"Wake Me Up When September Ends" บทเพลงที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของเดือนกันยายน
Wake Me Up When September Ends จงปลุกฉันเถิดเมื่อยามที่เดือนกันยายนได้ล่วงผ่านไปแล้ว
นี่คือประโยคสำคัญจากบทเพลงที่มีชื่อว่า “Wake Me Up When September Ends” บทเพลงฮิตจากอัลบั้ม American Idiot (2004) ของวงพังค์ร็อค Green Day
ด้วยท่วงทำนองที่เศร้าสร้อย หวนให้คิดถึงความทรงจำและเรื่องราวในชีวิตที่ล่วงเลยผ่านมา ผ่านท่วงทำนองที่หนักแน่นของดนตรีพังค์ร็อคที่ถูกถ่ายทอดด้วยท่วงท่าที่เรียบง่าย ทำให้บทเพลงนี้เป็นเพลงโปรดของใครหลายๆคน และด้วยเนื้อหาของเพลงที่มีการกล่าวถึงเดือนกันยายน จึงทำให้เพลงนี้มักถูกนึกถึงเสมอเมื่อเดือนเก้าแห่งรอบปีได้เดินมาถึง
นอกจากท่วงทำนองที่ไพเราะแล้ว ความพิเศษประการหนึ่งของเพลงนี้คือ สามารถตีความได้หลากหลายแง่มุม ผู้ฟังสามารถเชื่อมโยง ความคิด อารมณ์และความรู้สึกไปตามบริบทต่างๆที่ตัวเองคิดว่าบทเพลงนี้กำลังถ่ายทอดออกมา
และต่อไปนี้คือ เรื่องราวของบทเพลงเพลงนี้ “Wake Me Up When September Ends” ครับ
เรียบง่ายแต่ทรงพลัง
คลิกเพื่อฟัง Green Day - Wake Me Up When September Ends
“Wake Me Up When September Ends” เป็นแทร็คที่ 11 จาก 17 เพลงในอัลบั้มมาสเตอร์พีซของวง “American Idiot (2004)” ซึ่งอัลบัมนี้เป็นคอนเซปอัลบั้มที่ถ่ายทอดเรื่องราวของการก้าวพ้นวัย (coming-of-age) ผ่านความเศร้าและร่องรอยของประสบการณ์ในชีวิต อีกทั้งยังสะท้อนอารมณ์แห่งความหวาดกลัวและเศร้าสร้อยที่มีต่อประเทศที่ตนดำรงอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านแห่งศตวรรษ (หมายถึงการเปลี่ยนแปลงของสหรัฐอเมริกาหลังก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 นั่นเอง ซึ่งได้เกิดเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างหนึ่งในนั้นก็คือ เหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 หรือ 9/11 นั่นเอง ) ซึ่งเมื่อดูจากภาพรวมในอัลบั้มแล้ว “Wake Me Up When September Ends” ถือว่าเป็นเพลงที่มีท่วงทำนองที่สะเทือนอารมณ์ที่สุด โดดเด่นที่สุด และจากนั้นมาเพลงนี้ก็กลายเป็นบทเพลงที่เป็นตัวแทนของวงไปเลย
เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างของเพลง ความเรียบง่ายที่งดงามของเพลงนั้น หนึ่งเลยมาจากกีตาร์อะคูสติค ที่บรรเลงริฟฟ์ที่เล่นง่าย ฟังง่าย (หลายคนที่เพิ่งเล่นกีตาร์สามารถแกะเพลงนี้และเล่นได้ในเวลาไม่นาน) ด้วยการเล่นกระจายโน้ตในคอร์ด (Arpeggio) โดยเล่นแบบเดียวกันนี้ไปตลอดท่อนร้อง คลอไปกับเสียงร้องอันหม่นเศร้าของ บิลลี่ โจ อาร์มสตรอง ที่ถ่ายทอดมันออกมาจากข้างใน ในแบบที่ใครก็ไม่สามารถร้องได้แบบเขา เพียงแค่ขึ้นท่อนร้องได้ไม่นาน เสียงของบิลลี่ ก็พาให้เราน้ำตาคลอได้โดยทันที ก่อนที่จะค่อยๆเพิ่มความหนักแน่นด้วยการประสานพลังระหว่างเบส กลอง และกีตาร์ไฟฟ้า ประหนึ่งการระเบิดความรู้สึกออกมา ก่อนที่จะไปพีคที่ท่อนโซโล่ที่ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนแต่มันกลับพาอารมณ์ของคนฟังทะลุถึงขีด จากนั้นเพลงก็กลับมาสู่ท่วงทำนองเดิมจนจบเพลง ก่อนที่จะทิ้งไว้ด้วยเสียงกีตาร์ที่ก้องกังวานประหนึ่งความทรงจำที่ยังคงก้องอยู่ และค่อยๆเลือนไปเหลือไว้เพียงความรู้สึกคิดถึง และความทรงจำ
เรื่องราวที่ 1 : แด่พ่อผู้ไม่เคยจากไป
เพลงนี้บิลลี่ โจ อาร์มสตรอง เขียนถึงพ่อของเขาที่จากไปด้วยโรคมะเร็งเมื่อวันที่ 1 กันยายน 1982 ในตอนนั้นบิลลี่ซึ่งมีอายุเพียงแค่ 10 ขวบ วิ่งร้องไห้จากงานศพพ่อและขังตัวเองไว้ในห้อง เมื่อแม่กลับมาถึงบ้านและเคาะประตูเรียกบิลลี่ บิลลี่ร้องไห้ไม่หยุดและพูดแต่เพียงว่า “Wake me up when September ends.”
Summer has come and passed
The innocent can never last
ปลายเดือนกันยายนเป็นช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่านจากฤดูร้อนมาสู่ฤดูใบไม้ร่วง เปรียบดังการเปลี่ยนผ่านจากช่วงเวลาแห่งความสุขมาสู่การลาจากอันเป็นความจริงของชีวิตที่เราต้องเผชิญ
Like my father’s come to pass
Seven years has gone so fast
พ่อขอบิลลี่ได้จากไปในปี 1982 7 ปีต่อมาเขาได้ฟอร์มวงกับ Mike Dirnt มือเบสของวงกรีน เดย์ ในตอนนั้นทั้งสองใช้ชื่อวงที่ตั้งขึ้นมาด้วยกันว่า The Sweet Children ในตอนนั้นบิลลี่ที่มีอายุ 18 ปีได้จากแม่ไปอยู่ด้วยลำแข้งของตนเอง ดังนั้นท่อนเพลงนี้จึงหมายถึงการสะท้อนมุมมของของบิลลี่ในช่วงเวลานั้นนั่นเอง
Like my father’s come to pass
Twenty years has gone so fast
ในช่วงท่อนร้องที่ 3 เนื้อเพลงได้ถูกเปลี่ยนจาก 7 ปี เป็น 20 ปี ซึ่งสามารถตีความได้ว่า มันเป็นช่วงเวลาที่บิลลี่ได้เขียนเพลงนี้ ในปี 2002 ซึ่งเป็นเวลา 20 ปีพอดีหลังการจากไปของพ่อของเขา
ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมาเมื่อย่างเข้าสู่เดือนกันยายน บิลลี่แทบอยากจะหลับไปและตื่นขึ้นมาหลังจากมันผ่านพ้นไปแล้ว ความรู้สึกนั้นไม่เคยจากไปไหนมันยังอยู่ในใจของเขาเสมอมา
As my memory rests
But never forgets what I lost
Wake me up when September ends
ถึงแม้ว่าเมื่อเวลาผ่านไปความทรงจำจะไม่ได้ทำให้บิลลี่เจ็บปวดได้เท่าที่ผ่านมา แต่ทว่าเขาก็ยังคงไม่ลืมความเจ็บปวดจากการสูญเสียในอดีต ความรู้สึกของการสูญเสียผู้เป็นที่รักไปเคยจางหายไปเลย ดังนั้นเขาจึงบอกกับเราว่า “ค่อยปลุกฉันเมื่อเดือนกันยาล่วงผ่านไปแล้ว”
เรื่องราวที่ 2 : โศกนาฏกรรมแห่งเดือนกันยายน
แน่นอนว่า ด้วยคอนเซปของอัลบั้ม American Idiot และช่วงเวลาที่อัลบั้มนี้ปล่อยออกมา (2004) จึงทำให้เนื้อหาของเพลงนี้ถูกเชื่อมโยงกับเหตุการณ์โศกนาฏกรรม 9/11 ความสูญเสียที่กล่าวถึงในบทเพลงจึงหมายถึงการสูญเสียของชาวอเมริกันที่มีต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ นอกจากนี้มิวสิควีดิโอ (กำกับโดย Samuel Bayer และนำแสดงโดย Evan Rachel Wood และ Jamie Bell) ยังเป็นเรื่องราวของคู่รักที่ฝ่ายชายต้องแยกห่างจากคนรักไปสงครามที่อิรัก (อันเป็นสงครามที่สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ 9/11 นั่นเอง)
เรื่องราวที่ 3 : เรื่องราวของ JOS
เรื่องราวที่ 3 นี้เป็นเรื่องราวโดยตรงของบทเพลงนี้ เป็นการตีความชั้นที่ 1 ซึ่งอิงมาจากเนื้อหาทั้งอัลบั้ม American Idiot อัลบั้มนี้ ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวละครที่เป็นตัวแทนของความ Idiot มีชื่อว่า The Jesus of Suburbia (JOS) ผู้ซึ่งต่อต้านนโยบายสงครามและเศรษฐกิจด้วยยาเสพย์ติดและการเมินเฉย JOS รู้สึกว่าการใช้ชีวิตอยู่ในเมือง The City of the Damned นั้นไม่สามารถเติมเต็วความปรารถนาของเขาได้ เขาจึงจากบ้านเกิดเพื่อค้นหาตัวตนและเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ การเดินทางครั้งนี้นอกจากจะทำให้ JOS จากครอบครัวจากเพื่อนแล้ว ยังทำให้เขาต้องพบกับการสูญเสียเพื่อนใหม่ซึ่งก็คือ Whatsername (อันเป็นแทร็คที่ 12 ต่อจาก “Wake Me Up When September Ends”) JOS กลับบ้านมาใช้ชีวิตปกติดังเดิม หลังจากสูญเสีย Whatsername ไป มันนานมาแล้วเขาจำชื่อเธอไม่ได้อีก เขาได้แต่สงสัยว่าเธอเป็นอย่างไร สิ่งที่เขามีต่อเธอคือความเสียใจจากการสูญเสียในครั้งีน้และความทรงจำที่มีด้วยกันเรื่องราวของ JOS จบลงด้วยการที่เขาพยายามจะลืมเธอให้ได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เพลง Wake Me Up When September Ends สามารถถูกตีความได้ว่าเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกสูญเสียของ JOS นั่นเอง
มีหลักฐานการเชื่อมโยงกันของเนื้อเรื่องในบทเพลงต่างๆของอัลบั้ม ดังปรากฏในเพลง Holiday ที่มีท่อนหนึ่งความว่า
Hear the sound of the falling rain
Coming down like an Armageddon flame
เป็นเรื่องราวในช่วงที่ JOS เพิ่งเริ่มเดินทางออกจากบ้านมา ในยามนั้นฝนเทกระหน่ำราวกับกองเพลิงแห่งสงคราม Armageddon ต่อมาในเพลง Wake Me Up When September Ends ได้มีการกล่าวถึงสายฝนอีกครั้ง
Here comes the rain again
Falling from the stars
Drenched in my pain again
Becoming who we are
สายฝนได้หล่นลงมาจากฟ้าอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ภาพที่เห็นมันดูซอฟท์ลง สายฝนเทหลั่งลงมาจากฟ้าและดวงดาว แต่คราวนี้มันนำมาซึ่งความเจ็บปวดและการตระหนักรู้ในตัวตน อันสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตและมุมมองที่เปลี่ยนไปหลังผ่านเหตุการณ์ต่างๆในการเดินทางของ JOS นั่นเอง
เป็นอย่างไรบางครั้ง ไม่น่าเชื่อเลยว่าบทเพลงเพลงหนึ่งจะสามารถถ่ายทอดมิติของเรื่องราวได้ลุ่มลึกและหลากหลายถึงเพียงนี้ ไม่น่าแปลกใจเลยที่ทำไมเพลงนี้ถึงเป็นที่รักของใครหลายๆคน และนี่ก็คือเรื่องราวของบทเพลงที่เป็นสัญลักษณ์ของเดือนกันยายน “Wake Me Up When September Ends” ครับ
อ้างอิง