สิ่งที่มาใหม่ และจะหายไปในปี 2561 โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

สิ่งที่มาใหม่ และจะหายไปในปี 2561 โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

สิ่งที่มาใหม่ และจะหายไปในปี 2561 โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปี 2560 กำลังจะผ่านพ้นไป เฉพาะในปีนี้ มีเหตุการณ์หลายอย่างที่เปรียบเสมือนการเตือนล่วงหน้าต่อวงการเพลงและวงการสิ่งพิมพ์ในปีหน้าว่าจะมีแนวโน้มอย่างไร จะมีอะไรเพิ่มมาใหม่ อะไรจะหดหายไปจากแวดวง

นิตยสารหลายหัวที่พิมพ์จำหน่ายมานาน ประกาศหยุดพิมพ์หรือเลิกกิจการไปหลายหัว อาทิ สกุลไทย, ขวัญเรือน, ครัว, Filmax และล่าสุด คู่สร้างคู่สม แต่ละหัวอายุไม่ต่ำกว่า 10 ปี บางหัวเกิน 40 ปีด้วยซ้ำ ยังไม่นับนิตยสารที่สำนักพิมพ์ซื้อหัว ขอลิขสิทธิ์จากต่างประเทศมาพิมพ์จำหน่ายอีกนับไม่ถ้วน ประเด็นหลักคาดการณ์ไม่ยาก เพราะบางหัวก็ไฮโซเกินไป คอนเทนต์หลายอย่างถูกกำหนดมาให้ตีพิมพ์เป็นภาษาไทย ซึ่งไม่ได้เข้ากับรสนิยมคนอ่านบ้านเรามากนัก ฯลฯ ที่สำคัญ สื่อสิ่งพิมพ์เป็นมีเดียที่ลงทุนมาก แต่ได้ผลตอบแทนน้อย ถ้าไม่ได้โฆษณามาช่วยพยุงต้นทุน ยังไงก็ต้องขาดทุนวันยังค่ำ กรณีการปิดตัวของสิ่งพิมพ์คงบ่งบอกอะไรได้หลายอย่าง และเป็นหลักประกันวลีว่า “คนไทยอ่านหนังสือไม่เกิน 7 บรรทัด” หนักข้อเข้าก็เหลือ “อ่านหนังสือไม่เกิน 3 บรรทัด” ล้วนเป็นความจริง คนไทยไม่ชอบอ่าน แต่ชอบดู และชอบฟังคนเล่ามากกว่า ขนาดพิมพ์คุยกันยังใช้คำย่อ คำเฉพาะกลุ่ม ตลอดจนคำที่ผิดหลักภาษากันเต็มไปหมด ทุกวันนี้เราจึงเห็นคนไทยเล่นสื่อโซเชียลกันอย่างฉาบฉวย อ่านข่าวแค่พาดหัว หรือเฉพาะหัวข้อข่าว แล้วสรุปเองกันทั้งนั้น น้อยคนที่จะอ่านรายละเอียด เช่นเดียวกับคนฟังเพลงและวงการเพลง

ที่เกิดขึ้นมานานแบบเงียบๆ ไม่ฮือฮาเท่าไรในวงการเพลงก็คือ เทปคาสเซตต์เลิกผลิต ซีดีผลิตน้อยลง และกำลังจะเลิกผลิต เน้นสั่งจากต่างประเทศมากขึ้น ฟอร์แมตต่างๆ ในอุตสาหกรรมเพลงขายได้น้อยลง สิ่งที่มาทดแทนคือ ดาวน์โหลดและสตรีม สิ่งเหล่านี้บ่งบอกอนาคตของปีหน้าและอนาคตของวงการเพลงบ้านเราได้พอสมควร คนฟังเพลงไม่เน้นคุณภาพของสุ้มเสียงเหมือนก่อน เอาแค่ฟังให้รู้ว่าเพลงอะไรก็พอใจแล้ว สาเหตุหลักๆ มีดังนี้

พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ฟังเพลงฉาบฉวยขึ้น เลือกฟังเฉพาะเพลงที่ตัวเองชอบจริงๆ การซื้อเพลงแนวอื่นมาฟังเพื่อหาความรู้หรือทดลองฟังเกิดขึ้นน้อยลง และบางคนไม่ยอมฟังเพลงแปลกๆ ที่ไม่เคยรู้จัก อุปนิสัยการฟังเพลงของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปมากจริงๆ ครับ สมัย 20-30 ปีก่อน มีแต่คนหาซื้อเทปของวงหน้าใหม่ ที่วิทยุไม่เปิด นิตยสารไม่ลงเรื่องราว วงไม่มีเพลงฮิต หรือบางครั้งวิทยุนำมาเปิดแนะนำแค่เพลงเดียว ฟังแล้วชอบ ก็ตรงดิ่งไปซื้อเทปกันทันที แต่เดี๋ยวนี้โลกโซเชียลพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง อย่าว่าแต่เดินไปซื้อซีดีฟังเลย แค่ฟังเพลงให้จบ โดยไม่เปิดข้ามยังยากเลย

อีกทั้งมีทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะ “มิวสิคสตรีมมิ่ง” เพียงแค่มีมือถือก็สามารถฟังเพลงที่มีคุณภาพเสียงดีๆ ได้ เสียเวลาสมัครและชำระค่าสมาชิกเดือนละไม่กี่บาท ฟังที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ มีเพลงให้ฟังเป็นล้านเพลง เป็นแสนอัลบั้ม มีข้อเสียอย่างเดียวก็คือ ไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ ไม่ได้จับต้องเป็นเจ้าของเหมือนอย่างซีดีหรือเทปแบบยุคก่อน นั่นหมายถึงคนรุ่นใหม่ไม่ต้องพึ่งพาพื้นที่ในการจัดเก็บซอฟต์แวร์สำหรับฟังเพลงอีกต่อไป มีเพียงฮาร์ดดิสก์ พื้นที่ว่างในโทรศัพท์ก็เพียงพอแล้ว ความคล่องแคล่วในการใช้ฮาร์ดแวร์จึงเพิ่มขึ้น แต่ทักษะและความรู้เรื่องเครื่องเสียงก็ถดถอย ร้านรับซ่อมมือถือ รับลงซอฟต์แวร์ โปรแกรมจึงเกิดขึ้นมาแทนร้านขายเทปและซีดี ขณะเดียวกัน แหล่งขายสตรีมทั้งหลายก็ทำหน้าที่ป้อนเพลงให้ถึงหน้าจอมือถือ มีให้เลือกกันชนิดที่ฟังได้ตลอดทั้งปีโดยไม่ซ้ำเพลงกันเลย คุณภาพเสียงก็ไม่ด้อยกว่าซีดีด้วย Third Party จะมีบทบาทและอิทธิพลต่อการฟังเพลงของคนรุ่นใหม่มากขึ้น และน่าจะเป็นตัวแชร์คอนเทนต์จากค่ายเพลงยักษ์ใหญ่หลักๆ ที่ขายเพลงในอนาคตด้วย

อีกประการก็คือ คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยจดจำรายละเอียดและให้ความสำคัญในสิ่งที่ตนเองฟังเหมือนก่อน เนื่องจากฟังสตรีม ถ้าอยากทราบรายละเอียดก็ต้องกดเข้าไปอ่าน แต่ส่วนใหญ่ต้องการแค่ฟังเท่านั้น เหตุนี้ คนฟังจึงทราบเพียงชื่อเพลงหรือชื่อศิลปินเจ้าของเพลง ส่วนคนแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ หรือรายชื่อนักดนตรีที่ร่วมเล่นแทบไม่มีความสำคัญอีกต่อไป และนับวันจะกลายเป็นส่วนเกินสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป ส่วนคนรุ่นก่อน ถ้าฟังแล้วชอบ ต้องย้อนกลับไปหาซื้องานเก่าๆ ของศิลปินนั้นๆ มาฟัง ถ้าไปร่วมงานกับใครก็เสาะหามาอีก เรียกว่ารักจริง ตามตลอด และจดจำทุกรายละเอียดของศิลปินคนโปรด กรณีของคนฟังเพลงรุ่นใหญ่หรือกลางที่อยู่ในยุคของเทปมาก่อน แม้ฟังสตรีม ก็ยังติดนิสัยขวนขวาย หารายละเอียดเหมือนเดิม

มาถึงตรงนี้คงพอเดาออก หรือคาดกันได้นะครับว่า อะไรที่จะไป อะไรที่จะมาในปีหน้าบ้าง

พูดถึง User ล่ะก็ อุปนิสัยเปลี่ยนไปอย่างมาก เน้นเร็ว ไว ฉาบฉวย เพราะทุกคนคิดว่าเวลามีค่า การฟังเพลงเป็นแค่งานอดิเรกอย่างหนึ่งเพื่อไว้เข้าสังคม ไม่ใช่รสนิยมและความชอบส่วนตัวเหมือนคนรุ่นก่อนแล้ว คุณค่าในตัวซอฟต์แวร์เริ่มหมดไป เพราะสตรีมสามารถทดแทนได้ค่อนข้างน่าพอใจ ไม่สร้างปัญหาในการจัดเก็บ หรือดูแลรักษาเหมือน Physical ทั้งหมด จะเหลือคนฟังเพลงกลุ่มหนึ่งที่ยังมีความสุขกับการซื้อหาเทป ซีดี แผ่นเสียงมาฟังต่อไป แต่จะไม่ใช่กลุ่มที่เป็นดรรชนีบ่งบอกของอุตสาหกรรมเพลงในบ้านเราอีกต่อไป

ที่น่าเศร้าก็คือ มีเดียสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับดนตรีจะค่อยหายหน้าไปเรื่อยๆ จนหมดไปจากแผงหนังสือ สิ่งที่เมื่อก่อนเป็นอย่างเดียวที่ให้ความรู้กับคนฟังเพลงมากที่สุดถึงเวลาอำลากันเสียที หากหันไปมองรอบตัว การจากไปของนิตยสารดนตรี โดยเฉพาะดนตรีสากลไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่เมื่อก่อนเราไม่รู้สึก เพราะหายไป ก็มีหัวใหม่เกิดขึ้น แต่ทุกวันนี้ ไม่มีหัวที่เกิดใหม่ขึ้นอีกแล้ว ขนาดนิตยสารที่ยอดพิมพ์เป็นแสนๆ เล่มต่อสัปดาห์อย่าง “คู่สร้างคู่สม” ยังต้องประกาศปิดตัว เราคงต้องทำใจและยอมรับสภาพกันแล้วว่า สังคมโซเชียลมีส่วนทำลายอุปนิสัยอ่านหนังสือของคนไทยอย่างสิ้นเชิง ผลกระทบยังไม่เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่มันจะค่อยๆ เกิดและปรากฏผลกับคนรุ่นต่อๆ ไป ที่ตอนนี้เริ่มเห็นเค้ารางกันบ้างก็เรื่องพิมพ์ภาษาไทยผิด ไร้หลักเกณฑ์และหลักการของคนเล่นโซเชียล บัญญัติภาษาใหม่เฉพาะตัวเฉพาะกลุ่ม แม้ว่ามันจะพิเรนทร์และค้านสายตาคนทั่วไป ฯลฯ การฟังเพลงก็เช่นกัน อาจฟังมากขึ้น แต่ไม่ลงรายละเอียด ฟังฉาบฉวย ฟังเพื่อเอาไว้คุยกันในกลุ่มเพื่อนฝูง ละเลยรายละเอียดต่างๆ โลกโซเชียลให้ข้อมูลมาแค่ไหนก็รู้แค่นั้น ไม่ขวนขวายต่อยอดหาความรู้ความสนุกสนานในการฟังเพลงอีกต่อไป

แต่กลุ่มที่รักการฟังเพลงจริงๆ ยังอยู่ครับ พวกเขายังมีความสุขกับการหาซื้อเทป ซีดี แผ่นเสียง และสนุกกับสิ่งที่ตนเองหามาได้ต่อไป แต่เมื่อคนกลุ่มนี้ล้มหายตายจากไป อุปนิสัยการฟังเพลงแบบรักจริงเช่นนี้ไม่ได้ถูกถ่ายทอดต่อคนรุ่นหลัง เว้นแต่บางคนจะใฝ่รู้ ขวนขวายเอาเอง อนาคต ทุกคนก็คงใส่หูฟังที่ต่อจากมือถือ มีความสุขไปกับเพลงเหล่านั้น แต่คงให้คำตอบไม่ได้ว่าเพลงที่พวกเขาฟังอยู่นั้น ใครเป็นคนแต่ง ใครโปรดิวซ์ ใครทำอาร์ตเวิร์กปก มีใครเป็นนักดนตรี ฯลฯ แล้วความสุขในการฟังเพลงที่แท้จริงจะค่อยๆ หมดไปตามเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง เหมือนอย่างที่คุณดำรง พุฒตาล เจ้าของหนังสือคู่สร้างคู่สม เอ่ยถึงสาเหตุหนึ่งที่ต้องยุติหนังสือคู่สร้างคู่สมก็เพราะ “โลกโซเชียลทำให้เราท้อใจ” เหตุเพราะคอนเทนต์ที่คนอ่านมากที่สุดในหนังสือเล่มนี้ถูกลอกไปเผยแพร่ในโลกโซเชียล อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้  เหตุการณ์เช่นนี้ มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวง เพราะคนไม่ซื้อหนังสืออ่าน หันไปอ่านบนโซเชียลแทน เมื่อคนซื้อหดหาย ยอดขายตก เจ้าของหนังสือก็อยู่ไม่ได้ สาเหตุนี้สาเหตุเดียวก็เป็นเหมือนหมุดเล่มสุดท้ายที่ตอกลงบนจุดสำคัญเพื่อปลิดชีพคนทำงานสื่อสิ่งพิมพ์แล้ว

เหมือนอย่างที่ยุคหนึ่ง ราวปี 2522 แผ่นเสียงที่ออกขายในต่างประเทศ ต่างพิมพ์คำเตือนไว้ที่ปกหลังว่า “Home Taping is Killing Music” และมันก็จริง ผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่มันค่อยๆ เกิดขึ้น และแพร่กระจายไปเหมือนเชื้อโรคร้าย คนที่ซื้อแผ่นเสียงมาแผ่นหนึ่ง แล้วอัดเทปแจกเพื่อน หรือหนักกว่านั้นอัดเทปขาย เป็นการทำลายวงการอย่างแท้จริง แต่ครั้งนั้นโลกยังไม่เจริญอย่างทุกวันนี้ ตอนนี้เราอยากฟังเพลงอะไร ก็แค่ลงแอปฯ สมัครสมาชิก จ่ายค่าสมาชิกรายเดือนที่ราคาถูกกว่าซีดีแผ่นหนึ่ง แต่กลับมาเพลงให้ฟังนับแสนนับล้านเพลง ต่อไปใครจะซื้อซีดีฟังกันอีก แต่ผมก็เชื่อลึกๆ ว่า คนที่ต้องการฟังเพลงในแบบฉบับของตนเอง และมีความสุขกับการหยิบซีดีมาวางลงบนเครื่องเล่น กดปุ่มเล่น แล้วดื่มด่ำไปกับเสียงเพลงที่ดังจากลำโพงของซิสเต็มชุดโปรด ยังเป็นสิ่งที่สมบูรณ์แบบและให้ความสุขอย่างแท้จริงต่อไป แล้วเราจะรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ได้ไหม เป็นเรื่องของอนาคตและพฤติกรรมของคนยุคนั้นครับ

ทิ้งท้ายให้คิดกันเล่นๆ

อนาคต คนไปทำผมทำเล็บตามร้านเสริมสวยที่ไม่มีหนังสือคู่สร้างคู่สมให้อ่าน พวกเขาจะทำอย่างไร คนที่ฟังเพลงจากมือถือ หากไปเจอชุดเครื่องเล่นแผ่นเสียงของพ่อหรือญาติเข้า จะเปิดมันฟังเพลงอย่างไร พวกเขาจะทราบไหมว่าสุ้มเสียงแบบอนาล็อกนั้นมีคุณภาพมากเพียงใด

ลองคิดกันดูนะครับ

 

ขอบคุณภาพจาก iStock, Facebook สกุลไทยรายสัปดาห์ (Sakulthai Weekly Magazine) และ Kwanruen Magazine

 

--------------------------------------------------------------------------------

สั้นๆ เกี่ยวกับผู้เขียน



นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี 2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี 2545-2548

ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Records Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook