ก่อนจะซื้อหรือสะสม เราทำความรู้จักกับแผ่นเสียงกันก่อน โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

ก่อนจะซื้อหรือสะสม เราทำความรู้จักกับแผ่นเสียงกันก่อน โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

ก่อนจะซื้อหรือสะสม เราทำความรู้จักกับแผ่นเสียงกันก่อน โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

เริ่มจากซ้ายไปขวา

1. แผ่น LP เส้นผ่าศูนย์กลาง 30 ซม.(12 นิ้ว) 25 ซม.(10 นิ้ว) และ 17 ซม.(7 นิ้ว) โดยหมุน 33 1/3 ต่อนาที (33 1/3 rpm)
LP ย่อมาจาก Long Playing record หรือ “อัลบัม” ที่เราเรียกกันอย่างทุกวันนี้ ซึ่งเริ่มผลิตในปี1948 มาจนถึงปัจจุบัน พื้นที่ของแผ่นทั้งสองด้านรวมกัน สามารถบันทึกเพลงที่มีความยาวได้ประมาณ 60 นาที แต่ส่วนใหญ่จะเฉลี่ยอยู่ที่ไม่เกิน 40 นาที 

2. แผ่นครั่ง หรือแผ่น 10 นิ้ว (ญี่ปุ่นเรียก SP) เส้นผ่าศูนย์กลาง 17 ซม. จำนวนรอบหมุน 78 rpm
เป็นฟอร์แมตแผ่นเสียงรุ่นบุกเบิก (อยู่ตรงกลางของภาพ) ซึ่งใช้เล่นกับเครื่องเล่นยุคเก่าที่ต้องไขลาน โดยไม่ต้องผ่านแอมป์หรือตัวขยายเสียง ใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่ค.ศ.1900 ถึงต้นยุค60s กระทั่งมีแผ่น 7 นิ้วถือกำเนิดขึ้น ซึ่งใช้พื้นที่น้อยกว่า เบากว่า บรรจุเพลงต่อด้านมากกว่า แผ่นครั่งเก็บรักษายาก แตกง่าย จึงค่อยๆหายไปในที่สุด เหลือแต่คุณค่าในเรื่องการสะสมเท่านั้น

3. แผ่นซิงเกิล จำนวนรอบหมุน 45 rpm
เรามักเรียกว่าแผ่นเล็ก, แผ่นโดนัท (ตามรูกลวงใหญ่กลางแผ่น) หรือแผ่น 7 นิ้ว ซึ่งถูกผลิตมาเพื่อเล่นกับเครื่องเล่นแผ่นที่เรียกว่า Jukebox หรือตู้เพลง ซึ่งก่อนนั้นใช้แผ่น 78s แต่เพื่อประหยัดพื้นที่ มันจึงถูกพัฒนาขึ้น อีกทั้งคงทนไม่แตกง่ายแบบแผ่นครั่ง หรือแผ่นเชลแล็ก ข้อเสียอย่างเดียวของมันก็คือ บรรจุเพลงไว้ด้านละเพลงเท่านั้น ปัจจุบันแทบจะไม่ผลิตแล้ว ที่ผลิตออกมาส่วนใหญ่เป็นแผ่นที่รูตรงกลางเล็ก และเล่นด้วยสปีด 33s


 ____________________

 

การให้เกรดแผ่นเสียง Vinyl Record Grading

หลายคนคงสงสัยหรืออาจถึงขึ้นประสบปัญหากับการซื้อแผ่นที่ผู้ขายให้เกรดว่าดีเพียงใดใช่ไหมครับ เป็นต้นว่า แผ่นสวย ไม่เคยลงเข็ม หรือแผ่นสภาพ EX เหมือนใหม่ อะไรทำนองนี้ 

โดยหลักๆแล้ว การเกรดแผ่นของผู้ขายกับผู้ซื้อควรอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งเมื่อผู้ซื้อเห็นสภาพที่ผู้ขายให้เกรด จะทำให้ตัดสินใจได้ไม่ยากว่า ควรซื้อหรือไม่

การให้เกรดแผ่นเสียงจึงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมาก ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์พอสมควร ผมเคยเจอมามาก ประเภทอยากขายแผ่นจนออกนอกหน้า บอกสภาพดีเยี่ยม ไม่เคยลงเข็ม แต่พอซื้อเข้าจริงๆ มีรอยเต็มไปหมด ฟังแล้วมีเสียงรบกวน อันนี้จะไปโทษผู้ขายทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะเขาอาจไมใช่คนเล่นแผ่น ไม่ใช่คนฟังเพลง และอาจจะไม่มีเครื่องเล่นด้วย แต่เขาก็ควรรับคืนแผ่นที่ไม่ตรงกับสภาพที่ระบุไว้

ที่กล่าวตัวอย่างมานั้น พวกเราสามารถทำให้มันไปในทิศทางเดียวกันได้ โดยการตั้งมาตรฐานการเกรดแผ่นที่เหมือนกัน เช่น เกรดแผ่นโดยใช้สายตา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเช่นนั้น ตัดสินจากสิ่งที่มองเห็น เพราะสายตาเราไม่โกหกอยู่แล้วครับ ถ้าสภาพแผ่นดี สวยงาม เราก็เกรดไปตามความเป็นจริงครับ เพราะแผ่นดี แผ่นสวย ผู้ขายหรือผู้ซื้อต่างก็มองเห็นเหมือนกัน ไม่น่าจะมีข้อขัดแย้งใดๆขึ้นครับ

 

 

การเกรดแผ่นเสียงด้วยสายตา

เป็นการตีค่าหรือระบุค่าของแผ่นเสียงตามสภาพของมันด้วยการมองนั่นเอง ไม่เหมือนกับการตีค่าจากการฟังนะครับ แต่วิธีนี้ค่อนข้างรวดเร็วและมักไม่ค่อยผิดพลาดเท่าใด เนื่องจากสายตาของเรามักจะมองเห็นสิ่งต่างๆไปในทิศทางเดียวกัน แผ่นสวย เราก็มองเห็นเหมือนกันว่ามันสวยจริง ใช่ไหมครับ

สำหรับคนฟังเพลงทั่วๆไปอาจจะมีการเกรดแผ่นด้วยสายตาไปตามสไตล์ของแต่ละคน แต่ผมจะค่อนข้างซีเรียสเรื่องนี้ เพราะมันเกี่ยวกับเครดิตของร้านผม และความเชื่อมั่นจากลูกค้าด้วย จึงได้แยกและระบุเกรดต่างๆของแผ่นเสียงในร้านดังนี้

F หรือ G (fair หรือ good)
ซึ่งถือว่าเป็นเกรดต่ำสุดของแผ่นในร้าน ถ้าเรียกแบบชาวบ้านก็คือ สภาพพอดูได้ แต่ขี้เหร่มากหน่อย มีริ้วรอยมาก อาจมีคราบที่ล้างไม่ออก หรือสิ่งแปลกปลอมที่ไม่สามารถล้างได้อยู่ตามร่องเสียง แต่ก็เปิดฟังได้ เสียงไม่ใส มีเสียงรบกวนพอสมควร จนถึงมาก แผ่นเหล่านี้ตีเป็นแผ่นขยะครับ แต่ก็ยังพอมีราคาอยู่บ้าง ในกรณีแผ่นที่หาฟังยาก หรือลูกค้าต้องการเอาไปฟังจริงๆ เพื่อรอแผ่นเดียวกันที่สภาพที่ดีกว่าในภายหลัง แผนที่พบในสภาพดังกล่าวมักเป็นแผ่นยุคเก่า อายุเกิน 40-50 ปี หรือแผ่นที่เจ้าของเดิมไม่ดูแลรักษาให้ดีพอ ปล่อยทิ้งขว้างเหมือนของไร้ค่า
เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ก็คือ 50% หรือต่ำกว่า

VG (very good)
แน่นอนว่าสภาพโดยรวมดีกว่า G มาก มีริ้วรอยอยู่บ้าง แต่ไม่มากจนน่าเกลียด ผิวแผ่นมีความมันวาวอยู่ อาจมีคราบหรือฝุ่นติดอยู่ เปิดฟังมีเสียงรบกวนบ้าง อาจมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับว่าแผ่นนั้นผ่านการฟังจากเจ้าของเดิมมามากน้อยเพียงใด แผ่นเหล่านี้ราคาต่ำจนถึงปานกลางครับ ซึ่งจะพบเห็นได้ตั้งแต่ราคา 100-500 บาท
*หากมีเครื่องหมาย + พ่วงท้าย เป็น VG+ ก็เท่ากับสภาพดีขึ้นมาอีกเล็กน้อย แต่ไม่ถึงกับ EX ครับ
เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ก็คือ 50 ขึ้นไปจนถึง 80%

EX (excellent)
เป็นแผ่นสภาพดีมากหรืออาจจะเรียกว่าสวยก็ได้ครับ แต่ก็ยังมีตำหนิเล็กๆอยู่บ้าง เช่น รอยขนแมวไม่กี่รอย ความเงางามเกือบเต็มที่ ไม่มีคราบรอยนิ้วมือ ฝุ่น หรือขนสัตว์ติด ฟังแล้วแทบไม่มีเสียงรบกวน แต่อาจมีเล็กน้อยบางๆตอนต้นแผ่น อันเกิดจากเจ้าของเดิมใช้มือจับบริเวณนั้น ส่วนใหญ่แผ่นที่ร้านนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น มักจะเป็นแผ่นเกรด Ex เกือบทั้งสิ้น ซึ่งราคาของมันก็สูงกว่าแผ่นที่นำเข้าจากประเทศอื่นๆครับ ราคาขึ้นอยู่กับความพึงพอใจและสภาพโดยรวมครับ มีตั้งแต่ 300-800 บาท
เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ก็คือ 80-90% 

NM (near mint)
ภาษาคนเล่นแผ่นก็คือ กริ๊บ หรือ เกือบซิง แทบไม่มีร่องรอยผ่านการเล่นมาก่อน หรืออาจมีรอยขนแมวเล็กน้อย เพียงรอยหรือสองรอย แผ่นเงางามตลอดทั้งแผ่น ผมจะให้เกรดแผ่นในร้านเป็น NM ก็ต่อเมื่อไม่มีร่องรอยอย่างที่บอกข้างต้น รวมทั้งแผ่นที่ซีลด์มา แล้วผมแกะฟังเพลงเพื่อลองเสียง หรือฟังสไตล์ดนตรีเพียงครั้งเดียว ซึ่งก็ถือว่าเป็นแผ่นที่โดนเปิดซิงแล้วนั่นเอง แต่ไม่บุบสลายครับ
เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ก็คือ 90% ขึ้นไป

SEALED (แผ่นที่ยังไม่ได้แกะฟัง)
เป็นแผ่นซิง หรือแผ่นมือหนึ่ง ซึ่งเราจะทราบทันที เพราะยังมีพลาสติกหุ้ม (shrink wrap) อยู่ แต่แผ่นซิงก็ใช่ว่าจะสภาพ 100% ไปเสียทั้งหมด นานๆที จะเจอแผ่นที่มีความผิดพลาดจากโรงงาน เช่น แผ่นโก่ง แปะเลเบลกระดาษเบี้ยวจนอาจไปทับร่องเสียง หรือแม้แต่มีรอยฟองอากาศในเนื้อแผ่น ซึ่งเป็นเรื่องของโชคนะครับ โอกาสเช่นนี้จะอยู่ประมาณ 1 ใน 5,000 ครับ
เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ก็คือ 100%

 

ราคาของแผ่นเสียง

เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ปัจจัยหลักๆก็คือ

1. ความหายากของแผ่น ยิ่งเป็นแผ่นที่นักสะสมตามล่า มันย่อมหายาก ราคาจึงถีบตัวสูงขึ้นตลอดเวลา ยิ่งเป็นแผ่นปั๊มแรกหรือที่เรียกว่า Original ยิ่งมีราคา ส่วนจะสูงมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับสภาพแผ่นครับ แผ่น Original เหมือนกัน แผ่นแรกสภาพ VG อีกแผ่นสภาพ NM ราคาจะแตกต่างกันมากครับ ส่วนใครจะตัดสินใจซื้อหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการด้วย

2. สภาพของแผ่น ซึ่งอย่างที่ยกตัวอย่างมากแล้ว บางคนไม่ซีเรียสเรื่องสภาพแผ่น ก็มีโอกาสได้แผ่นดีๆในราคาไม่สูงมากนักมาสะสมครบ

3. จำนวนผลิตของแผ่น ถ้าเป็นแผ่นที่ผลิตแบบจำกัดจำนวน (limited edition) หรือผลิตน้อย ราคาจะสูงขึ้นอีก ยิ่งเป็นแผ่นที่ผลิตในวาระพิเศษ ทำเป็นแผ่นสี แผ่นรันหมายเลข หรือมีของแถมเฉพาะล็อตแรกที่ผลิต ก็มีมูลค่าในตัวมันเอง และกระแสความต้องการของคนซื้อด้วย

4. ประเทศที่ผลิต อันนี้ไม่ตายตัวครับ แต่ส่วนใหญ่แผ่นจากญี่ปุ่นและประเทศแถบยุโรปจะมีราคาสูงกว่าประเทศอื่นเล็กน้อย เพราะค่าเงินเป็นหลัก กรณีของญี่ปุ่นเป็นที่ยอมรับกันว่าแม้จะเป็นแผ่นมือสอง แผ่นที่ผ่านการฟังมาแล้ว สภาพก็ยังดีมาก เหตุเพราะเจ้าของเดิมเป็นรักษาเป็นอย่างดี เท่าที่ทราบมาจากเพื่อนคนญี่ปุ่น บอกว่าคนญี่ปุ่นซื้อแผ่นเสียงมาฟังครั้งแรก แล้วอัดลงเทปคาสเสตต์เพื่อไว้เปิดฟังกับเครื่องเล่นเทปหรือซาวน์ดอะเบาต์ ส่วนแผ่นเสียงเก็บเข้าตู้ ไม่นำออกมาเล่นอีกเลย สภาพแผ่นจึงใหม่มาก บางแผ่นใหม่เหมือนไม่เคยฟังมาเลยก็มี

 

สรุปว่าหากคุณจะซื้อแผ่นเสียงมาฟัง หรือถึงขั้นซื้อมาเก็บสะสมตามรสนิยม ควรศึกษาให้ละเอียดและรอบรู้ขึ้นกว่าเดิมก่อนครับ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของพ่อค้า หรือนักฉวยโอกาส ตลาดแผ่นเสียงทุกวันนี้มีคนขายจำนวนมาก โชคดีที่ส่วนใหญ่เป็นคนขายที่ฟังเพลงด้วย พวกเขาจึงไม่เอาเปรียบและไม่หลอกลวงลูกค้า หากสงสัยหรือมีคำถามเกี่ยวกับแผ่นเสียง ติดต่อสอบถามได้เลยนะครับ ส่งข้อความไปที่ Records Hunter Shop

 

 

____________________________

สั้นๆเกี่ยวกับผู้เขียน



นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี2545-2548

ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Records Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook