10 เพลงสากลที่เคยเป็น "เพลงชาติ" ในบ้านเรา ตอน 2 โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
จากบทความตอนแรกเมื่อเดือนก่อนที่ไม่ค่อยมั่นใจว่าจะมีคนสนใจอ่านหรือเปล่า กลับกลายเป็นประสบความสำเร็จเกินคาดจนหลายฝ่ายเห็นพ้องว่าควรมีตอน 2 มาให้อ่านและสนุกกับเพลงในยุค '70s กันอีกครับ เพราะ ในยุคนั้นมีเพลงดีๆที่ฟังแล้วชอบ ฟังแล้วติดหูเลยจนสมควรได้รับเกียรติให้เป็นเพลงชาติมีอยู่มากมายเป็นร้อยเป็นพันเพลงเลยครับ อย่ารอช้าเลย ออเจ้า มาดูกันว่าอีก 10 เพลงของตอน 2 นี้มีอะไรเด็ดๆ อยู่บ้าง
>> 10 เพลงสากลที่เคยเป็น "เพลงชาติ" ในบ้านเรา ตอน 1 และ ตอน 3
Free Me
Uriah Heep
1977
แต่เดิมเป็นวงร็อค/ฮาร์ดร็อคอังกฤษที่ทำเพลงที่มีคีย์บอร์ดเป็นตัวชูโรง ทว่าเปลี่ยนนักร้องนำหลายคน ดนตรีจึงต้องเปลี่ยนแปลงไปตามคุณสมบัติเสียงของนักร้องด้วย เพลงนี้แทบไม่มีเค้าดั้งเดิมที่วงเคยทำมาในอดีตเลย เพราะจอห์น ลอว์ตันมีน้ำเสียงแข็งกร้าวและมีเสน่ห์ลุ่มลึก เพลงนี้เป็นซิงเกิลฮิตในนิวซีแลนด์และแอฟริกาใต้ รวมทั้งบ้านเรา แต่ไม่ประสบความสำเร็จในอังกฤษบ้านเกิดและอเมริกาตลาดใหญ่เลย แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะรายการวิทยุบ้านเราเปิดกระหน่ำจนคนฟังร้องตามได้ และเป็นเพลงที่เทปรวมเพลงผีไทยยุคนั้นขาดไม่ได้ ทุกคนรักเพลงนี้ตั้งแต่อินโทรกันเลยทีเดียว
Lyin’ Eyes
The Eagles
1975
ซิงเกิลที่ 2 ต่อจากเพลง "One of These Nights" ที่อยู่ในอัลบัมชื่อเดียวกัน เป็นอัลบัมสุดท้ายที่เบอร์นี ลีดอน มือกีตาร์, แบนโจ ร่วมงานด้วย แต่งโดยดอน เฮนลีย์ และเกลนน์ เฟรย์ ซึ่งร้องนำโดยเฟรย์ ขึ้นอันดับ 2 ชาร์ตซิงเกิลในอเมริกา และติดอันดับในใจคนชอบเพลงคันทรีร็อคชาวไทยยุคนั้นทุกคน เสียงอะคูสติกกีตาร์ใส ไพเราะ เสียงร้องและเสียงประสานนุ่มน่าฟัง ทำให้เพลงนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากทั่วโลก หนุ่มๆ ยุคนั้นพยายามหัดเล่นกีตาร์เพลงนี้เอาไว้จีบสาวกันอย่างแพร่หลาย ไม่เชื่อลองถามหนุ่มใหญ่วัย 40 ขึ้นไปดูสิครับ
Needles and Pins
Smokie
1977
เพลงเก่าที่ขับร้องโดย แจ๊กกี เดอแชนนอนในปี1963 แล้ว The Searchers นำมาคัฟเวอร์ในปีถัดมาจนประสบความสำเร็จ แต่เมื่อ Smokie นำมาร้องใหม่และปล่อยเป็นซิงเกิล ปรากฏว่าฮิตมหาศาล ด้วยสายตากว้างไกลกึ่งหัวการค้าของไมค์ แชปแมนและนิกกี จิน คู่ดูโอที่แต่งเพลงฮิตและผลักดันให้ศิลปินจำนวนมากโด่งดังในยุคดิสโก ลำพัง Smokie ก็โด่งดังในอังกฤษ เยอรมนีและยุโรปมากอยู่แล้ว พอเพลงนี้ออกมาก็กลายเป็นขวัญใจคนฟังชาวไทยไปด้วย ทั้งท่อนสับคอร์ดกีตาร์ติดหูและเสียงร้องแหบเสน่ห์ของคริส นอร์แมน ทำให้เพลงนี้มีเอกลักษณ์และคนฟังชื่นชอบ แม้จะเป็นเพลงคัฟเวอร์ก็ตาม
Papa
Paul Anka
1974
หลังประสบความสำเร็จในฐานะนักร้องขวัญใจวัยรุ่นในช่วงยุค 50-60s มาแล้ว กับเพลง "Put Your Head on My Shoulder", "Diana" จนถึง "(You’re) Having My Baby" พอล แองกาเว้นวรรคการออกผลงานไประยะหนึ่งช่วงกลางยุค '60s งานเพลงของเขายังครองใจแฟนรุ่นเก่าและวัยรุ่นได้ไม่เสื่อมคลาย "Papa" เป็นเพลงด้านบีของซิงเกิล "(You’re) Having My Baby" จากอัลบัมชื่อ Anka ในปี 1974 ที่มีเพลง "I Don’t Like to Sleep Alone" ที่เป็นเพลงชาติในบ้านเราด้วยเหมือนกันอยู่ด้วย ซึ่งก็เหมือนกับหลายๆเพลงที่เอ่ยถึง "Papa" เป็นเพลงฝึกกีตาร์โปร่งที่แพร่หลายอย่างมหาศาล และยังอยู่ในความทรงจำของคนหนุ่มยุคนั้นแต่ตอนนี้เริ่มแก่กันแล้วอีกด้วย
Ring My Bell
Anita Ward
1979
เพลงฮิตหนึ่งเดียวของอนิตา วอร์ด ติดอันดับ 1 ในอเมริกาทั้งชาร์ต 100 ซิงเกิลและชาร์ตซิงเกิลเพลงโซล รวมทั้งอันดับ 1 ในชาร์ตซิงเกิลของอังกฤษด้วย เพลงนี้มีคุณสมบัติของเพลงฮิตด้วยประการทั้งปวง เสียงร้องเว้าวอน ออดอ้อนแฝงอารมณ์เร่าร้อนของวอร์ด รวมทั้งจังหวะจะโคนดิสโกที่ฟังแล้วต้องเต้นไปด้วย ส่วนเสียงซินธ์ปุ้ว ปุ้ว ก็เป็นอีกจุดขายหนึ่งที่ทุกคนทำเสียงเลียนแบบได้ วงไทยที่เล่นดนตรีสากลยุคนั้นตามคลับหรือดิสโกเธก ถ้าเล่นเพลงนี้ไม่ได้ ตกงานสถานเดียวครับ
Sha La La La
The Wynners
1975
วงป๊อปฮ่องกงที่อยู่ในกระแสเอเชียป๊อปของยุค '70s อลัน ทัม เป็นฟรอนต์แมน เนื่องด้วยอังกฤษยังมีอิทธิพลอย่างมากในฮ่องกงยุคนั้น เด็กหนุ่ม 5 คนที่คิดตั้งวงดนตรีจึงนำเพลงของวงอังกฤษมาร้องในแบบฉบับของตัวเอง เพลงนี้ต้นฉบับเป็นของวงเดนมาร์กชื่อ Walkers ในปี 1973 เป็นซิงเกิลที่พวกเขาคัฟเวอร์อยู่ในอัลบัมแรกชื่อ Listen to the Wynners ที่มีแผ่นเสียงผลิตไทยและจากฮ่องกงเข้ามาขายดีเป็นเทน้ำเทท่า รายการวิทยุเปิดกันวันละ 5 เวลา และปุ๊กกี้ก็เคยนำมาร้องคัฟเวอร์อีกทอดหนึ่ง อีกเพลงที่ดังไม่แพ้กันจากอัลบัมเดียวกันคือ "I’ll Never Dance Again" ที่เป็นจังหวะช้า สโลว์ซบ ยุคนั้นบ้านเราคลั่งวงนี้กันจริงๆ ครับ
Stumblin’ In
Chris Norman and Suzi Quatro
1978
ทั้งคริส นอร์แมน นักร้องนำของ Smokie ที่กำลังดังสุดขีด กับซูซี ควอโทร มือเบส แกลมร็อคสาวศิลปินเดี่ยวที่ดังไม่แพ้กัน ถูกไมค์ แชปแมนและนิกกี จิน (คู่นี้อีกแล้ว) จับมาร้องคู่กันเพื่อใส่ในอัลบัมของซูซีชื่อ If You Know Suzi… ขึ้นอันดับ 4 ในอเมริกา และได้รับความนิยมในแวดวงดิสโกพอสมควร แม้จะมีสำเนียงป๊อปร็อค แต่ทำนองชวนขยับแข้งขา ลำพังคู่นี้ก็มีแฟนประจำในบ้านเราอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง พอมาจับคู่ร้องเพลงกัน จึงกลายเป็นเพลงชาติได้ไม่ยาก หลังจากเพลงนี้ ซูซียังมีซิงเกิลฮิตอีกตามมาอีกหลายเพลง อาทิ "Four Letter Words", "If You Can’t Give Me Love", "She’s in Love with You" และ "I’ve Never Been in Love"
Sunshine Day
Osibisa
1975
วงชาวกานาในอังกฤษ เล่นดนตรีเวิร์ลด์บีตผสมแอฟโรฟังก์ ผสมผสานกันอย่างลงตัว เราจึงได้ยินเสียงเพอร์คัสชันพื้นเมืองแอฟริกันกับดนตรีฟังก์แบบคนผิวดำมันๆกันเต็มที่ บวกกับเครื่องเป่าสไตล์ฟังก์สุดมัน เพลงนี้เป็นซิงเกิลแรกจากอัลบัมชุดที่ 6 ชื่อ Welcome Home ก่อนที่งานต่อๆมาจะเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในบ้านเรา อย่างเพลง "Sakabo" และ "Dance the Body Music" บ้านเราสมัยนั้นเปิดรับดนตรีสไตล์ที่แตกต่างจากป๊อป ร็อคได้ง่ายมาก ดนตรีแอฟโร ฟังก์ของ Osibisa ก็เป็นอีกสไตล์หนึ่ง ก่อนที่ดิสโกจะครองตลาดในเวลาต่อมา
That’s the Way I Like it
KC & The Sunshine Band
1975
เป็นวงดิสโก ฟังก์ที่เน้นเครื่องดนตรีเต็มอัตราศึก เครื่องเป่าครบครัน เวย์น เคซีย์ เป็นนักร้องนำ มือคีย์บอร์ด และหัวหน้าวง ซิงเกิลดังๆของพวกเขาได้รับความนิยมในบ้านเราทุกเพลง ดังจะเห็นได้จากแผ่นซิงเกิลผีของไทย แผ่นแอลพีผี เทปผี หรืองานรวมเพลง ตลอดจนวงคัฟเวอร์ของไทยที่มีเครื่องเป่าครบ และแต่งกายด้วยเสื้อผ้าเหมือนกันทั้งวง หลังจากบุกเบิกตลาดดิสโก ฟังก์จนดังไปทั่วโลกแล้ว เพลงต่อๆมาอย่าง "Shake Your Booty", "I’m Your Boogie Man", "Get Down Tonight", "Boogie Shoes" และบัลลาด "Please Don’t Go" ล้วนเป็นเพลงที่มีสถานะเป็นเพลงชาติกันทุกเพลง
Yellow River
Christie
1970
วงร็อคอังกฤษที่ประสบความสำเร็จมากในช่วงต้นยุค '70s แต่มีเพียง 2 เพลงเท่านั้นที่คนฟังบ้านเรายอมรับ คือเพลงนี้ และ "Iron Horse" แม้ "San Bernadino" จะเป็นเพลงที่ดี แต่เมื่อสู้ 2 เพลงที่กล่าวมาไม่ได้ บ้านเราก็ไม่ค่อยยอมรับกันนัก เป็นวงทริโอที่มีเจฟฟ์ คริสตี ร้องนำและเล่นเบส ติดอันดับ 1 ในชาร์ตซิงเกิลอังกฤษ อันดับ 23 ในอเมริกา และอันดับ 1 ในใจวัยรุ่นไทยยุคนั้นแทบทุกคน เพลงนี้ติดหู ดนตรีสนุก ลื่นไหล จึงไม่แปลกที่คนฟังบ้านเราชื่นชอบกันมาก เช่นเดียวกับ "Iron Horse" (1972) ที่มีช่วงอินโทรกีตาร์สะบัดคอร์ดมันจนทำให้คนฟังสะบัดหัวและเล่นแอร์ กีตาร์ตามไปด้วย
2 ตอนกับ 20 เพลงที่ผ่านไป เบื่อกันหรือยังครับ ความจริงยังมีเพลงที่หลายคนคาดไม่ถึงและลืมไปแล้วแบบน่าเขกกะโหลกตัวเองอีกหลายเพลง ถ้ายังไม่เบื่อละก็ เดือนหน้าจะได้ทำความรู้จักและฟังกันครับ
--------------------------------------------------------------------------------
สั้นๆ เกี่ยวกับผู้เขียน
นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี 2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี 2545-2548
ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Records Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน