มารู้จักกับแนวดนตรี City Pop ผ่าน 10 บทเพลงนี้กันเถอะ | Sanook Music

มารู้จักกับแนวดนตรี City Pop ผ่าน 10 บทเพลงนี้กันเถอะ

มารู้จักกับแนวดนตรี City Pop ผ่าน 10 บทเพลงนี้กันเถอะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อคราวก่อนได้มีโอกาสเขียนถึงงาน EP อัลบั้มใหม่ของ Polycat  “Doyobi no Terebi” ที่มีเนื้อร้องเป็นภาษาญี่ปุ่นล้วนและแนวดนตรีเป็น City Pop คิดว่าคงมีใครหลายคนที่ได้ฟังงานเพลงอัลบั้มนี้แล้วรู้สึกติดใจในรสชาติของดนตรีแนวนี้ หรือ คงอยากรู้เพิ่มเติมว่าแนวดนตรีนี้เป็นอย่างไรและมีวงดนตรีใด เพลงใดบ้างที่น่าสนใจ

คราวนี้ผมเลยตั้งใจที่จะเขียนถึงงานดนตรี City Pop และหยิบยกบทเพลงมา 10 เพลงเพื่อเป็นแนวทางให้ได้เข้าใจฟีลลิ่งและรสชาติของงานดนตรีแนวนี้ได้ดียิ่งขึ้นครับ

City Pop เป็นแนวดนตรีป็อปที่รุ่งเรืองในญี่ปุ่นช่วงทศวรรษที่ 80s โดยมันให้ภาพของ “ความเป็นเมือง” ที่มีเสน่ห์และดึงดูดใจของญี่ปุ่นยุคฟื้นฟูหลังสงคราม อันสะท้อนให้เห็นถึง “ปาฏิหารย์ทางเศรษฐกิจ” ของญี่ปุ่น อันหมายถึงความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเย็นที่เกิดจากความพยายามที่จะลบบาดแผลจากสงครามและกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง

City Pop จะมีกลิ่นอายของงานดนตรีแบบดิสโก โซล ฟังค์ แจ๊ซ อิเล็คทรอนิค ป็อป ซินธ์ป็อป ผสมกลมกลืนกันไป แต่ทั้งนี้ดนตรีแบบ City Pop จะต้องให้ความรู้สึกด้านบวก มีความสดใส สวยงาม อาจให้สัมผัสของหน้าร้อน และฤดูใบไม้ผลิอันสดใส ผ่อนคลาย อบอุ่น อ่อนหวาน นั่นเอง

ส่วนงาน Album Cover  ของดนตรีแนวนี้ก็จะเป็นอะไรที่สดใส เริงร่า โทนก็จะพาสเทลๆ หวานๆ อาจมีภาพของทะเลร่วมด้วย หรือทำเป็นกราฟิค มินิมอลสวยๆกันไป

 

ปกอัลบั้ม Memories in Beach House ของวง Seaside Lovers

 

ปกอัลบั้ม For You ของ Tatsuro Yamashita

 

ปกอัลบั้ม First Light ของ Makoto Matsushita

 

ปกอัลบั้ม compilation Light Wave : Today & tomorrow

 

เพื่อความเข้าถึงและเพลิดเพลินในแนวดนตรีนี้มากยิ่งขึ้น ผมจึงได้หยิบยกบทเพลง 10 เพลงมาฝากเพื่อนๆ ด้วย งั้นเราไปฟังกันเลยดีกว่าครับ

 

SEASIDE LOVERS, “EVENING SHADOWS” (CBS/SONY 1983)

 

บทเพลงนี้เป็นผลงานของวง Seaside Lovers อันมีสมาชิกประกอบไปด้วย ฮิโรชิ ซาโตะ (Hiroshi Sato)  ฮารูโอมิ โฮโซโนะ (Haruomi Hosono) ชิเงรุ ซูสุกิ (Shigeru Suzuki)  ทัตสึโอะ ฮายาชิ (Tatsuo Hayashi) และ มาซาทากะ มัตซึโตยะ (Masataka Matsutoya)โดยเพลงนี้ ฮิโรชิ ซาโตะเป็นคนประพันธ์ ซึ่งงานดนตรีแบบนี้ในญี่ปุ่นจะมีชื่อเรียกเฉพาะเจาะจงลงไปอีกว่า “Light Mellow” ดูจากชื่อแล้วชวนเบิกบานจริงๆ เพลงนี้เป็นตัวอย่างของเพลง City Pop ที่ไม่มีเนื้อร้องครับ ลองเอนกายแล้วไปฟังกันเลยครับ

 

HARUKO KUWANA, “AKOGARENO SUNDOWN” (PHILIPS 1978) 

 

(เริ่มนาทีที่ 9.42 ครับ)

เพลงนี้เป็นแทร็คแรกจากอัลบั้มเดบิวต์ “Million Stars” ของ ฮารุโกะ คุวานะ นักร้องนักดนตรีสาว (ในยุคนั้น) ชาวญี่ปุ่นที่มีผลงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1978 -1996

เพลงนี้ริฟฟ์กีตาร์มีกรู๊ฟชวนขยับดี ผสมผสานไปกับเสียงของซินธ์และเสียงร้องสบายๆ ยิ่งทำให้เพลงนี้ฟังได้เพลินๆเลย

 

TATSURO YAMASHITA, “SPACE CRUSH” (RCA 1978)

 

ทัตซึยะ ยามาชิตะ เป็นที่รู้จักดีในต่างประเทศ เพลงนี้มาจากอัลบั้ม  ที่ออกในปี 1978 (ปีนี้มีอัลบั้มเพลง City Pop ดีๆเพียบเลย) และได้ ริวอิชิ ซากาโมโต นักดนตรีและผู้ประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อดัง มาเล่นซินธ์ให้ (The Revenant คือเรื่องล่าสุดที่ริวอิชิทำเพลงประกอบ ส่วนเพลงที่น่าจะเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดของเขาก็คงจะเป็นเพลง Merry Christmas Mr.Lawrence  จากภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน เขาเริ่มเป็นที่รู้จักจากการเป็นสมาชิกวง YMO – Yellow Magic Orchestra วงดนตรีอิเล็คทรอนิคชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่นที่เริ่มก่อตั้งในปี 1978 ซึ่งก็เป็นปีเดียวกับที่เพลงนี้ออกมานั่นเอง)

ภาพในอดีตและปัจจุบันของสมาชิกวง YMO และนักร้องสาว Tomoyo Harada ที่โด่งดังในยุค 80s คนขวาสุดของภาพคือ ริวอิชิ ซากาโมโต

 

การมาร่วมแจมของริวอิชิ ทำให้เพลงนี้มีสีสันและความน่าสนใจมากเลย มันได้บรรยากาศและอารมณ์แบบอวกาศจริงๆ เพลงนี้ทัตซึยะได้แรงบันดาลใจมาจากการขับรถทางไกลจากบ้านเกิดคือเมืองเนริมะเข้ามาสู่โตเกียวมหานคร ในช่วงเวลานั้นตึกระฟ้า “Sunshine 60”อันเป็นตึกที่สูงที่สุดในเอเชีย ณ ขณะนั้นเพิ่งสร้างเสร็จ และมันก็ได้ตั้งตระหง่านสะกดสายตาของทัตซึยะท่ามกลางหมู่เมฆในวันที่มีเมฆมาก เขารู้สึกราวกับว่าเจ้าตึกนี้คือหอคอยบาเบลอย่างไรอย่างนั้นเลย

 

HARUMI OHZORA, “LAGOON HOTEL” (ラグーン・ホテル ) (INVITATION 1978)

 

ขึ้นต้นมานึกว่าใครตีระนาด เพลงนี้ของฮารูมิ โอโซระให้อารมณ์ที่แปลกแหวกแนวมาก มันมีกลิ่นอายของความเป็นแจ๊ซและงานดนตรีแบบตะวันออก การร้องให้อารมณ์เหมือนฟังเพลงอินเดียเลย เป็นงานเพลงที่แปลกดีและมีความโดดเด่นแตกต่างจาก City Pop ทั่วๆไปในยุคนั้น

 

NORIKI, “DO WHAT YOU DO” (EASTWORLD 1983)

 

งานเพลงซินธ์บูกี้ฟังก์แสนหวานจากอัลบั้มเดบิวต์ที่ชื่อ “Noriki” ของ โซอิชิ โนริกิ นักดนตรีนักแต่งเพลงแนวฟังก์ แจ๊ซซึ่งนอกจากเขาจะมีผลงานเป็นของตัวเองแล้วเขายังเล่นคีย์บอร์ดให้กับวงของทัตซึยะ ยามาชิตะอีกด้วย

 

DIP IN THE POOL, “A SEEKER” (MOON RECORDS 1991)

 

แทร็คที่ 4 จากอัลบั้ม Dipping ของวงดูโอป็อปยุค 80s ของญี่ปุ่น Dip in the Pool (สมาชิกทั้งสองคือ มิยาโกะ โคดะ (ร้องนำ) และ ทัตซึจิ คิม (คีย์บอร์ด)) อันมีส่วนผสมของแนวดนตรีอิเล็คทรอนิค นิวเวฟ และ แอมเบียนต์

 

KYOKO TAKAMI, “YUME NI ANATA” (UNKNOWN 1983)

 

ด้วยความแนวของเพลงนี้ จึงทำให้เราไม่ค่อยแน่ใจนักว่ามันเป็น City Pop หรือเปล่า แต่อย่างไรก็ตามเพลงนี้ก็ออกในปี 1983 อันอยู่ในช่วงรุ่งเรืองของ City Pop และมีส่วนผสมของดนตรีฟังก์ เร็กเก้ ซินธ์ป็อป นิวเวฟ อันมีเสียงร้องสไตล์ไอดอลสาว มันช่างเป็นส่วนผสมที่แปลกประหลาดเหลือ จึงทำให้ไม่ควรพลาดที่จะหยิบยกเพลงนี้มาอยู่ในลิสต์ด้วย

 

KATSUMI HORII PROJECT, “HOT IS COOL” (AIR RECORDS 1987)

 

ผลงานจากอัลบั้มเดบิวต์ของKATSUMI HORII PROJECT ผู้มาพร้อมบทเพลงแห่งฟิวชั่น ซินธ์บูกี้ ฟังก์ เป็นอีกหนึ่งเพลงที่น่าสนใจและไม่ควรพลาด

 

VIZION, “SOMEBODY’S GETTING TO YOU” (RIV.STAR RECORDS 1983)

 

อีกหนึ่งงานบูกี้ฟังก์ งานเพลงจากอัลบั้มเพียงหนึ่งเดียวของ Vizion “Psychotic Cube”  ต่อมาหัวหน้าวงคือ ซาคิยะ เคนจิโร่ ก็มีชื่อเสียงโด่งดังจากงานโซโล่และงานโปรดิวซ์

 

MAKOTO MATSUSHITA, “FIRST LIGHT” (AIR RECORDS 1981)

 

ปิดท้ายด้วยหนึ่งในอัลบั้ม City Pop ที่โด่งดังที่สุด มันคืองานมาสเตอร์พีซของดนตรีแนวนี้ งานเพลงทั้งหมดในอัลบั้มนี้รวมไปถึงปกอัลบั้มบ่งบอกถึงความเป็น City Pop ได้อย่างชัดเจน

มาโคโตะ มัตซึชิตะถ่ายทอดวิถีชาวเมืองยามหน้าร้อนมาเยือนได้อย่างงดงาม ผ่านงานเพลงในอัลบั้มแรกในชีวิตของเขา

 

ผ่านไปครบถ้วนทั้ง 10 เพลงแล้วนะครับ หวังว่าเพื่อนๆคงจะเพลิดเพลินไปกับบทเพลง City Pop เหล่านี้ซึ่งหากใครติดใจก็สามารถค้นหาเพิ่มเติมได้ ช่องทางที่ง่ายที่สุดก็คือพอเวลาเราฟังเพลงที่แนะนำมาในบทความนี้ทาง youtube ก็จะมีการแนะนำเพลงอื่นๆในแนวเดียวกันต่อ ซึ่งเราก็สามารถติดตามจากช่องทางนี้ได้ต่อเลยครับ หรือสามารถสืบค้นข้อมูลของอัลบั้มเพลง City Pop ต่างๆและสั่งซื้อแผ่นเพลงได้ใน www.discogs.com ครับ

 

Source :

CITY POP: A GUIDE TO JAPAN’S OVERLOOKED ’80S DISCO, Rateyourmusic

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook