นิตยสารดนตรี ฤาสิ้นยุคสื่อสิ่งพิมพ์ โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
เคยมีเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน และเพื่อนรุ่นน้อง ตลอดจนเพื่อนนักอ่านที่เคยติดตามงานของผมสมัยที่เป็นนักเขียนในนิตยสารดนตรีสากล รวมทั้งสมัยที่ผมผันตัวเองมาตั้งสำนักพิมพ์เอง และลงทุนพิมพ์นิตยสารดนตรีขายเองว่า “ไม่คิดจะกลับสู่วงการแล้วหรือ” “ไม่กลับมาทำหนังสือเพลงอีกแล้วหรือ” แม้กระทั่ง “ตอนนี้เขียนบทความเกี่ยวกับดนตรีอยู่หรือเปล่า ที่ไหนบ้าง” ผมตอบคำถามลำดับสุดท้ายได้ก่อนเพื่อน “อ๋อ ก็เขียนบทความเดือนละครั้งในเซ็กชันดนตรีของ sanook.com ฝากแชร์ และช่วยกันอ่านด้วยนะครับ” ส่วนคำถามสองลำดับแรกสามารถตอบแบบไม่ต้องคิดได้เลย เพียงแต่ว่ามันยืดยาวจนต้องนำมาเขียนเป็นบทความที่คุณกำลังจะได้อ่านกันครับ
ในบ้านเรา นิตยสารดนตรีสากลมีควบคู่กับสถานีวิทยุที่เปิดเพลงสากล และคนฟังเพลงสากลมาแต่อ้อนแต่ออก ตั้งแต่จำความได้ ผมก็เห็น IS Song Hits กับ Starpic แล้ว ในยุคที่ราคาเล่มละ 2.50-3 บาท ราคาเพิ่มขึ้นตามสภาพค่าเงินบาทของแต่ละยุคสมัย เป็น 5 บาท 7 บาท 10 บาท 12 บาท 15 บาท 20 บาท 25 บาท จนสิ้นสุดที่ราคาเท่าใดผมไม่ได้จำ รู้แต่ว่าแพงเอาการอยู่
ช่วงเวลาที่นิตยสารดนตรีสากลรุ่งเรือง น่าจะเริ่มจากปี 2516-2550 รวมเวลาประมาณ 35 ปี ซึ่งรุ่งเรืองไปควบคู่กับรายการวิทยุ และตลาดเทปเพลงสากล เพราะเมื่อรายการวิทยุนำเพลงมาแนะนำ ก็วิ่งไปร้านเทปหาซื้อเพลงหรืออัลบัมที่อยากฟังได้ไม่ยาก นิตยสารดนตรีสากลมีทั้งเล่มที่มีเฉพาะเนื้อเพลงกับคอร์ดกีตาร์อย่าง The Guitar ในเครือ IS Song Hits และที่เน้นบทความที่แปลจากนิตยสารต่างประเทศ และเขียนเองโดยนักเขียนอิสระอย่าง Starpic หลังจากปี 2517 เป็นต้นไป ดนตรีดิสโกเป็นที่นิยม ตลาดดนตรีสากลคึกคัก รายการวิทยุมีเพิ่มขึ้น เทปผีหลายหลากยี่ห้อขึ้น เช่นเดียวกับนิตยสารดนตรีสากลที่มีหัวใหม่ๆเพิ่มขึ้น ทั้งซูเปอร์โซนิก, เมโลดี เมเกอร์, สตาร์ ออฟ แปซิฟิก, บันเทิงคดี, สีสัน, มิวสิก เอกซเพรส, ไควเอต สตอร์ม, ที คลับ, เจเนเรชัน เทเรอริสต์, ครอสโรดส์ ไปจนถึง เมทัล แม็ก และ ฮุก ในช่วงหลังยุค 2000 มีตกหล่นไปอีกหลายหัว แต่นึกไม่ออกจริงๆ ครับ ส่วนใหญ่เป็นนิตยสารเกี่ยวกับดนตรีสากลวัยรุ่น และบอยแบนด์ที่ผมไม่ค่อยสันทัด
บรรดานิตยสารดนตรีสากลที่กล่าวถึงมาทั้งหมด แบ่งเป็น 2 ประเภทตามระบบการลงทุน และการบริหาร
กลุ่มแรกมีบริษัทฯ หรือสำนักพิมพ์เป็นเจ้าของ จ้างทีมบรรณาธิการในการจัดทำนิตยสารแต่ละเล่มเป็นรายเดือน สิทธิขาดอยู่ที่บริษัทฯ หรือสำนักพิมพ์ โดยทีมบรรณาธิการเป็นผู้รับผิดชอบงาน ระบบการทำงานเป็นรูปแบบบริษัทฯ มีฝ่ายการตลาด ฝ่ายบัญชีและการเงิน ฝ่ายผลิต ฝ่ายบุคคล ฝ่ายศิลป์ (อาร์ตเวิร์ก) ถ้าทุนเป็นบริษัทฯใหญ่ มีสายส่งกระจายนิตยสารได้เอง ก็ได้เปรียบกว่านิดหนึ่ง
กลุ่มที่สอง กองบรรณาธิการเป็นผู้ลงทุนและเป็นเจ้าของเอง กลุ่มนี้ระบบไม่ซับซ้อน ถ้าเจ้าของทุนไม่ทำกันเอง ก็จ้างทีมงานทำ แล้ววิ่งหาโฆษณาเอง หาโรงพิมพ์เอง แล้วหาสายส่ง ใช้ระบบฝากขาย ซึ่งเสี่ยงต่อการขาดทุนค่อนข้างมาก เพราะสายป่านไม่ยาว ความรู้เรื่องธุรกิจไม่มากพอ การเงิน การบัญชีไม่เป๊ะ ช่วงที่ผมลงทุนเปิดสำนักพิมพ์เอง ทำนิตยสารเองก็อยู่ในกรณีของกลุ่มที่สองนี้
หมายเหตุ: ในอดีต 30-40 ปีก่อน กลุ่มที่สองนี้ มีรูปแบบการทำงานแบบเดียวกับการทำหนังสือการ์ตูน โดยจะฟอร์มทีมงานขึ้น แล้วนำโปรเจกต์นิตยสารไปเสนอตามสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ เพื่อให้สำนักพิมพ์เหล่านั้นพิมพ์นิตยสารออกขาย เป็นลักษณะจ้างงานเป็นชิ้น เป็นเล่ม ส่งต้นฉบับครบ สำนักพิมพ์ก็ชำระค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทีมงานก็นำไปแบ่งปันกันตามหน้าที่ของแต่ละคนในทีม ต่างจากยุคหลังที่ทีมงานมักจะลงทุนกันเอง เพียงแต่ไปจ้างโรงพิมพ์และจ้างสายส่งเท่านั้น
ทีนี้จะตอบคำถามตรงย่อหน้าแรกเสียทีว่า “ไม่กลับมาทำนิตยสารเพลงอีกแล้วหรือ”
ลำพังมีมันสมอง ความพยายาม ใจรัก และทุนรอนถือว่ายังไม่เพียงพอครับ
สิ่งจำเป็นอย่างมากที่การทำนิตยสารต้องพึ่งก็คือ ค่าโฆษณา และยอดขายหนังสือครับ อยากแถมอีกอย่างก็คือ “โชค” ด้วยครับ
แม้จะมีประสบการณ์การเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ และนิตยสารดนตรีถึง 3 หัวในอดีต คือ เมทัล แม็ก, ซาวน์ด แม็ก และนู ร็อคเกอร์ ใช่ว่าจะทำให้ได้ผลกำไรอย่างที่คนนอกวงการเคยเอ่ยถาม แต่ในฐานะคนฟังเพลง อยากเห็นนิตยสารดนตรีแยกแนวทางให้ชัดเจน ขายกลุ่มคนอ่านเฉพาะเจาะจงไปเลย ว่ากันที่หลักการนับว่าสมควรทำ แต่มองที่ผลประกอบการก็เหมือนกันการฆ่าตัวตายทางอ้อมเราดีๆ นี่เอง
ต้นทุนโดยเฉลี่ยต่อการทำนิตยสารสักเล่ม อยู่ที่ประมาณ 200,000-400,000 บาท อาจจะมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับความหนา จำนวนพิมพ์ และต้นทุนอื่นๆ ประกอบกัน ด้วยความที่อยากทำมาก ใจรัก แต่ไม่ประสีประสาด้านธุรกิจ ประสบการณ์จากการเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ทำให้ขาดทุนไปเป็นตัวเลข 7 หลัก แม้จะเตรียมตัวเตรียมใจไว้แล้ว แต่ก็ถือว่าหนักเอาการอยู่ สาเหตุมีไม่กี่ประเด็น หนังสือออกช้า ไม่ตรงเวลา สายส่งกระจายหนังสือไม่ทั่ว และไม่ถูกจุด ไม่มีค่าโฆษณาจากสปอนเซอร์มากพอ รายรับกับรายจ่ายไม่สมดุลกันมากเกินไป และที่สำคัญ คนอ่านหนังสือน้อยลง หันไปพึ่งสื่อโซเชียลมากขึ้น นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อราว 15 ปีก่อน เป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตมีบทบาทต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น อี-บุ๊ก เป็นทางเลือกของคนที่ต้องการอ่านหนังสือแบบไม่ต้องไปซื้อที่ร้าน ไม่ต้องถือไปมาให้เกะกะ รวมทั้งเป็นยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์เริ่มเฝือ คุณภาพด้อยลง เน้นเพียงสีสันภายนอก คอนเทนต์ฉาบฉวย เอาใจสปอนเซอร์มากกว่ากลุ่มผู้อ่าน ฯลฯ คนในวงการสิ่งพิมพ์ต่างก็ทราบดีว่าสักวัน หนังสือจะไม่ใช่ทางเลือกแรกๆ ของคนอ่านอีกต่อไป
มาถึงกรณีของ “โชค” บ้าง ซึ่งมีไม่บ่อย หรือบางครั้งก็ไม่มีเลยสำหรับบางคน การทำนิตยสารก็คล้ายการเล่นหุ้นอยู่บ้าง เราต้องมองการณ์ไกล คาดเดาอนาคต กะเก็งในบางสิ่งที่เราคิดว่า “ใช่” ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย หลังเหตุสลด เคิร์ต โคเบน ฆ่าตัวตาย เราต้องลืมความเสียใจในขณะนั้น แล้วเตรียมข้อมูล และภาพเกี่ยวกับเคิร์ต และ Nirvana ให้มากที่สุด เพื่อทำเล่มพิเศษ เคิร์ต โคเบน ไม่มีเวลาแม้แต่จะคิดว่ามีใครจะทำออกมาก่อนไหม หรือจะขายได้ไหม สิ่งเดียวก็คือ ทำให้เร็วที่สุดและมีเนื้อหาสาระดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อคนที่เป็นแฟนเคิร์ต โคเบนและ Nirvana หรือกรณีของ X-Japan ในช่วงที่วงกำลังพีคสุดขีดในบ้านเรา ขณะที่หนังสือรวมภาพนำเข้าจากญี่ปุ่นเล่มละ 400-500 บาท เราต้องทำออกมาตอบสนองแฟนเพลงให้ได้ในราคาที่ถูกกว่าอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง จำได้ว่าทีมงานครอสโรดส์เร่งผลิตหนังสือรวมภาพ X-Japan มาออกขายในราคา 80 บาท และขายหมดเกลี้ยงภายในเวลาครึ่งปี และมีแฟนเพลงถามหาต่อไปอีกเป็นปีเลยทีเดียว เหล่านี้คือ “โชค” ที่ผมเอ่ยถึง ถ้าทำออกมาถูกจังหวะ ถูกเวลา โชคเข้าข้าง เราก็จะได้รับผลตอบแทนอย่างสมเหตุสมผล นั่นคือ ขายหมดเกลี้ยง
ย้อนกลับไปสมัย 30-40 ปีก่อน นิตยสารดนตรีสากลไม่ได้หลายหลาก กี่หัวทำออกมามีคอนเทนต์ใกล้เคียงกัน แต่เพราะมีนักเขียนที่มีความสามารถในการแปล และเขียนเองควบคู่กันไป ต้นทุนไม่สูง และทำเพื่อตอบสนองความต้องการของคนอ่านอย่างแท้จริง แต่ละหัวจึงสามารถประคองตัวอยู่ได้หลายปี ความสนุกสนานอย่างหนึ่งที่นิตยสารดนตรียุคนั้นมีก็คือ ชาร์ตเพลง Top 100 Single และ Top 200 Album จากนิตยสาร Cash Box และ Billboard ของอเมริกา เป็นสีสันและทำให้คนฟังเพลงไม่ล้าสมัย บางคนถึงกับลุ้นเพลง และศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบว่าเมื่อไหร่เพลงและอัลบัมจะขึ้นถึงอันดับ 1 เสียที และที่ขาดไม่ได้ในทุกยุคทุกสมัยก็คือ คอลัมน์รีวิวเพลง รีวิวอัลบัมที่เป็นตัวช่วยประกอบการตัดสินใจซื้อเทปหรือแผ่นเสียงสักชุดโดยที่ยังไม่ได้ฟัง หรือฟังเพียงแค่ซิงเกิลเพลงเดียว นักอ่านหลายคนยอมรับเลยว่า คอลัมน์รีวิวเทปและซีดีเป็นคอลัมน์แรกที่เปิดอ่านก่อน หลังจากซื้อนิตยสารมาแล้ว
จุดเด่นของนิตยสารแต่ละหัวขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัวของบก.
ผมเป็นคนชอบร็อค เมทัล ป๊อป และเพลงเก่า สมัยทำมิวสิก เอกซเพรส (เล่ม 1-107) มักมีบทความเกี่ยวกับวงเมทัล สัมภาษณ์วงดัง และรีวิวเทปวงแนวๆ นี้เป็นหลัก มันก็เหมือนกับว่าเราทำอะไร มักจะใส่จิตวิญญาณ ความชอบและรสนิยมส่วนตัวลงไปด้วย ย้ายไปทำครอสโรดส์ (เล่ม 1-62) ก็ยังยืนยันเจตนารมณ์เดิม แต่ก็ยังให้ความสำคัญกับเพลงป๊อป เพลงตามกระแสตลาด จนนักอ่านมักเรียกนิตยสารที่ผมดูแลอยู่ว่า หนังสือเพลงจับฉ่าย ซึ่งก็เป็นตามนั้น จะไปจำเพาะเจาะจงแนวที่ชอบเอง แล้วเมินเฉยกับแนวที่ไม่ถนัดไม่ได้เลย เพราะดนตรีทุกแนวทุกประเภทก็มีกลุ่มแฟนที่ติดตามทั้งนั้น
ด้วยเหตุนี้ กรณีของมิวสิก เอกซเพรสหลังจากที่ผมอำลาไปแล้ว มีใครมาเป็นบก.รับช่วงต่อ เขาก็จะใส่ความชอบส่วนตัวลงไปในหนังสือ แม้หัวหนังสือจะเหมือนเดิม แต่เนื้อหาข้างในไม่เหมือนกันอีกต่อไป
ยุคเสื่อมของนิตยสารดนตรีสากล
จากที่ประสบกับตัวเอง ได้พูดคุยกับเพื่อนๆ น้องในวงการ รวมทั้งกลุ่มเพื่อนนักอ่านที่ติดตามกันมา ต่างก็พูดไปในทำนองเดียวกันว่า ในช่วงหลังปี 2000 เป็นต้นมา นิตยสารดนตรีสากลไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ไม่เข้มข้น ไม่อัดแน่นด้วยข้อมูล ไม่ใส่ใจความต้องการของคนอ่านอีกแล้ว หนำซ้ำยังใช้งานคนที่ยังไม่มีประสบการณ์มากพอ ทั้งการแปล เขียนบทความ และวิพากษ์วิจารณ์เพลง ซึ่งก็จริงอย่างว่า สังเกตได้ว่านิตยสารดนตรีสากลในช่วงเกือบ 20 ปีมานี้ เน้นใช้งาน “คนรู้จักกัน” มากกว่า “คนมีความสามารถ” ถ้าคนวิจารณ์เพลงแล้วต้องให้คนอ่านมาสอนเพิ่มเติมอีก นับว่าเสียท่าครับ หรือคนเขียนบทความถูกจับได้ว่าไปคัดลอกบทความจากต่างประเทศมา นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นิตยสารดนตรีเข้าสู่ยุคเสื่อม หลายคนจึงมีความรู้สึกว่า แทนที่จะเสียเงินซื้อนิตยสารเหล่านี้ สู้กดอินเทอร์เน็ตหาข้อมูลเองดีกว่า หนักเข้าไปอ่านบทความภาษาอังกฤษจากต้นทาง ยิ่งทำให้ทราบว่าคนเขียนบทความส่วนหนึ่ง คัดลอกมา ขโมยเขามา แล้วใส่เครดิตว่าตนเองเป็นคนเขียน
อีกสาเหตุที่สำคัญต่อยุคเสื่อมของนิตยสารดนตรีก็คือ คนอ่านหนังสือน้อยลง ขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น คุณไม่สามารถเอาตัวรอดในวงการได้ หากพิมพ์หนังสือ 10,000 เล่ม แล้วขายได้ 3,000 เล่ม แล้วต้องรับหนังสือ 7,000 เล่มมากองไว้เฉยๆในโกดัง ทุกอย่างเป็นเงินทั้งนั้น ต่อให้มีค่าโฆษณามาช่วยบรรเทาความเสียหาย ยังไงก็ไม่คุ้มกัน ดังนั้น เมื่อโลกเปลี่ยนไป อินเทอร์เน็ตมีบทบาทมากขึ้น คนอ่านหนังสือน้อย คนทำหนังสือส่วนหนึ่งไม่มีคุณภาพพอที่จะเขียนบทความ บทวิจารณ์ให้คนอ่านยอมรับได้ มันก็ถึงจุดเสื่อม หรือพูดให้ตรงประเด็นก็คือ “จุดจบ” นั่นเอง
สำหรับผม การทำงานในแวดวงนี้มากว่า 30 ปี ยังเห็นความสำคัญของหนังสืออยู่ มันคือแหล่งข้อมูลที่เราจับต้องได้ สามารถหยิบมาค้นคว้า นำมาอ้างอิงได้ตลอดเวลา ต่อให้ไม่มีเงินจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตก็เถอะ แต่ถ้าจะให้กลับไปลงทุนทำหนังสืออีก ก็คงทราบคำตอบกันแล้วนะครับ
ประสบการณ์ทำหนังสือดนตรีที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นความสุขครับ มีทุกข์บ้าง แต่ก็ไม่เคยเอามาเป็นสาระบั่นทอนการทำงาน ยังคงสนุกอยู่ เหมือนกับการฟังเพลง ตราบใดที่คุณฟังเพลงที่ชอบที่โปรดปราน แล้วรู้สึกว่ามันยังไพเราะอยู่ นั่นแหละครับคือคำตอบ เดือนนี้กล่าวถึงเรื่องส่วนตัวค่อนข้างมาก แต่คิดว่าหลายคนก็คงอยากทราบ และสงสัยมานาน ส่วนเพื่อนๆ น้องๆ ที่เคยถามประโยคในย่อหน้าแรกสุดไว้ ก็คงหายสงสัยแล้วนะครับ
____________________________
สั้นๆเกี่ยวกับผู้เขียน
นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี2545-2548
ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Records Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน
อัลบั้มภาพ 9 ภาพ