขึ้นมาว่า เราจะดำเนินชีวิตต่อไปยังไง เริ่มเห็นว่าทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เริ่มมีธรรมะ หรือปรัชญาชีวิตเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย  เพราะประสบการณ์ในการเดินทางมาตลอด 6-7 ปี ก็สอนให้เรารู้ว่าเราคิดอะไร ได้อะไร หรือเสียอะไรไประหว่างทางบ้าง แล้วเราต้องการจะเล่าอะไรออกมา

 

เพลง ที่เป็นมากกว่า “เพลงรัก” แต่มันคือ “เพลงชีวิต”

แหลม : เรามีเด็กๆ หรือแฟนเพลงรักเรามากขึ้น เราก็หวังว่าเพลงของพวกเราจะสร้างคุณค่าให้กับเด็กๆ นอกจากเพลงจะช่วยประโลมความรู้สึกในเรื่องของความรักแต่เพียงอย่างเดียว เราก็หวังว่าเพลงจะช่วยถ่ายทอดไอเดียในการใช้ชีวิต จากพี่คนหนึ่ง ไปสู่น้องอีกคนหนึ่ง เพื่อให้เขาได้ดำเนินชีวิตต่อ อย่างเพลง “สุขาอยู่หนใด” อาจจะเป็นการตั้งคำถามว่า ความสุขที่แท้จริงในชีวิตเป็นยังไง เราอาจจะไม่ได้ให้คำตอบ แต่อยากให้ฟังแล้วช่วยกันคิด ช่วยกันหาคำตอบ

เพลง ไม่เคย เราก็อาจจะพูดถึงช่วงวัยที่เราต้องจากลากัน หรือสะท้อนความรู้สึกของคนที่เคยสูญเสีย ว่าทุกคนย่อมเคยทำผิดพลาด แต่เมื่อผิดพลาดแล้ว เราจะอยู่ต่อไปยังไง แก้ไขอย่างไร หรือจะให้อภัยตัวเองอีกไหม

 

เพลงที่ชอบมากเป็นพิเศษ

แหลม : เลือกยากนะ เพราะแต่ละเพลงมันก็มีเรื่องราวของมัน แต่ถ้าให้เลือก....อัลบั้มแรกก็ชอบนะ “ถามจันทร์” ก็ชอบ เป็นเพลงที่แต่งแรกๆ ในชีวิต หรือจะ ทำได้เพียง ถ้าอัลบั้ม 2 ก็ “โลกใบใหม่” ก็แปลกดี วิธีสร้างทำนองจะแปลกๆ อัลบั้มล่าสุดก็ “ไม่เคย” และ “แรงโน้มถ่วง”

ปู๋ : เพลงที่แต่งแล้วชอบ ภูมิใจ ก็คงจะเป็น “ไม่เคย” นี่แหละครับ เพราะเห็นบางคอมเมนต์ที่เขาเขียนอย่างจริงจัง ถึงอดีตของเขาว่า “ไม่น่าทำอย่างนั้นเลย” เห็นความอินของเขา เลยทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าเพลงของผม เป็นประโยชน์ต่อคนฟังแม้เพียงสักนิด ผมก็ภูมิใจมากๆ แล้ว

บัง : ผมชอบเพลงอัลบั้มที่ 2 ชื่อเพลงว่า “คนข้างๆ” เป็นเพลงที่ความหมายดี พูดถึงคนที่ร่วมทางกับเรา คอยให้กำลังใจกันและกัน

จ๊อบ : ผมชอบหลายเพลงมากครับ เพราะเพลงแต่ละเพลงมันก็เข้ากับช่วงชีวิตของเราในแต่ละช่วงด้วย อย่างเพลง “ถามจันทร์” เล่นทีไรก็นึกถึงช่วงเวลานั้นๆ หรือเพลง “คนข้างๆ” “สุขาอยู่หนใด” เพลงเหล่านี้ ทุกครั้งก็จะมีช่วงชีวิตที่เพลงเหล่านี้เป็นสื่อที่ทำให้นึกถึงแต่ละช่วงของชีวิตได้

 

 

 

กว่าจะมาเป็นเพลงๆ หนึ่งของ 25 Hours

บัง : ปกติแล้วพี่แหลมจะแต่งทำนองมาก่อนครับ

ปู๋ : หลังจากนั้นก็จะเขียนเนื้อ เขียนเนื้อเสร็จก็มาเรียบเรียงกัน

โฟร์ : แต่ละวงมีวิธีการทำเพลงไม่เหมือนกัน แต่สำหรับพวกเรา ตกลงกันว่าจะเริ่มจากทำนองก่อน เพราะพวกผมมองว่าเพลงๆ หนึ่งเหมือนคน ทำนองก็เหมือนสไตล์ของคนๆ นั้น ว่าจะให้ออกมาในบุคลิกแบบไหน จากนั้นก็ต่อกันที่ดนตรี เปรียบเหมือนเสื้อผ้าแต่ละชิ้น ว่าประกอบกันออกมาเป็นคนๆ นั้นได้ยังไง ทั้ง 2 อย่างนี้คือลักษณะภายนอกที่หากมองภายนอกแล้วดูดี ก็จะกลายเป็นคนที่ดูน่าสนใจตั้งแต่แว่บแรกที่ได้เห็น

แหลม : ทำนองก็เหมือนตัวคนที่อาจจะหล่อสวยอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้ใส่อะไร ยังไม่ได้โชว์ความเป็นตัวตนของตัวเองออกมามากนัก จากนั้นดนตรีก็เหมือนเสื้อผ้า จับมามิกซ์แอนด์แมชจนได้ลุคที่ออกมาดูดี เนื้อร้องก็เหมือนกับคำพูดของคนๆ นั้น ว่าเขาต้องการจะพูดอะไร บางคนหล่อ แต่งตัวดี แต่พูดไม่ดี มันก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องสัมพันธ์กัน ต้องหน้าตาดี แต่งตัวดี และพูดดีคิดดีด้วย ไม่จำเป็นต้องพูดเพราะ แต่ต้องพูดในเรื่องที่มัน “เข้าท่า”

 

ถ้าเป็น 25 Hours เพลงดีๆ ไม่ต้องใช้เวลานานก็ได้

แหลม : เวลาผมแต่งทำนองเพลง ผมก็จกหมกมุ่นอยู่กับทำนองนั้นตลอด ว่ามันจะยังไงต่อ จะจบยังไง ก็จะทำจนเสร็จแล้วส่งต่อให้พี่ปู๋ หรือบางทีถ้านึกอะไรออกก็เขียนเนื้อเพลงไปด้วยเลย เพราะผมก็แต่งเพลงกับพี่ปู๋อยู่แล้ว หลังจากส่งให้พี่ปู๋ พี่ปู๋ก็เอาไปแต่งทำนองต่อ แปบเดียว ไม่นานเท่าไร วันเดียวก็ได้แล้ว

ปู๋ : อย่าง “ไม่เคย” ก็ใช้เวลาวันเดียว คืนเดียว พอได้เมโลดี้มาจากแหลม มันค่อนข้างดี มันก็เลยติดหู จำขึ้นใจเลย จากนั้นก็ไม่ต้องใช้อะไร ใช้แต่จินตนาการถึงสิ่งที่อยากจะใส่ลงไปอย่างเดียว

แหลม : จริงๆ สำหรับเพลงนี้ ทุกอย่างเร็วหมดนะ ทำนองก็เร็ว เนื้อเพลงก็เร็ว เสร็จปุ๊บกลับบ้าน (หัวเราะ)

 

บางเพลง แต่งเอง นอยด์เอง จนเกือบไม่รอด

แหลม : เพลง “ไม่เคย” นี่มีสตอรี่นะ (เกิดเสียงโหวกเหวกโวยวายในบรรดาเหล่าสมาชิกทุกคน) เล่นซะสุดท้ายเลย ตอนแรกทำเดโมออกมา ก็โอเค ก็ดีนะ แต่พอไปทำกับพี่เจ (มณฑล) ก็มาอัดกันใหม่ ดนตรีใหม่แต่เส้นร้องเหมือนเดิม ทุกอย่างออกมาดี แต่พอส่งไปปุ๊บ.... นอยด์

โฟร์ : (หัวเราะ) คือตอนแรกเราส่งเวอร์ชั่นเดโมไปให้ผู้กำกับเอ็มวี ทีมงานก็ชอบ อินกันมาก เศร้ามาก พอส่งตัวใหม่ไป “ฟีลมันไม่ได้”

บัง : เราเลยกลับมานอยด์เลย

แหลม : เราก็กลับมานั่งฟังกันนะ แล้วก็คิดกันว่า “เอาไงดีวะ” มันต้องเลือก ต้องตัดสินใจ สุดท้ายไปจบที่คนขับรถตู้ (หัวเราะ) พี่เขาไม่เคยฟังเดโม เราก็เปิดเวอร์ชั่นมาสเตอร์ (ปู๋ : เวอร์ชั่นที่เศร้าน้อยลง) เออ ที่เศร้าน้อยลง เปิดให้เขาฟัง พี่เขาดันตอบมาว่า “โครตเศร้าเลยว่ะ” แถมบอกอีกว่า “เพลงนี้ต้องฮิตแน่เลยว่ะ” โอ้โห ใจชื้นเลย เราก็เลยคิดว่า คนที่ไม่เคยฟังเดโมเปรียบเทียบ คงรู้สึกแบบนี้แหละ แต่เราที่มีฟังเปรียบเทียบกัน เราอาจจะยึดติดไปบ้าง หรือมันจะมีคนบางประเภทที่ติดเดโมมากกว่า

Sanook : เป็นคนชอบฟังเดโมมากเหมือนกันค่ะ ถ้าได้ฟังเดโมแล้ว จะแอบชอบเดโมมากกว่าตลอด

แหลม : เหรอครับ ผมเองก็เป็นนะ บางทีฟีลมันหายบ้างอะไรบ้าง แต่เดโมคุณภาพมันจะยังไม่ค่อยดี พักหลังๆ เลยพยายามจะทำให้ดีที่สุดตั้งแต่เดโมมาเลย ถึงแม้ตอนมาสเตอร์จริงจะไม่ได้ใช้เวอร์ชั่นนี้หรอก แต่บางทีเราก็ดึงเอาบางส่วนมาใช้

โฟร์ : หลายครั้งเราก็ใช้เดโมนะ

แหลม : ใช่ๆ อย่างเพลง “ไม่ต่างกัน” ก็ใช้เสียงร้องจากเดโม ไปร้องใหม่ก็ไม่รอด ใช้เวอร์ชั่นเดโมที่อัดกับปู๋ที่บ้าน

ปู๋ : ใช้ไมค์ง่อยๆ ไม่กี่พัน อัดกับคอม อัดเสียงเองแบบ “ซูเปอร์เดโม” เลย (หัวเราะ)

แหลม : มันก็เป็นตัวบอกเหมือนกันนะว่าบางครั้งฟีลลิ่งกับคุณภาพ บางทีฟิลลิ่งก็สำคัญกว่า อารมณ์ช่วงที่ถูกบันทึกไว้ บางทีมันก็ใช่กว่า มานั่งบิวท์อารมณ์ใหม่ ถึงจะได้ซาวนด์ดี อุปกรณ์ครบ บางทีมันก็ยังไม่ได้ หลังๆ เลยพยายามทำให้ดีตั้งแต่เดโมไปเลย

โฟร์ : ถึงแม้ตอนมาสเตอร์จะไม่ได้ใช้ทั้งหมด แต่มันต้องมีส่วนใดส่วนหนึ่งถูกดึงไปใช้แน่นอน

แหลม : เส้นร้องพี่อ่ะ เป็นทุกชุด ร้องอันแรกดีสุดตลอด นักร้องจะมีปัญหาเยอะสุด เพราะถ้าเป็นกีต้าร์ก็จะเหมือนเดิม แต่นักร้องจะมีแบบ “ตอนนี้ลืมไปแล้ว ว่าตอนนั้นคิดอะไรอยู่” อะไรแบบเนี้ย หรือบางทีสุขภาพร่างกายไม่พร้อมบ้างอะไรบ้าง หลายสิ่ง

 

 

 

ศิลปินที่มีอิทธิพลในการทำเพลง

โฟร์ : หลายวงมากเลยครับ ส่วนตัวผมที่ฟังมาตั้งแต่เด็กก็พี่เบิร์ดก่อนเลย ถ้าสายฝรั่งก็ชอบ The Beatles ทุกวันนี้ก็ยังฟังอยู่

จ๊อบ : สำหรับผมไม่ได้มีศิลปินที่มีอิทธิในการทำเพลง แต่มีอิทธิพลต่อการเติบโตของผมมาจนถึงทุกวันนี้ คือ คุณพ่อ พ่อผมเป็นคนเล่นเครื่องเสียง ก็ชอบฟังเพลงยุคเก่าๆ The Beatles อะไรแบบนี้ เมื่อก่อนผมนอนห้องเดียวกันกับเขา เขาก็จะเปิดเพลงดังลั่นห้องตลอด เราก็จะฟังพวกนั้นมาตลอด และแต่ก่อนบ้านผมทำร้านอัดรูป มีขายเทปหน้าร้าน ก็จะเปิดเพลงแบบ Oldies ฟังทุกวันจนกลายเป็นว่า เพลงเหล่านี้มันมีอิทธิพลในการทำเพลงของพวกเรามาจนถึงทุกวันนี้

บัง : โฟร์ดันตอบซะเท่ แม่ผมฟังเพลงจีน (หัวเราะ)

โฟร์ : เลยรีบพูดไง จริงๆ ที่บ้านก็ฟังเพลงจีน แต่เลือกที่จะไม่บอก (หัวเราะ และเริ่มร้องเพลงเลียนแบบเพลงจีน)

บัง : ตอนเด็กๆ ก็ฟังเพลงจีนแหละ แต่พอโตขึ้นมาก็จะเริ่มฟังเพลงวงร็อคๆ หน่อย สายร็อคอย่าง ซิลลี่ฟูลส์ โลโซ พอโตขึ้นมาอีกหน่อยก็ฟังพวกเพลงฟิวชั่น อาจจะไม่ได้เป็นเพลงๆ ไป เพราะเรียนดนตรีด้วย เลยเป็นการฟังเพลงเพื่อศึกษามากขึ้น โตขึ้นมาอีกนิดก็เริ่มฟังเพลงเก่าตามพี่โฟร์เลย เพราะพี่โฟร์ก็ขนเอาพวก The Beatles, Bread มาให้ฟัง

ปู๋ : ของผมก็จะเปลี่ยนไปตามวัยครับ ชอบไปเรื่อยเปื่อย ตอนวัยรุ่นก็เป็นชาวร็อค ก็ชอบ ซิลลี่ฟูลส์ แบล็คเฮด โลโซ

โฟร์ : หินเหล็กไฟ

ปู๋ : เออ หินเหล็กไฟ งี้ (หัวเราะ) โตขึ้นก็จะค่อยๆ เบาลง ไม่รู้ว่าเพราะอะไร

Sanook : สงสัยพลังวัยรุ่นหมด

ปู๋ : สงสัยจะเป็นอย่างนั้น ตอนนี้มาชอบ คาราบาว ฟังแต่เพลงไทยฮะ นานๆ ทีก็ฟังเพลงฝรั่งบ้าง เปิดวิทยุฟังเพื่อดูเทรนด์ว่าเป็นยังไงบ้าง ตอนนี้เขาฟังอะไรกัน

แหลม : ตอนเด็กๆ ก็ชอบ Oasis พวกวงจากอังกฤษ ผสมกับพวก Guns N’ Roses เพราะจริงๆ ผมชอบฟังพวกแฮร์แบนด์ แต่ถ้าเป็นฝั่งพี่ชายผมจะชอบ Nirvana, Oasis เหมือนเป็นแนวเพลงที่ชอบฟังตอนเด็กๆ แล้วมันฝังตัวมา อัลบั้มแรกเลยจะออกแนว Oasis หน่อย เป็น Oasis ผสม Guns N’ Roses ด้วยนะ (หัวเราะ) จริงๆ ตอนเด็กก็ไม่ได้ฟังฝรั่งเยอะนะ ฟัง มอส, ซิลลี่ฟูลส์ นั่นแหละ

แต่ก่อนจะตั้งวงนี้ ผมก็คุยกับเจอาร์..... เจอาร์วอยนี่แหละ (เพื่อนๆ หัวเราะ) บอกเขาว่า “เฮ้ย ไอจะทำวงเว้ย มีเพลงไรให้ฟังเปิดโลกบ้างวะ” มันก็เป็นคนนึงที่เปิดโลกในการฟังเพลงของผมเหมือนกันนะ มันไรท์ซีดีมาให้ผมล็อตนึง มันให้ผมฟัง Damien Rice แล้วก็อะไรไม่รู้ไรท์มาให้เต็มเลย แล้วหลังจากนั้น Youtube ก็เริ่มมา ผมก็เริ่มเสิร์ชไปเรื่อยว่าเขาฟังเพลงอะไรกันบ้าง มีพี่อีกคนเปิด Neil Young ให้ฟังอีก แล้วก็มานั่งแชร์ประวัติดนตรีให้ผมฟัง ก็เป็นอีกคนที่ช่วยให้ผมได้ฟังเพลงมากขึ้น พอเข้าวงก็ได้โฟร์เปิด The Beatles ให้ฟัง

ผมว่าแต่ละคนจะมีเพลย์ลิสเป็นของตัวเอง ระหว่างที่เราแชร์เพลงให้เขา เขาก็จะแชร์เพลงใหม่ๆ ให้เรา เพราะลำพังตัวเราเองก็จะฟังแต่เพลงเดิมๆ แต่การที่เราเป็นนักดนตรี เราต้องฟังเพลงเยอะ บางทีก็ฟังเพลงจากเพลย์ลิสที่ recommend จากแอพฟังเพลง แล้วเราก็ไปหาฟังต่อ วันก่อนเพิ่งดูหนังเรื่อง “Sing Street” มา หนังน่ารักมาก แล้วมันก็จะมีตัวละครอย่างตัวพี่ชาย ที่จะเป็นคนชี้นำเรา พาเราไปเจอโลกดนตรี เพราะเรายังเด็ก พี่เราโตมาก่อน เหมือนพี่ชายผมที่เปิด Oasis ให้ฟัง คล้ายๆ กัน

 

วงการเพลงในบ้านเราล่ะ?

ปู๋ : ตราบใดที่ยังมี 25 Hours วงการเพลงบ้านเราก็ยังดีอยู่ครับ (เพื่อนๆ ปรบมือ) ล้อเล่นนะครับ

แหลม : ผมว่าวงการเพลงมันก็แปรผันไปตามยุคสมัยอยู่แล้วครับ เทคโนโลยีก็มีผลต่อวงการเพลง สื่อที่จะพาเพลงไปถึงคนมันเปลี่ยนไป จริงๆ มันก็เปลี่ยนไปทุกยุค มียุคเทป ซีดี วิทยุ ดิจิตอล รายได้ก็เปลี่ยน ทุกอย่างมีผลต่อคนทำเพลง บริษัท ค่ายเพลง รวมถึงศิลปิน เมื่อก่อนซีดีเป็นรายได้หลัก แต่ไม่ใช่ทุกศิลปินที่จะรายได้ดี เฉพาะบางศิลปินที่จะได้ออกผลงานเต็มที่

ส่วนอินดี้ก็ยังมีอยู่ ทุกยุคมักจะมี “กองโจร” อยู่เสมอ อย่างยุคอัลเทอร์เนทีฟที่มี โมเดิร์นด็อก พวกเขาก็จะรวมตัวกัน และยุคหนึ่งก็จะเงียบไป เราก็เติบโตมาใน 2 ยุคนี้ ที่มีทั้งแมส และอินดี้ อย่าง Fat Radio วงหน้าใหม่จะมีพื้นที่ให้ได้แสดงผลงานของตัวเอง วงการเพลงค่อนข้างครึกครื้น เพราะมีให้ฟังหลากหลาย เด็กแนวก็มีกิจกรรมรวมตัวกันได้ชัดเจน แต่พอยุคนี้มันตาย พอพื้นที่ตรงนี้มันไม่ชัดเจน คนฟังเพลงที่แตกต่างจากกลุ่มใหญ่ก็ไม่มีพื้นที่รวมตัวกัน ไม่เป็นกลุ่มก้อน ไม่มีกิจกรรมให้ทำด้วยกันอย่างชัดเจน กระจัดกระจายกันไป เราก็เลยเริ่มหาไม่เจอว่าเด็กแนวเหล่านั้นอยู่ไหน ยังฟังเพลงกันอยู่หรือเปล่า หรือมันไม่ฟังแล้ว ผมเลยมองว่าตอนนี้ความหลากหลายในเพลงที่มีให้ฟังมันน้อยลง ทำให้วงดนตรีเกิดใหม่ที่จะออกมาประสบความสำเร็จมากๆ มันก็น้อยลงตามไปด้วย

 

กระแสคัฟเวอร์เพลงดังๆ ใน Youtube

แหลม : พอมีพื้นที่ให้แสดงออกได้เต็มที่อย่าง Youtube ผมมองว่ามันเป็นที่ๆ เราปล่อยของได้ แต่ก็ยังเห็นศิลปินใหม่ๆ เลือกที่จะคัฟเวอร์เพลงคนอื่น ทั้งๆ ที่ผมมองว่าคุณมีช่องทางในการพูดในสิ่งที่ตัวเองต้องการจะพูด แล้วทำไมไม่พูด? กลายเป็นว่าตามเทรนด์คนอื่นเขาไป เห็นคนเขาคัฟเวอร์แล้วดัง ก็ทำตามเขา กลายเป็นแบบนั้นไป ก็จะขาดความเชื่อมั่นในตัวเองไป ก็น่าเสียดาย ทั้งๆ ที่คุณกำลังเล่นดนตรีโดยที่ไม่มีใครบังคับ แต่คุณยังเลือกที่จะเล่นเพลงของคนอื่น แทนที่คุณจะได้เล่นเพลงของตัวเอง

 

ศิลปินมีค่าย VS ศิลปินอินดี้ ทำเพลงเอง

แหลม : การอยู่คนเดียว คุณจะทำอะไรก็ได้ ก็เหมือนคุณเดินแก้ผ้าอยู่ในบ้านคนเดียว (เพื่อนในวงหัวเราะ) คุณอยากทำอะไรก็ทำ ไม่มีใครว่าอะไรคุณ ไม่มีคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการแก้ผ้าของคุณ แต่พอมีค่าย ก็เหมือนพอคุณจะแก้ผ้าแล้วมีแม่อยู่ (หัวเราะ) มีคนที่จะได้รับผลกระทบจากการแก้ผ้าของคุณอีกเยอะ มันก็คงมีเรื่องของการแชร์เข้ามา แต่ในค่ายเพลงปัจจุบันก็ไม่ได้มีพลังมากพอที่จะบันดาลทุกอย่างให้นักดนตรี เพราะไม่ได้เป็นเจ้าของสื่อ ไม่ใหญ่เหมือนเมื่อก่อน ศิลปินเองก็สร้างตัวเองขึ้นมาเองมากกว่าที่จะให้ค่ายปั้นให้ตั้งแต่ต้น ดังนั้นมันเลยเหมือนมาร่วมงานกันมากกว่าว่า คุณทำอะไรได้ คุณทำเพลงได้ เดี๋ยวผมช่วยโปรโมท เรื่องเพลงก็จะไม่ยุ่ง

แต่เรื่องเพลงก็ขึ้นอยู่กับพลังของคุณเองด้วย ถ้าคุณดื้อดึงว่าคุณจำเพลงเอง ก็เหมือนพวกเราที่เริ่มต้นมาในแนวนั้นเหมือนกัน ยืนขายซีดีเอง ทำทุกอย่างเอง แต่มันก็เหนื่อย วงดนตรีวงหนึ่งก็ไม่สามารถทำทุกอย่างได้เองทั้งหมด เพราะสิ่งที่เราถนัดที่สุดก็คือเรื่องดนตรี แต่เรื่องโปรโมท ถ้าคุณมีเครื่องมือของตัวเองพร้อมก็ลุยเลย แต่ถ้ามีค่ายเค้าก็ช่วย แล้วมันก็ต้องแชร์กัน จริงๆ มันได้หมด อยู่ที่เราจะเลือก

โฟร์ : คนบางคนก็ไม่เหมาะที่จะอยู่ค่ายใหญ่ก็มีนะ ถึงค่ายจะใหญ่ แต่อยู่แล้วก็เจ็ง ก็เละ ก็มี เหมือนที่แหลมเคยพูดถึงเรื่องกระบองเพชร กระบองเพชรไม่ได้เจริญเติบโตในดินเหนียวที่อุดมสมบูรณ์สุดๆ เขาอาจจะต้องการดินแห้ง ปลูกในทะเลทราย

แหลม : ที่สำคัญคือการต้องรู้จักตัวเอง ว่าคุณเป็นพืชชนิดไหน ถ้าคุณไม่ชอบการเดินเข้าตึกมาเจอคนเยอะๆ หรือไม่ชอบให้ใครมาบงการชีวิต ก็อย่าเลย ไม่งั้นคุณจะฟีบ แห้งเหี่ยว เซ็ง ไม่เจอคนที่เข้าใจคุณ ซึ่งคุณก็ไม่ผิด เพราะนั่นไม่ใช่คุณ คุณก็ควรอยู่ในโลกของคุณ เจริญเติบโตในแบบที่คุณอยากเป็นให้เต็มที่ เมื่อไรก็ตามที่คุณแข็งแกร่งพอที่เติบโตในทุกสภาพอากาศ ทุกกระถาง ทุกที่ แดดได้ ร่มได้ เมื่อนั้นคุณก็อยู่ได้ทุกที่

 

 

 

ก็อป VS แรงบันดาลใจ

แหลม : ก็อปเนี่ย ดูไม่ยากเลย เปิดเทียบยังไงก็เหมือนแบบโน้ตต่อโน้ต แต่หลายๆ เพลงผมก็มองว่าคนฟังใจร้ายไปหน่อย บางคอมเมนต์ก็รุนแรงชนิดที่ไม่เกิดอะไรที่ดีขึ้น (ปู๋ : ใช่) คุณก็ไม่ได้ให้อะไรกับศิลปินคนนั้นมากมาย แต่บางทีคุณก็ลากเขาไปเหมือนเขาโกงชาติบ้านเมืองมา แต่ก็เข้าใจนะ ผมว่าการหยิบยืม แรงบันดาลใจ มันอยู่ทุกวงการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะวงการแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ รถยนต์ เรียนดนตรีมามันก็มีคอร์ดเหมือนๆ เดิม

อาจารย์ศิลปะผมเคยอธิบายถึงเรื่องนี้ว่า วงการศิลปะก็เริ่มต้นมาจากการ “ลอกเลียน” มาก่อน ลอกเลียนแบบธรรมชาติ ฝึกวาดภาพเหมือนมาก่อน จากนั้นคุณอยากจะเพิ่มเติมจินตนาการลงไป พลิกแพลงในแบบที่คุณต้องการก็ว่ากันไป จิตรกรชื่อดังเขาก็ได้แรงบันดาลใจมาจากจิตรกรคนก่อนๆ ยุคนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากยุคนั้น เขาพูดกันอย่างเปิดเผย ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องเสียหายอะไร

บางครั้งการที่รอบข้างเรามีสื่อคล้ายๆ กัน เราจะคิดอะไรคล้ายๆ กันบ้างมันก็ไม่แปลก แต่ไม่ใช่ก็อป การพัฒนาแล้วมีแนวทางส่งต่อมา ฟังแล้วได้กลิ่นอายจางๆ เหมือนฟังเพลงนี้แล้ว “นึกถึง” เพลงนั้น โดยที่โน้ตมันไม่เหมือนกัน อันนั้นคือแรงบันดาลใจ ซึ่งมันมีกันได้ เพราะบางทีนักดนตรีฟังเพลงเยอะๆ ตอนแต่งเพลงทำนองมันก็ไหลออกมาเองโดยไม่รู้ตัว มันก็เกิดขึ้นได้ แต่ต้องไม่ใช่การตั้งใจก๊อปกันซึ่งๆ หน้า บางทีมันเป็นการทำลายวงการเพลงเหมือนกัน ไม่ให้เกียรติศิลปิน และไม่ให้เกียรติตัวเอง

โฟร์ : อย่างถึงขั้นฟังเพลงแล้วจ้องจับผิดกัน คนทำเพลงไม่สนุก ไม่มีความสุข

แหลม : คนทำเพลงก็เกร็ง อยากให้ฟังเพลงเพื่อจรรโลงใจกันมากกว่า เพราะไงๆ เราก็ลอกฝรั่งกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว เพราะเราทำเพลงไทยสากล เครื่องดนตรีก็ของฝรั่ง ดนตรีก็ต้องเหมือนฝรั่ง โชคดีที่เรามีภาษาไทยใช้ เลยเป็นเพลงไทยสากล แค่นั้นเอง ต้องขอบคุณภาษาไทย

 

“ลิขสิทธิ์เพลง” ในมุมมองของศิลปิน

แหลม : ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกจำหน่ายทุกอย่างมีลิขสิทธิ์หมด ราคาที่คุณจ่ายไปมันบวกค่าลิขสิทธิ์ที่ผู้ผลิตเขาซื้อมาไปแล้ว คุณก็จ่ายเงินเพื่อรับสินค้านั้นมาโดยชอบธรรม เพลงเองก็มี ขั้นตอนการผลิตที่ผ่านทีมงานทุกคนมามันเกิดคุณค่า มันเกิดต้นทุนในการผลิต คุณมีสิทธิ์เสพผลงานของเขาอย่างต่อเนื่อง แต่คนที่ทำผลงานออกมาให้คุณฟังเขาจะไม่มีสิทธิ์ในการได้รับผลตอบแทนตรงนั้นเหรอ เพราะฉะนั้นลิขสิทธิ์มันก็ช่วยคุ้มครองให้กับคนที่เขาเป็นเจ้าของผลงาน เป็นต้นฉบับผลงานจริงๆ ในเมื่อคุณมีความสุขกับผลงานของเขา เขาก็ควรได้รับค่าตอบแทนเพื่อที่ผลิตงานออกมาให้คุณได้มีความสุขต่อไป

คนที่มองว่าเพลงเป็นของฟรี อาจจะเกิดมาในยุคที่ฟังเพลงผ่าน Youtube คุณไม่ได้ซื้อซีดีเพื่อฟังเพลงอีกต่อไป แต่จริงๆ แล้วไม่ว่าจะฟังเพลงผ่าน Youtube หรือแอพฟังเพลงสตรีมมิ่ง รายได้ก็กลับสู่ศิลปิน และคนแต่งเพลงได้ เพียงแต่มันไม่พอ เพราะค่ายเองก็มีค่าใช้จ่ายต่างๆ มีค่าต้นทุนสารพัด เขามีระบบการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ที่มันมีมาตั้งแต่ต้น ไม่ได้เพิ่งจะเริ่มมี ดังนั้นมันก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องที่จะมีการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง ในเมื่อเพลงๆ นั้นยังทำงานของมันอยู่ ยังให้ความสุขกับคุณได้อยู่ มันก็ควรจะส่งผลตอบแทนมาให้กับเจ้าของเพลงที่ต้นทางด้วย

โฟร์ : อยากให้มองว่าเพลงก็เหมือนสินค้าชิ้นหนึ่งอ่ะครับ แค่น้ำขวดเดียวคุณยังต้องซื้อดื่ม ไม่อยากมองว่าเพลงเป็นของฟรี เพราะกว่าจะได้เพลงๆ หนึ่งมามันก็ผ่านอะไรมามาก

แหลม : บางคนอาจจะมองว่าศิลปินรายได้ดี ออกคอนสิร์ตทีก็ได้หลายตังค์ แต่ต้องมองว่าอาชีพของพวกผมมันไม่มั่นคงมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เราจะรู้ได้ยังไงว่าเพลงที่เราแต่งจะฮิต แต่ถ้ามันฮิตขึ้นมา การได้รับผลตอบแทนจากเพลงที่มันยังฮิตอยู่เรื่อยๆ ผ่านยอดขายซีดี ยอดดาวน์โหลด การฟังเพลงทาง Youtube ที่ติดโฆษณา หรือฟังผ่านแอพสตรีมมิ่ง มันก็ช่วยให้พวกผมมีรายได้เข้ามาเรื่อยๆ ถึงจะเล็กน้อย แต่มันก็หล่อเลี้ยงชีวิตพวกผมไปจนกว่าจะถึงวันที่เพลงมันหยุดฮิตได้

จริงๆ พวกผมเนี่ยไม่เท่าไร เพราะเป็นศิลปินที่แต่งเพลงเอง แต่อาชีพที่จะตาย คืออาชีพนักแต่งเพลง ถ้าไม่มีรายได้ตรงนี้ เขาจะอยู่ยังไง เขาต้องแขวนชีวิตเอาไว้กับเพลงที่เขาแต่งล้วนๆ เพราะเขาไม่ได้มาออกทัวร์คอนเสิร์ตเหมือนพวกผม เพราะฉะนั้นถ้าชื่นชม ชื่นชอบผลงานเพลงของใคร ก็จงสนับสนุนเขา เพื่อให้เขามีรายได้อย่างชอบธรรม แล้วผลิตผลงานดีๆ ออกมาให้เราได้ฟังกันเรื่อยๆ

 

ศิลปิน VS Social Media

แหลม : สื่อออนไลน์มันก็มาตามยุคตามสมัยนะครับ ในเมื่อเราเริ่มมีช่องทางในการโปรโมทตัวเองได้ เราก็ใช้มันเพื่อติดต่อสื่อสารกับแฟนเพลง บอกกล่าวข้อความที่อยากจะบอกถึงแฟนเพลงได้โดยตรง แต่ในเมื่อทุกคนจะทำอะไรก้ได้ พิมพ์อะไรก็ได้ แชร์อะไรก็ได้ มันก็เลยเซนซิทีฟ มีทั้งเรื่องจริงบ้าง เท็จบ้าง ผสมปนเปกันไป เราเองก็ต้องเลือกเสพ คัดกรองข่าวสารต่างๆ ให้ดี

แต่พวกเราไม่ค่อยเจอคอมเมนต์แรงๆ เท่าไร เพราะเราเลือกแมสเสจที่จะส่งออกไป เราเลือกที่จะพูดคุยเรื่องสบายๆ ไลฟ์สไตล์ต่างๆ เรื่องอะไรที่เซนซิทีฟ เช่น การเมือง สังคมต่างๆ มันไม่คุ้มที่จะส่งออกไป คนฟังเพลงเขาอยู่ฝ่ายไหน เชื่ออะไรอยู่ เราไม่รู้ คนฟังเพลงเขารักเรานะ เราก็รักเขา เราอาจจะไม่รู้ว่าบางทัศนคติของเราจะไปทำร้ายจิตใจเขาตอนไหน แต่ถ้าเราคุยกันแต่เรื่องวง เรื่องเพลง เรื่องที่เรารักเหมือนกัน สนใจเหมือนกัน พูดแต่เรื่องที่เขาอยากฟัง ให้กำลังใจ มันจะดีกว่า เพราะเรื่องแย่ๆ ในสังคมมันเยอะแล้ว ขอให้เพลง หน้าเพจของเรามันจรรโลงใจ ให้กำลังใจ ปลอบประโลมใจกันดีกว่า

 

ก่อนจะโบกมือลากันไป เราขอแชะภาพประกอบคอนเทนต์ไปหลายสิบช็อต หนุ่มๆ ว่าง่าย ให้ทำอะไรก็ทำ แอคท่าตามใจตากล้อง (และคนสัมภาษณ์) อย่างเราสุดๆ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเป็นวงดนตรีชั้นแนวหน้าของประเทศไทยแล้ว แต่พวกเขายังไม่เคยลืมว่าพวกเขาคือใคร มีต้นกำเนิดมาจากไหน และเป็นพืชที่พร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับทุกสภาพอากาศ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่พวกเขาจะเป็นที่รักของแฟนเพลงทั่วประเทศได้อย่างทุกวันนี้

หากความสุขของนักดนตรี คือการทำเพลงให้คนฟังมีความสุข เราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทสัมภาษณ์ที่เรานำมาฝากกัน จะทำให้คุณที่กำลังอ่านอยู่ มีความสุขกับทุกตัวอักษรที่เราเรียบเรียงจากใจกันด้วยนะคะ

 

 

____________________

Story : Jurairat N.

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ [Exclusive] 25 Hours กับเบื้องหลังเพลง “ไม่เคย” ที่ไม่มีใครรู้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook