ทวนเข็มนาฬิกา ย้อนเวลาตามรอยกษัตริย์นักดนตรีที่โลซานน์ | Sanook Music

ทวนเข็มนาฬิกา ย้อนเวลาตามรอยกษัตริย์นักดนตรีที่โลซานน์

ทวนเข็มนาฬิกา ย้อนเวลาตามรอยกษัตริย์นักดนตรีที่โลซานน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง ทรงเริ่มสนพระราชหฤทัยและศึกษาวิชาดนตรีตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ขณะประทับอยู่ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเริ่มเรียนดนตรีเมื่อพระชนมายุ 13 พรรษา กับครูชาวอัลซาส ชื่อ นายเวย์เบรชท์ (Wey-brecht) โดยทรงเรียนเป่าแซกโซโฟน วิชาการดนตรี การเขียนโน้ต และสเกลต่าง ๆ ในแนวดนตรีคลาสสิค

ในขณะที่ทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราชอยู่นั้นทรงเริ่มสนพระราชหฤทัยในดนตรีแจ๊ส และโปรดการฟังแผ่นเสียงของนักดนตรีแจ๊สชั้นนำหลายท่าน ดังที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงเล่าไว้ในหนังสือ “เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์” ว่า “เมื่อถึงเวลาสนพระทัยแผ่นเสียงก็แบ่งกันอีก รัชกาลที่ 8 ทรงเลือก Louis Armstrong และ Sidney Bechet รัชกาลที่ 9 ทรงเลือก Duke Ellington และ Count Basie เกี่ยวกับการซื้อแผ่นเสียงนี้ ถ้าเป็นแจ๊สต้องซื้อเอง ถ้าเป็นคลาสสิกเบิกได้”

 “สิ่งที่ทรงเล่นมาด้วยกันเป็นเวลานานคือดนตรี รัชกาลที่ 8 ทรงเริ่มด้วยเปียโนเพราะเห็นข้าพเจ้าเรียนอยู่ รัชกาลที่ 9 ขอเล่นหีบเพลง (accordion) เรียนอยู่ไม่กี่ครั้งก็ทรงเลิก “เพราะไม่เข้ากับเปียโน” แล้วรัชกาลที่ 8 ก็ทรงเลิกเรียนเปียโนไป เมื่ออยู่อาโรซ่า เวลาหน้าหนาว ได้ทอดพระเนตรวงดนตรีวงใหญ่ที่เล่นอยู่ที่โรงแรม รู้สึกอยากเล่นกัน ทรงหาแซกโซโฟนที่เป็นของใช้แล้ว (second hand) มาได้ ราคา 300แฟรงค์ แม่ออกให้ครึ่งหนึ่งและสโมสรปาตาปุมออกให้อีกครึ่งหนึ่ง

เมื่อครูมาสอนที่บ้าน รัชกาลที่ 8 ทรงดันพระอนุชาเข้าไปในห้องเรียน รัชกาลที่ 9 จึงเป็นผู้ริเริ่ม เมื่อเรียนไปแล้ว 2-3 ครั้ง รัชกาลที่ 8 ทรงซื้อแคลริเน็ต (clarinet) ส่วนพระองค์ วันเรียน ครูสอนองค์ละ 30 นาที แล้วครูก็เอาแซกโซโฟน (saxophone) ของเขาออกมาและเล่นด้วยกันทั้ง 3 เป็น Trio”

นอกจากแซกโซโฟนแล้ว ยังสนพระราชหฤทัยในการทรงศึกษาเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ ได้แก่ แตร เปียโน กีตาร์ และขลุ่ย ดังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในบทพระราชนิพนธ์ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาดนตรี” ความตอนหนึ่งว่า

“...สำหรับแตรนั้นสนพระราชหฤทัยจึงไปเช่ามาเป็นแตรคอร์เน็ต อีกหลายปีจึงทรงซื้อเอง ดูเหมือนว่าแตรทรัมเป็ตเครื่องแรกที่ทรงซื้อจะเป็นแตรยี่ห้อเซลเมอร์ สั่งซื้อจากอังกฤษ แต่เป็นของฝรั่งเศส (เครื่องนี้พระราชทานวงสุนทราภรณ์ไป) จึงซื้อใหม่ยี่ห้อเซลเมอร์เหมือนกัน ครูเวย์เบรชท์บอกว่าแตรดีที่สุดคือยี่ห้อกูร์ตัว แต่ไม่ได้ทรงซื้อ...”

“… สำหรับเครื่องดนตรีต่างๆที่ทรงเล่น มีเปียโน ไม่เคยทรงเรียนจริงจังจากใคร เล่นเอาเอง ดูโน้ต เรียนวิธีประสานเสียง กีตาร์ ทรงเล่นเมื่อพระชนม์ราว 16 พรรษา เพื่อนที่โรงเรียนเป็นรุ่นพี่อายุมากกว่า ให้ยืมเล่น ภายหลังไปเอาคืน เขาเห็นว่าสนใจจึงให้เลย ขลุ่ย ทรงเล่นเมื่อพระชนม์ประมาณ 16 - 17 พรรษา เห็นว่าราคาไม่แพงนัก เล่นไม่ยาก นิ้วคล้ายๆแซกโซโฟน...ตอนหลังเคยเห็นทรงเล่นไวโอลินด้วย คิดว่าทรงเล่นเอาเองไม่มีครูสอนดนตรี …”

และเมื่อเสด็จนิวัติประเทศไทย ได้ทรงรวบรวมพระประยูรญาติบางองค์และคนสนิทมาเล่นดนตรีกันและพระราชทานชื่อวงนี้ว่า “วงลายคราม” ต่อมาพระราชทานชื่อวงใหม่ว่า “วงดนตรี อ.สศุกร์” นอกจาก.วันนี้ยังทรงพระราชนิพนธ์เพลงด้วยพระองค์เองอีก 48 เพลง และทรงเป็นครูสอนดนตรีแก่ข้าราชบริพารใกล้ชิด ทรงสอนผู้ไม่เป็นให้เล่นดนตรีได้ แม้กระทั่งคนตาบอด ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีอย่างแท้จริง

 

____________________

Story : Double J

ขอบคุณข้อมูลจาก Thaiembassy.ch และ Chumchonmusic.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook