5 เหตุการณ์สึนามิถล่มวงการดนตรีสากล โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

5 เหตุการณ์สึนามิถล่มวงการดนตรีสากล โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

5 เหตุการณ์สึนามิถล่มวงการดนตรีสากล โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สึนามิ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากแผ่นดินไหวใต้ทะเล แรงสั่นสะเทือนและการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกใต้ทะเลทำให้เกิดคลื่นสะท้อน กลายเป็นคลื่นใต้น้ำที่วิ่งด้วยความเร็วเข้าสู่แนวแผ่นดินในสภาพของคลื่นยักษ์ที่มีอานุภาพการทำลายล้างรุนแรง บางตำราสันนิษฐานว่าไดโนเสาร์สูญพันธุ์เพราะส่วนหนึ่งเกิดจากอุกาบาตรตกลงบนพื้นโลก ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดมหึมา และเกิดสึนามิสูงนับร้อยเมตร

เราเก็บเรื่องภูมิศาสตร์ไว้ก่อน ในวงการดนตรี โดยเฉพาะดนตรีสากล มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายตลอดเวลาตามโลกที่หมุนไปอย่างไม่หยุดยั้ง มีบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เต็มไปด้วยความแปลกประหลาด มหัศจรรย์ทั้งในแง่บวกและลบ พูดถึงแง่ลบ (ที่ภายหลังบางคนอาจคิดว่ามันบวก) ก็เปรียบได้กับเกิดปรากฏการณ์สึนามิถล่มวงการดนตรี กวาดบางสิ่งบางอย่างจนราบคาบ แล้วพัดลงทะเลหายไปหมด ถ้าเป็นสิ่งมีชีวิตก็เกือบจะอยู่ในสภาพตายเรียบ

ผมยกตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญระดับสึนามิครั้งใหญ่ในวงการดนตรีมา 5 เหตุการณ์ แต่ละเหตุการณ์ล้วนพลิกโฉมหน้าของวงการดนตรีและธุรกิจดนตรีไปอย่างสิ้นเชิง และบางคนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ อาจจะเคยอยู่ในเหตุการณ์นั้นมาแล้วก็ได้ มันจะดีหรือเลวอย่างไร ไม่อาจตัดสินได้ เราเป็นเพียงคนฟังเพลง วงการจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร เราไม่มีปัญหาไปบอกให้มันเปลี่ยนไปในแบบที่เราต้องการได้ อีกอย่าง วงการดนตรียังคงเดินหน้าต่อไปทุกนาที

 

1) อังกฤษบุก (British Invasion 1964-1969 โดยประมาณ)

1_01the-beatles

นับแต่ The Beatles มีเพลง I Wanna Hold Your Hand” เป็นซิงเกิลอันดับ 1 ในอเมริกาเป็นต้นมา วงอังกฤษจำนวนมาก ประสบความสำเร็จในอเมริกาตามหลังไปติดๆ นอกจากเปิดตลาดอเมริกาที่ว่าเปิดได้ยากเย็นกับซิงเกิลเพลงดังของตนเองแล้ว ยังบินไปเยี่ยมแผ่นดินอเมริกาเพื่อแสดงคอนเสิร์ต The Beatles ได้ฤกษ์ไปเล่นคอนเสิร์ตที่อเมริกา เมื่อ 7 ก.พ. 1964 ด้วย วงรุ่นเดียวกันอย่าง The Rolling Stones, The Kinks, The Animals, The Hollies และอีกมากมาย ล้วนประสบความสำเร็จในอเมริกาเช่นเดียวกัน อาจลดหลั่นกันไปตามระดับความดังและเพลงฮิตที่ออกขายในอเมริกา

 

1_02the-rolling-stones


นอกจากนี้ The Beatles น่าจะเป็นวงร็อควงแรกของโลกที่ควบตำแหน่งบอยแบนด์ ที่สร้างปรากฏการณ์ไว้มากมาย ที่สำคัญและเป็นสถิติมาจนทุกวันนี้ก็คือ เป็นวงเดียวที่มีซิงเกิลติดอันดับ 1-5 ในชาร์ตบิลบอร์ดพร้อมกันโดยไม่มีศิลปินอื่นมาสอดแทรกเลย เมื่อ 4 เม.ย. 1964

British Invasion ไม่ใช่แนวดนตรี แต่เป็นปรากฏการณ์ที่สื่อฝั่งอเมริกาและทั่วโลกพากันเรียกบรรดาวงอังกฤษในสมัยนั้นที่ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปประสบความสำเร็จและกอบโกยชื่อเสียงในอเมริกา ดินแดนที่ได้ชื่อว่า มีแต่ดนตรีคนผิวสีและคันทรีเท่านั้น จึงจะอยู่ได้ แต่บรรดาวงอังกฤษที่กล่าวมาทำได้ดี และทำให้วงการดนตรีในอเมริกาต้องปรับตัวขนานใหญ่ จนเป็นที่มาของคลื่นยักษ์สึนามิลูกแรกที่เกิดขึ้นในวงการดนตรี นับเป็นครั้งแรกที่อเมริกาถูกหยามหน้าอย่างชัดเจน ซึ่งมี The Beach Boys กู้หน้าไว้ได้ในระดับหนึ่งกับดนตรีเซิร์ฟร็อคกับเสียงประสานชั้นเลิศ

ที่ว่าเป็นสึนามิก็เพราะขณะนั้นวงการดนตรีอเมริกายังหลงใหลกับดนตรีร็อค แอนด์ โรล, ป๊อป และโซลโดยนักร้องเดี่ยวเป็นหลัก ถ้าเป็นวงก็มักเป็นนักร้องเสียงประสานหลายคนที่มีวงดนตรีแบ๊กอัพ เอลวิส เพรสลีย์, แพต บูน, นีล เซดากา, พอล แองกา, แฟรงกี แวลลี, ดิออน และบรรดานักร้องขวัญใจวัยรุ่นทั้งหลายต่างพากันโดนกระแสคลื่นสึนามิจากอังกฤษพัดกระจายกันไปคนละทิศคนละทาง เหลือไม่กี่คนที่สามารถต้านทานคลื่นนี้ไว้ได้ แต่ก็เสียศูนย์ไปไม่น้อย เอลวิสคือหนึ่งในจำนวนผู้ที่รอดมาได้ ที่เหลือกว่าจะได้กลับสู่วงการที่เงียบสงบไร้คลื่นลมอีกครั้งก็ต้นยุค70s บางรายก็ปลายยุคไปเลย ซึ่งก็พ้นยุคของพวกเขาไปแล้ว ทำได้เพียงแค่กลับมาออกผลงานให้คนรำลึก

British Invasion จึงเป็นสึนามิที่เกิดขึ้นเพื่อทำลายศิลปินประเภททีนไอดอล หรือขวัญใจวัยรุ่นอย่างแท้จริง นักร้องเดี่ยวที่สาวๆพากันกรี๊ดต้องหายหน้าไป เพื่อเปิดทางให้บอยแบนด์ที่มีฝีมือเข้ามารับไม้ต่อแทน หมดยุคของนักร้องถือไมค์ยืนร้องเพลงหน้าวงแบ๊กอัพแล้ว กลายเป็นวงดนตรีสี่ชิ้นที่มาดดี เท่ หล่อหลายสไตล์ ทุกคนร้องและเล่นเครื่องดนตรีได้ ไม่ต้องพึ่งวงแบ๊กอัพต่อไป (ซึ่งในวงการเพลงไทยเพิ่งมีเอาราวๆต้นยุค ‘80s แต่ส่วนหนึ่งก็ยังแต่งเพลงไม่ได้ ต้องให้ค่ายแต่งเพลงป้อน แล้วจำใจเล่นกันไป)

 

ปลายยุค ‘60s กระแส British Invasion ค่อยๆเลือนหายไปตามกาลเวลา หลังจากเกิดสงครามเวียตนาม และมีวงอเมริกันจำนวนมากที่ทำเพลงต่อต้านสงคราม พร้อมกับแต่งเติมดนตรีโฟล์กดั้งเดิมด้วยการเพิ่มร็อคเข้าไป ตลอดจนเล่นร็อคเมายาที่เรียกกันว่าไซคีเดลิกร็อค เช่น The Byrds, The Mamas and The Papas, Jefferson Airplane, The Doors และอีกมากมายมหาศาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวงย่านเบย์ แอเรีย ซานฟรานซิสโก และนิวยอร์ก อันเป็นสองฝากฝั่งของอเมริกาที่ธุรกิจดนตรีฟูฟ่องมากที่สุด 

สรุปว่าสึนามิชื่อ British Invasion กวาดเอาบรรดานักร้องเดี่ยวประเภทขวัญใจวัยรุ่นลงทะเลไปจนหมด หลงเหลืออยู่ไม่มากนัก และกว่าพวกเขาจะฟื้นฟูตัวเองเพื่อกลับมามีชื่อเสียงได้อีกครั้ง มันก็เข้าสู่ยุคนักร้อง/นักแต่งเพลงในอเมริกา และยุคแกลมร็อคกับโปรเกรสสีฟร็อคในอังกฤษไปแล้ว

ระดับการทำลายล้าง : 4/5

 

2) ดิสโกครองตลาด (Disco Era 1977-1980)

 

2_01donnasummer


สึนามิลูกนี้สีดำ เป็นดนตรีผิวสีที่มีอำนาจการทำลายร้ายแรงเกือบจะเรียกว่าเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทำให้ตลาดธุรกิจดนตรีต้องปรับตัวตามกันขนานใหญ่ ทุกค่ายเพลงต้องมีวงดนตรีอย่างน้อย หนึ่งหรือสองวงเล่นดิสโกออกไปแชร์ตลาด แม้แต่สังกัดคันทรีอย่าง Curb ก็ยังฝืนสึนามิลูกนี้ไม่อยู่ ต้องเข็นให้วง Exile ในสังกัดทำเพลงดิสโกออกสู่ตลาด และก็ประสบความสำเร็จมากกว่าเล่นเพลงคันทรีเสียอีก ส่วนศิลปินผิวสีที่เล่นโซล ริธึม แอนด์ บลูส์ ก็หันมาให้ความสำคัญกับดิสโกเต็มตัว และมักไม่ทำให้คนฟังผิดหวัง ดอนนา ซัมเมอร์ ร้องดิสโกได้ดีเยี่ยมจนได้สมญา “ราชินีดิสโก” ไปอย่างไร้ข้อกังขา หรือ Boney M จากฝั่งอังกฤษที่ผสมผสานดนตรีหลายหลากที่อยู่บนพื้นฐานของดิสโกจนมีซิงเกิลฮิตมากมาย

 2_02boney-m

พูดถึงดนตรีคนผิวสีที่มีจังหวะสนุกอย่างฟังกี โซล ไปจนถึงฮัสเซิล เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจดนตรีในอเมริกามานาน และเบ่งบานตั้งแต่ต้นยุค60s วงดนตรีคนผิวสีจำนวนมากถูกผลักดันออกสู่ตลาด หลักๆก็มีค่าย Motown, Atlantic, Avco, Liberty, 21st Century, ABC, MCA, Casablanca ปัจจุบัน บางค่ายก็ถูกค่ายใหญ่ฮุบกิจการไปแล้ว แต่ก็ยังมีซีดีแบ๊กแคตลาลอกปั๊มออกมาให้หาซื้ออยู่ตลอด เพราะแต่ละศิลปินล้วนขายดีและประสบความสำเร็จอย่างสูงในยุคนั้น

ยุค ‘70s ฝั่งดนตรีคนขาวคลาคล่ำไปด้วยนักร้อง/นักแต่งเพลงจำนวนมาก อาทิ เจมส์ เทย์เลอร์, แจ๊กสัน บราวน์, พอล ไซมอน เป็นตัวหลัก ฝั่งดนตรีคนดำก็ยังมีศิลปินค่าย Motown ครองตลาด ตามด้วยศิลปินแนวฟังกี, โซล, ริธึม แอนด์ บลูส์ อีกจำนวนมหาศาล ไม่เคยว่างเว้นไปจากตลาดเพลงและแผ่นเสียงเลย กระทั่งแวน แมกคอย ออกอัลบัม Disco Baby มาในปี1975 มีเพลง The Hustle” เป็นซิงเกิลดัง ดนตรีฮัสเซิลจึงเป็นที่นิยมและอาจถือเป็นจุดเริ่มต้นของดนตรีดิสโกก็ว่าได้

ขณะที่ Bee Gees ก็เริ่มเอนเอียงไปทางดนตรีผิวสีด้วย พวกเขาทำเพลงฟังกีและโซลตั้งแต่อัลบัม Main Course ที่มีอาริฟ มาร์ดิน โปรดิวซ์ แล้วมาถล่มโลกดนตรีด้วยสึนามิดิสโกเต็มตัวในอัลบัมซาวน์ดแทร็ก Saturday Night Fever ที่มีเพลงดิสโกและเพลงเต้นรำชั้นดีอัดแน่นอัลบัม พวกเขามี 3 ซิงเกิลดัง “Stayin’ Alive”, “Night Fever” และ “How Deep is Your Love” ที่ทำให้วงการดิสโกพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุด ทั้งที่ดิสโกก็แพร่หลายมาก่อนหน้านั้น 2-3 ปีแล้ว

ช่วงปี1977-78 กระแสดิสโกลุกลามไปทั่วโลก ดิสโกเธกใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกหัวระแหง วงดนตรีเล่นตามคลับ ผับ ต้องหันมาเพิ่มเครื่องเป่าเพื่อเล่นเพลงดิสโก ดีเจมีงานล้นมือ เพราะต้องเปิดแต่เพลงดิสโกทั้งวัน ส่วนในบ้านเรา วงที่เล่นเพลงคัฟเวอร์สากลก็ต้องหันมาเล่นดิสโกกับเขาด้วย ยุคนั้นวงที่สมาชิกคับคั่ง วงละไม่ต่ำกว่า 6-8 คน จะมีภาษีกว่าเพื่อน เพราะมีตำแหน่งเครื่องเป่าครบครัน ทั้งทรัมเปต แซกโซโฟน และทรอมโบน ซึ่งเล่นฟังกี ริธึม แอนด์ บลูส์มาก่อนแล้ว เพิ่มดิสโกเข้าไปจึงไม่ใช่เรื่องยาก เธกบ้านเราก็คลาคล่ำไปด้วยวงคัฟเวอร์ล้วนๆ กว่าดิสโกจะซาก็กินเวลาราว 3-4 ปี แต่ก็ยอมรับว่าช่วงขาขึ้นของดิสโก ดนตรีแนวอื่นต้องเก็บเนื้อเก็บตัวกันหมด ถ้าไม่ผันมาเล่นดิสโก ก็ต้องอยู่เฉยๆไป ในต่างประเทศมีวงที่ไม่ยอมเล่นดิสโก และอยู่รอดได้เพราะบารมีและฐานแฟนเพลง ส่วนใหญ่เป็นวงร็อคที่มีฝีมือดีอยู่แล้ว กระนั้นก็ยังแอบทำเพลงดิสโกอยู่บ้าง อย่าง Blondie เพลง “Heart of Glass”, Electric Light Orchestra เพลง “Last Train to London”, Rod Stewart เพลง “Da Ya Think I’m Sexy” หรือแม้แต่ Kiss วงฮาร์ดร็อคกับเพลง “I Was Made for Loving You” วงเหล่านี้เปรียบได้กับแมลงสาบที่สามารถเอาชีวิตรอดมาได้นับล้านๆปี แม้โลกจะเผชิญหน้ากับอุกกาบาตและสึนามิมาหลายต่อหลายครั้ง เพราะการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมนั่นเอง

ดิสโกเริ่มซาในปี1981 แต่หลายแหล่งของโลกก็ยังมีบทบาทอยู่ ต่อมาจึงแตกแขนงไปอีกเป็นแดนซ์, ซินธ์ป๊อปที่มีบีตเต้นรำ กระทั่งถูกนำไปใช้เป็นแซมปลิงในเพลงของศิลปินเต้นรำและเทคโนยุค ‘80s ด้วย

ระดับการทำลายล้าง 5/5

 


3) แฮร์เมทัลและเอ็มทีวี Hair Metal & MTV (1983-1988)

 

3_01stryper-3


เพราะกำเนิดของ MTV ในช่วงกลางปี1981 ทำให้อุตสาหกรรมเพลงต้องการเปิดตลาดที่หลายหลากขึ้น ก่อให้เกิดวงที่เล่นเพลงหนักๆ แต่มีภาพลักษณ์น่าดู ทำนองเพลงติดหู และมี MV ดึงดูดคนฟัง วงฮาร์ดร็อคและเฮฟวี เมทัลในช่วงนั้นจึงต้องจ้างสไตลิสต์กันยกใหญ่ ปรับแต่งภาพลักษณ์ตัวเองจนบางครั้งแยกไม่ออกว่าเป็นชายหรือหญิง เพราะผมฟูเป็นรังนกกระจอก ทาปากแดง เขียนขอบตาดำเด่น ใส่ชุดสแปนเดกซ์รัดรูปโชว์ส่วนสัดและกล้ามเป็นมัดๆ จากดนตรีร็อคหนักๆ ที่แข็งกระด้าง กลับต้องเพิ่มท่อนร้องประสานและคอรัสนุ่มๆ เข้าไป

ตัวอย่างที่ชัดเจนมากที่สุดก็คือ Bon Jovi ที่เพลงก็หนักและเร้าใจในระดับหนึ่ง แต่ MV และภาพลักษณ์ของพวกเขามีไว้ดึงดูดแฟนเพลงเพศหญิงเป็นหลัก รองลงมาก็คือ Stryper วงคริสเตียนเมทัลที่แต่งกายเป็นเอกลักษณ์ เพลงไม่หนักและแรงจนเกินไป แถมมีเสียงประสานนุ่มไพเราะด้วย จากนั้น Europe, Cinderella, Poison, Dokken, Great White ก็ตามมาติดๆ หรือแม้แต่รุ่นใหญ่จากยุค ‘70s อย่าง UFO, Van Halen, Slade, Triumph ก็ยังต้องยอมผมฟูตามไปด้วย

 3_02bonjovi

ช่วงที่สึนามิแฮร์เมทัลกระหน่ำวงการดนตรีเป็นช่วงที่นักดนตรีพัฒนาไปพร้อมกับภาพลักษณ์ พวกเขาไม่ได้แต่งเพลงเก่ง ลีลาบนเวทีชวนสนุกเท่านั้น แต่ยังเพิ่มเทคนิคการเล่นดนตรีเข้าไปด้วย นับแต่เอดดี แวน ฮาเลน ใช้เทคนิคแท็ปปิงกับกีตาร์ในปี1978 เป็นต้นมา นักดนตรีสายฮาร์ดร็อคและเมทัลต่างพยายามพัฒนาฝีมือกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ต่างคิดค้นวิธีเล่นแปลกใหม่ เล่นเร็ว เล่นดุเดือด เร้าใจ และแตกต่างจากคนอื่นๆ ดังนั้นในช่วงแฮร์เมทัล แฟนเพลงสาวก็เคลิบเคลิ้มกับความหล่อล่ำของนักดนตรี ส่วนแฟนเพลงชายก็ตื่นเต้นไปกับลีลาบนเวทีและเทคนิคสารพัดที่มือกีตาร์ประเคนใส่

ก่อนหน้าแฮร์ เมทัลราว 2-3 ปี อังกฤษก็มีกระแสดนตรี New Wave of British Heavy Metal ซึ่งไม่ได้รุนแรงแบบ British Invasion แต่ก็เป็นอิทธิพลให้กับวงเมทัลยุคแฮร์และรุ่นต่อๆมาได้เป็นอย่างดี จะเห็นว่า Motorhead, Iron Maiden, Diamond Head, Def Leppard, Saxon มักเป็นวงแรกๆที่นักดนตรีสายเมทัลกล่าวถึง เวลาถูกถามถึงอิทธิพลทางดนตรี อย่างน้อยก็มี Metallica วงหนึ่งที่ได้อิทธิพลมาเต็มๆ นอกจากนี้อังกฤษยังมีกระแสดนตรีนิวโรแมนติก นิวเวฟ และซินธ์ป๊อปต่อจากพังก์ร็อคในช่วงปลายยุค ‘70s อีกด้วย แต่ก็มีไม่กี่รายที่ก้าวไปประสบความสำเร็จในอเมริกา จึงเป็นกระแสเล็กๆ ที่สร้างสีสันให้วงการเพลงอังกฤษ แต่อิทธิพลของกระแสนี้ยิ่งใหญ่และคงทนอยู่นับสิบปีทีเดียว

ท่ามกลางความสำเร็จของแฮร์เมทัล ดนตรีเฮฟวี เมทัลก็แตกแขนงออกไปอีกตามโครงสร้างดนตรี เทคนิค เนื้อหา และท้องถิ่นกำเนิดของแต่ละวง จึงมีทั้งสปีด เมทัล, แธรช เมทัล, เพาเวอร์ เมทัล ไปจนถึงเดธ เมทัล ที่ล้วนเป็นกระแสที่ประสบความสำเร็จต่อจากกระแสแฮร์เมทัลที่คงอยู่ได้เป็นเวลานานควบคู่ไปกับ MTV จนกระทั่งวันหนึ่ง เกิดแผ่นดินไหวต่อเนื่องกันหลายครั้ง ทั้งที่ซีแอตเติล นิวยอร์ก และลอส แองเจลิส จนเกิดสึนามิกรันจ์และอัลเทอร์เนทีฟร็อคขึ้น ซึ่งมันค่อยๆ ซัดจนแฮร์เมทัลจมอยู่ใต้น้ำและค่อยๆล้มหายตายจากไป จนเหลือรอดอยู่แค่หยิบมือในที่สุด

ระดับการทำลายล้าง 4/5

 


4) กรันจ์และอัลเทอร์เนทีฟร็อค Grunge and Alternative Rock (1989-1993)

 

4_01nirvana

 

จริงๆ กรันจ์และอัลเทอร์เนตีฟร็อค ถือกำเนิดขึ้นมานานพอสมควร ส่วนหนึ่งอยู่ในกระแสพังก์ร็อค, ฮาร์ดคอร์, การาจร็อค และคอลเลจซาวน์ด กระทั่งซีแอตเติล เมกกะของดนตรีกรันจ์เริ่มเป็นที่รู้จัก ด้วยเสียงกีตาร์ทูนสายต่ำ  บวกกับพ่วงดิสทอร์ชันทำเสียงแตกพร่า แฝงสำเนียงบลูส์ดิบหยาบทำให้ย้อนนึกถึงดนตรีฮาร์ดร็อคในยุค ‘70s ซึ่งมาร์ก อาร์ม วง Green River น่าจะเป็นรายแรกๆ ที่ทำเสียงกีตาร์สไตล์นี้ จากนั้น Mother Love Bone, Sonic Youth, Tad, Soundgarden, Pearl Jam, Alice in Chains, Smashing Pumpkins และที่สำคัญที่สุด Nirvana ต่างสร้างผลงานกรันจ์ร็อคในรูปแบบเดียวกันออกมาจนถูกเรียกว่าเป็น ซีแอตเติล ซาวน์ด

 

4_02pearljam

 

กรณีของ Nirvana กับอัลบัม Nevermind ในปี1991 กับสังกัดยักษ์ใหญ่ Geffen แวดวงกรันจ์จึงไม่ใช่แวดวงเล็กๆอีกต่อไป วงที่อยู่สังกัด Sub-Pop, SST, Alternative Tentacles ต่างถูกค่ายยักษ์ใหญ่จีบไปเซ็นสัญญาออกผลงานด้วย ปี 1990-92 จึงเป็นช่วงที่แวดวงนี้คึกคักมากที่สุด มีวงอะไรออกมาก็ดูจะมีคนให้การต้อนรับไปเสียหมด

ผลกระทบแบบเต็มๆ จากสึนามิกรันจ์นี้ก็คือ วงการดนตรีต้องการแต่วงที่เล่นกรันจ์กับซาวน์ดกีตาร์แรงๆ วงรูปหล่อ เทคนิคชั้นเลิศอย่างแฮร์ เมทัลไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป จริงๆ แฮร์เมทัลไม่ได้ล่มสลายเพราะกรันจ์โดยตรง แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่ายเพลงที่มุ่งหวังแต่จะทำผลกำไรกับดนตรีที่ขายดี ต่างต้องการวงกรันจ์เป็นหลัก ไม่ยอมผลักดันแฮร์เมทัลอีกต่อไป งบประชาสัมพันธ์ของค่ายจึงตกเป็นของวงกรันจ์หมด แฮร์เมทัลต้องกระเสือกกระสนเอง และเมื่อแรงโปรโมตไม่มี แฮร์เมทัลจึงค่อยๆปิดฉากลง บางวงถูกยกเลิกสัญญาจากค่ายเพลงใหญ่ ต้องไปลงทุนออกผลงานกันเอง ขณะเดียวกันหลายวงยอมเสียหน้าหันมาเล่นดนตรีที่มีซาวน์ดแบบกรันจ์และอัลเทอร์เนทีฟชนิดที่ทำให้แฟนเพลงเก่าเบือนหน้าหนี จากเสียงกีตาร์สวยๆ กลายเป็นเสียงหนักหน่วง กดต่ำ แผดสนั่นแทน โซโลกีตาร์โชว์เทคนิคหายไป เหลือแต่ริฟฟ์หน่วงๆ กับท่อนโซโลสั้นๆ ที่ติดสำเนียงบลูส์

 

หลังสึนามิกรันจ์ผ่านพ้นไป กว่าวงแฮร์เมทัลที่หลงเหลืออยู่จะฟื้นฟูตัวเองและกลับมาได้ บ้างก็กินเวลาเกือบสิบปี วงที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตามกระแสก็เก็บตัวเงียบ รอวันกลับมาอย่างใจเย็น บางวงก็ตระเวนแสดงตามไลฟ์เฮาส์เล็กๆที่ยังมีแฟนเพลงกลุ่มเข้าสายเลือดยังต้องการชมอยู่ กระนั้น ความเสียหายจากสึนามิกรันจ์ก็หนักหนาจนไม่อาจประเมินความหายนะได้ เพราะมันพลิกโฉมวงการดนตรีฝั่งอเมริกาจากแฮร์เมทัลไปเป็นกรันจ์ไปเลยนั่นเอง หลายคนคงเคยสัมผัสกับสึนามิลูกนี้มาแล้วนะครับ จะสมัยยังเรียนหนังหสือหรือทำงานก็ตาม เดินไปแผงเทปหรือร้านซีดี เจอแต่วงกรันจ์/อัลเทอร์เนตีฟเต็มไปหมด

ระดับความหายนะ 5/5

 

 

5) นูเมทัล Nu Metal (1995-1999)

 

5_01linkinpark-2

หลังกระแสกรันจ์ อัลเทอร์เนทีฟร็อค วงการดนตรีสับสนอยู่ช่วงสั้นๆ เพราะความหลายหลากทางแนวดนตรีมากไป ทางหนึ่งแร็ปและฮิป-ฮอปก็ครองตลาด ซึ่งก็ครองมานานตั้งแต่ยุค80s เพราะเป็นวัฒนธรรมของคนอเมริกันผิวสี แต่แล้วเมื่อ Korn กับ Limp Bizkit ถือกำเนิดขึ้น สื่อต่างๆพากันเรียกพวกเขาว่าเป็นวงในกระแส New Wave of America Heavy Metal แต่แฟนเมทัลพันธุ์แท้ก็ต่อต้านว่านี่ไม่ใช่เมทัล เพราะมีแค่ริฟฟ์กีตาร์บางส่วนเท่านั้นที่ได้รับอิทธิพลมาจากดนตรีเมทัล นอกนั้นเป็นการผสมผสานระหว่างฮาร์ดคอร์ แร็ป กรันจ์ และเทคโน เพราะเสียงร้องตะเบ็งกึ่งสำรอกที่ฟังก้าวร้าว จนบางครั้งผสมร้องแร็ปด้วย ส่วนดนตรีนั้นยังก้ำกึ่งระหว่างฮาร์ดร็อคกับฮาร์ดคอร์ บางวงเพิ่มซินธ์และเทิร์นเทเบิลอีกด้วย ซาวน์ดออกมาดุดันก้าวร้าวก็จริง แต่ไม่มีวิญญาณของเมทัลอยู่

แต่อย่างไรก็ตาม นู เมทัลประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลในอเมริกา และหลายประเทศทั่วโลก และอานิสงส์แห่งความสำเร็จนี้ ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณ รอสส์ รอบินสัน โปรดิวเซอร์ที่รับงานประจำกับค่าย Roadrunner ผลิตงานในสไตล์นี้กับวงนับไม่ถ้วนจนเป็นเอกลักษณ์ไปแล้ว เช่นเดียวกับริก รูบินของค่าย American Recording ที่ทำดนตรีแธรช เมทัลจนเป็นเครื่องหมายการค้าของเขา ยุคของนู เมทัล นอกจากถูกเรียกตามชื่อนี้แล้ว บางสื่อยังเรียกว่าเป็นเฮฟวี มิวสิก, แร็ป เมทัล, เอกซทรีม เมทัล ครอสโอเวอร์ และอีกหลายแบบแล้วแต่จะบัญญัติกัน แต่เอกลักษณ์ของนู เมทัลก็ยังปรากฏเด่นชัดเช่นเดิม

นานวันเข้านู เมทัลเริ่มผสมผสานหลายสิ่งหลายอย่างเข้าด้วยกัน จากเสียงร้องแผดตะเบ็ง ถูกเบรกด้วยเสียงร้องคร่ำครวญโหยหวน จนเป็นสองโทนที่ตัดกันในเพลง (แล้วภายหลังก็กลายเป็นสไตล์อีโมกับสครีโม) และเป็นสูตรสำเร็จของหลายๆ วง วงอย่าง Deftones, P.O.D., Papa Roach, Coal Chamber, Disturbed, Orgy ถือกำเนิด อาศัยแรงผลักดันจากต้นสังกัด และ MTV ที่สื่อดนตรีรุนแรงได้เต็มพิกัด ความสำเร็จในอันดับเพลงก็ตามมา วงเหล่านี้มีผลงานติดท็อป 200 ของบิลบอร์ดกันอย่างสนุกสนาน ออกทัวร์กันตลอดปี เก็บเกี่ยวความสำเร็จกันไม่หวาดไม่ไหว ขณะที่กระแสนู เมทัลก็ขยายตัวไปเรื่อยๆ

 

วงที่อยู่ในแวดวงมาก่อนตั้งแต่ยุค ‘80s อย่าง Sepultura, Fear Factory, Ministry, Primus และอีกมากมายจึงต้องยอมจำนนต่อกระแสนู เมทัล พวกเขาหันมาเล่นแบบวงรุ่นน้อง ลดความเป็นเมทัล ลดเทคนิค เพิ่มบีตหลายหลาก เพิ่มเสียงร้องสองโทนเข้าไป ต่างประสบความสำเร็จกันถ้วนทั่ว โดยที่วงหน้าใหม่ก็แจ้งเกิดกันทุกวันจนตามกันไม่ไหว ยังผลให้เกิดค่ายย่อยในค่ายใหญ่ขึ้นเพื่อผลิตวงแนวนี้ออกสู่ตลาดโดยเฉพาะ ที่เห็นชัดก็คือ Drive Thru ภายใต้สังกัด Universal และค่ายอินดีฯอีกจำนวนหนึ่ง

กระทั่งเกิดปรากฏการณ์สึนามิขึ้น 2 ระลอก ปี1999 มีวงใส่หน้ากาก 9 คนชื่อ Slipknot ออกอัลบัมแรกชื่อเดียวกับวงโดยสังกัด Roadrunner ปลายปี2000 Linkin Park ออกอัลบัมแรก Hybrid Theory โดย Warner Music ที่ขายได้ร่วม 5 ล้านแผ่นในอเมริกา ทั้งคู่สร้างความสั่นสะเทือนระดับคลื่นสึนามิให้กับวงการเพลงในอเมริกา เป็นต้นตำรับของวงที่เล่นดนตรีเอกซทรีม มิวสิก และครอสโอเวอร์ ทั้งสองวงเคยมาเปิดคอนเสิร์ตที่กรุงเทพฯแล้วด้วย

 5_02slipknot

 

ทั้งวงการให้การยอมรับสไตล์ดนตรีของทั้งคู่ที่แยกกันชัดเจน Slipknot เป็นเอกซทรีม มิวสิกที่อิงเมทัลที่โหดร้าย รุนแรง เพิ่มซินธ์และเทิร์น เทเบิล บวกกับเสียงร้องสองโทน ทั้งดุดันโหดเหี้ยมและโหยหวน นักดนตรีแต่ละคนมีเทคนิคเต็มเปี่ยม จึงได้แฟนเพลงทั่วโลกในระดับอันสั้น และออกอัลบัมถี่มาก เช่นเดียวกับ Linkin Park ที่มีเอกลักษณ์ตรงมีนักร้องสองคน เชสเตอร์ร้องดุดัน สำรอก เต็มไปด้วยอารมณ์ ขณะที่ไมค์ ชิโนดะร้องแร็ปเป็นหลัก ท่ามกลางริฟฟ์กีตาร์ เบส กลองที่หนักแน่น รุนแรง เทิร์น เทเบิลก็สร้างบรรยากาศของดนตรีสังเคราะห์และเพิ่มสีสันให้เป็นอย่างดี ทำให้พวกเขาเป็นวงระดับแถวหน้าของนู เมทัลไปโดยปริยาย

เทศกาลดนตรีกลางแจ้งอย่าง Woodstock 1999 หรือ Ozzfest ที่ตระเวนแสดงไปตามหัวเมืองต่างๆเกิดขึ้นก็เพราะกระแสนู เมทัลนี้ด้วย ทุกอย่างพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้งตามกระแสความต้องการของตลาดที่กำลังหลงใหลกับมัน แต่นู เมทัลก็หนีความเป็นจริงไม่ได้ อะไรที่ออกมามากจนเกินไป ย่อมเสื่อมความนิยม วงประเภทออกมาเพื่อสนองกระแสชั่วยามก็ล้มหายตายจากไปในเวลาอันสั้น ส่วนใหญ่ออกอัลบัมมาชุดเดียวก็เลิกไป ที่คงอยู่ได้ก็เป็นระดับหัวแถวอย่างหลายๆวงที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อาจเรียกได้ว่าเป็นสึนามิที่สร้างคุณูปการให้วงการมากกว่าทำลายล้าง และเป็นกระแสที่สร้างสีสันได้ดีพอๆกับที่ยุคหนึ่ง พังก์ร็อคถือกำเนิดขึ้น

ทุกวันนี้ นู เมทัลเป็นคำตายไปแล้ว ไม่มีใครเรียกวงร็อคที่เล่นดนตรีหนักหน่วง ก้าวร้าวว่านู เมทัลอีกต่อไป มันไม่ได้สูญพันธุ์ไป แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของวงการดนตรี การจับแนวโน้นผสมแนวนี้เกิดขึ้นทุกวัน แต่ Slipknot กับ Linkin Park ได้พิสูจน์แล้วว่า สิ่งที่พวกเขาทำขึ้น ไม่ได้ถูกนำไปยึดติดกับกระแสนู เมทัล แต่เป็นดนตรีร็อค/เมทัลที่ไม่มีวันตายและพร้อมพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ระดับการทำลายล้าง 3/5

 

 

 

 

____________________________

สั้นๆเกี่ยวกับผู้เขียน



นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี2545-2548

ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Records Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook