“ที่สุด” แห่งวงการเพลงปี 2017 โดยทีมงาน Sanook Music
ก่อนหน้านี้ Sanook Music ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับปี 2017 ไปพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการสรุปเหตุการณ์สำคัญประจำปีนี้ เพลงยอดนิยมที่ฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมือง คอนเสิร์ตในดวงใจที่เป็นที่พูดถึงของใครหลายคน หรือแม้แต่คอนเสิร์ตน่าดูของปีหน้าที่ห้ามพลาด คราวนี้ก็ถึงคิวของทีมงาน Sanook Music ที่จะมาคัดเลือก “ที่สุด” แห่งวงการเพลงประจำปี 2017 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปกันถึง 6 สาขา ไม่ว่าจะเป็น เพลงแห่งปี, อัลบั้มแห่งปี, มิวสิควิดีโอแห่งปี, ศิลปินหน้าใหม่แห่งปี, คอนเสิร์ตแห่งปี และ ศิลปินแห่งปี ไปดูกันได้เลย
Music Video of the Year
New Rules – Dua Lipa
Jurairat N. : มีใครบ้างล่ะที่จะไม่ชอบมิวสิควิดีโอที่ใช้เทคนิคในการถ่ายทำด้วยวิธี long shot หรือเทคเดียวยาวไปเรื่อยๆ แม้ว่า “New Rules” ของสาว Dua Lipa นักร้อง นักแต่งเพลง และนางแบบชาวอังกฤษคนนี้ที่จะเพิ่งเดบิวต์เพียง 2 ปี แต่ด้วยเนื้อหาของเพลงที่สอดคล้องไปกับเนื้อเรื่องในวิดีโอที่พูดถึงการหักห้ามใจตัวเองไม่ให้กลับไปใจอ่อนให้กับอดีตคนรัก โดยภาพที่ออกมาสื่อให้เห็นถึงบรรยากาศเพื่อนสาวที่รายล้อม และคอยช่วยเหลือไม่ให้ตัวเองกลับไปทำพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้เป็นวิดีโอที่ดูเข้าใจง่าย มีประเด็นที่ต้องการจะสื่อชัดเจน นอกจากตัวเพลงเองจะเป็นแนวป็อปอิเล็กทรอนิกส์ทันสมัยตรงกับคอนเซ็ปต์ “สาวมั่น ฉันไม่แคร์” แล้ว สิ่งที่ต้องพูดถึงคือการกำกับภาพในวิดีโอที่นอกจากจะเล่นกับสีสันอย่างสนุกสนาน รวมถึงการจัดตำแหน่งของสาวๆ ในวิดีโอก็สวยงามราวกับกำลังชมละครเวทีอยู่อย่างไรอย่างนั้น ทำให้มิวสิควิดีโอเพลงนี้ขึ้นแท่นเป็นมิวสิควิดีโอที่แฟนเพลงป็อปจำได้แม่น และอาจเป็นตำนานในอนาคตด้วย
บันไดสีแดง – Hugo
Sidhipong W. : การที่ศิลปินคนหนึ่งจะเลือกนำเสนอด้านมืดในสังคมนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกใหม่มากในสังคมไทย ซึ่งในอัลบั้มชุด ดำสนิท นั้น ฮิวโก้ - จุลจักร จักรพงษ์ ก็ได้มาพร้อมเพลงและเอ็มวี “บันไดสีแดง” ที่เขา และผู้กำกับอย่าง แอ๊ะ - ชาติฉกาจ ไวกวี ได้ตีความเรื่องราวที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงในสถานบันเทิง ซึ่งตัวมิวสิควิดีโอก็ผสมผสานความเป็นจริงและแฟนตาซีไว้อย่างดี มีส่วนผสมของความเย้ายวนและความน่ากลัว ซึ่งตรงกับเนื้อเพลงที่พูดถึงความสุขและความเศร้าของคนที่เข้ามาในเสพสุขผ่านการซื้อบริการทางเพศ โดยความร้อนแรงและตรงไปตรงมาของเอ็มวีนี้ก็ทำให้ทางค่ายนั้นต้องปิดปรับปรุงเอ็มวีชั่วคราว เพื่อลบฉากบางฉากออกไป
นอกจากเนื้อเรื่องและภาพแล้ว สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในเอ็มวีนี้คือรายละเอียด อย่างเช่นการเลือก “ร้านในตำนาน” ที่อ้างอิงจากผลงานเพลงสากลของฮิวโก้ “99 Problems” หรือแม้แต่การแสดงของฮิวโก้ ในบทเด็กเชียร์แขกที่ต่างจากตัวตนอันเงียบขรึมของเขา รวมไปถึงการถ่าย Long shot ในการเล่าเรื่อง และการใช้มุมกล้องเพื่อมอบบทบาทผู้ใช้บริการทางเพศให้กับผู้ชมเอ็มวี เพื่อทำให้คนดูมีส่วนร่วมกับมิวสิควิดิโอ ซึ่งสิ่งนี้ก็ทำให้ผมชื่นชอบและยกให้เอ็มวีนี้เป็นผลงานในดวงใจอีกชิ้นหนึ่งเลย
บันไดสีแดง – Hugo
Chanon B. : เลือกเพราะ “ความกล้า” ล้วนๆ ทุกคนคงทราบดีถึงจิตวิญญาณแห่งความเป็นศิลปินของชายหนุ่มที่ชื่อ ฮิวโก้ - จุลจักร จักรพงษ์ เป็นอย่างดี ทั้งๆ เขาสามารถเลือกเดินตามกระแสได้อย่างง่ายดาย แต่เขากลับขอเลือกมุ่งหน้าในเส้นทางที่หัวใจและรากเหง้าของเขาเรียกร้อง
“บันไดสีแดง” เป็นแทร็คสุดท้ายจากอัลบั้มภาษาไทยชุดล่าสุดของ ฮิวโก้ อย่าง ดำสนิท ที่ค่อนข้างโดดเด้งไปจากแทร็คอื่นๆ อยู่มากทีเดียว ด้วยการใส่กลิ่นอายดนตรีบอสซาโนว่าเข้าไป ทว่าภายใต้ซาวด์ที่ฟังไม่ยากนัก เนื้อหากลับหนักอึ้ง กับการพูดถึงพื้นที่โซนโลกีย์ที่บรรดาหญิงสาวต้องใช้เรือนร่างแลกมาซึ่งเงินทองและความสำเร็จในชีวิต ต่อยอดไปถึงมิวสิควิดีโอที่ ฮิวโก้ ออกตัวตั้งแต่ซีนแรกว่า เขาคือ “เด็กเชียร์แขก” อาชีพที่คุณคงรู้ว่าทำงานด้านไหน สถานที่ใด แถมยังเผยให้เห็นโลเคชั่นด้านหลังกับร้านในตำนานจนกลายเป็นกระแสทอล์คออฟเดอะทาวน์ รวมถึงฉากสุดเซ็กซี่ที่สาวๆ เลื้อยไปมาบนเสา
มิวสิควิดีโอเพลงนี้แปรเปลี่ยนเป็นกระแสด้านบวกในเชิงศิลปะ รวมถึงด้านลบที่มีคนกังวลเรื่องความเหมาะสมของสถานที่ถ่ายทำ ทางทีมงานจึงตัดสินใจเซ็นเซอร์ช่วงต้นของมิวสิควิดีโอแบบ “เบลอสนิท” ที่เมื่อได้รับชมอีกครั้งแล้วก็ยังรู้สึกถึง “ความท้าทาย” ในอำนาจบางอย่างอยู่ดี ... บอกเลยว่า ถ้าไม่ใช่ชายผู้นี้คงไม่กล้าทำอะไรแบบนี้หรอก ขอยกให้เป็นมิวสิควิดีโอแห่งปี 2017 ไปแบบไม่ต้องคิดอะไรมากเลย
Concert of the Year
SINGHA LIGHT Live Series Vol 2.4 - Phoenix
Jurairat N. : ปี 2017 มีแต่คอนเสิร์ตดีๆ จากศิลปินเก่งๆ มาเมืองไทยเยอะมาก จึงทำให้หัวข้อนี้เลือกยากมากตามไปด้วย แต่ที่ตัดสินใจเลือกเป็นคอนเสิร์ตของ Phoenix เพราะนอกจากการรอคอยอย่างยาวนานร่วม 20 ปีในการมาเมืองไทยของพวกเขาที่ทำให้เราซาบซึ้งใจมากแล้ว การแสดงสดของพวกเขาก็ดีเกินคาด ทั้งแสง สี เสียงที่ไม่คิดว่าภายในฮอลล์ขนาดย่อมของ Moonstar Studio จะทำได้ดีมากถึงขนาดนี้ การจัดตำแหน่งของสมาชิกในวงแต่คนที่ให้ความสำคัญเท่าๆ กัน จังหวะจะโคนในการแสดงเพลงต่อเพลงก็ลื่นไหล และลงตัวไปกับตำแหน่งของแสงไฟบนเวทีที่ทางทีมงานกระซิบมาว่า ทีม Phoenix ขนมาเองหมดทุกชิ้น ใส่ใจในทุกรายละเอียด และการที่ Thomas Mars นักร้องนำเล่น crowd surfing กับแฟนเพลงที่ไทย ทั้งๆ ที่เจ้าตัวยอมรับว่าเวทีที่นี่สูงมาก ดูท่าทางอันตราย แต่เขาก็ยังหาทางลงมาสนุกกับแฟนเพลงอย่างใกล้ชิดจนได้ ทำให้โมเม้นท์นั้นการเป็นการปิดโชว์ที่น่าประทับใจจนยากที่จะลืมเลือนได้จริงๆ ชนะทุกโชว์ตลอดปี 2017 ก็เพราะ crowd surfing นี่แหละ
อ่านรีวิวคอนเสิร์ต SINGHA LIGHT Live Series Vol 2.4 – Phoenix ได้ที่นี่
TWICE 1st TOUR ‘TWICELAND’ - THE OPENING - IN BANGKOK
Sidhipong W. : ในปีนี้ผมเองได้มีโอกาสเข้าชมคอนเสิร์ตมากมาย แต่สำหรับผมแล้วคอนเสิร์ตที่ประทับใจที่สุด กลับไม่ใช่คอนเสิร์ตที่อลังการที่สุด แต่เป็นคอนเสิร์ตที่มาพร้อมเรื่องราวเบื้องหลังที่น่าสนใจอย่าง TWICE 1st TOUR ‘TWICELAND’ -THE OPENING - IN BANGKOK
เพราะสำหรับ 9 สาว TWICE แล้ว คอนเสิร์ตนี้เป็นครั้งแรกที่พวกเธอได้แสดงคอนเสิร์ตต่างประเทศ และแถมมีอุปสรรคมากมายก่อนหน้าคอนเสิร์ตจะเริ่ม ไม่ว่าจะเป็นดราม่าจากกลุ่มแอนตี้ หรือแม้แต่อาการบาดเจ็บของ ปาร์ค จีฮโย ที่ทำให้เธอต้องขึ้นแสดงทั้งที่ไม่สามารถเดินได้
แต่พอคอนเสิร์ตเริ่มขึ้น พวกเธอก็พาแฟนเพลงเข้าสู่โลกความสนุกสนาน ซึ่งสาวๆ และทีมงานได้มาพร้อมธีมการแสดงที่เหมือนการเที่ยวสวนสนุก และมาพร้อมผลงานเพลงฮิตมากมายอย่าง “TT”, "Like Ooh-Ahh", “Cheer up” รวมถึงเมดเล่ย์เพลงการ์ตูนสนุกน่ารัก เพลงเท่ๆ อย่าง “Overdose” จากวง EXO และอีกหลายบทเพลงที่เรียกรอยยิ้มจากผู้ฟังได้เป็นอย่างดี
ซึ่งในช่วงท้ายคอนเสิร์ตนั้นหลังจากที่ได้ชมโปรเจ็คเซอร์ไพรส์จากแฟนๆ บรรยากาศในช่วงอังกอร์ก็เต็มไปด้วยความอบอุ่น และเป็นกันเอง โดยสาวๆ ได้ลงมาทักทายแฟนๆ ถึงขอบเวที และหยิบโทรศัพท์แฟนๆ มาถ่ายรูปเซลฟี่ให้เป็นของขวัญ ซึ่งแฟนเพลงหลายคนที่ได้ชมคอนเสิร์ตก็ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คอนเสิร์ตครั้งนี้ทำให้พวกเขาอบอุ่นใจ รวมถึงประทับใจกับพัฒนาการในด้านการแสดงของสาวๆ ที่มาไกลมากเมื่อเทียบจากตอนเปิดตัว
อ่านรีวิวคอนเสิร์ต TWICE 1st TOUR ‘TWICELAND’ -THE OPENING - IN BANGKOK ได้ที่นี่
โม • เดอ • เน็ต • ม้า
Chanon B. : มีคอนเสิร์ตเข้าชิงในใจอยู่หลายงาน ไม่ว่าจะเป็น Good Vibes Festival 2017 ที่ประเทศมาเลเซียซึ่งผู้เขียนมีโอกาสได้เดินทางไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กับประสบการณ์การยืนชมวง Kodaline ท่ามกลางฝนตกหนัก 1 ชั่วโมงเต็มเป็นครั้งแรกของชีวิต หรือแม้กระทั่ง HYUKOH Live in Bangkok 2017 จากผู้จัด Seen Scene Space ที่เปิดศักราชวงอินดี้ร็อคจากเกาหลีใต้ในเมืองไทยได้อย่างงดงาม แต่ท้ายที่สุดผู้เขียนขอเลือกงานเล็กๆ อย่าง “โม • เดอ • เน็ต • ม้า” ซึ่งจัดในร้านเล็กๆ อย่าง PLAY YARD by Studio Bar ลาดพร้าวซอย 8
เหตุผลง่ายๆ คือ Moderndog ผู้ซึ่งเป็นไฮไลท์ของงานในค่ำคืนนั้นนำเพลง B Side ที่แทบไม่มีโอกาสได้เล่นตามร้านรวงหรือมิวสิคเฟสติวัลทั่วไปมาเล่นสดๆ ให้ฟังแบบจัดเต็ม “อีสานคลาสสิค”, “Happiness is…”, “แดดส่อง”, “ที่จริงในใจ”, “สิ่งที่ไม่เคยบอก” ฯลฯ คือลิสต์เพลงที่ผู้ชมราว 200 คนได้ดื่มด่ำและอิ่มเอมกันอย่างสุดๆ รวมถึงการได้เห็นสมาชิกหมาทันสมัย โดยเฉพาะ ป๊อด-ธนชัย อุชชิน มีรอยยิ้มปนความอึ้งเล็กๆ ปรากฏบนใบหน้าระหว่างการแสดงก็ยิ่งเป็นเครื่องการันตีว่า ศิลปินทุกคนไม่ใช่ว่าอยากจะเล่นแต่เพลงฮิตเดิมๆ ตลอดไปนักหรอก การได้เล่นเพลงที่แทบไม่เคยเล่นสด หรือที่หลายคนมองว่า “ไม่ดัง” แต่กลับได้นำเสนอตัวตนอันแท้จริงออกมาผ่านบทเพลงอาจเป็นความสุขที่สุดของผู้ที่เรียกตนเองว่า “ศิลปิน” ก็เป็นได้
อ่านรีวิวคอนเสิร์ต โม • เดอ • เน็ต • ม้า ได้ที่นี่
New Face of the Year
Alessia Cara
Jurairat N. : แม้ว่าเธอจะเริ่มเดินถนนสายดนตรีอาชีพด้วยอัลบั้ม Know-It-All ตั้งแต่ปี 2015 แต่การที่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสาขา New Artist ไปทั่วทุกเวที ไม่ว่าจะเป็น Billboard Music Awards, Kids' Choice Awards, BET Awards, American Music Awards และล่าสุดกับเวที Grammy Awards สาขา Best New Artist 2018 ในวัยเพียง 21 ปี ก็น่าจะพิสูจน์ได้แล้วว่าสาว Alessia Cara เป็นเพชรน้ำงามในวงการเพลงป็อปยุค 2010s ที่กำลังจะเป็นศิลปินที่เป็นไอคอนของคนรุ่นใหม่ต่อไปในอนาคต ด้วยความสามารถทางด้านดนตรีที่ทั้งร้อง ทั้งเล่นดนตรี และแต่งเพลงเอง จากการได้รับอิทธิพลทางดนตรีมาจากศิลปินอย่าง Lauryn Hill, Amy Winehouse, Pink และ Drake และน้ำเสียงทรงพลังที่มีกลิ่นอายของอาร์แอนด์บี และโซลอยู่จางๆ ทำให้ Alessia Cara ต้องตาโดนใจศิลปินรุ่นพี่หลายคนจนต้องชวนเธอมาร่วมฟีทเจอริ่งด้วย เช่น เพลง “Wild” ของ Troye Sivan, “Stay” ของ Zedd และ “1-800-273-8255” ของ Logic นอกจากนี้เธอยังเคยร่วมเป็นศิลปินเปิดการแสดงให้กับทัวร์คอนเสิร์ต A Head Full of Dreams ในยุโรป และอเมริกาเหนือของ Coldplay มาแล้วด้วย ถ้าไม่มีดีจริง รุ่นพี่คงไม่สนับสนุนกันเต็มที่ขนาดนี้หรอกเนอะ
The TOYS (ธันวา บุญสูงเนิน)
Sidhipong W. : นอกจากจะเป็นศิลปินที่มีความสามารถในด้านการร้องเพลงที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน ไพเราะ รวมถึงการทำเพลงด้วยตัวเองทุกขั้นตอนแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้ The TOYS เป็นศิลปินหน้าใหม่ที่น่าสนใจมาก ก็คือความกล้าที่จะคิดนอกกรอบของเขา
ในผลงานเพลง “หน้าหนาวที่แล้ว” เขามาพร้อมคำพูดในท่อนอินโทร “เด็กสมัยนี้โตไวเนอะ” ที่มาจากความคิดง่ายๆ ที่ว่า ถ้าเพลงสากลจะมีอินโทรพูดก่อนเข้าเพลง ทำไมเพลงไทยจะมีบ้างไม่ได้ และล่าสุดผลงานเพลง “ก่อนฤดูฝน” ของเขาก็มาพร้อมท่อนแร็ปที่เร็วจนทำให้หลายคนต้องฟังเพลงนี้ซ้ำๆ และฝึกร้องตามกันเกือบทั่วประเทศ
ถึงแม้ว่าผลงานเพลงของเขาจะโด่งดังจากการมีลูกเล่นที่แปลกใหม่ แต่ความสามารถของ The TOYS ในแง่นักร้องก็ไม่ธรรมดาเลย เพราะเขาเป็นอีกศิลปินที่ร้องเพลงได้ไพเราะ มีเทคนิคการร้องและแร็ปที่ไม่ธรรมดา ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ตอนนี้ The TOYS มีแฟนเพลงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ด้วยวัยเพียงแค่ 22 ปี ทำให้ก้าวต่อไปของ The TOYS เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะเขายังคงสามารถต่อยอดความสามารถและประสบการณ์ทางดนตรีของเขาต่อไป ซึ่งในอนาคตเราอาจจะได้เห็นผลงานที่น่าเซอร์ไพรส์ของเขาอีกมาก
Whal & Dolph
Chanon B. : เป็นอีกหนึ่งสาขาที่เลือกไม่ยากสักเท่าไหร่สำหรับตัวผู้เขียนเอง Whal & Dolph คือคู่โอ้ที่มาแรงที่สุดในยุคนี้อย่างปฏิเสธไม่ได้ และทำเพลงออกมาได้เพราะเอามากๆ อีกด้วย ปอ-กฤษสรัญ จ้องสุวรรณ (ร้องนำ, กีตาร์) และ น้ำวน-วนนท์ กุลวรรธไพสิฐ (กีตาร์) คือสองสมาชิกที่เรียกแทนตัวเองว่า คุณดอล์ฟ และคุณวาฬ ตามลำดับ มาพร้อมกับคอนเซ็ปท์ “นักดนตรีใต้น้ำ” ที่มอบความสุขทางเสียงเพลงให้กับเหล่ามนุษย์ทุกคนซึ่งถือว่าเป็นคอนเซ็ปต์ของวงที่แข็งแรงมากทีเดียว แม้จะถือกำเนิดจากแวดวงอินดี้ กับการเป็นศิลปินอิสระไร้ค่าย ทว่าแต่ละเพลงที่พวกเขาสร้างสรรค์ออกมาก็มีความป็อปที่เข้าใจได้ไม่ยาก รวมถึงมีเสน่ห์บางอย่างซ่อนอยู่ที่ฟังครั้งแรกก็ติดหูหมับเสียแล้ว ไม่ว่าจะเป็น “ยิ้ม”, “นานนาน”, “พ”, “โอ๊ย”, “ละเมอ” หรือแม้แต่ซิงเกิลล่าสุด “หากมันจะสายเกินไป”
และในที่สุดคุณวาฬและคุณดอล์ฟก็ปล่อยอัลบั้มเต็มชุดแรกในชีวิตอย่าง Rayon ออกมา ภายใต้การทำงานกับค่าย What The Duck บอกเลยว่าแทร็คอื่นๆ ในอัลบั้มมีมนต์เสน่ห์ที่แตกต่างกันออกไป สามารถตัดเป็นซิงเกิลได้ทุกเพลง และการที่พวกเขาใช้โซเชียลมีเดียกับแฟนเพลงได้อย่างถูกที่ถูกเวลาเสมอมา ทำให้สองหนุ่ม Whal & Dolph มีฐานแฟนคลับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บอกตามตรงว่า ฟังเพลงของดูโอ้คู่นี้ทีไร นึกย้อนกลับไปถึงสมัยเบเกอรี่ มิวสิค รุ่งเรืองอย่างบอกไม่ถูก น่าจับตามองมากจริงๆ
Song of the Year
Emoji of a Wave – John Mayer
Jurairat N. : ขอมาเหนือความคาดหมายของใครหลายๆ คนกันนิดนึง เนื่องจากเพลงนี้เป็นแทร็คหนึ่งในอัลบั้มล่าสุดของ John Mayer อย่าง The Search For Everything (ที่มีลูกเล่นโดยการปล่อยเป็น EP สองชุด Wave One และ Wave Two ก่อนจะมารวมเป็นอัลบั้มเต็มอีกครั้ง) และแทร็คนี้ไม่ได้ตัดออกมาโปรโมตเป็นซิงเกิลแต่อย่างใด แต่ความดีงามของเพลงนี้จนทำให้เราขอยกเป็นที่หนึ่งในใจในปีนี้ คือความกลมกลืนของดนตรีป็อปกีตาร์อะคูสติกฝีมือ John Mayer ที่เป็นปรมาจารย์ด้านกีตาร์อยู่แล้ว บวกกับดนตรีเครื่องสาย และคอรัสชุดใหญ่ราวกับได้วงออร์เคสตรามาเล่นเป็นแบ็คอัพให้ ทำให้เพลงป็อปฟังสบายๆ เพลงนี้มีความอลังการซ่อนอยู่ภายใน ความละเมียดละมัยในทุกตัวโน้ตที่คนฟังสัมผัสได้อย่างชัดเจน และซาวด์ของเพลงที่หลับตาฟังแล้วทำให้นึกถึงเพลงที่เปิดในช่วงเอนด์เครดิตของภาพยนตร์ดราม่าโรแมนติกดีๆ สักเรื่องหนึ่ง รวมไปถึงเนื้อเพลงสละสวยที่พูดถึงความรักที่ทำให้เจ็บปวด แต่ก็ต้องยอมรับและอยู่กับมันให้ได้ นอกจากชื่อเพลงว่า “Emoji of a Wave” จะเป็นชื่อที่ค่อนข้างแปลกหูแปลกตาแล้ว การใช้คำว่า Wave ของเพลงนี้ กับการเรียกชุด EP ที่ปล่อยมาสองชุดก่อนหน้านี้ว่า Wave One และ Wave Two ทำให้เราคิดว่าเพลงนี้น่าจะเป็นหนึ่งในธีมหลักของอัลบั้มนี้ด้วย
หัวใจทศกัณฐ์ – เก่ง ธชย feat. ทศกัณฐ์
Sidhipong W. : หลังจากที่คว้า 14 เหรียญทองจากเวทีการประกวด “World Championships of Performing Arts ครั้งที่ 20” เก่ง ธชย ประทุมวรรณ ก็กลับมาทำผลงานเพลงต่อเนื่องในปี 2560 โดยผลงานที่โดดเด่นที่สุดของเขาคือเพลง “หัวใจทศกัณฐ์” ที่เขาได้ ทศกัณฐ์ (กิตติกานต์ แซ่หลี) แร็ปเปอร์จากรายการ The War is On ของกลุ่ม Rap is Now มาร่วมสร้างสีสัน
ผลงานเพลง “หัวใจทศกัณฐ์” นั้นนอกจากจะมีดนตรีและการขับร้องแบบไทยเดิมแล้ว ผลงานเพลงนี้ยังมีการผสมผสานดนตรีแบบตะวันตกและการแร็ปเข้ามาอย่างลงตัว ซึ่งถึงแม้จะมีดนตรีหลายชนิดแต่ เก่ง และทีมงานที่ร่วมกันทำเพลงก็ไกล่เกลี่ยทุกซาวด์ออกมาได้ลงตัว ไม่เยอะเกินไปจนฟังยากและไม่น้อยเกินไปจนทำให้เพลงไร้สีสัน เป็นอีกผลงานที่แสดงให้เห็นว่าดนตรีไทยนั้นผสมกับดนตรีแนวไหนก็ออกมาอร่อยได้จริงๆ
ดำสนิท – Hugo
Chanon B. : อีกหนึ่งสาขาที่ขอมอบให้ ฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์ กับไตเติ้ลแทร็คที่มีชื่อเดียวกับอัลบั้ม ดำสนิท ที่ออกวางจำหน่ายเมื่อช่วงต้นปี 2017 “ดำสนิท” คือแทร็คแรกสุดของอัลบั้มดังกล่าวที่ฟังเพียงครั้งแรกก็รู้สึกว่า เนื้อหาช่างมีความแตกต่าง ไม่ซ้ำซากจำเจกับเพลงในท้องตลาดทั่วไป นี่คือมวลความคิดที่ตกผลึกจากชายวัยสามสิบกว่าซึ่งผ่านชีวิตมาหลากหลายรูปแบบ ประสบการณ์ที่สั่งสมมาทำให้เขามองโลกดังเช่นเพลงๆ นี้ กับท่อนที่ร้องว่า “คนเราเกิดมาเป็นผ้าขาว สะสมรอยยับรอยเปื้อนจนเก่า จนมันเป็นสีเทา จนมันดำสนิท” นี่คือความจริงของมนุษย์ที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้อย่างแท้จริง ไม่มีใครดีงามร้อยเปอร์เซ็นต์ และไม่มีใครที่เลวอย่างสุดขั้วเช่นกัน เนื้อเพลงเต็มไปด้วยชั้นเชิง ผสมผสานกับพาร์ตดนตรีที่ค่อนข้างมีความมินิมอล ไม่ฉูดฉาดหวือหวา แต่เต็มไปด้วยรายละเอียดยิบย่อย ซึ่งได้ชื่อของ เจ-มณฑล จิรา โปรดิวเซอร์มือลำดับต้นๆ ของวงการเพลงบ้านเรามาผนึกกำลังกับฮิวโก้ และที่อยากให้ตั้งใจฟังคือช่วงท้ายของเพลงที่พาร์ตดนตรียอดเยี่ยมเหลือเกิน อยากรู้ว่าเป็นอย่างไรต้องลองฟัง
Album of the Year
Jurairat N. : การกระโดดข้ามแนวดนตรีจากบอยแบนด์ป็อปสูตรสำเร็จอย่าง One Direction ไปหาดนตรีซอฟต์ร็อค/บริทป็อปรุ่นเดอะราวๆ ยุค ‘80s ในอัลบั้มเดี่ยวครั้งแรกในชีวิตนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้ความกล้าพอสมควร เพราะนอกจากฐานแฟนคลับเดิมอาจไม่อินด้วยแล้ว การเคยเป็นศิลปินภายใต้ความดูแลของนักปั้นศิลปินป็อปมือทองแห่งเกาะอังกฤษอย่าง Simon Cowell มาหลายปีอาจทำให้ Harry Styles ถูกมองว่าเป็นแค่ศิลปินป็อปวัยรุ่นที่อาศัยชื่อเสียงจากวงเก่ามาต่อยอดความดังใหม่ด้วยการออกอัลบั้มเดี่ยวเท่านั้น แต่หากได้ฟังแทร็คเปิดตัวอย่าง “Sign of the Times” ต่อด้วย “Two Ghosts” ไปจนถึงเพลงร็อคแอนด์โรลเท่ๆ อย่าง “Only Angel” และ “Kiwi” แล้ว เราลืมไปได้เลยว่าเขาคนนี้เคยอยู่วงบอยแบนด์สุดป็อปมาก่อน ทั้งดนตรี และวิธีการร้องสไตล์รุ่นคุณปู่คุณพ่อที่ Harry ยอมรับว่าเป็นแนวดนตรีที่ฟังมาตั้งแต่เด็กๆ ไหนจะเสื้อผ้าหน้าผมทั้งเสื้อลายพร้อย หรือสูทเต็มยศทุกครั้งเวลาขึ้นโชว์ ถ้าหลับตาฟังเราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเป็นผลงานของวัยรุ่นอายุ 20 กว่าปีเท่านั้น
Reputation – Taylor Swift
Sidhipong W. : หลังจากที่เจอมรสุมดราม่าทั้งเรื่องความรักและคู่กรณีเก่าอย่าง Kanye West ช่วงปลายปี 2017 Taylor Swift ก็กลับมาพร้อมผลงานใหม่ ที่มาพร้อมความฮือฮา เพราะเธอได้ลงทุนลบรูปในอินสตาแกรมจนเกลี้ยงในช่วงกลางเดือนสิงหาคม เก่อนที่จะปล่อยผลงานเพลงและเอ็มวี “Look What You Made Me Do” ที่มาพร้อมดนตรีสุดแซ่บ และเอ็มวีที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับคู่กรณีและปัญหาชีวิตของเธอ จนทำให้เพลงนี้ประสบความสำเร็จ ซึ่งความสำเร็จของเพลงนี้ ก็ถูกส่งต่อไปยังอัลบั้มด้วย
ผลงานอัลบั้มชุดนี้ถือเป็นการแนะนำตัวเองอีกครั้งกับผู้ฟัง ให้ทุกคนได้รู้จักเทย์เลอร์คนใหม่ที่แข็งแกร่งกว่าเดิม แต่ก็ยังคงความอ่อนหวาน และยังมีความรักให้กับแฟนเพลงที่สนับสนุนเธอเสมอ โดยเธอได้เปิดเพลงแรกด้วยเพลง “…Ready For It?” ที่เธอถามแฟนๆ ผ่านเพลงว่าพร้อมจะรู้จักเทย์เลอร์คนใหม่หรือยัง ก่อนจะตามด้วยเพลงรักที่แสดงความอ่อนโยนและแข็งแกร่ง 13 เพลง และปิดท้ายด้วยเพลง “New Year’s Day” ที่มาพร้อมดนตรีที่มีกลิ่นอายความคันทรี่และอบอุ่น เพื่อแสดงให้เห็นเธอก็ยังมีตัวตนเดิมอยู่ ถึงแม้การมองโลกจะเปลี่ยนไปบ้าง
นอกจากบทเพลงและรายละเอียดทางศิลป์แล้ว สิ่งหนึ่งที่น่าทึ่งของอัลบั้มนี้การทำการตลาด ซึ่งเทย์เลอร์ได้ใช้โซเชี่ยลมีเดียในการกระตุ้นความต้องการของอัลบั้ม อย่างเช่นการลบรูป หรือการทำผลงานเพลงและเอ็มวีที่จุดประเด็นให้คนนำไปพูดต่อจนทำให้อัลบั้มชุดนี้มียอดขายทะลุล้านชุดในอเมริกาตั้งแต่สัปดาห์แรกที่ปล่อยออกมา ซึ่งไม่ธรรมดาเลยสำหรับผลงานเพลงในยุคสตรีมมิ่งเฟื่องฟู
Anti - Gravity – Lomosonic
Chanon B. : นับเป็นการบ้านอันหนักอึ้งของวง Lomosonic พอสมควรทีเดียวสำหรับการทำอัลบั้มชุดใหม่ เมื่ออัลบั้มก่อนหน้านี้อย่าง Echo & Silence นั้นประสบความสำเร็จไม่น้อย จากบทเพลงอย่าง “ขอ”, “....ถึงเวลา”, “อยากจะรักแค่ไหน” ฯลฯ ที่คนร้องตามกันได้ทุกคอนเสิร์ต Lomosonic กลายเป็นวงที่มีลมหายใจอยู่ในตลาดเพลงกระแสหลักมากขึ้น แต่พอมาถึงสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 3 กับการโยกย้ายสู่บ้านหลังใหม่อย่าง สนามหลวงมิวสิก 4 สมาชิก บอย-อริย์ธัช พลตาล (ร้องนำ), ออตโต้-ชาญเดช จันทร์จำเริญ (กลอง), ปิติ เอสตราลาโด สหพงศ์ เดน โดมินิค (กีตาร์) และ ป้อม-ฉัตรชัย งามสิริมงคลชัย (กีตาร์) ก็ขอเซอร์ไพรส์เหล่าสาวกอีกครั้งด้วยการ “ต่อต้านแรงโน้มถ่วง” แต่ละแทร็คที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น วิธีการร้องแบบใหม่ๆ ที่ บอย สรรหามาใช้อย่างเช่น เฮดโทน ที่หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นการว้าก (แต่ไม่ใช่) เพลงท่วงทำนองป็อปฟังง่ายก็ยังมี เพลงบรรเลงที่เดือดเร้าใจกว่าครั้งไหนๆ ก็ได้ฟัง นี่คือการต่อต้านวิถีแห่งธรรมชาติอย่างแรงโน้มถ่วงที่สะใจสุดๆ ทั้งความกล้าในการนำเสนอที่ไม่อิงตลาดแมสแม้แต่น้อย ถามว่าเสี่ยงไหมกับเจ้าของบทเพลง “ขอ” ที่ฮิตไปทั่วประเทศ ตอบแบบไม่ต้องคิดเลยว่า เสี่ยงมาก แต่การเสี่ยงครั้งนี้ของพวกเขาก็ทำให้ Lomosonic ก้าวไปอีกสเต็ปในฐานะวงดนตรีที่ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ ใครยังไม่ได้ฟังอัลบั้ม Anti - Gravity ผู้เขียนขอแนะนำว่าห้ามพลาดจริงๆ
Artist of the Year
Jurairat N. : แม้ว่าเจ้าตัวจะแอบน้อยใจเล็กน้อยว่าปี 2018 นี้เขามีชื่อเข้าชิงรางวัล Grammy Awards เพียง 2 รางวัล ได้แก่ Best Pop Solo Performance จากเพลง “Shape of You” และ Best Pop Vocal Album จากอัลบั้ม ÷ (Divide) ซึ่งน้อยกว่าที่สื่อต่างๆ คาดการณ์กันเอาไว้มาก แต่สำหรับแฟนเพลงแล้ว อัลบั้ม ÷ (Divide) เป็นการเปิดตัวการกลับมาในรอบ 3 ปีได้อย่างยอดเยี่ยม ส่งผลให้เพลงในอัลบั้มนี้พาเหรดกันขึ้นชาร์ตเพลงที่บ้านเกิดอย่าง UK Chart หมดทั้งอัลบั้ม เพลงเก่งอย่าง “Shape of You” สามารถขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ตเพลง 44 ประเทศทั่วโลก ขึ้นอันดับ 1 บน UK Charts มากถึง 14 สัปดาห์ และบน Billboard Hot 100 Chart ถึง 12 สัปดาห์อีกด้วย และที่ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าปี 2017 นี้เป็นปีของ Ed Sheeran จริงๆ คือ การที่เขาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งจักรวรรดิบริติช จากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารอังกฤษ ในฐานะที่เป็นศิลปินที่มีความโดดเด่นในการทำงานดนตรี และเพื่อองค์กรการกุศลอีกด้วย
Cocktail
Sidhipong W. : นอกจากกระแสและความสำเร็จบนโลกโซเชียลของ หน้ากากหอยนางรม ที่ทำให้นักร้องนำของวงที่อยู่ใต้หน้ากากอย่าง โอม - ปัณฑพล ประสารราชกิจ นั้นกลายเป็นศิลปินที่ได้รับการยอมรับในแง่ของการถ่ายทอดเพลงและทัศนคติแล้ว ในปีที่ผ่านมา วง Cocktail ก็เป็นศิลปินวงหนึ่งที่มีความสามารถโดดเด่นไม่น้อยไปกว่าศิลปินคนอื่นๆ เลย
ในปี 2017 นั้น นอกจากทางวงจะแต่งเพลงที่มีภาษาสละสลวยราวบทกวี และดนตรีที่ร็อคผสมออร์เคสตราแล้ว พวกเขายังออกจาก comfort zone และทดลองอะไรใหม่ๆ มากมาย เริ่มด้วยผลงานเพลง “กาลเวลาพิสูจน์คน” ที่ทางวงได้ปล่อยเอ็มวีในช่วงปีใหม่ และนำศิลปินลูกทุ่งอย่าง ไมค์ ภิรมย์พร (พรภิรมย์ พินทะปะกัง) มาร่วมถ่ายทอดเพลง ก่อนจะตามด้วยเพลง “แค่นี้ก็สุขใจ” ที่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า พวกเขามีความสามารถทำเพลงรักแง่บวกได้ดีไม่แพ้วงดนตรีอื่นๆ
แต่สำหรับผลงานเพลงที่น่าเซอร์ไพรส์ที่สุดของวง คือเพลง “ทำดีไม่เคยจำ” เพราะพวกเขาได้ฉีกกรอบดนตรีครั้งใหญ่ โดยการนำการสกรีมโมของเพลงเมทัล รวมไปถึงซาวด์ดนตรีลูกทุ่ง เร็กเก้ ฮิปฮอป มาใส่ในเพลง จนกลายเป็นผลงานชิ้นโบแดงอีกชิ้นของวง ก่อนที่จะปิดท้ายปีด้วยเพลง “ปรารถนาสิ่งใดฤๅ” ที่ Cocktail ได้นำดนตรีประสานเสียงมาใส่ในเพลงของพวกเขา เพื่อสร้างกำลังใจให้ผู้ฟังเป็นการส่งท้ายปี 2017
S.O.L.E.
Chanon B. : ชื่อของ ฮิวโก้ อาจจะเป็นตัวเต็งในสาขานี้ เพราะผลงานอัลบั้ม ดำสนิท ของเขานั้นโดดเด่นเหลือเกิน ทว่าผู้เขียนขอเลือกไซด์โปรเจ็คของนักร้องนำและมือกีตาร์วง The Whitest Crow อย่าง ไตเติ้ล - ปฏิภาณ สุวรรณสิงห์ ในเสี้ยววินาทีสุดท้าย เพราะวงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเขาเป็นสมาชิกเพียงคนเดียวอย่าง S.O.L.E. ทำให้ผู้เขียนใจเต้นตูมตามทุกครั้งที่ได้ฟังและได้รับชมการแสดงสด ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ของ S.O.L.E. หรือในชื่อเต็มอย่าง State of Living Ecclesiastic ไม่ได้มีแค่บีตตื๊ดๆ ตามสมัยที่จะค่อยๆ ไต่ระดับไปพีคในท่อนหลัก ทว่า ไตเติ้ล ได้นำเอาส่วนผสมของดนตรี Rave Music ในช่วงปลายยุค 90s, Post Punk, Hip Hop หรือแม้แต่ Hardcore มาใส่ในผลงาน ใครเป็นสาวกวง The Prodigy คงฟินกับงานเพลงของ S.O.L.E. ได้ไม่ยากนัก และหลังจากปล่อยอีพีออกมาอย่างต่อเนื่อง S.O.L.E. ก็มีอัลบั้มเต็มกับเขาแล้วภายใต้ชื่อ Bangkok Teenage Renaissance ที่บ้าบิ่น เดือด และสดใหม่ในแวดวงดนตรีบ้านเราเหลือเกิน ส่วนใครที่เคยชมการแสดงสดของ S.O.L.E. แล้วคงคิดคล้ายๆ กันว่า วงดนตรีวงนี้ควรมีโอกาสได้ไปแสดงศักยภาพทางดนตรีที่เทศกาลดนตรีต่างประเทศบ้างเหมือนกัน เพราะพวกเขาไม่ธรรมดาจริงๆ
ขอบคุณภาพจาก : GettyImages, Me Records, What the Duck, genie records, Sanamluang Music, Warner Music Thailand, Malama, HAVE YOU HEARD?, 411ent, Facebook - Tachaya