จากวรรณคดีไทย สู่ความเท่ผ่านบทเพลงในแบบ “The Rube”
คำว่า Rube เป็นคำสแลง แปลว่าติดดิน ง่ายๆ เติม The ข้างหน้าเข้าไปเป็น “The Rube” เหมือนเป็นการทำงานแบบเรียบง่าย สบายๆ ที่อธิบายมานี้ไม่ได้มาสอนภาอังกฤษแต่อย่างใดนะคะ แต่กำลังจะบอกว่านี่คือที่มาของวงดนตรีที่กำลังมาแรงในขณะนี้
The Rube (เดอะ รู๊บ) เริ่มต้นจากคนที่รักในเสียงดนตรี มารวมตัวกันผ่านการชักชวนของ จุ๊บ ธีรวงศ์ วัฒนาจารุพงศ์ (กีตาร์) โดยสมาชิกอีก3คน คือ เก็ท ศิวพงษ์ เหมวงษ์ (ร้องนำ) น็อต ทรงพล ศรีสะอาด (เบส) และ เจน ณัชรพงศ์ วัฒนาจารุพงษ์ (กลอง) ทั้ง4คนเรียนที่คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เหมือนกัน ก่อนจะประกวดวงดนตรี และเข้ามาอยู่ในค่าย Spicy Disc
พวกเขาขอให้นิยามในแนวเพลงว่า ไทยประยุกต์ร่วมสมัย (Modern Tradition) คือการนำเอาวัฒนธรรมเพลงไทยในแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การฉ่อยและลูกทุ่งมาผสมผสานเข้ากับดนตรีสากล ร่วมกับเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ของ เดอะ รู๊บ ทำให้เพลงออกมามีเสน่ห์น่าฟัง
เปิดอัลบั้ม Thai – Machine (ไทย – แมชชีน) ด้วยเพลง I’m sorry สีดา กับการสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการดนตรี โดยนำเนื้อเรื่องจากวรรณคดีไทย “รามเกียรติ์” มาเล่าผ่านบทเพลงผสมผสานกับเครื่อง ดนตรีไทยและดนตรีสากลได้อย่างลงตัว ทำให้หลายคนชื่นชมพวกเขา ในฐานะเป็นคนดนตรีที่แสดงให้เห็นถึงความกล้าที่จะแตกต่าง ทั้งในด้านของดนตรีและการใช้ภาษาที่งดงาม
คลิกฟังเพลง I'm sorry สีดา - The Rube ได้ที่นี่
และความสำเร็จของซิงเกิ้ล I'm sorry สีดา พวกเขาก็กลับมากับเพลง “Fin วันทอง” เล่าถึงความรู้สึกของ ขุนช้าง ที่มีความคิดถึง วันทอง นางอันเป็นที่รักจนสุดหัวใจ เน้นการถ่ายทอดอารมณ์ ท่วงทำนอง และเชื่อมโยงการใช้คำให้เข้ากับการใช้ชีวิตในสังคม แต่ยังคงจุดเด่นในการร้องแบบไทยเดิมไว้ ผสมกับจังหวะและเนื้อร้องในสไตล์ Hip-Hop ของเป้ วงมายด์ ที่มาร่วมฟีเจอร์ริ่งกับเพลงนี้
คลิกฟังเพลง Fin (วันทอง) - The Rube ได้ที่นี่
หลังจากที่ I’m sorry สีดา ปล่อยออกมาจนได้รับความนิยมอย่างมาก สังเกตได้ว่าคนรุ่นใหม่หันมาสนใจวรรณคดีไทยเพิ่มขึ้น มีเพลงในลักษณะนี้ถูกทำออกมาให้เห็นบนโลกโซเชียลอย่างแพร่หลาย อาจเรียกได้ว่าพวกเขาเป็นไอดอลและแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่อยากผลิตผลงานเพลงออกมาได้มีคุณภาพเช่น “เดอะ รู๊บ”
Story : Double J