อัครศิลปินที่ทรงดนตรีด้วยความหลงใหล และมีความสุขตลอดพระชนม์ชีพ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดการเล่นดนตรี มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยทรงเก็บหอมรอมซื้อแซกโซโฟนมือสองด้วยเงินเก็บส่วนพระองค์ จากนั้นทรงหมั่นฝึกฝน เรียนรู้ และฝึกซ้อมเป็นประจำจนเป็นกิจวัตรประจำวัน ทรงพระราชนิพนธ์บทเพลง “แสงเทียน” เป็นครั้งแรกเมื่อพระชนมายุเพียง 18 ชันษา เมื่อเสด็จนิวัตประเทศไทย เมื่อ ปี พ.ศ ๒๔๙๔ พระองค์ท่านก็ไม่เคยละเว้นจากการฝึกซ้อม และทรงหาเวลาทรงดนตรีอยู่เสมอ ๆ โดยทรงรวบรวมพระประยูรญาติบางองค์และคนสนิท มาจัดตั้งวงดนตรีส่วนพระองค์วงแรก พระราชทานนามว่า “วงลายคราม” ในครานั้นทรงดนตรีเพื่อพระเกษมสำราญเป็นส่วนพระองค์ มีการฝึกซ้อม และทรงประทับเล่นดนตรี ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิตอยู่เนือง ๆ รวมไปถึงการเสด็จแปรพระราชสถาน หรือเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรก็จะทรงโปรดให้มีคณะนักดนตรีติดตามไปด้วย
พระองค์ทรงเห็นว่าดนตรีนั้นสามารถใช้เป็นสื่อในการเข้าถึงประชาชน ทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงที่ให้กำลังใจชาวไทย เช่น เพลง “เราสู้” และเพลง “ความฝันอันสูงสุด” ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ กรมประชาสัมพันธ์ได้น้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องส่งวิทยุกำลังส่ง ๑๐๐ วัตต์ ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ พระองค์ท่านจึงทรงจัดตั้ง “สถานีวิทยุ อ.ส.” (ตัวอักษรย่อ อ.ส. มาจากพระที่นั่งอัมพรสถาน) เพื่อใช้เป็นสื่อกลางให้ความบันเทิงและสาระประโยชน์ ตลอดจนข่าวสารต่างๆ แก่ประชาชน เมื่อสมาชิกวงลายครามมีอายุมากขึ้นจนเล่นไม่ไหว จึงได้ปรับปรุงสมาชิกวงใหม่ แต่พระราชทานชื่อใหม่ว่า “วงดนตรี อ.ส วันศุกร์”
โดยพระองค์ท่านจะทรงดนตรีร่วมกับวงเพื่อออกอากาศเป็นประจำทุกวันศุกร์ ทรงจัดรายการเพลง และทรงเลือกแผ่นเสียงเอง บางครั้งโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ฟังโทรศัพท์ขอเพลงจากวงดนตรีที่กำลังบรรเลงได้ด้วย จะเห็นว่าพระองค์ท่านทรงเริ่มต้นด้วยความหลงใหลในดนตรีอย่างแท้จริง เกิดแรงบันดาลในการเขียนเพลงพระราชนิพนธ์ สู่การเผยแพร่ผ่านวิทยุ และทรงบรรเลงดนตรีสด ๆ ในขณะออกอากาศ (ต้นแบบ Live Session เมื่อ 64 ปีที่แล้ว) และถึงแม้จะทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายเพียงใด แต่ยังทรงจัดสรรเวลาเพื่อทรงดนตรีและฝึกซ้อมสม่ำเสมอตลอดจนพระชนม์ชีพ
"...ดนตรีนี้มีไว้สำหรับให้บันเทิง แล้วก็ให้จิตใจสบาย ดนตรีนี่คือเสียง แต่สิ่งประกอบยังมีว่า เสียงนั้นเป็นเสียงอะไร นั่นน่ะ ยังเป็นคุณภาพของเสียง ...พวกเราเป็นนักดนตรี นักเพลง นักเกี่ยวข้องกับเรื่องศิลปะในด้านการแสดง การแสดงโดยเฉพาะดนตรี พวกเรานี่มีความสำคัญมาก ไม่ใช่น้อยสำหรับส่วนรวม เพราะว่าดนตรีนั้น เป็นสิ่งหนึ่งที่จะแสดงออก ซึ่งความรู้สึกของชนหมู่หนึ่ง ในที่นี้ชนคนไทยก็คือ ประชาชนคนไทยทั้งหลาย จะแสดงความรู้สึกออกมา หรือจะรับความรู้สึกที่แสดงออกมา ก็ด้วยดนตรี พวกเราที่เป็นนักเพลงนักดนตรี จึงมีความสำคัญยิ่ง..."
พระบรมราโชวาทพระราชทาน เนื่องในงานสังคีตมงคล ครั้งที่ ๒ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร วันพฤหัสบดี ที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๑๒
Story : พิมพิมล พิมพ์งาม