เปิดตำนานวงการเพลงร็อกไต้หวัน กับคลื่นความดังที่ส่งถึงเมืองไทย
ถ้าพูดถึงวงการเพลงไต้หวัน นักฟังเพลงชาวไทยหลายคนคงจะนึกถึงผลงานเพลงป๊อปจากศิลปินอย่าง Jay Chou และ Wang Lee Hom หรือบอยแบนด์ F4 แต่ทว่าในตอนนี้วงการเพลงร็อกของไต้หวันเองก็มาพร้อมกระแสที่น่าจับตามองมาก เพราะมีศิลปินแจ้งเกิดมากมาย และในปัจจุบันนี้วงร็อกอย่าง Retrospect เองก็ได้รับคำเชิญให้แสดงคอนเสิร์ตในเทศกาลดนตรีไต้หวันมาแล้วถึงหลายครั้ง และวันนี้ทาง Sanook! Music ก็ได้รับเกียรติในการนำเรื่องราวประวัติศาสตร์วงการเพลงร็อกไต้หวันจากนักวิจารณ์เพลง Ricardo Hu มาแปลให้ผู้อ่านได้ชมกันครับ
วง Retrospect เดินทางไปแสดงคอนเสิร์ต Heartown Festival ที่ประเทศไต้หวัน
จุดเริ่มต้นนั้นของดนตรีร็อกไต้หวันเกิดขึ้นช่วงปี 1950s ซึ่งในตอนนั้นดนตรี Rock & Roll ของศิลปินอย่าง Elvis Presley ที่ถูกเปิดผ่านวิทยุกระจายเสียงของกองทัพสหรัฐอเมริกา ก็ทำให้ศิลปินท้องถิ่นอย่าง David Tao Sr. และ Johnny King ได้ฟอร์มวง Lei-Mong เพื่อเล่นตามคลับและร้านอาหารในยุค 60s – 70s จนกลายเป็นศิลปินร็อกกลุ่มแรกของไต้หวัน และทำให้ศิลปินหลายคนที่เริ่มสร้างวงดนตรีในแบบของพวกเขา
Elvis Presley
ถึงแม้ว่าวงการเพลงร็อกไต้หวันจะถูกจำกัดเพราะกฎอัยการศึกที่ควบคุมข่าวสารในตอนนั้น แต่ศิลปินอย่าง Lei-Mong, the Sunshine, Thunderbirds, Electric Stars และ Goldmen Four ก็ได้เรียนรู้เรื่องดนตรีจากนิตยสารต่างชาติอย่าง Billboard และ Cashbox จนทำให้พวกเขาสามารถทำดนตรีร็อกอเมริกันที่ผสมความเป็นป๊อปและดนตรีออกมาให้แฟนเพลงได้ฟังจนกระทั่งกฎอัยการศึกได้ยุติลงในปี 1987
ในช่วงที่กฎอัยการศึกของประเทศไต้หวันถูกยกเลิก ค่ายเพลง Crystal records ได้เปิดตัวขึ้นมาพร้อมจุดประกายแนวดนตรีอินดี้เป็นครั้งแรกในประเทศไต้หวัน และยังได้จัดเทศกาลดนตรีขึ้น Taipei New Music Festival เป็นครั้งแรกในปี 1987 จนทำให้ค่ายเพลงอินดี้อย่าง Magic Stone Records, Taiwan Colors Music เข้ามาตามรอยความสำเร็จพร้อมปั้นศิลปินมากความสามารถมากมาย
อัลบั้ม Taiwan Independent Compilation 1999 จากค่าย Taiwan Colors Music
ขณะที่วงการเพลงร็อกกลับมามีสีสันในยุค 90s ในยุคนั้นศิลปินอย่าง Will Lin จากวง Blacklist studio ก็ได้นำเรื่องราวการประท้วงรัฐบาลของนักศึกษามาทำเพลง “We Will Wait No More” และ “Thanks to the Old Thief” จนทำให้เพลงร็อกกลายเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงออกทางความคิดของคนรุ่นใหม่ด้วย ซึ่งในปี 2014 วงร็อกรุ่นน้องอย่าง Fire EX. ก็ได้ทำเพลง “Island’s Sunrise” ออกมาเพื่อประท้วงการเซ็นสัญญาการค้าที่ไม่เป็นธรรมของรัฐบาลเช่นกัน
Fire EX.
สำหรับช่วงปลายยุค 90s วงการเพลงไต้หวันก็มีศิลปินอินดี้น่าจับตาหลายวงอย่างเช่น Double X, Groupie, LTK Commune รวมถึงวง Mayday จากค่าย Rock Records ที่เป็นปรากฏการณ์ในช่วงปลายยุค 90s ซึ่งนอกจากความดังของศิลปินแล้ว ในช่วงดังกล่าวค่ายเพลงใหญ่สัญชาติตะวันตกเองก็ได้เข้ามาซื้อกิจการค่ายเพลงท้องถิ่น จนทำให้ศิลปินไต้หวันได้รับอิทธิพลจากต่างชาติมากขึ้นในแง่การฟอร์มวงดนตรีและการเริ่มวางแผนลุยตลาดเพลงต่างประเทศ
LTK Commune
หลังจากที่มีกฎหมายการจำกัดธุรกิจสถานบันเทิงในช่วงปี 2006 ทำให้วงการเพลงก็ได้เข้าสู่ยุคเทศกาลดนตรี ซึ่งกลายเป็นที่ปล่อยของสำหรับศิลปินหน้าใหม่มากมาย โดยการเข้ามาของอินเตอร์เน็ตก็ทำให้วัยรุ่นได้รู้จักดนตรีที่แปลกใหม่ และวิธีการทำดนตรีโดยใช้โซเชี่ยลมีเดีย จนทำให้ช่วงยุค 2000s นั้นกลายเป็นยุคของวงอินดี้ผสมผสานอย่าง No Party for Cao Dong ที่นำหลายๆซาวด์ดนตรี Nu disco และ Metal มาผสมผสานจนเป็นเพลงของวง
No Party for Cao Dong
โดยปัจจุบันนี้วงการเพลงไต้หวันได้เติบโตเร็วมาก ซึ่งทาง Golden Melody Awards นั้นได้เผยว่านับจนถึงปี 2017 ได้มีศิลปินมากกว่า 10,000 คนที่เข้าชิงรางวัลในเวทีนี้ และศิลปินหลายคนเองก็พยายามจะบุกตลาดเพลงต่างประเทศในเอเชียรวมถึงไทยด้วย เพราะในปัจจุบันนั้นมีแค่วง Lady bug และ ChthoniC ที่สามารถโด่งดังจนออกสื่อนอกประเทศไต้หวันได้ในช่วงปี 2000s
คลิกฟังเพลง Takao - ChthoniC (สำหรับผู้ฟัง JOOX VIP)
วง ChthoniC
ความร้อนแรงของวงการเพลงไต้หวัน แสดงให้เห็นว่านอกจากเพลงป๊อปแล้ว ศิลปินแนวร็อกนั้นก็เป็นที่นิยมมากเช่นกัน จึงไม่แปลกว่าทำไมในตอนนี้ชาวไต้หวันหลายคนถึงให้การยอมรับศิลปินร็อกจากไทย และชาวไทยหลายคนเองก็เริ่มสนใจดนตรีร็อกจากไต้หวันเช่นกัน
Source : Ricardo Hu
Special thanks : John Huang
ขอบคุณภาพจาก Getty images และ Facebook Retrospect
อัลบั้มภาพ 11 ภาพ