กระแสการกลับมาของเทปคาสเสตต์มีจริงหรือ? โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

กระแสการกลับมาของเทปคาสเสตต์มีจริงหรือ? โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

กระแสการกลับมาของเทปคาสเสตต์มีจริงหรือ? โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อย่างที่ทราบกันว่าเทปคาสเสตต์เป็นฟอร์แมตที่ใช้ฟังเพลงที่มีมายาวนานร่วม 50 ปี และยังมีอยู่เช่นเดียวกับแผ่นเสียงที่อยู่มาตลอดแบบไม่กระโตกกระตาก ไปของมันเรื่อยๆ บางช่วงก็ซบเซา บางช่วงก็เป็นที่นิยมอย่างมหาศาล ดังนั้น หากมีคนบอกว่าแผ่นเสียง หรือเทปกำลังจะกลับมา มันจึงเป็นแค่การบอกต่อๆ กันเพื่อให้เป็นกระแสเท่านั้น แผ่นเสียงและเทปก็ยังมีผู้ผลิต มีผู้ฟัง และเป็นธุรกิจมาตลอด เพียงแต่มันไม่ได้รุ่งเรืองอย่างที่เคย มันแค่เป็นส่วนหนึ่งที่คอยเติมเต็มความสุขในการฟังเพลงของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

ขณะที่ยุครุ่งเรืองของเทปก็ล่วงเลยมานานมากแล้ว นับแต่เทปผีออกสู่ตลาดตั้งแต่ยุค 70s เป็นต้นมา จนถึงต้นยุค 2000 ตลาดเพลงบ้านเราไม่เคยขาดแคลนเทปเพลงเลย กระทั่งมาถึงจุดที่ค่ายเพลงเลิกผลิตเทปขายนั่นแหละ เทปยังค่อยๆ หายไปจากตลาด เหลือแต่เทปเปล่าสำหรับใช้อัดเสียงเพียงอย่างเดียว

 maxell-blank-audio-cassette_u


บทบาทของเทปในอุตสาหกรรมเพลง

เทปเริ่มมีบทบาทในบ้านเราจริงๆราวยุค70s หรือช่วงพ.ศ. 2513-14 เป็นต้นมา และค่อยได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ และเข้าสู่ยุครุ่งเรืองจริงๆราวพ.ศ. 2519 เป็นต้นไป ประกอบกับหลายบริษัทใหญ่ได้ผลิตเครื่องเล่นเทปออกมา ซึ่งมีทั้งที่เป็นเครื่องเล่นที่อยู่ในชุดวิทยุ หรืออยู่กับชุดเครื่องเล่นแผ่นเสียง ตลอดจนเทปเดก (Tape Deck หรือในบ้านเราเรียก “เทปใบ้”) เทปจึงกลายเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้สำหรับคนฟังเพลงนับแต่นั้นมา มีหลายตัวแปรที่ทำให้เทปได้รับความนิยม อย่างแรกก็คือ ราคาไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับแผ่นเสียงที่ราคาสูงกว่าอย่างน้อย 1-2 เท่าตัว เป็นที่น่าสังเกตว่าเทปกับแผ่นเสียงในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกามีราคาเท่ากัน ตัวอย่างเช่น แผ่นเสียงราคา 6.99 ดอลลาร์ เทปก็ราคาเท่ากัน

นอกจากนี้ยังมีเทป 8 แทร็กที่ใช้สำหรับเปิดกับเครื่องเล่นเทปในรถยนต์ส่วนตัวเป็นตัวแชร์ตลาดอีกด้วย แต่เทป 8 แทร็กไม่ได้รับความนิยมในวงกว้างและหายไปจากตลาดในเวลาไม่กี่ปี เพราะเก็บรักษายากกว่าเทปและมีศิลปินให้เลือกซื้อน้อยเกินไป ตัวแปรต่อมาก็คือ พกพาสะดวก ใช้งานง่าย ไม่เหมือนแผ่นเสียงที่ใหญ่กว่า เก็บรักษายาก และเสียหายง่ายกว่ามาก เทปจึงเป็นทางออกที่มีมาก เหมาะสำหรับคนทุกกลุ่มทุกรสนิยม และทุกวัย สุดท้ายก็คือราคา อย่างที่แจงว่าราคาแผ่นเสียงกับเทปในต่างประเทศเท่ากัน แต่ในบ้านเราราคาถูกมาก สติกเกอร์ติดราคา 35-45 บาท แต่ซื้อจริงราคาลดเหลือ 30-35 บาทได้ บางร้านก็ 3 ม้วน 100 บาท ส่วนเทปเปล่าที่ใช้สำหรับอัดเสียงอัดเพลงเองก็ตกราวๆม้วนละ 25-80 บาท แล้วแต่ยี่ห้อและเกรด ซึ่งมีตั้งแต่ธรรมดา, โครเมียม จนถึงเมทัล

 

ตลาดเทปในยุครุ่งเรือง

ช่วงทศวรรษที่ 70 หรือพ.ศ. 2512 เป็นต้นมา เทปส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ ไม่เว้นกระทั่งเทป 8 แทร็ก ราคาจึงค่อนข้างสูง แต่เทียบกับแผ่นเสียงแล้ว ราคาก็ถูกกว่าอยู่ดี และมักจะหาซื้อได้ตามร้านขายเครื่องเสียง หรือศูนย์การค้าใหญ่ๆ ในสมัยนั้น อย่างเซ็นทรัล ไดมารู รวมทั้งย่านชุมชนใหญ่ๆ เช่น สีลม สุขุมวิท สยาม ผมจำไม่ได้จริงๆ ว่าเทปผีมีขึ้นในช่วงไหน เพราะตอนพ.ศ. 2516 มันก็มีวางขายกันแล้ว เดาว่ามีก่อนหน้านั้นไม่กี่ปี เทปผีส่วนใหญ่เลือกออกผลงานของศิลปินที่ถูกเปิดเพลงออกอากาศทางวิทยุเป็นหลัก ทั้งแนวป๊อป ร็อค ไปจนถึงฮาร์ดร็อค ยุคนั้นเทปผีมีความยาวตายตัวที่ 60 นาทีอย่างเดียว ไม่มี 46 นาที  50 นาทีเหมือนยุคหลัง เทปที่ถูกปั๊มขายยังมีเพลงเต็มอัลบัมและเพลงแถมของศิลปินเดียวกันเพิ่มมาอีกอย่างหนึ่ง 4-5 เพลง เป็นผลกำไรของคนซื้อเทปผีไป

นอกจากนี้ต้องขอบคุณคนรวมเพลง คัดเพลงมาออกเทปผีด้วย เพราะต้องเป็นคนที่ติดตามวงการเพลงสากลอย่างสม่ำเสมอ มีรสนิยมและคาดเดาได้ว่าศิลปินใดจะเป็นที่นิยมในไทย ยุคนั้นจึงมีเทปผีของวง Deep Purple, Led Zeppelin, CCR, Bee Gees, Peter Paul & Mary, Jim Croce, John Denver และ Elvis ให้เลือกซื้อกันเกลื่อนแผงไปหมด

 tape01
Credits : Pantip.com


มาถึงยุคดิสโกราวพ.ศ. 2517 จนถึง 2522 ตลาดเทปรุ่งเรืองสุดขีด มีเทปผีเกิดขึ้นหลายยี่ห้อ แต่หลักๆที่ขายดีและมีลูกค้าประจำก็คือ Original Sound กับ 4 Track ตามด้วย Peacock Eagle และ Musical กระทั่งมีกฎหมายลิขสิทธิ์เพลง มีค่ายเพลงสากลที่ได้รับลิขสิทธิ์ถูกต้องเกิดขึ้นราวพ.ศ. 2524 (ไม่มั่นใจนะครับ แต่คาดว่าบวกลบไม่เกินหนึ่งปี) เทปผีจึงถูกหมายตาและถูกเล่นงานจนบางช่วงก็ซาไปจากตลาด แต่ก็ไม่ได้หายไปเสียทีเดียว ทั้งนี้เพราะเทปลิขสิทธิ์มีราคาแพงกว่านั่นเอง ตกม้วนละ 55-70 บาท ในยุค 80s Sony ผลิตเครื่องเล่นเทปแบบพกพามาเพื่อให้คนฟังเพลงสามารถพกไปฟังเทปที่ไหนก็ได้ ซึ่งเราเรียกเครื่องเล่นประเภทนี้ว่า ซาวนด์อะเบาต์ (Soundabout) และซีรีส์ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกก็คือ Walkman จึงมีอยู่ช่วงหนึ่งที่คนฟังเพลงบ้านเราเอาซาวน์ดอะเบาต์ใส่กระเป๋ากางเกง เสียบหูฟังเดินไปไหนต่อไหนกันเกลื่อนจนเป็นแฟชัน

 walkmans


ในช่วงขาลงของเทปผี ขาขึ้นของลิขสิทธิ์ เทปผีที่ผูกขาดตลาดมานานหายไปหลายเจ้า เหลือแต่ Peacock เป็นหลัก และขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพราะออกวางตลาดเร็ว วางก่อนเทปลิขสิทธิ์ ปรับปรุงการพิมพ์ปก ตัวตลับเทป และออกศิลปินที่เทปลิขสิทธิ์ไม่ออกอีกด้วย คนฟังเพลงยังคงเชื่อมั่นและติดตาม Peacock ต่อไปอย่างเหนียวแน่น ส่วนลิขสิทธิ์ก็ปรับปรุงไปด้วย คุณภาพดีขึ้น คนจึงหันมาฟังเพิ่มขึ้น

เทปผีหายไปจากตลาดจริงๆปีไหนผมไม่แน่ใจ คาดว่าราวปีพ.ศ. 2534-36 ซึ่งช่วงนั้นลิขสิทธิ์มีออกครบทุกสังกัดหลัก BMG, EMI, PolyGram, Sony Warner รวมทั้งปั๊มออกมาทุกแนวเพลง ทุกศิลปินที่ได้รับความนิยม ทดแทนส่วนที่หายไปของเทปผีได้ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ ทั้งยังทำตลาดซีดีโดยสั่งซีดีจากต่างประเทศเข้ามาขายด้วย จากส่วนนี้เอง ทำให้ยอดขายของศิลปินที่ดีๆ แฟนเพลงจึงได้อานิสงส์ดูศิลปินเหล่านั้นมาเล่นคอนเสิร์ตในไทย นี่คือจุดแข็งที่ลิขสิทธิ์สามารถตอบสนองผู้ฟังได้อย่างเต็มที่และถูกกฎหมาย

 

ขาลงของเทป

เมื่อเทปผีหายไปจากตลาดที่เต็มไปด้วยลิขสิทธิ์กับราคาที่มีมาตรฐานตายตัวที่ 70-90 บาทตั้งแต่พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา ราคาเพิ่มขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจจนกระทั่งหยุดผลิตราวปี2548 เพราะตลาดซีดีที่เข้ามาแทนที่และตลาดดาวน์โหลดทั้งผิดกฎหมายและถูกกฎหมาย พลิกโฉมหน้าของตลาดเพลงไปอย่างสิ้นเชิง สินค้าประเภทฟิซิคัลจึงเหลือเพียงซีดีที่นับวันจะหดตัวลง สวนทางกับตลาดดาวน์โหลดที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

เทปค่อนข้างไปเร็วในช่วงขาลง เพราะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แต่ตัวมันเองถูกจำกัดให้ต้องขายในราคามาตรฐานที่ถูกกำหนด ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เกิน 140 บาท หากเทียบกับซีดีแล้ว ราคาเทปถูกกว่าซีดีเท่าเดียว แต่มีข้อจำกัดในการเล่นและเก็บรักษามากกว่า ความนิยมจึงถดถอยและถูกมองข้ามไปในที่สุด

 tape02
Credits : becteroradio.com

 

กระแสเทปกลับมา

หลายคนคงเบื่อกับคำว่า “กระแส” โน่นนี่เต็มไปหมด อะไรที่พ่อค้าหัวใสจะทำตลาดก็โพนทะนาว่าเป็น “กระแส” เฉพาะในวงการเพลงก็มีทั้ง กระแสโพสต์ร็อค กระแสฮิปสเตอร์ กระแสแผ่นเสียงกลับมา ล่าสุด กระแสเทปกลับมา ซึ่งดูรูปการแล้วคงเหมือนพลุที่จุดขึ้นฟ้า พอแตกตู้ม แล้วก็ดับ ร่วงลงมาเป็นขี้เถ้า อย่างที่ทราบกันครับ ไม่ว่าแผ่นเสียงหรือเทป เป็นฟอร์แมตหนึ่งในการฟังเพลงที่มีไว้สำหรับคนฟังเพลงจริงๆ เพียงกลุ่มเดียวที่ต้องการซื้อมันมาเพื่อจับต้องและมีไว้ฟังตลอดไป แต่เทปดูจะมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งอายุของมัน การดูแลรักษา อย่างเดียวที่มันได้เปรียบก็คือราคาที่ไม่สูงมากนัก ต่อให้สั่งเข้ามาจากต่างประเทศ ราคาก็ไม่เกิน 350-400 บาท ซึ่งในแวดวงเฮฟวี เมทัลบ้านเราก็ยังมีคนสั่งเข้ามาขาย สั่งมาครั้งละ 20-30 ม้วนเท่านั้น เฉพาะแฟนตัวจริง ต้นสังกัดเองก็ไม่ได้ผลิตเป็นจำนวนมาก แค่หลักร้อย หรือวงที่มีชื่อเสียงก็แค่หลักพัน

แต่ล่าสุดก็เห็นมีพ่อค้าสั่งเทปวงต่างประเทศมาขายกันแล้ว ราคาม้วนละ 650 บาท ในฐานะคนฟังเพลงนะครับ ราคานี้มันแพงเกินไป แพงจนต่อให้คุณเป็นคนรักเทป สะสมเทปก็ยังต้องชั่งใจก่อนซื้อ เป็นราคาที่คนไม่เคยฟังเทป ไม่ได้สนใจแวดวงนี้ ไม่รู้ต้นทุนสินค้าเท่านั้นถึงจะซื้อได้เพียงเพราะชอบอย่างเดียวเท่านั้น แต่ก็มีคนสั่งเข้ามาขาย และมีคนซื้อ รู้สึกงงเหมือนกันว่าตลาดเทปเปลี่ยนแปลงไปถึงขั้นนี้แล้ว

 

อนาคตของเทป

มันอยู่คู่ตัวคนฟังเพลงมาร่วม 50 ปี อนาคตมันก็ยังคงอยู่ต่อไป แต่ไม่เติบโตมากไปกว่านี้ ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างที่แจงไว้ข้างต้น ไม่ใช่ยุคของมัน ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่ราคาขายสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดไม่ได้ เก็บรักษายาก มีปัญหาร้อยแปด มันจึงแค่ฟอร์แมตที่ตอบสนองคนฟังเพลงกลุ่มเข้าสายเลือดเล็กๆกลุ่มหนึ่งที่มีความสุขกับการฟังเทป (แน่นอน พวกเขาต้องมีเครื่องเล่นอยู่แล้ว) และรำลึกถึงอดีตของตัวเองที่ครั้งหนึ่งเคยมีสังคมเล็กๆในกลุ่มเพื่อนที่ฟังเทปด้วยกัน สนุกกับการออกตระเวนล่าซื้อเทปที่หายาก เทปศิลปินที่อยากฟัง และก็แค่นี้จริงๆ ไม่มีกระแส ไม่มีปรากฏการณ์อะไรหรอกครับ และถ้าราคามันแพงกว่าซีดีเมื่อไหร่ ก็แสดงว่าจุดจบของเทปใกล้เข้ามาแล้ว

 

 

*ข้อมูลที่เกี่ยวกับเวลาหรือปี อาจคลาดเคลื่อนบ้าง เนื่องจากบทความนี้เขียนจากความทรงจำ

 

 

 

____________________________

สั้นๆ เกี่ยวกับผู้เขียน



นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี 2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี 2545-2548

ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Records Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook