อนาคตตลาดคนฟังเพลงสากลบ้านเราจะเป็นอย่างไร โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
อาจเป็นหัวข้อที่เหมือนไม่มีอะไร แต่จริงๆ ก็ติดซีเรียสอยู่พอสมควรครับ เพราะอุตสาหกรรมดนตรีไม่ว่าไทยหรือสากลในบ้านเราทุกวันนี้ขยายตัวช้ามากในส่วนของฟิสิคัล หรือฟอร์แมตที่จับต้องได้ ต่างกับสตรีมมิงที่โตเอาๆ เพราะมีช่องทางมากมายให้เลือก อีกทั้งผู้บริโภคเองก็มีโปรแกรมที่ใช้ดาวน์โหลด ตลอดจนฟังแบบเรียลไทม์กันแทบจะทุกคน เท่านี้ก็พอจะทราบว่า อนาคตคนฟังเพลงในบ้านเราจะเอนเอียงไปในทิศทางใด และจะเติบโตได้ขนาดไหน
ความจริงอย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับหลังจากค่ายเพลงไทย และสากลในบ้านเราลดขนาดลงไปตามสัดส่วนการตลาดก็คือ เน้นขายคอนเทนต์ดาวน์โหลดกันอย่างออกนอกหน้า ส่วนที่เป็นฟิสิคัล(ฟอร์แมตซีดี เทปคาสเสตต์ที่จับต้องได้) ก็ลดปริมาณลง คนที่ฟังเพลงกันอยู่คงจะสังเกตได้ว่าซีดีมีให้ซื้อน้อยลง งานของศิลปินที่ไม่ค่อยดัง แม้จะมีผลงานดีอย่างไรก็หาซื้อยาก ต้นสังกัดก็ไม่สั่งมาขาย หรือไม่ลงทุนผลิตในประเทศ เรื่องพึ่งพาร้านขายซีดีนำเข้าก็ไม่ง่ายดายเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว เพราะร้านบางส่วนปิดตัวลง บางส่วนที่เคยขายแต่ซีดีล้วนๆ ก็แบ่งพื้นที่จำนวนหนึ่งมาให้กับสินค้าประเภทวิชวล เราจึงเห็นดีวีดีวางขายแทนที่ซีดีมากขึ้น ร้านซีดีอีกจำนวนหนึ่งที่มีไม่มากนักหันมาเพิ่มมุมแผ่นเสียงเข้าไปด้วย แต่ก็ไม่ได้เป็นฟอร์แมตที่แพร่หลาย และทำเงินให้มากมายอะไร สาเหตุหนึ่งมาจากราคาของแผ่นเสียงสูงกว่าซีดีเป็นเท่าตัว บางชุดบางอัลบัมสูงกว่าหลายเท่า และกลุ่มคนฟังที่เล่นแผ่นเสียงจริงๆก็มีจำนวนไม่มากพอที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางตลาดฟิสิคัลได้
ร้านซีดี J.U. ที่พันธุ์ทิพย์ในตำนาน ที่ปิดไปแล้ว
แล้วอะไรล่ะที่เป็นตัวกำหนดทิศทางตลาดดนตรีในบ้านเรา ตอบไม่ยากครับ เพราะสถานการณ์ที่ผ่านมา สิ่งอำนวยความสะดวกที่หลั่งไหลเข้ามาในตลาดคนฟังเพลงล้วนเน้นหนักไปทางดาวน์โหลด และการฟังเพลงทางสตรีมมิงแทบทั้งสิ้น สถานีวิทยุออนไลน์เกิดขึ้น แอปพริเคชันทันสมัยเพื่อการฟังเพลงที่สะดวกสบายมีนับไม่ถ้วน ที่มาแรงที่สุดในตอนนี้ก็คือ JOOX ครับ นอกจากจะฟังเพลงและฟังวิทยุออนไลน์ได้ตลอดทั้งวันแล้ว ยังดาวน์โหลดเพลงมาเก็บไว้ฟังเองยามออฟไลน์ได้อีกด้วย เขาพัฒนากันไปรวดเร็วมากจนผมตามไม่ทันแล้ว ไหนจะมี Tidal อีก เหล่านี้สามารถตอบสนองคนฟังกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้อย่างเต็มที่ ส่วนคนรุ่นเก่าที่ยังจมอยู่กับอนาล็อกแบบผม ยังไม่รู้สึกว่ามันสำคัญกับชีวิตประจำวันมากนัก ลำพังฟังแผ่นเสียงกับซีดีก็แทบไม่มีเวลาแล้ว เวลาอยู่กับคอมพ์ฯ ก็พึ่ง Youtube ได้ ไม่ลำบากเหมือนสมัยก่อน
จากเหตุผลข้างต้น กลุ่มคนฟังเพลงในบ้านเราจึงแบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มฟังออนไลน์ ซึ่งมีส่วนหนึ่งฟัง และดาวน์โหลดเท่านั้น ไม่เสียเงินซื้อซีดีเลย แต่ก็มีความสุขกับเพลงที่ตัวเองชอบได้ กลุ่มนี้เป็นวัยรุ่นที่อยู่ในวัยเรียน ยังไม่มีรายได้ แต่ค่อนข้างมีเวลามาก มากพอที่จะเลือกใช้แอปต่างๆในการฟังเพลง ตลอดจนดาวน์โหลดเพลงมาฟัง อีกกลุ่มก็คือ คนที่ฟังออนไลน์บ้าง แต่ยังมีความสุขกับการไปเดินหาซื้อซีดีตามร้าน แล้วกลับไปนอนฟังที่บ้าน บางคนเป็นนักฟังเพลงที่สะสมซีดีหรือแผ่นเสียง จึงเป็นกลุ่มที่มีรายได้และทำงานเป็นหลักแหล่งมั่นคงแล้ว รายได้ส่วนหนึ่งจึงถูกเจียดมาเพื่อซื้อความสุขในการฟังเพลงของตนเอง กลุ่มนี้นอกจากจะสะสมซีดีหรือแผ่นเสียงแล้ว ยังเป็นนักสถิติ สะสมข้อมูล และค้นคว้าเกี่ยวกับเพลงที่ตัวเองฟังด้วย
ขณะนี้ คนฟังเพลงกลุ่มแรกที่เน้นฟังออนไลน์และดาวน์โหลดเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนของเยาวชนที่เติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่น การฟังเพลงก็พัฒนาไปตามวัย จากฟังเพลงไทยตามอันดับเพลง ก็ไต่ไปฟังเพลงสากลที่ช่วยทักษะด้านภาษาอังกฤษ และรายละเอียดของดนตรีมากขึ้น แน่นอนว่าพวกเขาได้ทักษะในการฟังเพลงติดตัว หากมองเรื่องรายละเอียด และข้อมูลของเพลง เขาไม่สามารถจดจำหรือตอบคำถามได้ ต่างกับกลุ่มหลังที่มีรายได้มากพอที่จะซื้อซีดีเพื่อฟัง และค้นคว้าหาข้อมูล อย่างนิตยสารดนตรี กลุ่มนี้มีพื้นฐานจากการฟังเพลงแบบฟิสิคัลอยู่แล้ว ทักษะก็ดูจะแน่นกว่า จึงระบุได้เลยว่าเป็นกลุ่มที่ “ฟังเพลงเป็น” กับกลุ่มแรกที่ “ฟังเพลงเก่ง”
สองกลุ่มนี้เป็นตัวแปร และก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อม ประการแรก กลุ่มหลังทำให้ค่ายเพลงอยู่ได้ และยังสามารถผลิตซีดี และสินค้าฟิสิคัลอื่นๆ ออกมาได้อยู่ และยอดขายซีดีของศิลปินบางรายก็มีส่วนทำให้ต้นสังกัดในต่างประเทศตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะให้ศิลปินมาเปิดการแสดงในบ้านเราได้ไหม แต่ก็อีกนั่นแหละ เดี๋ยวนี้ยอดขายฟิสิคัลอาจไม่ใช่เหตุผลหลัก เพราะมีโปรโมเตอร์ต่างประเทศเข้ามาลงทุนมากขึ้น ค่ายเพลงสากลจึงเปรียบเสมือนผู้ประสานงานให้ทุกอย่างสะดวกขึ้น มองไปที่ความสำคัญของยอดขายฟิสิคัล จริงๆ แล้วมันเป็นดัชนีบ่งชี้ถึงกำลังทรัพย์ และความกระตือรืนร้นในการฟังเพลงของคนในประเทศด้วย แม้ตัวเลขจะสู้ไม่ได้เลยกับยอดดาวน์โหลดของคนฟังเพลงกลุ่มแรก แต่ก็บอกได้ถึงคุณภาพของคนฟังในระดับหนึ่ง
เชื่อว่าอนาคตของตลาดเพลงสากลในบ้านเราจะอยู่ในสภาพคงที่ไปอย่างนี้สักระยะ และเมื่อมีแอปใหม่ๆ หรือเว็บฟังเพลงที่สะดวกมากขึ้น หรือฟรีในทุกๆ กรณี คนฟังเพลงออนไลน์จะเพิ่มมากขึ้นไปอีก แต่เฉพาะจำนวนนะครับที่เพิ่ม ด้านทักษะการฟังเพลง และความรู้เรื่องเพลงน่าจะถดถอยลง เพราะคนฟังจะฉาบฉวยมากขึ้น เบื่อง่ายขึ้น แต่จะเทรนดี้ตลอดเวลา เหมือนโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ออกมาปุ๊บก็ถอยมาใช้กันเลย ขณะที่คนฟังเพลงกลุ่มหลังจะยังดำเนินชีวิตไปตามวิถีเดิมที่เคยทำมาตลอด มีความสุขกับการอ่านนิตยสารดนตรี เดินไปร้านซีดี ซื้อแผ่นที่ต้องการ แล้วกลับไปฟังที่บ้าน ฟังเสร็จเก็บเข้าตู้สะสม อยากฟังเมื่อไหร่ก็หยิบมาฟังได้เลย
ผมอยากให้มีคนกลุ่มหลังเพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มแรกจะเพิ่มขึ้นแค่ไหนไม่ใช่ประเด็นครับ ตราบใดที่คนฟังเพลงยังเดินไปร้านซีดี แล้วซื้อกลับไปฟัง อุตสาหกรรมดนตรีในบ้านเราก็ยังคงอยู่ได้ เพียงแต่ไม่พุ่งปรี๊ดแบบสมัยเมื่อ 20-30 ปีก่อน ที่มีให้เลือกซื้อเฉพาะเทปคาสเสตต์กับซีดีเท่านั้น และมันก็เป็นฟิสิคัลทั้งคู่ ตลาดเพลงอยู่ได้ด้วยตัวมันเองก็เพราะสองสิ่งนี้ แต่ยุคนี้ ฟิสิคัลถูกลดบทบาทไปมาก ออนไลน์และดาวน์โหลดมาแทนที่ ทุกอย่างต้องปรับตัวและยืนหยัดให้ได้ หวังว่าฟิสิคัลจะยังไม่หายไปในเวลาอันใกล้นี้ แต่อาจจะค่อยๆ ลดบทบาทลง ปล่อยให้เทคโนโลยีทำหน้าที่ของมันไป หรือไม่ก็รอให้คนฟังกลุ่มหลังแก่ตัว และหมดไปจากโลกในที่สุด
แม้ผมจะฟังซีดี และแผ่นเสียงอยู่ แต่ในคอมพ์ฯ ก็มีไฟล์เพลงที่ริปไว้เป็น MP3 อยู่จำนวนมหาศาล แต่ละฟอร์แมตมีข้อเด่นข้อด้อยแตกต่างกันไป บางครั้งต้องพึ่ง MP3 บางเวลาต้องฟังฟิสิคัลเพื่อดูเนื้อเพลง ดูรายละเอียดบนปกไปด้วย แต่ท้ายที่สุด คนฟังเพลงระดับ Music Lover ก็ต้องพึ่งพาทั้งสองอย่างอยู่ดีครับ ไม่ทิ้งอนาล็อก แต่ก็ไม่เพิกเฉยดิจิตัล เพราะความสุขในการฟังเพลงที่แท้จริงไม่ได้ตัดสินกันที่อนาล็อกหรือดิจิตัลครับ ฟังอะไรก็ตาม ขอให้มีความสุขกับมันก็พอ
ขออภัยที่ครั้งนี้ซีเรียสครับ แต่อยากให้อนาล็อกกับดิจิตัลเดินไปด้วย อยากให้ร้านขายซีดี ร้านขายแผ่นเสียงเลี้ยงตัวได้ อยากให้นิตยสารดนตรียังตีพิมพ์ให้อ่านต่อไป อยากให้คนฟังเพลงกลุ่มแรกเติบโตมาเป็นคนฟังเพลงกลุ่มหลัง แล้วสืบทอด อนุรักษ์มันไว้จากรุ่นสู่รุ่นเท่านั้นเองครับ ท้ายสุด ขอภาวนาว่าผมคงไม่ใช่คนเดียว หรือคนสุดท้ายที่ต้องการให้อนาคตตลาดคนฟังเพลงสากลบ้านเราเป็นอย่างที่กล่าวถึงนะครับ
____________________________
สั้นๆเกี่ยวกับผู้เขียน
นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี 2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี 2545-2548
ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Records Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน