100 ปีจะมีสักคน : ในหลวง ร.9 กับพระอัจฉริยภาพทางดนตรี โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
ยังไม่หายช็อกจากข่าวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย แต่ก็ทำให้มีโอกาสได้ขึ้นซีรีส์ใหม่เป็นปฐมฤกษ์ด้วยศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดท่านหนึ่งของไทย ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ใด พระบาทสมเด็จพระพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามมินทราธิราช (ต่อไปขออนุญาตขานพระนามท่านว่า “ในหลวง”) ซีรีส์นี้จะเป็นการนำเสนอประวัติ ผลงาน และคุณูปการของบุคคลในแวดวงดนตรีแต่ละคนมาประมวลไว้ ไม่ว่าจะเป็นไทยหรือเทศ ล่วงลับหรือยังมีชีวิตอยู่ แต่โดยข้อจำกัดอาจเน้นไปที่ศิลปินที่ล่วงลับไปแล้วนะครับ
เป็นเรื่องที่น่าเศร้าและสุดแสนเสียดายที่เราต้องสูญเสียท่านไปอย่างถาวร เหลือไว้แต่ผลงานของท่านในหลายสาขา โดยเฉพาะสาขาดนตรีที่เราคุ้นเคยกันมาแต่อดีตกว่า 50 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยเป็นเด็กพอจำความได้ ผลงานของท่านที่เรียกรวมว่า “เพลงพระราชนิพนธ์” ซึ่งถูกนำไปใช้เป็นเพลงประกอบสารคดีพระราชกรณียกิจของพระองค์เอง ถูกวงดนตรีนำไปบรรเลงเพื่อเทิดพระเกียรติของพระองค์ หรือถูกนำไปใช้แบบเรียนดนตรีที่ไม่มีวันล้าสมัยเลย เพลงพระราชนิพนธ์จึงน่าจะเป็นเพลงในอันดับต้นๆของประเทศไทยที่มีผู้คนรู้จัก จำท่วงทำนองได้ หรือแม้แต่ร้องตามได้มากที่สุด เช่นเดียวกับเพลงลอยกระทง เพลงวันปีใหม่
นอกจากมีพระปรีชาในการเล่นเครื่องดนตรีเป่า อาทิ คลาริเนต, แซกโซโฟน และทรัมเปตแล้ว ยังทรงเล่นเปียโนและกีตาร์ได้ดีอีกด้วย ทรงนิพนธ์ “เพลงพระราชนิพนธ์” ไว้ถึง 48 เพลงแล้ว ท่านยังได้รับถวายประกาศนียบัตรและสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสถาบันดนตรีเมืองเวียนนา ในปีพ.ศ.2503 ซึ่งเป็นคนเอเชียคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้ ปี2530 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาดนตรี และมหาวิทยาลัยมหิดล ถวายปริญญาศิลปะศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาดนตรีในปี 2536 ทรงได้รับยกย่องให้เป็นองค์อัครศิลปินแห่งชาติโดยสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติในปี 2529 ด้วย
ในช่วงที่ยังทรงพระเยาว์ได้ฝึกเป่าแซกซ์โดยมีแผ่นเสียงของจอห์นนี ฮอดจ์ส ซิดนีย์ บีเชต เป็นแบบอย่าง ท่านจึงชอบพระทัยดนตรีสไตล์ดิกซีแลนด์ แจ๊ซเป็นพิเศษ พระองค์เล่นดนตรีร่วมกับวงส่วนพระองค์ชื่อ อ.ส. วันศุกร์ โดยออกอากาศผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงทุกวันศุกร์ ตลอดจนจัดรายการเพลง เลือกเพลงมาเปิดจากแผ่นส่วนพระองค์
เพลงพระราชนิพนธ์
ความรู้ทางดนตรีส่วนหนึ่งพระองค์ได้มาจากการเล่นดนตรีร่วมกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล ตลอดจนได้พูดคุยกับนักแต่งเพลงระดับแถวหน้าของไทยหลายท่าน กระทั่งได้พระราชนิพนธ์เพลงแรกคือ เพลงแสงเทียน ในท่วงทำนองบลูส์ แต่ยังไม่อนุญาตให้นำไปเผยแพร่ เพราะยังต้องแก้ไขอีกหลายส่วน เพลงแรกๆที่ได้เผยแพร่จริงๆคือ “ยามเย็น” และ “สายฝน” เพลงเหล่านี้ได้รับความนิยมและชื่นชอบในหมู่พสกนิกรตั้งแต่ครั้งนั้นมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้เพลงอย่าง “พรปีใหม่” ก็เป็นเพลงที่ถูกนำมาบรรเลงและร้องขับขานอยู่ตลอด ไม่เคยเลือนหายไปจากกลุ่มคนฟังเพลง
นอกจากพระอัจฉริยภาพทางดนตรีแล้ว การละครก็เป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่พระองค์โดดเด่นมาก ดังปรากฏอยู่ในเพลงประกอบการแสดงชุดมโนราห์ เพลงชุดแสงเดือนที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงบัลเลต์ รวมทั้งพระราชนิพนธ์คำร้องเป็นภาษาอังกฤษในเพลง “Still On My Mind” “No Moon” และ “Dream Island” ในยามที่สถานการณ์บ้านเมืองสั่นคลอน พระองค์ยังเสียสละเวลาส่วนพระองค์พระราชนิพนธ์เพลงปลุกใจเพื่อให้กำลังใจแก่พสกนิกรหลายเพลง อาทิ ความฝันอันสูงสุด และ เราสู้
ช่วงเวลาสำคัญที่บ่งบอกถึงพระปรีชาสามารถในเชิงดนตรีของพระองค์คือช่วงที่มีนักดนตรีแจ๊ซชื่อดังของโลกเดินทางมาเปิดการแสดงในไทยและได้รับเกียรติให้ร่วมบรรเลงดนตรีร่วมกับพระองค์ อย่างเบนนี กูดแมน นักเป่าคลาริเนต ลีโอเนล แฮมป์ตัน มือระนาดฝรั่ง (ไซโลโฟน) มือทรอมโบนแจ๊ซ แจ๊ก ทีการ์เดน ไปจนถึงสแตน เกตซ์ มือแซกซ์ชื่อก้องโลก ทุกเหตุการณ์เป็นประวัติอีกหน้าหนึ่งของวงการดนตรีสากลและเป็นหลักฐานถึงอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระองค์ที่นักดนตรีจากต่างแดนยอมรับโดยดุษณี ขณะที่นักดนตรีเหล่านั้นก็ตระหนักดีว่าพวกเขาได้รับเกียรติอันสูงสุดครั้งหนึ่งในชีวิตที่มีโอกาสได้ร่วมเล่นดนตรีกับในหลวง ผู้ที่มีพระปรีชายอดเยี่ยมและมีอัจฉริยภาพทางดนตรีมากที่สุดท่านหนึ่งแห่งยุค
มีสารคดีเกี่ยวกับพระราชประวัติครั้งหนึ่งสมัยที่พระองค์เสด็จไปรับรางวัลที่เวียนนา ซึ่งวันนั้นวงออร์เคสตราของเวียนนาได้บรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ถวายแด่ในหลวงและพระราชินีที่ประทับทอดพระเนตรอยู่ชั้นบนสุด หลังจากจบการบรรเลง ผู้ชมพร้อมใจกับปรบมือกันเป็นเวลานานหลายนาที จนพระองค์ต้องลุกขึ้นยืนคำนับ กระนั้น เสียงปรบมือก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะซาหรือหยุดลง จนพระราชินีต้องลุกขึ้นยืนอีกพระองค์ ในที่สุด วงออร์เคสตราตัดสินใจเล่นอังกอร์ด้วยเพลงมาร์ชราชวัลลภ จึงนับเป็นการยุติคอนเสิร์ตอย่างสมบูรณ์แบบ ผู้ชมพากันแห่มาแซ่ซ้องพระองค์ราวกับเป็นซุเปอร์สตาร์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนไม่ว่าผู้ชมหรือนักดนตรีต่างตระหนักและชื่นชมในพระอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระองค์จนไม่อาจเก็บความรู้สึกไว้ได้มากกว่า
พระองค์ได้พระราชทานพระบรมโชวาทในงานสังคีตมงคลครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2512 ว่า “ดนตรีนี้มีไว้สำหรับให้บันเทิง แล้วก็ให้จิตใจสบาย ดนตรีคือเสียง แต่สิ่งประกอบยังมีว่า เสียงนั้นเป็นเสียงอะไร นั่นแหละ ยังเป็นคุณภาพของเสียง พวกเราเป็นนักดนตรี นักเพลง นักเกี่ยวข้องกับเรื่องศิลปะในด้านการแสดง การแสดงโดยเฉพาะดนตรี พวกเรานี่มีความสำคัญมากไม่ใช่น้อยสำหรับส่วนรวม เพราะดนตรีนั้นเป็Hนสิ่งหนึ่งที่จะแสดงออก ซึ่งความรู้สึกของชนหมู่หนึ่ง ในที่นี้ชนคนไทยก็คือ ประชาชนคนไทยทั้งหลาย จะแสดงความรู้สึกออกมา หรือจะรับความรู้สึกที่แสดงออกมาก็ด้วยดนตรี พวกเราที่เป็นนักเพลงนักดนตรีจึงมีความสำคัญยิ่ง” พระองค์ให้ความสำคัญกับดนตรีเสมอ อีกทั้งยังปลูกฝังดนตรีให้กับพสกนิกรชาวไทยในช่วงที่พระองค์ทรงเล่นดนตรีอีกด้วย เป็นคุณูปการที่พสกนิกรชาวไทยไม่อาจลืมเลือนได้ตราบจนทุกวันนี้และตลอดไป
รายละเอียดของเพลงพระราชนิพนธ์ทั้ง 48 เพลง คลิกที่นี่ เลยครับ
ขอบคุณ ท.พ. กองทุน รวยแท้ สำหรับข้อมูลเชิงลึกบางส่วนไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
____________________________
สั้นๆเกี่ยวกับผู้เขียน
นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี2545-2548
ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Records Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน