ความรัก ดนตรี กินรี ลีลา : ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับ คีตนาฏกรรมบัลเลต์มโนห์รา บัลเลต์เรื่องแรกของไทย | Sanook Music

ความรัก ดนตรี กินรี ลีลา : ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับ คีตนาฏกรรมบัลเลต์มโนห์รา บัลเลต์เรื่องแรกของไทย

ความรัก ดนตรี กินรี ลีลา : ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับ คีตนาฏกรรมบัลเลต์มโนห์รา บัลเลต์เรื่องแรกของไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คราวหนึ่งเคยมีการแสดงคีตนาฏกรรมบัลเลต์เรื่อง “มโนห์รา มโนห์รา” เป็นวรรณกรรมในรูปแบบนิทานพื้นบ้านระดับ “คลาสสิค” ของไทยและภูมิภาคอุษาคเนย์ โดยมีเค้าเรื่องจาก “สุธนชาดก” ท้องเรื่องนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับชะตากรรมความรัก ความพลัดพราก ความอาลัยอาวรณ์ ระหว่างพระสุธนกับนางมโนห์รากินรี เช่นเดียวกัน บัลเลต์ ก็เป็นคีตนาฏกรรมแบบ “คลาสสิค” ของตะวันตกที่นำเสนอด้วยท่วงท่าของการเต้นอันงามสง่าสอดคล้องไปกับท่วงทำนองดนตรีอันวิจิตร และกล่าวได้ว่าในคราวนั้นเป็นคีตนาฏกรรมบัลเลต์แบบไทยชุดแรกของโลกด้วย โดย การแสดงชุดนี้ประกอบด้วยการแสดงบัลเลต์ ๑ องก์ ใช้เวลาในการแสดง ๓๕ นาที เปิดการแสดงเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและในโลกระหว่างวันที่ ๕-๗ ธันวาคม ๒๕๐๕ ณ เวทีสวนอัมพร เนื่องในงานกาชาด

การแสดงชุดนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นผู้อำนวยการจัดการแสดงอย่างเต็มที่ ตั้งแต่พระราชทานเค้าโครงเรื่องกำหนดบทสำหรับแสดง ทรงพระราชนิพนธ์เพลง และทรงควบคุมการฝึกซ้อมด้วยพระองค์เอง สาเหตุที่ทรงเลือกเรื่องมโนราห์เกิดจากพระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในการแสดงโนราที่ได้ทอดพระเนตรในเวลาเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรภาคใต้ และที่โนรา พุ่มเทวาแสดงถวายตัวหน้าพระที่นั่ง ณ พลับพลาศาลากลาง จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ พระองค์รับสั่งให้พระศาสนโสภณค้นเรื่องสุธนชาดกถวาย แต่ทรงเห็นว่าเนื้อเรื่องยาวไป จึงทรงผูกเรื่องใหม่ให้กะทัดรัดเหมาะแก่การแสดงบัลเลต์ มีเรื่องย่อตามบทพระราชนิพนธ์ตั้งแต่นางกินรีถูกพรานไพรจับตัวมาถวาย เจ้าชายและนางกินรีรักกัน เจ้าชายจากไปรบ นางกินรีโศกเศร้าอาดูร เจ้าชายเสด็จกลับ จบเรื่องด้วยความรู้สึกปีติสุขของนางกินรี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ คุณหญิงเจเนเวียฟ เลสปันยอล ดามง (Madame Genéviève L. Damon) ดาราบัลเลต์ผู้มีชื่อเสียงระดับโลกชาวฝรั่งเศส เป็นผู้ประดิษฐ์ท่าเต้นเพื่อประกอบบทเพลงพระราชนิพนธ์ และโปรดเกล้าฯ ให้นาย ปิแอร์ บาลแมง นักออกแบบเครื่องแต่งกายที่มีเสียงระดับโลก เป็นผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายบทบาทหลัก

ภาพการแสดงคีตนาฏกรรมบัลเลต์เรื่องมโนห์รา

 

โดยบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ใช้ในประกอบการแสดงในครั้งนั้นมีทั้งที่เป็นพระราชนิพนธ์เดิม และบทเพลงที่ทรงพระราชนพันธ์ขึ้นใหม่ ทรงนำมาเชื่อมกันและเรียบเรียงเสียงประสาน และโปรดเกล้าฯ ให้วงดนตรีสุนทราภรณ์บรรเลง โดยทรงควบคุมการฝึกซ้อมด้วยพระองค์เอง เพลงพระราชนิพนธ์ชุดที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่นี้ชื่อว่า Kinari Suite และเพลงพระราชนิพนธ์เดิมคือเพลง อาทิตย์อับแสง (Blue Day) บทเพลงที่ใช้ในการแสดงบัลเลต์เรื่องมโนห์ราจึงมี ๕ บทเพลงด้วยกัน ได้แก่

๑. เพลง Nature Waltz หรือ เริงวนารมย์ บรรยายธรรมชาติสวยงามของสรรพสัตว์และพฤกษาพรรณในป่าหิมพานต์ มีลีลาท่วงทำนองคึกคักเร้าความรู้สึกเบิกบาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแทรกเสียงให้เกิดความน่ารักเอ็นดู เหมาะสมกับนักแสดงเด็กๆ ในชุดกระต่าย นก ผีเสื้อ กบ ดอกบัว

๒. เพลง The Hunter หรือ พรานไพร พรรณนาพรานบุญจับนางมโนห์ราได้ ลีลาเพลงหลากหลายอารมณ์ปนกัน ทั้งภาคภูมิ เยือกเย็น โดดเดี่ยว หม่นเศร้า และอ่อนหวาน

๓. เพลง Kinari Waltz หรือ กินรี พรรณนาถึงพี่น้องกินรีทั้ง ๗ นาง เพลงมีลีลาร่าเริง สนุกสนาน มีความสุข

๔. เพลง A Love Song หรือ ภิรมย์รัก เป็นเพลงที่มีคำร้องประกอบและเป็น Love Theme ระหว่างพระสุธนมโนห์รา พลเรือตรีปรีชา ดิษยนันท์เป็นผู้ประพันธ์คำร้องภาษาไทย และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงพระราชนิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ คำร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษพรรณนาความรักความอาวรณ์ที่ต้องจากกัน และกล่าวถึงพลังรักที่ทำให้โลกนี้รื่นรมย์

๕. เพลง Blue Day หรือ อาทิตย์อับแสง รำพันพรรณนาถึงความเศร้าสร้อยของนางกินรีที่เจ้าชายต้องจากไปรบ

เพลง Blue Day หรือ อาทิตย์อับแสง นี้เองเป็นบทเพลงซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ซึ่งเป็นช่วงที่ทรงรู้จักชอบพอกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับแรมบนภูเขาในเมืองดาโวส ห่างจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งประทับ ณ เมืองโลซานน์

ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีตั้งแต่เริ่มออกแสดงรอบแรก คีตนาฏกรรมมโนห์ราบัลเลต์ได้ถูกนำมาจัดแสดงในหลายโอกาส ทั้งงานต้อนรับพระราชอาคันตุกะตลอดจนสนองงานใต้เบื้องพระยุคลบาทขณะที่พระองค์ท่านเสด็จแปรพระราชฐานไปทรงงานยังภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย

จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ อันเป็นปีมิ่งมหามงคลวโรกาส ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงโปรดเกล้าฯให้คุณหญิงเจเนเวียฟ เลสปันยอล ดามง ประดิษฐ์ท่าเต้นบัลเลต์ประกอบบทเพลงพระราชนิพนธ์เรื่องดังกล่าวนี้ถวายอีกครั้ง โดยทรงรับไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์และพระราชทานให้จัดการแสดงบัลเลต์เรื่องนี้ขึ้นในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นเดือนพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเชิดชูคีตมหาราชนิพนธ์ชุดนี้ให้ปรากฏอีกครั้งหนึ่งในวาระแห่งมหามงคลวโรกาสทั้งสอง

การแสดงคีตกรรมบัลเลต์ประกอบบทเพลงพระราชนิพนธ์เรื่องมโนห์รา ฉบับ พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยมีการปรับปรุงโดยได้ขยายเนื้อหาการดำเนินเรื่องและเพิ่มเติมบทเพลงพระราชนิพนธ์ประกอบการแสดงมากขึ้นกว่าในอดีต โดยแบ่งเป็นการแสดง ๒ องก์ ใช้ระยะเวลาในการแสดงประมาณ ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที บรรจุบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ใช้ประกอบการแสดงในครั้งนี้มีทั้งสิ้น ๑๖ บทเพลง ซึ่งบรรเลงโดยวงดุริยางค์กองทัพเรือ อำนวยการบรรเลงดนตรีโดยพลเรือตรีหม่อมหลวงอัศนี ปราโมช ออกแบบเครื่องแต่งกายถวายโดย อีริค มอร์เทนเซน ปรับปรุงเครื่องแต่งกายการแสดง (ยกเว้นชุดนกยูงและชุดพระสุธน) โดยธีระพันธ์ วรรณรัตน์ และจัดการแสดงถวายต่อหน้าที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ในระหว่างวันที่ ๑๘-๒๐ ธันวาคม ๒๕๓๕ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร

ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า คีตนาฏกรรมชุด มโนห์รา จึงเป็นเรื่องราวแห่งความรักที่สะท้อนถึงความรักในเสียงดนตรี รวมทั้งสะท้อนเรื่องราวความรักของพระองค์ที่มีต่ออิสริยนารีผู้เป็นที่รัก ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลพระทัยที่แสดงให้เห็นถึงพระวิสัยทัศน์ในทางศิลปะตลอดจนพระอัจฉริยภาพในทางดนตรีอย่างยากที่จะหาผู้ใดเปรียบได้โดยแท้จริง

 

เอกสารอ้างอิง

1. ถวัลย์ มาศจรัส (๒๕๔๔). พระองค์คืออัครศิลปิน. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: ธารอักษร.

2. แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ (๒๕๔๕). “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับเพลงพระราชนิพนธ์” วารสารราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๒๗ ฉบับพิเศษ ธันวาคม หน้า ๑๑๙-๑๒๑. (ฉบับเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๕ พรรษา)

3. รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ (๒๕๕๔). อัครศิลปินแผ่นดินสยาม. กรุงเทพฯ: พิมพ์คำ.

4. ศิริมงคล นาฏยกุล (๒๕๕๙). “มโนห์ราบัลเล่ต์รัชกาลที่ ๙ (บัลเลต์ไทยเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยและของโลก) พระอัจฉริยภาพที่คนไทยไม่เคยรู้มาก่อน” มติชนรายวัน ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๙: ๑๘.

5. ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (๒๕๓๕). สูจิบัตรการแสดงบัลเล่ต์ ระบำปลายเท้าชุด ''มโนห์รา'' จากบทเพลงพระราชนิพนธ์ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย.

 

หมายเหตุ

การสะกดคำว่า “มโนห์รา” ในบทความนี้ อิงตามแนวทางของ ศาสตราจารย์ ดร. รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ และ รองศาสตราจารย์ ดร. ศิริมงคล นาฏยกุล 

Story : นภัสรพี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook