This is Jazz! มาทำความรู้จักและหลงรักดนตรีแจ๊สไปด้วยกัน
ดนตรีแจ๊สเป็นดนตรีรูปแบบหนึ่งที่เกิดในอเมริกา ต่อมาได้เข้ามามีบทบาทในประเทศไทยมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการเปิดเพลงแจ๊สในงานเต้นรำต่างๆของคนไทยในสมัยก่อน ดนตรีแจ๊สยังเป็นดนตรีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสนพระราชหฤทัยเช่นกัน โดยทรงหัดเล่นดนตรีเมื่อพระชนมายุ ๑๓ พรรษา ต่อมาจึงเริ่มฝึกดนตรีแจ๊ส โดยทรงหัดเป่าแซกโซโฟนกับเพลงจากแผ่นเสียงของวงดนตรีที่มีฝีมือ เช่น Johnny Hodges และ Sidney Bechet จนทรงมีความชำนาญจึงทรงเป่าสอดแทรกกับแผ่นเสียงของนักดนตรีที่มีชื่อเสียงได้เป็นอย่างดี และทรงโปรดดนตรีประเภท Dixieland Jazz เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้มากมายถึง 48 บทเพลงและส่วนใหญ่ทรงพระราชนิพนธ์ในรูปแบบเพลงแจ๊ส
คลิกฟังเพลงพระราชนิพนธ์แนวแจ๊สได้ที่นี่
This is Jazz เป็นซีรี่ย์ที่จะพาคุณไปรู้จักกับดนตรีแจ๊สในประเภทต่างๆ ซึ่งได้รวบรวมมาไว้ 10 ประเภท ดังนี้
1. New Orleans Jazz / Dixieland Jazz
ว่ากันว่าดนตรีแจ๊สเกิดขึ้นช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ณ ย่านโลกีย์นาม “สตอรีวิลล์” ณ เมืองนิวออร์ลีนส์ มลรัฐหลุยส์เซียน่า สหรัฐอเมริกา เกิดจากการที่คนดำในแถบนั้นเอาเครื่องดนตรีในวงมาร์ชแบบคนขาวมาเล่นในแบบที่ต่างออกไป อย่างไรก็ดี ในยุคสมัยนั้นสังคมอเมริกันก็ยังเหยียดสีผิวอยู่มากและยังไม่ให้คนดำเข้าไปอัดเพลงในห้องบันทึกเสียง สิ่งที่หลงเหลือถึงปัจจุบันของดนตรีแจ๊สยุคนี้ก็คือ งานบันทึกเสียงของวง The Original Dixieland Jass Band ซึ่งเป็นวงคนขาวล้วน [ในช่วงนั้นผู้คนมักสะกดคำว่าแจ๊สเป็น Jass ก่อนจะปรับมาเป็น Jazz ในภายหลัง]
นี่คือที่มาของการที่ดนตรีแจ๊สยุคแรกสุด บางทีก็เรียกว่า “ดิ๊กซี่แลนด์แจ๊ส” ทั้งนี้ดนตรีแจ๊สยุคแรกสุดก็ค่อยๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ มาตลอด และหลักฐานความนิยมก็คือภาพยนตร์ The Jazz Singer ในปี 1927 ซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่มีเสียงประกอบบนแผ่นฟิล์ม (ก่อนหน้านี้เป็น “หนังเงียบ” หมด)
งานดนตรีแนะนำ: Original Dixieland Jass Band, Jelly Roll Morton, Bud Freeman, Yerba Buena Jazz Band
คลิกฟังเพลงแนว New Orleans Jazz / Dixieland Jazz ได้ที่นี่
2. Big Band / Swing
ดนตรีแจ๊สเข้าสู่ยุครุ่งเรืองสูงสุดในช่วงทศวรรษ 1930 ถึงตอนปลายทศวรรษ 1940 ยุคนี้เพลงแจ๊สในแบบ “สวิง” มีสถานะเปรียบเสมือนเพลงป็อปในยุคปัจจุบัน คือเป็นเพลงที่ใช้เต้นรำและเป็นเพลงที่นิยมในหมู่วัยรุ่น
รูปแบบวงแจ๊สยุคนี้ขยายใหญ่โตเป็นวงออร์เคสตร้าขนาดย่อมๆ ด้วยเหตุผลว่าในยุคนั้นเทคโนโลยีขยายเสียงยังไม่พัฒนาไปไกล และยังไม่มีระบบลำโพงขยายเสียงให้ได้ยินทั้งฮอลล์อย่างทุกวันนี้ การจะเล่นดนตรีให้ได้เสียงอันดังก็ต้องใช้เทคนิคแบบคลาสสิคคือ เล่นเครื่องดนตรีพร้อมกันเยอะๆ ไม่งั้นคนก็ไม่ได้ยิน ซึ่งการที่วงดนตรีมีขนาดใหญ่นี้ ก็ทำให้บางทีคนเรียกดนตรีแจ็สแบบสวิงว่า “บิ๊กแบนด์” โดยมีผู้นำวงที่โดดเด่นอย่างเช่น Louise Armstrong, Duke Ellington และ Benny Goodman
งานดนตรีแนะนำ: Louis Armstrong, Duke Ellington, Count Basie, Benny Goodman
คลิกฟังเพลงแนว Big Band Jazz ได้ที่นี่
3. Bebop / Post-Bop
ดนตรีแจ๊สในฐานะเพลงป็อปและเพลงเต้นรำเริ่มอิ่มตัวไปตามกาลเวลา จนช่วงกลางๆ ทศวรรษที่ 1940 ก็เริ่มมีนักดนตรีแจ๊สบางส่วนพยายามพัฒนาดนตรีแจ๊สที่ซับซ้อนขึ้นเพื่อการนั่งฟังอย่างจริงจังขึ้นมา ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ดนตรีแจ็สที่เป็นวงที่เล็กลง ใช้เครื่องดนตรีไม่เกิน 5-6 ชิ้น ไม่ใช่การใช้นักดนตรีเป็นสิบชีวิตแบบสไตล์สวิง ภาคดนตรีก็มีความซับซ้อนขึ้น และเพิ่มการใช้โน๊ตและคอร์ดที่พิสดารพันลึกขึ้น รวมถึงเพิ่มส่วนการด้นสดยาวๆ ในเพลง ให้นักดนตรีให้แสดงฝีมือกันเต็มที่ในทุกเครื่องดนตรี ทั้งหมดทำให้เพลงแจ๊สกลายมาเป็นเพลงฟังยากแบบทุกวันนี้
ดนตรีแจ๊สชนิดใหม่ที่ว่ามานี้ถูกเรียกว่า “บีบ็อป” ซึ่งถือเป็นแจ๊สชนิดแรกที่เป็นดนตรีสำหรับใช้ฟังโดยเฉพาะ ไม่ได้เป็นดนตรีเต้นรำแบบเดิมอีกต่อไป ซึ่งหลังจากดนตรี “บีบ็อป” แจ๊สที่มีความซับซ้อนไม่เหมาะแก่การเต้นรำก็ถูกพัฒนาไปสารพัดและมีชื่อเรียกรวมๆ ว่า “โพสต์บ็อป” ซึ่งถ้าจะนับว่าบิดาของบีบ็อบคือ Charlie Parker แล้ว เจ้าพ่อของโพสต์บ็อปก็คงจะเป็น Miles Davis
งานดนตรีแนะนำ: Charlie Parker, Dizzy Gillespie, John Coltrane, Thelonious Monk, Miles Davis
คลิกฟังเพลงแนว Bebop Jazz ได้ที่นี่
4. Modern Jazz / Avant-Garde Jazz / Free Jazz
หลังจากบีบ็อปเป็นแนวทางหลักของแจ๊สในช่วงตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมา ก็ค่อยๆ มีนักดนตรีแจ๊สจำนวนหนึ่งยังเห็นว่าแนวทางใหม่ของแจ๊สที่ให้อิสระนักดนตรีเพิ่มอย่าง “บีบ็อป” ยังไม่ให้อิสระนักดนตรีเพียงพอ ก็เลยผลักดันดนตรีแจ๊สให้มีอิสระมากขึ้นอีกขั้น ซึ่งจุดยอดของการผลักดันนี้คือ อัลบั้ม Free Jazz ของ Ornette Coleman ปี 1961 ที่เป็นการบันทึกเสียงวงดนตรี 4 ชิ้น 2 วง เล่นด้นสดกันแบบแทบไม่เตี๊ยมกัน โดยทุกคนเลือกใช้โน๊ตได้โดยเสรี
เนื่องด้วยหัวหอกหลักของกระแสนี้ ล้วนเป็นนักดนตรีคนดำในบริบทการต่อสู้ทางการเมืองของสิทธิคนดำในช่วงทศวรรษที่ 1960 พอดี ผู้คนจึงมักเชื่อมโยงว่าดนตรี “ฟรีแจ๊ส” เป็นตัวแทนของการร้องหาเสรีภาพของคนดำในช่วงนั้น
ทั้งนี้ ดนตรีแจ๊สในแบบที่มีอิสระเกินขนบ แต่ยังคงการประพันธ์เพลงในระดับโครงสร้างและเมโลดี้หลักไว้อยู่ ก็มักจะเรียกกันว่า “อวองการ์ดแจ๊ส” และสงวนคำว่า “ฟรีแจ๊ส” เอาไว้สำหรับดนตรีที่เกิดจากการด้นสดโดยอิสระของนักดนตรีล้วนๆ แนวทางทั้งหมดนี้บางครั้งก็ถูกประสานกลับมาในขนบให้ฟังง่ายขึ้นและเรียกรวมๆ ว่า “โมเดิร์นแจ๊ส”
งานดนตรีแนะนำ: Ornette Coleman, Anthony Braxton, Archie Shepp, Cecil Taylor, John Zorn, John Coltrane ในอัลบั้ม Love Supreme
คลิกฟังเพลงแนว Modern Jazz ได้ที่นี่
5. Fusion Jazz
การอุบัติขึ้นของดนตรีร็อคแอนด์โรล ในทศวรรษที่ 1950 ได้ทำให้ดนตรียอดนิยมในหมู่วัยรุ่นได้เปลี่ยนไปจากดนตรีที่มีฐานแบบแจ๊ส ไปเป็นดนตรีที่มีฐานแบบร็อคแอนด์โรล จังหวะสวิงที่เป็นฐานมาตลอดตั้งแต่ยุคดนตรีสวิงแจ๊ส ก็ถุกแทนที่ด้วยจังหวะจะโคนแบบร็อคที่กำลังฮิตอย่างเด็ดขาดเรียบร้อยในช่วงทศวรรษที่ 1960
ในขณะที่นักดนตรีแจ๊สหลายๆ ส่วนก็เข้าร่วมกระแสดนตรีบีบ็อปที่พยายามจะทำให้ดนตรีแจ๊สพิสดารพันลึกขึ้น ดนตรีอีกส่วนก็ต้องการจะทดลองอะไรใหม่ๆ ด้วยการผสมดนตรีแบบใหม่อย่างร็อค ซึ่ง “ดนตรีลูกผสม” แบบใหม่ที่เป็นแจ๊สปนร็อคนี้ก็ถูกเรียกว่า “ฟิวชั่นแจ๊ส” โดยที่ชุมชนแจ๊สก็นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่าฟิวชั่นเฉยๆ
เนื่องจากดนตรีร็อคก็มีพัฒนาการอย่างเข้มแข็งตลอดครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 ดนตรีแจ๊สผสมร็อคก็เลยพัฒนาไปพร้อมๆ กันนั้น นี่เองเป็นสิ่งที่ทำให้ดนตรีฟิวชั่นมีความหลากหลายมาก
อย่างไรก็ดีพื้นฐานที่ทำให้ฟิวชั่นต่างจากดนตรีแจ๊สแบบดั้งเดิมอย่างที่สุดก็คือ การเปลี่ยนจังหวะจะโคนพื้นฐานจากสวิงมาเป็นจังหวะแบบดนตรีร็อคนั่นเอง ทั้งนี้ในหลายๆ ครั้ง แนวทางฟิวชั่นที่นิยมกันก็คือ การผสมแจ๊สกับดนตรีฟังก์ร็อคออกมาเป็นแจ๊สที่มีจังหวะจะโคนแบบฟังก์ ที่เครื่องดนตรีเด่นคือเบสไฟฟ้า และแนวทางนี้ก็ทำให้เครื่องดนตรีเบื้องหลังอย่างเบสไฟฟ้าได้มาเป็นพระเอกบ้างในดนตรีแจ๊ส ซึ่งศิลปินที่ถือได้ว่ามีความโดดเด่นที่สุดในสายนี้ก็คือที่สุดก็คือ Marcus Miller
งานดนตรีแนะนำ: Miles Davis อัลบั้ม Bitches Brew, Herbie Hancock, Chick Korea, Weather Report, The Mahavishnu Orchestra
คลิกฟังเพลงแนว Smooth Jazz ได้ที่นี่
6. Smooth Jazz
ในขณะที่ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1940 เป็นต้นมา นักดนตรีแจ๊สได้พัฒนาดนตรีแจ๊สให้กลายเป็นดนตรีซับซ้อนฟังยากไปจนสุด แต่ในช่วงทศวรรษที่ 1970 นี่เองที่นักดนตรีแจ๊สพยายามจะทำให้ดนตรีแจ๊สเป็นดนตรีฟังง่ายสบายๆ เรียกได้ว่าไม่ต้องไต่กระไดฟัง
ผลคือนักดนตรีแจ๊สก็เริ่มเอาองค์ประกอบแบบป็อปหลากรูปแบบมาใส่ในดนตรีแจ๊ส เพื่อให้ดนตรีออกมานุ่มนวลฟังสบาย ไม่ใช่แจ๊สแบบเข้มข้นที่ขนโน๊ตแบบพิสดารมาด้นสดกันไฟแลบอย่างยาวยืด
ซึ่งภายหลังในทศวรรษ 1990 ก็มีคลื่นวิทยุจำนวนมากที่เปิดแต่เพลงแจ๊สสไตล์นี้ และมันก็ได้รับการขนานนามว่า “สมูธแจ๊ส” มานับแต่นั้น ซึ่งนักดนตรีที่มีชื่อเสียงมากในสายนี้ก็ได้แก่ Kenny G และ George Benson
งานดนตรีแนะนำ: Kenny G, George Benson, Dave Koz, Spyro Gyra
คลิกฟังเพลงแนว Smooth Jazz ได้ที่นี่
7. Gypsy Jazz
ในขณะที่ฝั่งอเมริกากำลังขยายความนิยมดนตรีแจ๊สไปเรื่อยหลังยุค 1920’s พอดนตรีแจ๊สเข้ามาในยุโรป มันก็ไปผสมกับแนวทางดนตรีของคนกลุ่มน้อยที่เป็นนักดนตรีเร่อย่างพวกยิปซี โดยในฝรั่งเศสจะเรียกคนยิปซีว่า “มานูช” (manouche) ดนตรีแบบนี้ก็เลยถูกเรียกในฝรั่งเศสว่า “มานูชแจ๊ส” ซึ่งชื่อที่เป็นที่รู้จักกันระดับสากลมากกว่าคือ “ยิปซีแจ๊ส”
ว่ากันว่าดนตรีชนิดนี้มีต้นกำเนิดมาจากการที่นักกีต้าร์ชาวยิปซีฝรั่งเศสเชื้อสายเบสเยี่ยมอย่าง Django Reinhardt นำเอาดนตรีแจ๊สมาเล่นในสไตล์ของตนเองด้วยกีต้าร์ และใช้รูปแบบวงดนตรีเล็กๆ ที่ประกอบไปด้วยเครื่องสายล้วน อันได้แก่ กีต้าร์ ไวโอลิน และดับเบิ้ลเบส ไม่มีเครื่องเป่าทองเหลือง เปียโน และกลองชุดไปจนถึงวงแบบ “บิ๊กแบนด์” ในแบบวงแจ๊สอเมริกัน
การประสมวงเป็นวงเครื่องสายล้วน แทนที่จะใช้เครื่องทองเหลืองเป็นตัวเอก ทำให้ยิปซีแจ๊สมีสุ้มเสียงทางดนตรีที่ต่างออกไปจากแจ๊สในสไตล์อเมริกันมากๆ และสร้างชื่อเสียงให้กับ Django มหาศาล
ทั้งนี้ ดนตรียิปซีแจ๊สดูจะหายไปพร้อมๆ กับการเสื่อมความนิยมดนตรีแจ๊สช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ก่อนทีจะได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง โดยนักกีต้าร์ร่วมสมัยที่ศรัทธาในแนวทางของ Django อย่าง Biréli Lagrène
งานดนตรีแนะนำ: Django Reinhardt, Tim Kliphuis, Stochelo Rosenberg, Biréli Lagrène
คลิกฟังเพลงแนว Gypsy Jazz ได้ที่นี่
8. Vocal Jazz
ดนตรีแจ๊สไม่ใช่ดนตรีบรรเลงเท่านั้น แต่เป็นดนตรีที่มีการร้องด้วย การร้องเพลงแจ๊สเริ่มมาพร้อมๆ กับการได้รับความนิยมของดนตรีแจ๊สในวงกว้างช่วงทศวรรษที่ 1920 ซึ่งการร้องแบบแจ๊สโดยทั่วไปก็จะต้องเป็นการร้องโดยใช้ไมโครโฟนขยายเสียง ซึ่งทำให้เทคนิคต่างๆ เป็นเทคนิคที่ทำมาใช้กับไมโครโฟนโดยเฉพาะ ต่างจากการร้องเพลงอย่างดั้งเดิมที่จะไม่ใช้ไมโครโฟนและใช้เสียงดัง
นักร้องแจ๊สชายในช่วงแรกจะได้รับการขนานนามว่า “ครูนเนอร์” ซึ่งสื่อถึงการร้องแบบเบาและนุ่มนวล เพื่อสื่ออารมณ์อันเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฎมาก่อนจะมีไมโครโฟน ซึ่งครูนเนอร์ที่โด่งดังที่สุดคงหนีไม่พ้น Frank Sinatra ทั้งนี้ นักร้องเพลงแจ๊สหญิงอีกจำนวนมากก็ได้สร้างชื่อเสียงมากเช่นกัน เช่น Billie Holiday
อนึ่ง เพลงที่นักร้องแจ๊สนิยมนำมาร้องกัน ก็มักจะเป็นเพลงแจ๊สระดับคลาสสิคจากต้นศตวรรษที่ 20 หรือที่เรียกว่า “แสตนดาร์ดแจ๊ส” ซึ่งเป็นบทเพลงที่ถูกรวมไว้ในหนังสือเพลง The Great American Songbook
งานดนตรีแนะนำ: Louis Armstrong, Billie Holiday, Ella Fitzgerald, Frank Sinatra
คลิกฟังเพลงแนว Vocal Jazz ได้ที่นี่
9. Bossa Nova
หลังจากดนตรีแจ๊สเป็นที่นิยมไปทั่วโลกตอนต้นศตวรรษที่ 20 ดนตรีแจ๊สก็ได้กระจายไปผสมดนตรีในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งผลผลิตก็มักจะเป็นดนตรีแจ๊สที่มีกลิ่นแบบดนตรีท้องถิ่นผสม ซึ่งดนตรีในรูปแบบเหล่านี้ก็ไม่ได้รับความนิยมไปเสียหมด
แต่ทว่า หนึ่งในดนตรีแจ๊สที่ผสมกับดนตรีท้องถิ่นแล้วกลับได้รับความนิยมอย่างมากในระดับนานาชาติก็คือ ดนตรีจากบราซิลอย่าง “บอสซาโนวา” ที่เป็นภาษาโปรตุเกสแปลว่า “กระแสใหม่”
โดยตัวมันเอง บอสซาโนวาคือดนตรีแซมบ้าผสมกับดนตรีแจ๊ส ซึ่งความโด่งดังของมันก็ทำให้มันเป็นดนตรีแจ๊สที่มีกลิ่นแบบลาตินอเมริกันที่มีชื่อเสียงมากที่สุด
บทเพลงที่ดังที่สุดของ Bossa Nova ก็คือ Garota de Ipanema หรือที่รู้จักกันในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษว่า The Girl From Ipanema อันเป็นผีมือการประพันธ์ของเจ้าพ่อเพลงบอสซาโนวาอย่าง Antonio Carlos Jobim ซึ่งน่าจะเป็นเพลงบอสซาโนวาที่ถูกนำมาบันทึกเสียงซ้ำบ่อยที่สุด ตั้งแต่ดังระเบิดในเวอร์ชั่นที่ Astrud Gilberto ร้องเป็นภาษาโปรตุเกส มาจนถึงเวอร์ชั่นร่วมสมัยของ Amy Winehouse
งานดนตรีแนะนำ: Antonio Carlos Jobim, Joao Gilberto, Charlie Byrd, Lisa Ono
คลิกฟังเพลงแนว Bossa Nova ได้ที่นี่
10. Pop Jazz
ณ ปัจจุบัน ดนตรีแจ๊สก็กลับมาเป็นดนตรีร่วมสมัยอีกครั้งในรูปแบบเพลงป็อป จากการที่นักดนตรีป็อปจำนวนไม่น้อยได้นำดนตรีแจ๊สเข้าไปผสมกับดนตรีป็อปและได้แนวทางใหม่เกิดเป็นดนตรี “ป็อปแจ๊ส” ขึ้นมา
ลักษณะของ Pop Jazz โดยรวมนั้น ถือได้ว่ามีความนุ่มละมุนกว่าดนตรีแบบป็อปร็อคที่เป็นที่นิยมกันมากในช่วงทศวรรษ 1980 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ งานที่เข้าข่ายป็อปแจ๊สก็น่าจะรวมถึงงานของศิลปินอย่าง Norah Jones ไปจนถึง Michael Buble หรืออีกนัยหนึ่ง งานเหล่านี้ก็คืองานดนตรีป็อปร่วมสมัยที่มีกลิ่นอายแจ๊สเข้ามา แต่ก็มีไม่มากพอที่เหล่านักฟังเพลงแจ๊สโดยตรงจะยอมรับว่าเป็นแจ๊สนั่นเอง
งานดนตรีแนะนำ: Norah Jones, Michael Buble
คลิกฟังเพลงแนว Pop Jazz ได้ที่นี่
Story : THE FNE