แผ่นเสียงที่เป็นแผ่นโปรโมคืออะไร โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

แผ่นเสียงที่เป็นแผ่นโปรโมคืออะไร โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

แผ่นเสียงที่เป็นแผ่นโปรโมคืออะไร โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Photo credits : manattop.blogspot.com

 

ในแวดวงเพลงไทยหรือสากล การทำแผนการโปรโมตศิลปินในสังกัดวิธีหนึ่งคือ การทำแผ่นโปรโม หรือแผ่นแจก เพื่อเสริมยอดขายจากการที่แผ่นแจกเหล่านี้ถูกดีเจเปิดตามสถานีวิทยุ หรือเอาไปเปิดกันในงานสังสรรค์ งานรื่นเริงต่างๆโดยที่ไม่ต้องใช้ศิลปินตัวจริงๆไปแสดง สุดท้ายก็ให้สื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหลาย นำไปเปิดฟังกันก่อนแผ่นจริงวางตลาด แล้วช่วยเขียนเชียร์กันไปตามสถานการณ์ พูดง่ายๆก็คือ เป็นการนำงบประมาณส่วนหนึ่งมาผลิตแผ่นเพื่อแจกสื่อและดีเจนั่นเอง และเป็นสิ่งที่รู้กันทั่วไปว่าแผ่นโปรโมไม่สามารถนำมาขายได้ เพราะเป็นแผ่นแจกฟรีแต่แรก บางประเทศระบุด้วยว่าหากนำแผ่นโปรโมมาขาย ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

1


ระยะหลังมานี้ในต่างประเทศ ศิลปินที่ลงทุนเอง มักผลิตผลงานของตนเป็นแผ่นเสียงไปแจกตามงานแสดงหรือคอนเสิร์ตเสมอ เป็นการเข้าถึงตลาดผู้ฟังด้วยตัวเอง และสำรวจตลาดไปด้วยในตัว แม้จุดประสงค์แรกเริ่มของแผ่นโปรโมจะแจกเพื่อโปรโมตศิลปินก็ตาม แต่ในตลาดของนักสะสม มันมีราคาค่างวดสูงไม่น้อยทีเดียว

 

ในแง่ของคนสะสมหรือเก็บแผ่นโปรโมเหล่านี้มีค่าอย่างไร

แม้จะมีเดด แวกซ์ (คลิกที่นี่ เพื่ออ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเดต แวกซ์) เหมือนกัน รหัสเดียวกัน แต่แผ่นปั๊มแรกๆกับแผ่นปั๊มหลังๆในล็อตเดียวกัน (แผ่นที่ 1 ไปถึงแผ่นที่ 50,000 ในคาบการผลิตเดียวกัน) ก็มีคุณภาพเสียงแตกต่างกันตามสภาพของสแตมเปอร์ที่ผ่านการปั๊มมาระยะหนึ่ง คิดง่ายๆ ตามหลักการก็คือ แผ่นปั๊มหลังๆ นั้น เมื่อสแตมเปอร์ผ่านการใช้งานมาแล้ว เสียงย่อมด้อยลงไม่มากก็น้อย (ส่วนเราจะฟังออกหรือไม่ออกว่ามันด้อยลงไปก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง) เหมือนการใช้ตรายางปั๊ม นานวันเข้า ตรายางก็ต้องสึก เสื่อมสภาพ ไม่คมชัดเหมือนใหม่ ถึงจะเสื่อมสภาพลง บริษัทที่ปั๊มก็ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนสแตมเปอร์แต่อย่างใด

โดยทั่วไป สแตมเปอร์ที่ใช้ปั๊มแผ่น เมื่อปั๊มไปได้ระดับหนึ่ง (จะกี่หมื่นกี่แสนก็แล้วแต่) ก็ต้องเปลี่ยนสแตมเปอร์ใหม่อยู่ดี เว้นแต่ปั๊มแค่ล็อตเดียวเป็นจำนวนไม่มากนัก ส่วนศิลปินที่ปั๊มแรกออกมาแล้ว ขายหมดเกลี้ยง ต้องปั๊มล็อตสอง ล็อตต่อๆไป ก็ต้องทำสแตมเปอร์ใหม่และใส่เดด แวกซ์ใหม่เพื่อเป็นการระบุว่าเป็นล็อตที่เท่าไหร่นั่นเอง

matrix


กรณีของแผ่นโปรโม ใครๆก็ทราบว่าคุณภาพเสียงของมันต้องดีเยี่ยม เพราะดูจากเดด แวกซ์ มันคือแผ่นปั๊มแรกที่ผ่านการปั๊มไปได้ไม่เท่าไหร่ สแตมเปอร์ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ให้คุณภาพเสียงดีเยี่ยม ต่อให้ไม่มีสติกเกอร์หรือปั๊มว่าแผ่นโปรโมตที่เลเบลกระดาษ เราก็ทราบโดยปริยายว่ามันเป็นแผ่นปั๊มแรก แม้ไม่มีประทับตรา For Promotional Only ที่ปกหลัง มันก็ยังเป็นแผ่นปั๊มแรกที่คุณภาพเนื้อไวนิลดีเยี่ยมอยู่ดี เนื่องจากคัดมาไว้ผลิตแผ่นโปรโมโดยเฉพาะ

แต่ก็อีกนั่นแหละ บางกรณีเนื้อไวนิลคุณภาพดีเยี่ยมก็ถูกนำมาผลิตเป็นแผ่นสำหรับจำหน่ายด้วย  เพราะวัตถุดิบที่ถูกสั่งมาใช้ผลิตเป็นล็อตเดียวกัน ท้ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็นแผ่นในยุคสมัยใด หรือศิลปินรายไหนก็ตาม นักสะสมจะเน้นเก็บแผ่นโปรโมก่อนเป็นอันดับต้นๆ ในกรณีที่ยังหาได้ แต่ถ้าหาไม่ได้จริงๆ พวกเขาจะพยายามหาแผ่นปั๊มแรกหรือแผ่นดั้งเดิมเป็นตัวเลือกรองลงมา เพราะอย่างน้อยที่สุด สแตมเปอร์ที่ใช้ปั๊มในยุคนั้นก็ยังอยู่ในสภาพดีเยี่ยม เสียงไม่ผิดเพี้ยนจากแผ่นโปรโม อีกทั้งราคาซื้อขายกันในตลาดก็ต่ำกว่าแผ่นโปรโมด้วย

 

แผ่นโปรโมของไทย

ในบ้านเราเรียกแผ่นโปรโมได้หลายอย่าง อาทิ “แผ่นตัวอย่าง” “แผ่นแซมเปิล” และ “แผ่นตัด” จะเรียกอย่างไร มันก็คือแผ่นโปรโมนั่นเอง นอกจากแผ่นโปรโมที่นำแผ่นเต็มปกติที่เพลงเท่ากับแผ่นที่วางขายทั่วไปมาแจกแล้ว อีกส่วนหนึ่ง แผ่นโปรโมของบางค่ายจะมีจำนวนเพลงน้อยกว่าอัลบัมจริงที่วางจำหน่าย

thaipromo6songscompanyjacketpromo

thaipromopongpat

 

ด้วยเหตุนี้ แผ่นของไทยที่ออกมานั้น แผ่นแจกตามสถานีวิทยุหรือแผ่นตัด มักมีด้านละ 2-3 เพลง รวมแล้วไม่เกิน 6 เพลง และผลิตจำนวนน้อยเพื่อแจกจ่ายเท่านั้น ซึ่งคุณภาพก็ยึดตามเนื้อหาจากข้างบนได้ สุ้มเสียงจะดีกว่า เนื่องจากร่องเสียงกว้างกว่าแผ่นเต็ม เก็บรายละเอียดไว้ในร่องเสียงได้ครบถ้วนกว่า แต่ขณะเดียวกัน หากถูกเปิดบ่อย หรือเกิดความเสียหายกับร่องเสียง คุณภาพก็ไม่ได้ดีกว่าหรืออาจด้อยกว่าแผ่นอัลบัมเต็มที่เปิดฟังน้อยครั้งกว่า

 

ทำไมต้องสะสมแผ่นโปรโม

อย่างที่ทราบกันจากช่วงต้นแล้วว่าแผ่นโปรโมมีคุณภาพเสียงที่ดีมาก และผลิตออกมาขณะที่สแตมเปอร์อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ความผิดเพี้ยนของเสียง หรืออุปสรรคในการฟังอันเกิดจากสภาพที่ไม่สมบูรณ์ของแผ่นจึงไม่เกิดขึ้น (ไม่นับกรณีของแผ่นมือสอง) นอกจากนี้แผ่นโปรโมส่วนใหญ่ที่ผลิตในญี่ปุ่น และอเมริกา มีจุดระบุชัดเจนว่ามันแตกต่างจากแผ่นที่วางขายทั่วไป

ประการแรกคือ ไวต์ เลเบล ฉลากติดกลางแผ่นมันเป็นพื้นขาว ตัวอักษรดำ และปั๊ม For Promotion หรือ Sample ชัดเจน ญี่ปุ่นก็เช่นกัน พิมพ์ “見本” ซึ่งแปลว่า “ตัวอย่าง” ชัดเจน แต่ในช่วงทศวรรษที่ 80 เป็นต้นมา แผ่นโปรโมจะใช้แผ่นที่ผลิตล็อกแรกปั๊มรุ่นแรกที่มีเลเบลปกติ แต่พิมพ์ 見本 หรือ Sample เพิ่มลงไปเท่านั้น ซึ่งก็เพียงพอต่อการแยกแยะแผ่นโปรโมออกจากแผ่นขายปกติทั่วไป มาถึงยุคซีดีก็ปั๊มหรือสกรีน 見本 หรือ Sample หรือ For Promotional Only ลงไป หนักเข้า ในยุค 90s เป็นต้นมา เล่นเจาะรูที่บาร์โคด หรือใช้สว่านไฟฟ้าเจาะที่สันกล่องซีดีทะลุเข้าไปถึงปกก็มี ส่วนของไทยใช้วิธีเจาะรูที่บาร์โคดเป็นหลัก บางค่ายก็สกรีน For Promotional Only ที่ขอบในสุดใกล้รูกลางแผ่นของซีดีแทน

4


ในความรู้สึกของคนเล่นแผ่นเสียงนั้น แผ่นโปรโมถือเป็นของเกรดดีที่ควรค่าแก่การสะสม เพราะมันให้สุ้มเสียงที่ใกล้เคียงมาสเตอร์ที่สุด ผิดเพื้ยนน้อยที่สุด ให้ความรู้สึกที่ดีในการฟังมากที่สุด และราคาแพงกว่าแผ่นปกติด้วย

แผ่นเสียงไม่ได้มีไว้ให้สะสมเท่ๆ เรียกไลค์นะครับ ถ้าเรานำมาฟัง และศึกษาไปด้วย มันจะให้ประโยชน์อย่างมหาศาล

 

 

____________________________

สั้นๆเกี่ยวกับผู้เขียน



นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี 2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี 2545-2548

ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Records Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook